ในวาระการประชุมสุดยอดผู้นำสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องผู้นำอาเซียนต้องให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนในเมียนมาอย่างเร่งด่วน
24 เม.ย. 2564 ในวาระการประชุมสุดยอดผู้นำสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ในวันที่ 24 เม.ย.นี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลออกแถลงการณ์และส่งจดหมายเปิดผนึกถึงอาเซียนและประเทศสมาชิกอาเซียน ให้สอบสวนพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ตามข้อกล่าวหาที่น่าเชื่อว่า มีส่วนรับผิดชอบต่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติที่เกิดขึ้นในเมียนมา ในฐานะรัฐภาคีของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานแห่งสหประชาชาติ อินโดนีเซียมีพันธกรณีตามกฎหมายที่จะต้องดำเนินคดี หรือต้องส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดน เมื่อมีผู้ต้องสงสัยว่ากระทำความผิดอยู่ในดินแดนของตน
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังระบุว่า ผลลัพธ์ร้ายแรงจากการทำรัฐประหารในเมียนมา นับเป็นบททดสอบใหญ่สุดในประวัติศาสตร์ของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) เรียกร้องให้กลุ่มระดับภูมิภาคแห่งนี้ ให้ความสำคัญเร่งด่วนกับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชนในเมียนมา และป้องกันไม่ให้สถานการณ์เลวร้ายลง จนเกิดวิกฤตด้านสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรม
เอ็มเมอร์ลีน จิล รองผู้อำนวยการด้านวิจัยประจำภูมิภาค แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยว่า วิกฤตในเมียนมาอันเป็นผลมาจากกองทัพ นับเป็นบททดสอบใหญ่สุดในประวัติศาสตร์ของอาเซียน พันธกิจแบบเดิมที่เน้นการไม่แทรกแซงในภูมิภาคนี้ไม่สามารถใช้ได้อีกต่อไป เพราะสถานการณ์ครั้งนี้ไม่ใช่ปัญหาภายในของประเทศเมียนมา หากเป็นวิกฤตด้านสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรมของทั้งภูมิภาคและพื้นที่อื่น ๆ
“วิกฤตครั้งนี้เป็นผลมาจากกองทัพเมียนมาที่มุ่งสังหารบุคคลอย่างปราศจากจิตสำนึก ทำให้สถานการณ์ในประเทศลุกลามบานปลาย และทำให้เกิดผลกระทบที่รุนแรงอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านมนุษยธรรมและด้านอื่น ๆ ทั่วทั้งภูมิภาค โดยเฉพาะหากกองทัพยังคงกระทำการละเมิดและก่ออาชญากรรมร้ายแรงต่อไป โดยไม่ต้องรับผิดอย่างสิ้นเชิง
“นอกจากนั้น ทางการอินโดนีเซียมีหน้าที่ต้องสอบสวนพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย และเจ้าหน้าที่ทหารคนอื่นจากเมียนมา ซึ่งอาจร่วมเดินทางกับเขาไปยังกรุงจาการ์ตา
“ต้องมีการสอบสวนต่อผู้นำรัฐประหารในเมียนมา ตามข้อกล่าวหาที่มีการบันทึกข้อมูลอย่างกว้างขวางโดยคณะทำงานค้นหาข้อเท็จจริงในเมียนมาขององค์การสหประชาชาติ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และหน่วยงานอื่น ๆ ทางการอินโดนีเซียและรัฐภาคีอาเซียนอื่น ๆ ไม่สามารถเพิกเฉยต่อความจริงที่ว่า พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่ายเป็นผู้ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมร้ายแรงสุดในครั้งนี้ ซึ่งเป็นข้อกังวลสำหรับประชาคมระหว่างประเทศโดยรวม”
ความเสี่ยงต่อความน่าเชื่อถือของอาเซียน
ในจดหมายเปิดผนึกถึงประเทศสมาชิกอาเซียน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเน้นถึงข้อเท็จจริงที่ว่า บุคคลหลายร้อยคนถูกสังหาร และอีกหลายพันคนถูกควบคุมตัว ในช่วงหลายสัปดาห์นับตั้งแต่การทำรัฐประหารในเมียนมาเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 ที่ผ่านมา กองทัพเมียนมาไม่แสดงท่าทีใส่ใจต่อเสียงเรียกร้องของประชาคมระหว่างประเทศ และหน่วยงานภาคประชาสังคมโดยสิ้นเชิง
เศรษฐกิจของเมียนมากำลังย่ำแย่ และคาดว่าจะหดตัวอีกถึง 20% ราคาอาหารเพิ่มขึ้นและปัญหาต่อระบบธนาคาร พร้อมกับเงินสดที่มีอยู่จำกัดย่อม ส่งผลกระทบ ต่อการทำงานด้านมนุษยธรรม ทางโครงการอาหารโลก ได้เตือนว่า อาจมีประชาชนในเมียนมามากถึง 3.4 ล้านคนที่ต้องประสบกับความหิวโหยในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
“ดูเหมือนว่ากองทัพเมียนมายังดำเนินการด้วยความเชื่อว่าตนเองจะไม่ต้องรับผิดอย่างสิ้นเชิง สถานการณ์ในปัจจุบันเป็นผลโดยตรงมาจากความล้มเหลวโดยรวมของประชาคมระหว่างประเทศรวมทั้งอาเซียน ที่ไม่สามารถทำให้กองทัพเมียนมาต้องรับผิดชอบต่ออาชญากรรมที่เกิดขึ้นในอดีต
“หากไม่สามารถยุติการละเมิดของกองทัพเมียนมา จะยิ่งทำให้ความรุนแรงและความขัดแย้งเพิ่มสูงขึ้น เกิดความไม่เท่าเทียมมากขึ้น เกิดความหิวโหยและเกิดการพลัดถิ่นในวงกว้าง รวมทั้งการลี้ภัยเข้าไปในประเทศสมาชิกอาเซียน ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
“แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลขอกระตุ้นอาเซียนและประเทศสมาชิกให้ร่วมมือกัน และดำเนินการโดยทันที เพื่อคุ้มครองประชาชนในเมียนมา โดยให้ความสำคัญเร่งด่วนกับสิทธิมนุษยชนและยุติการลอยนวลพ้นผิด” เอ็มเมอร์ลีน จิลกล่าว
ความจำเป็นที่จะต้องยุติการลอยนวลพ้นผิด
ในวันที่ 10 มี.ค. 2564 จากการตรวจสอบคลิปวีดิโอ 50 ชิ้นที่ถ่ายไว้ระหว่างการปราบปรามผู้ชุมนุม แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล พบว่า กองทัพเมียนมาใช้ยุทธวิธีและอาวุธที่อันตรายมากขึ้น ซึ่งปรกติเรามักจะเห็นแต่ในสนามรบ แต่นำมาใช้ปราบปรามผู้ชุมนุมโดยสงบและผูสังเกตการณ์์ทั่วประเทศ การสังหารหลายครั้งมีลักษณะเป็นการสังหารนอกกระบวนการกฎหมาย
ในถ้อยแถลงต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2564 ทอม แอนดรูวส์ ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยเมียนมาตั้งข้อสังเกตว่า การปราบปรามการชุมนุมโดยสงบนับแต่การทำรัฐประหาร อาจเข้าเกณฑ์เป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ
ในปี 2561 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยแพร่รายงาน ที่เสนอหลักฐานอย่างละเอียดและน่าเชื่อถือ ซึ่งชี้ว่าพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย และบุคคลไม่ทราบชื่ออีก 12 คน อาจมีความผิดในข้อหาอาชญากรรมต่อมนุษยชาติที่เกิดขึ้นระหว่างการสังหารหมู่หรือการกวาดล้างเผ่าพันธุ์ (Ethnic Cleansing) ุ์ชาวโรฮิงญาทางตอนเหนือของรัฐยะไข่ ส่งผลให้มีการสังหารผู้หญิง ผู้ชาย และเด็กชาวโรฮิงญาหลายพันคน โดยพวกเขาถูกพันธนาการไว้และสังหารอย่างรวบรัด ถูกยิง และสังหารขณะหลบหนี ถูกเผาจนเสียชีวิตภายในบ้านของตนเอง ผู้หญิงและเด็กผู้หญิงชาวโรฮิงญาถูกข่มขืนในหมู่บ้าน และระหว่างหลบหนีไปบังกลาเทศ
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังบันทึกข้อมูลอาชญากรรมสงครามและการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงอื่น ๆ ที่กองทัพเมียนมากระทำต่อชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์หลายกลุ่มในรัฐยะไข่ ชิน คะฉิ่น และตอนเหนือของรัฐฉาน
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังคงเรียกร้องให้ทุกประเทศ รวมทั้งประเทศสมาชิกอาเซียนดำเนินการตามเขตอำนาจศาลสากลและอำนาจศาลในรูปแบบอื่น เพื่อให้มีการสอบสวนบุคคลที่มีเหตุผลเชื่อได้ว่า อาจเกี่ยวข้องกับการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ อาชญากรรมสงคราม และอาชญากรรมอื่น ๆ ตามกฎหมายระหว่างประเทศในเมียนมา อาเซียนไม่ควรปกป้องผู้กระทำความผิดที่จะต้องรับผิดชอบ และต้องยุติการลอยนวลพ้นผิดของกองทัพเมียนมาในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
“มีพยานหลักฐานมากเพียงพอที่ทำให้เชื่อได้ว่า พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่ายรับผิดชอบต่ออาชญากรรมตามกฎหมายระหว่างประเทศ รวมทั้งการทรมาน และเราจำเป็นต้องเน้นย้ำข้อเท็จจริงนี้ในทุกโอกาส”
“ปฏิบัติการสังหารของกองทัพเมียนมาตั้งแต่วันที่ทำรัฐประหาร 1 กุมภาพันธ์ 2564 ยิ่งทำให้เห็นชัดเจนมากขึ้นถึงความจำเป็นที่จะต้องนำตัวพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่ายและบุคคลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง มาเข้าสู่กระบวนการไต่สวน ทางการอินโดนีเซียมีพันธกรณีต้องสอบสวนเขาและต้องทำเช่นนั้น” เอ็มเมอร์ลีน จิลกล่าว
โดยในจดหมายเปิดผนึก ถึงอาเซียนและประเทศสมาชิกอาเซียนในการประชุมสุดยอดนัดพิเศษ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลมีข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้
สำหรับอาเซียน:
- ให้ร่วมกันประณามต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนทุกประการที่เกิดขึ้นในเมียนมา และเรียกร้องให้ปล่อยตัวทุกคนที่ถูกควบคุมตัวโดยพลการ และให้ยุติการใช้กำลังถึงขั้นเสียชีวิตกับเด็ก ผู้ชุมนุมโดยสงบ และผู้สังเกตการณ์
สั่งการให้คณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (AICHR) จัดทำแนวทางร่วมกันเพื่อประกันว่า การดำเนินงานใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเมียนมาต้องให้ความสำคัญ และมุ่งแก้ไขข้อกังวลด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งสอด
- คล้องตามอำนาจหน้าที่ของ AICHR ในข้อ 4.11 ของกรอบอ้างอิงของตน อาเซียนควรรับรองแนวทางร่วมกันเช่นนี้ และให้ถือเป็นแนวปฏิบัติขององค์กรในภูมิภาคในการมีส่วนร่วมใด ๆ ในเมียนมา รวมทั้งส่วนที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ในรัฐยะไข่ และการปราบปรามฝ่ายต่อต้านรัฐประหาร
- สนับสนุนการทำงานของกลไกอิสระระหว่างประเทศ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ และผู้รายงานพิเศษว่าด้วยสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเมียนมา เพื่อสอบสวนการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเมียนมา
กระตุ้นคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ให้ส่งสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเมียนมาทั้งหมด เข้าสู่การพิจารณาของศาลอาญาระหว่างประเทศ
- สนับสนุนข้อเรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ กำหนดมาตรการห้ามซื้อขายอาวุธจากทั่วโลกกับเมียนมา
- สนับสนุนข้อเรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ใช้มาตรการแทรกแซงทางการเงิน โดยมีเป้าหมายเฉพาะเจาะจงไปที่เจ้าหน้าที่ที่คาดว่ากระทำความผิดต่อกฎหมายระหว่างประเทศและการละเมิดร้ายแรง รวมทั้งที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามฝ่ายต่อต้านรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564
สำหรับประเทศสมาชิกอาเซียน:
- งดเว้นการส่งกลับบุคคลใด ๆ ไปยังเมียนมาภายใต้สภาพการณ์ที่เป็นอยู่ โดยไม่คำนึงถึงสถานะการเข้าเมืองของบุคคลนั้น ให้ยุติการเนรเทศและส่งกลับใด ๆ จนกว่าจะมีการรับประกันความคุ้มครองด้านสิทธิมนุษยชน การส่งกลับบุคคลภายใต้สภาพการณ์ที่เป็นอยู่ ย่อมถือเป็นการละเมิดหลักการไม่ส่งกลับ (Non-Refoulement) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายจารีตประเพณีด้านสิทธิมนุษยชน ที่ห้ามการส่งกลับบุคคลอย่างสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเข้าเมืองมาอย่างไรก็ตาม กรณีที่การส่งกลับไปยังประเทศอื่นที่เชื่อได้ว่า อาจทำให้บุคคลนั้นได้รับอันตรายที่ไม่อาจแก้ไขกลับคืนได้ อันเป็นผลมาจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง
- ให้การประกันว่าการส่งกลับหรือการส่งคืนผู้ลี้ภัยกรณีใด ๆในอนาคต ไม่เพียงต้องเกิดขึ้นในสภาพที่ปลอดภัย เป็นไปโดยสมัครใจและมีศักดิ์ศรีเท่านั้น หากยังต้องมีการคุ้มครองด้านสิทธิมนุษยชนอย่างชัดเจน รวมทั้งการให้บุคคลเหล่านั้นเข้าถึงสิทธิที่จะได้รับสัญชาติ ประเทศต่าง ๆ ควรมีการประเมินเป็นรายบุคคล เพื่อจำแนกความจำเป็นด้านการคุ้มครองระหว่างประเทศ
- ดำเนินการตามเขตอำนาจศาลสากลและอำนาจศาลในรูปแบบอื่น เพื่อสอบสวนพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่ายตามข้อกล่าวหาว่าได้ก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ อาชญากรรมสงคราม และอาชญากรรมอื่น ๆ ตามกฎหมายระหว่างประเทศในเมียนมา
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ