แบรนด์ 'MUJI' จากญี่ปุ่น สวนกระแสต้านจีน-เดินหน้าสั่งซื้อวัตถุดิบฝ้ายจากซินเจียง

กองบรรณาธิการ TCIJ 24 พ.ค. 2564 | อ่านแล้ว 2660 ครั้ง

แบรนด์ 'MUJI' จากญี่ปุ่น สวนกระแสต้านจีน-เดินหน้าสั่งซื้อวัตถุดิบฝ้ายจากซินเจียง

ขณะที่ผลิตภัณฑ์แฟชั่นทั่วโลกเกาะกระแสไม่ใช้ผ้าฝ้ายจากมณฑลซินเจียงของประเทศจีน แบรนด์สัญชาติญี่ปุ่น อย่าง MUJI แสดงจุดยืนไม่สนใจคำวิจารณ์กรณีการบังคับใช้แรงงานในพื้นที่ปกครองตนเองของจีน และเดินหน้าสั่งซื้อวัตถุดิบจากเขตนี้ต่อไป | ที่มาภาพ: IC (อ้างใน China Plus)

VOA รายงานเมื่อช่วงกลางเดือน พ.ค. 2021 ว่าหนังสือพิมพ์ The Wall Street Journal รายงานว่า 'มูจิ' (MUJI) ซึ่งเป็นธุรกิจค้าปลีกที่มีร้านค้าสาขาทั่วญี่ปุ่นและในอีกหลายประเทศ แสดงตนยืนเคียงข้างรัฐบาลกรุงปักกิ่ง โดยไม่สนกระแสตามตามอย่างบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นอื่นๆ และธุรกิจตะวันตกจำนวนมาก และยังคงใช้วัตถุดิบฝ้ายจากซินเจียง เขตปกครองตนเองที่มีประชากรจำนวนมากนับถือศาสนาอิสลาม และกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่า ชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมอุยกูร์ถูกบังคับใช้แรงงานในค่ายกักขังหลายแห่ง

รายงานข่าวระบุว่า ราวครึ่งหนึ่งของรายได้นอกญี่ปุ่นของมูจินั้นมาจากตลาดจีน ขณะที่รายได้จากสหรัฐฯ นั้นมีสัดส่วนเล็กน้อยเท่านั้น

แถลงการณ์ที่บริษัทเผยแพร่ออกมานั้นแสดงให้เห็นถึงภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกของบริษัทแฟชั่นต่างชาติที่ที่เข้าไปทำธุรกิจในจีนอย่างชัดเจน เพราะบางครั้งบริษัทเหล่านี้ต้องเลือกว่า จะยอมทำบางอย่างเพื่อเอาใจรัฐบาลจีน หรือจะเข้าใจลูกค้าของตนในอีกหลายประเทศที่มีออกมาเตือนกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในจีน

เมื่อเดือน เม.ย. 2021 บริษัท เรียวฮิน เคอิคาคุ ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ มูจิ กล่าวว่าได้สั่งให้มีการทำตรวจประเมินในพื้นกว่า 12,000 เอเคอร์ หรือราว 49 ตารางกิโลเมตร ของไร่ฝ้ายและโรงงานอื่นๆ ในมณฑลซินเจียงในปี 2020 ที่ผ่านมาแล้ว และไม่พบหลักฐานการละเมิดสิทธิมนุษยชนแต่อย่างใด โดยก่อนหน้านั้น ทางบริษัทกล่าวว่า การตรวจประเมินที่ว่าไม่พบปัญหาใหญ่อื่นๆ ที่แก้ไขไม่ได้อีกด้วย

สื่อ นิคเคอิ เอเชีย รายงานด้วยว่า เรียวฮิน เคอิคาคุ ยืนยันในแถลงการณ์ว่า “มูจิได้รับการรับรองมาตรฐานโลกสำหรับฝ้ายและเส้นใยฝ้ายที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ของตนเพื่อให้สามารถระบุได้ว่า ทุกชิ้นเป็นผลิตภัณฑ์จากไร่ปลอดสาร (organic)” ทั้งยังยืนยันด้วยว่า การรับรองที่ว่านี้เป็นไปตามเงื่อนไขของพิธีสารแรงงานระหว่างประเทศของ องค์กรแรงงานสากล รวมทั้งตามหลักการการทำธุรกิจของ องค์การสหประชาชาติและองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD)

นอกจากนั้น แถลงการณ์ของบริษัทที่ออกมาเมื่อเดือนที่แล้ว ยังระบุว่า การที่มูจิเลือกใช้ฝ้ายจากไร่ปลอดสารพิษของซินเจียงยังมีส่วนช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนที่เขตนั้นด้วย

และเมื่อเข้าไปในเว็บไซท์ของมูจิ จะพบว่า ทางบริษัทมีการระบุคำว่า “ฝ้ายจากซินเจียง” สำหรับสินค้าหลายรายการด้วย และการตัดสินใจเพิ่มข้อมูลดังกล่าวทำให้ผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ในจีนรู้สึกพอใจเป็นอย่างมาก โดยบางคนยังได้โพสต์ข้อความผ่านแอป เว่ยโป๋ (Weibo) ที่ทำหน้าที่เหมือนทวิตเตอร์ ด้วยว่า ตนรับรู้ได้ถึงความกระตือรือร้นของมูจิ ที่ต้องการจะสนับสนุนจีน

ผู้บริหารของมูจิ เปิดเผยว่า จีนนั้นคือตลาดที่จะช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของบริษัท พร้อมแผนขยายร้านสาขาในประเทศนี้ให้มีมากกว่า 300 แห่งภายในเดือนสิงหาคม หลังจากหน่วยธุรกิจของตนในสหรัฐฯ ตกอยู่ในภาวะที่ต้องยื่นเรื่องประกาศภาวะล้มละลายไปเมื่อปีที่แล้ว

ทิศทางการทำธุรกิจในจีนของมูจินั้น แตกต่างจากสภาวะที่บริษัทแฟชั่นสัญชาติตะวันตกอื่นๆ Nike และ H&M ประสบไปอย่างมาก หลังบริษัทเหล่านี้ออกมาประกาศเมื่อปี 2020 ว่าจะไม่ใช้ฝ้ายจากซินเจียง และเมื่อไม่นานมานี้ กลายมาเป็นเป้าถูกโจมตีผ่านสื่อสังคมออนไลน์ในจีน ที่มีการเรียกร้องให้ผู้บริโภคจีนคว่ำบาตรแบรนด์ต่างๆ ที่มีจุดยืนต่อต้านวัตถุดิบจากพื้นที่ภาคตะวันตกของประเทศ

แต่แม้จะไม่ถูกโจมตีจากผู้บริโภคในจีน เมื่อต้นเดือนที่แล้ว นักเคลื่อนไหวกลุ่มหนึ่งได้มาชุมนุมประท้วงที่หน้าที่ทำการใหญ่ของบริษัทในกรุงโตเกียว เพื่อเรียกร้องให้ผู้บริหารหยุดซื้อฝ้ายจากซินเจียงแล้ว

ขณะที่ มูจิ แสดงจุดยืนไม่สวนกระแสต้านจีนอยู่ ธุรกิจแฟชั่นสัญชาติญี่ปุ่นอื่นๆ เช่น Fast Retailing ที่เป็นเจ้าของแบรนด์ ยูนิโคล่ และบริษัท Asics Corp พยายามหลีกเลี่ยงไม่แสดงความชัดเจนเกี่ยวกับการใช้วัตถุดิบจากจีนต่อไป

โคตะ ฮิรายามา นักเศรษฐศาสตร์ จากบริษัทหลักทรัพย์ SMBC Nikko Securities ให้ความเห็นว่า การที่บริษัทญี่ปุ่นหลายแห่งจะตัดสัมพันธ์กับจีนนั้น ผลเสียที่เกิดขึ้นนั้นไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย เพราะนอกจากจะทำให้ตนเสียตลาดขนาดใหญ่ไปแล้ว ยังอาจกระทบห่วงโซ่อุปทานโลกด้วย ซึ่งแปลว่า อาจจะทำให้ทั้งยอดขายตก และชื่อเสียงด้านคุณภาพของสินค้ามีปัญหาได้ด้วย

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: