คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอ ให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งมีหน้าที่ดำเนินการตามภารกิจที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาเด็กปฐมวัย นำ (ร่าง) แผนพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2564 - 2570 ไปใช้เป็นกรอบแนวทางและเป้าหมายร่วมกันในการพัฒนาคุณภาพการบริการ ดูแล พัฒนา และจัดการศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัย เพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2564 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอดังนี้
1. เห็นชอบ (ร่าง) แผนพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2564 - 2570
2. ให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งมีหน้าที่ดำเนินการตามภารกิจที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาเด็กปฐมวัย นำ (ร่าง) แผนพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2564 - 2570 ไปใช้เป็นกรอบแนวทางและเป้าหมายร่วมกันในการพัฒนาคุณภาพการบริการ ดูแล พัฒนา และจัดการศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัย เพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันและจัดทำแผนปฏิบัติการให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเด็กปฐมวัยและปฏิบัติการให้เป็นไปตามแผนดังกล่าว
3. มอบสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมการจัดทำแผนงบประมาณและแผนการดำเนินงานประจำปีแบบบูรณาการให้สอดคล้องกับ (ร่าง) แผนพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2564 - 2570
สาระสำคัญของเรื่อง
ศธ. รายงานว่า
1. คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย (คณะกรรมการฯ) ในคราวประชุม ครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2563 และครั้งที่ 3/2563 เมื่อวันที่ 9 ต.ค. 2563 มีมติเห็นชอบในหลักการ (ร่าง) แผนพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2563 - 2570 ตามที่คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจจัดทำแผนพัฒนาเด็กปฐมวัยและกำหนดองค์ประกอบคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้องเสนอ รวมทั้งมอบหมายให้ สกศ. ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการฯ นำ (ร่าง) แผนพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2563 - 2570 เสนอสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ดำเนินการตามขั้นตอนการเสนอแผนระดับที่ 3 เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีและเสนอต่อคณะรัฐมนตรีตามขั้นตอนต่อไป ซึ่งสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒนาฯ) ในการประชุมครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2564 มีมติเห็นชอบในหลักการของ (ร่าง) แผนพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2563 - 2570 โดยสภาพัฒนาฯ มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมบางประการและ สกศ. ได้พิจารณาดำเนินการปรับแก้ไขตามข้อเสนอแนะดังกล่าวแล้ว เช่น ปรับห้วงเวลาของแผนจากปี พ.ศ. 2563 - 2570 เป็น พ.ศ. 2564 - 2570 เพื่อให้สอดคล้องกับระยะเวลาเริ่มต้นในการขับเคลื่อนแผนดังกล่าวปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวกับเด็กปฐมวัยให้เอื้อต่อการเลี้ยงดูบุตรอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะการขยายสิทธิการลา การส่งเสริมให้มีระบบการทำงานที่ยืดหยุ่น การทำงานจากที่บ้าน (work from home) การกำหนดเป้าประสงค์ของการพัฒนาเด็กในแต่ละกลุ่มการลดความเหลื่อมล้ำทางด้านการพัฒนาเด็กในมิติต่าง ๆ ขอบเขตกลุ่มเด็กภายใต้แผนดังกล่าว* เป็นต้น
2. (ร่าง) แผนพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2564 - 2570 จัดทำขึ้นเพื่อพัฒนาโครงสร้างการดำเนินงานด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัยของประเทศด้วยการบูรณาการการทำงานของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีเป้าหมายหลักให้เด็กปฐมวัยซึ่งเป็นช่วงวัยที่สำคัญที่สุดของกระบวนการพัฒนาเด็กให้เป็นเด็ก “เก่ง ดี มีสุข” มีพัฒนาการทุกด้านแบบองค์รวม มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 - 2580) แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561 - 2580) ประเด็นที่ 11 การพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต และประเด็นที่ 12 การพัฒนาการเรียนรู้ แผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา รวมทั้งแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560 - 2579 ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาศักยภาพคนทุกช่วยวัยและการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ โดย (ร่าง) แผนพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2564 - 2570 ประกอบด้วย
2.1 นโยบายด้านเด็กปฐมวัย 3 ข้อ ได้แก่ (1) เด็กปฐมวัยทุกคนต้องได้รับการพัฒนาอย่างรอบด้าน อย่างมีคุณภาพ ตามศักยภาพ ตามวัยและต่อเนื่อง (2) การพัฒนาเด็กตามนโยบายข้อ 1 ต้องจัดให้เป็นระบบและมีความสัมพันธ์ระหว่างกัน โดยบูรณาการชัดเจนระหว่างหน่วยงานราชการและที่ไม่ใช่ราชการ ระหว่างวิชาชีพที่สัมพันธ์กับการพัฒนาเด็กปฐมวัย และระหว่างระดับต่าง ๆ ของการบริหารราชการแผ่นดินจากระดับชาติ ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น และ (3) รัฐและทุกภาคส่วนต้องร่วมกันระดมทรัพยากรให้เพียงพอแก่การพัฒนาเด็กปฐมวัยตามนโยบายข้อ 1
2.2 วิสัยทัศน์ เด็กปฐมวัยทุกคนได้รับการพัฒนาอย่างรอบด้านเต็มตามศักยภาพเป็นพื้นฐานของความเป็นพลเมืองคุณภาพ
2.3 เป้าประสงค์ เด็กปฐมวัย*ทุกคน ซึ่งหมายถึงเด็กทุกคนที่อยู่ในประเทศไทย รวมถึงเด็กที่เป็นลูกแรงงานต่างชาติและเด็กที่ไม่ได้มาจากครอบครัวไทยที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยต้องได้รับการพัฒนาอย่างรอบด้านอย่างมีคุณภาพ ตามศักยภาพ ตามวัยและต่อเนื่อง และสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพ การศึกษา และสวัสดิการสังคมได้อย่างเท่าเทียมกัน
2.4 ยุทธศาสตร์ 7 ยุทธศาสตร์ ดังนี้
ยุทธศาสตร์ | ตัวชี้วัดรายยุทธศาสตร์/มาตรการที่สำคัญ/หน่วยงานที่รับผิดชอบ |
1. การจัดการและการให้บริการแก่เด็กปฐมวัย | ตัวชี้วัด: เด็กปฐมวัยทุกคนต้องได้รับการดูแลตั้งแต่อยู่ในครรภ์ - 6 ปี อย่างมีคุณภาพและเหมาะสมตามศักยภาพของเด็กแต่ละคนด้วยความเท่าเทียม มาตรการที่สำคัญ: เช่น สร้างกลไกความร่วมมือในการดูแลและพัฒนาเด็กปฐมวัยตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา จัดให้มีระบบการสำรวจ คัดกรอง และวินิจฉัยเพื่อหาภาวะความต้องการพิเศษ/ด้อยโอกาส เป็นต้น ผู้รับผิดชอบหลัก: กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงแรงงาน (รง.) ศธ. กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ อปท. ผู้รับผิดชอบรอง: กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และองค์กรเอกชน |
2. การพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันครอบครัวในการอบรมเลี้ยงดูเด็กปฐมวัย | ตัวชี้วัด: พ่อแม่ ผู้ปกครอง ทุกครอบครัวมีความรู้ ความพร้อม และทักษะในการเลี้ยงดูเด็กและปกป้องสิทธิทุกด้านของเด็กอย่างถูกต้องเพื่อให้เด็กได้พัฒนาเต็มตามศักยภาพ มาตรการที่สำคัญ: เช่น ขับเคลื่อนพระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 จัดหรือสนับสนุนให้มีบริการรับเลี้ยงและพัฒนาเด็กทารกวัยเตาะแตะในชุมชน/สถานประกอบการ เป็นต้น ผู้รับผิดชอบหลัก: พม. อว. มท. ศธ. สธ. และ อปท. ผู้รับผิดชอบรอง: รง. กสศ. กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และองค์กรเอกชน |
3. การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการให้บริการพัฒนาเด็กปฐมวัย | ตัวชี้วัด: มีการพัฒนาระบบการดูแลเด็กแบบองค์รวมเพื่อให้สถานพัฒนาเด็กปฐมวัยทุกแห่งนำไปใช้อย่างมีคุณภาพตามมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ มาตรการที่สำคัญ: เช่น ส่งเสริมและสนับสนุนทรัพยากรให้สถานพัฒนาเด็กปฐมวัยทุกแห่งอย่างเพียงพอ สร้างระบบพัฒนาสมรรถนะบุคลากรและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลและพัฒนาเด็กปฐมวัย เป็นต้น ผู้รับผิดชอบหลัก: พม. อว. มท. ศธ. สธ. อปท. สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ผู้รับผิดชอบรอง: กสศ. ทุกหน่วยงานที่มีสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยในสังกัด และองค์กรเอกชน |
4. การพัฒนาระบบและกลไกการบูรณาการสารสนเทศเด็กปฐมวัยและการนำไปใช้ประโยชน์ | ตัวชี้วัด: มีการบูรณาการ การพัฒนาและวางระบบการใช้ฐานข้อมูลและสารสนเทศที่พัฒนาแล้วไปใช้ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างมีประสิทธิภาพและมีระบบปกป้องเพื่อมิให้เป็นการละเมิดสิทธิหรือเป็นผลร้ายต่อเด็กและผู้ที่เกี่ยวข้อง มาตรการที่สำคัญ: เช่น วิเคราะห์และออกแบบโครงสร้างฐานข้อมูลรายบุคคลและสารสนเทศเด็กปฐมวัยที่สำคัญ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้ในการวางแผน ติดตาม และประเมินผลการพัฒนาเด็กปฐมวัยอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้น ผู้รับผิดชอบหลัก: พม. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มท. ศธ. สธ. อปท. และ กสศ. ผู้รับผิดชอบรอง: กระทรวงกลาโหม อว. ยธ. รง. อก. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน) และองค์กรเอกชน |
5. การจัดทำและปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวกับเด็กปฐมวัยและการดำเนินการตามกฎหมาย | ตัวชี้วัด: มีกฎหมาย กฎระเบียบ และมีระบบและกลไกในการรับเรื่องร้องเรียน ไกล่เกลี่ยและดำเนินการทางคดีเพื่อให้เด็กปฐมวัยได้รับประโยชน์ตามสิทธิขั้นพื้นฐานและได้รับความคุ้มครองตามที่กฎหมายกำหนด มาตรการที่สำคัญ: เช่น รวบรวม จัดทำ ปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย กฎระเบียบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็กปฐมวัยให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันเพื่อลดความซ้ำซ้อน และให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2562 และมาตรฐานสากล เป็นต้น ผู้รับผิดชอบหลัก: พม. มท. ยธ. ศธ. สธ. สำนักงาน ก.พ. และ อปท. ผู้รับผิดชอบรอง: อว. รง. อก. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) และองค์กรเอกชน |
6. การวิจัยพัฒนาและเผยแพร่องค์ความรู้ | ตัวชี้วัด: มีการพัฒนาและเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการดูแลและส่งเสริมศักยภาพของเด็กปฐมวัยอย่างรอบด้านและอย่างทั่วถึง จากการนำเอาความรู้และผลวิจัยนำไปสู่การปฏิบัติจริง มาตรการที่สำคัญ: เช่น วิเคราะห์และสังเคราะห์งานวิจัยที่เกี่ยวกับการพัฒนาเด็กปฐมวัยพัฒนาระบบการจัดการความรู้ด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัยในมิติต่าง ๆ เป็นต้น ผู้รับผิดชอบหลัก: พม. อว. มท. สธ. ศธ. อปท. และกรมประชาสัมพันธ์ ผู้รับผิดชอบรอง: สสส. กสศ. กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และองค์กรเอกชน |
7. การบริหารจัดการ การสร้างกลไกการประสานการดำเนินงานและการติดตามประเมินผล | ตัวชี้วัด: มีการบูรณาการระบบการบริหารจัดการ และการประเมินติดตามผลการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างมีเอกภาพไปในทิศทางเดียวกัน มาตรการที่สำคัญ: เช่น พัฒนาระบบการบริหารจัดการการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็กปฐมวัยอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างกลไกการประสานงานด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัย เป็นต้น ผู้รับผิดชอบหลัก: พม. มท. ศธ. สธ. อปท. สำนักงบประมาณ และกรุงเทพมหานคร ผู้รับผิดชอบรอง: องค์กรเอกชน |
2.5 การขับเคลื่อนและการติดตามประเมินผล ประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ (1) การสร้างความเข้าใจและเชื่อมโยงเข้ากับแผนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การบูรณาการระหว่างแผนพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2564 - 2570 เป็นต้น (2) การนำแผนสู่การปฏิบัติ เช่น การผลักดันให้มีงบประมาณเชิงบูรณาการด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัย เป็นต้น และ (3) การติดตามและประเมินผล เช่น การติดตามและประเมินผลด้วยการมีส่วนร่วมของหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งส่วนกลางและระดับพื้นที่ เป็นต้น
__________________________
*สกศ. ชี้แจงว่า (ร่าง) แผนพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2564 - 2570 ครอบคลุมถึงเด็กปฐมวัยทุกคนที่อยู่ในประเทศไทย เพื่อไม่ให้เป็นการลิดรอนสิทธิของเด็กปฐมวัยทุกคนตั้งแต่เริ่มต้น อย่างไรก็ตาม การให้บริการทางสังคมหลายประเภทไม่ได้ให้บริการแก่เด็กที่เป็นลูกแรงงานต่างชาติหรือเด็กที่ไม่มีสัญชาติไทย ดังนั้น หาก (ร่าง) แผนพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2564 - 2570 ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว หน่วยงานของรัฐและ อปท. ซึ่งมีหน้าที่ดำเนินการตามภารกิจที่กำหนดไว้จะต้องพิจารณาถึงอำนาจหน้าที่ ประเด็นข้อขัดแย้งทางกฎหมาย และกฎระเบียบต่าง ๆ ร่วมด้วย
*เด็กปฐมวัย คือ วัยที่เริ่มต้นตั้งแต่ปฏิสนธิในครรภ์มารดาจนถึงอายุ 6 ปีบริบูรณ์หรือก่อนเข้าชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่มอายุ ได้แก่ กลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี หรือเด็กอายุ 0 - 3 ปี และกลุ่มเด็กอายุ 3 - 5 ปี
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ