CPF ร่วมปลดแม่ไก่ยืนกรง-เร่งส่งออกไข่ หลังกรมปศุสัตว์ขอความร่วมมือแก้ปัญหาไข่ราคาตก

กองบรรณาธิการ TCIJ 23 เม.ย. 2564 | อ่านแล้ว 2695 ครั้ง

CPF ร่วมปลดแม่ไก่ยืนกรง-เร่งส่งออกไข่  หลังกรมปศุสัตว์ขอความร่วมมือแก้ปัญหาไข่ราคาตก

CPF ร่วมปลดแม่ไก่ยืนกรง-เร่งส่งออกไข่ หลังกรมปศุสัตว์ออกหนังสือขอความร่วมมือผู้เลี้ยงรายใหญ่ ขนาดการเลี้ยงตั้งแต่ 100,000 ตัวขึ้นไป ให้ร่วมกันปรับลดจำนวนแม่ไก่ยืนกรงที่อายุไม่เกิน 75 สัปดาห์ รวมจำนวน 3 ล้านตัว แก้ปัญหาไข่ราคาตก | ที่มาภาพประกอบ: Wikimedia

สำนักข่าวอินโฟเควสท์ รายงานเมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2564 ว่านายสมคิด วรรณลุกขี รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บมจ. เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) เปิดเผยว่า ปัจจุบันราคาแนะนำไข่ไก่คละ ณ หน้าฟาร์มเกษตรกร ตามประกาศของสมาคมผู้ผลิต ผู้ค้า และส่งออกไข่ไก่ ปรับลงมาอยู่ที่ฟองละ 2.30 บาท ขณะที่ต้นทุนการผลิตไข่ไก่เฉลี่ยสูงถึงฟองละ 2.66 บาท ส่งผลกระทบกับเกษตรกรและผู้ประกอบการเลี้ยงไก่ไข่เป็นอย่างมาก กรมปศุสัตว์จึงออกหนังสือขอความร่วมมือผู้เลี้ยงรายใหญ่ ขนาดการเลี้ยงตั้งแต่ 100,000 ตัวขึ้นไป จำนวน 117 ราย ให้ร่วมกันปรับลดจำนวนแม่ไก่ยืนกรงที่อายุไม่เกิน 75 สัปดาห์ รวมจำนวน 3 ล้านตัว ซึ่งเป็นมาตรการปรับสมดุล Demand - Supply เพื่อเสริมควบคู่กับมาตรการเร่งรัดรวบรวมไข่ส่งออก 200 ล้านฟอง ที่กำหนดระยะเวลาดำเนินการระหว่างเดือน มี.ค.-ต.ค. 2564 เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาไข่ไก่ล้นตลาดและราคาตกต่ำ

เกษตรกรในทุกระดับทั้งฟาร์มขนาดเล็ก กลาง และผู้ประกอบการรายใหญ่ ต่างเผชิญปัญหาราคาไข่ไก่ที่ตกต่ำและปัญหาภาวะขาดทุนที่กินระยะยาวนานเกือบ 1 ปี นับจากเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ไม่มีนักท่องเที่ยวการค้าชายแดนชะลอตัว การบริโภคของคนไทยก็ลดลงจากสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน จากปริมาณไก่ไข่ยืนกรงทั่วประเทศประมาณ 50 ล้านตัว ให้ผลิตไข่ไก่ได้เฉลี่ย 41 - 42 ล้านฟองต่อวัน แต่ความต้องการบริโภคในประเทศปัจจุบันเหลือเพียง 38 ล้านฟองต่อวัน (จากภาวะปกติบริโภค 39-40 ล้านฟองต่อวัน) เท่ากับมีไข่ส่วนเกินถึงวันละ 3-4 ล้านฟอง ขณะที่ไทยมีการส่งออกเพียงวันละ 1 ล้าน จึงไม่สามารถระบายผลผลิตส่วนเกินได้ กลายเป็นปริมาณไข่สะสมจนล้นตลาดดังกล่าว

"ซีพีเอฟยินดีสนับสนุนมาตรการปลดแม่ไก่ยืนกรงตามที่กรมปศุสัตว์ขอความร่วมมือ ตามสัดส่วนปริมาณไก่ยืนกรงที่เลี้ยงอยู่ เพื่อเร่งสร้างสมดุลปริมาณแม่ไก่ให้สอดคล้องกับการบริโภค รวมถึงเดินหน้าส่งออกไข่ไก่ตามมติเอ้กบอร์ด เพื่อเร่งระบายไข่ไก่ส่วนเกินไปต่างประเทศ ในภาคสมัครใจ ที่บริษัทได้รับโควต้าส่งออกในเฟสแรก มี.ค.-เม.ย. จำนวน 50 ตู้ ซึ่งคาดว่าจนถึงสิ้นเดือนเมษายนนี้ บริษัทจะสามารถส่งออกได้ประมาณ 62 ตู้ หรือ 19,840,000 ฟอง และขอเชิญชวนผู้ประกอบการรายอื่นๆ ร่วมกันสนับสนุนทั้งสองมาตรการของภาครัฐ เพื่อช่วยพยุงเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ลดผลกระทบจากปัญหาราคาตกต่ำ" นายสมคิด กล่าว

ทั้งนี้ผู้ประกอบการส่งออก 4 รายที่ร่วมสนับสนุนการส่งออกไข่ไก่ดังกล่าว ยังไม่มีรายใดเบิกงบประมาณ 50 ล้านบาท จากกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ที่ตั้งไว้เพื่อใช้สนับสนุนกิจกรรมนี้แต่อย่างใด แม้ว่าในการส่งออกจะต้องขาดทุนถึงฟองละ 40-50 สตางค์ แต่ทุกคนก็ยินดีร่วมสร้างเสถียรภาพราคาไข่ไก่ให้ทั้งอุตสาหกรรม

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีไข่ไก่ขนาดเล็กเบอร์ 4 - 5 ออกมาสะสมในตลาดเป็นจำนวนมาก เนื่องจากการเข้าเลี้ยงแม่ไก่ไข่สาวทดแทน ขณะเดียวกันยังได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศร้อน แม่ไก่ไข่กินอาหารลดลง ทำให้ไข่ไก่มีขนาดเล็ก เกษตรกรจึงขายไข่ได้ในราคาต่ำ ขณะที่ต้นทุนการผลิตมีแนวโน้มสูงขึ้น จากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทั้งกากถั่วเหลือง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลัง รวมถึงปัญหาภัยแล้งที่เกษตรกรหลายพื้นที่ต้องซื้อน้ำใช้ในฟาร์ม และผลผลิตเกิดความเสียหายจากสภาพอากาศร้อนแล้งกลายเป็นปัญหาซ้ำเติมเกษตรกร

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: