'จดหมายคือสิ่งยาใจในเรือนจำ' บทสนทนาจากประชาราษฎร์ Festival

กองบรรณาธิการ TCIJ 24 ต.ค. 2564 | อ่านแล้ว 1916 ครั้ง

'จดหมายคือสิ่งยาใจในเรือนจำ' บทสนทนาจากประชาราษฎร์ Festival

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จัดงาน 'ประชาราษฎร์ Festival' เปิดพื้นที่ให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมทั้งมีกิจกรรมเขียนจดหมายถึงเหล่านักกิจกรรม นักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยที่ต้องคดีอยู่ในเรือนจำ ตลอดจนร่วมลงชื่อเพื่อ "ทวงคืนสิทธิประกันตัวให้เพื่อน" และ "ส่งเสียงถึงผู้มีอำนาจ"

24 ต.ค. 2564 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จัดงาน "ประชาราษฎร์ Festival" โดยเปิดพื้นที่ให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมทั้งมีกิจกรรมเขียนจดหมายถึงเหล่านักกิจกรรม นักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยที่ต้องคดีอยู่ในเรือนจำ ตลอดจนร่วมลงชื่อเพื่อ "ทวงคืนสิทธิประกันตัวให้เพื่อน" และ "ส่งเสียงถึงผู้มีอำนาจ" และรับฟังดนตรีโดยศิลปินเพื่อสิทธิมนุษยชนด้วย

โดยภายในงานมีกิจกรรม 'ประชาราษฎร์ Café' เพื่อพูดคุยในประเด็นความสำคัญของจดหมายและการสื่อสารไปยังนักกิจกรรมที่ยังถูกจำคุก ซึ่งมีผู้เข้าร่วมพูดคุยคือ นรเศรษฐ์ นาหนองตูม จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล นักกิจกรรมประชาธิปไตย โตโต้-ปิยะรัฐ จงเทพ กลุ่มมวลชนอาสา We Volunteer แม่สุ-สุรีย์รัตน์ ชิวารักษ์ แม่ของ เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ เพชรรัตน์ ศักดิ์ศิริเวทย์กุล หัวหน้าฝ่ายรณรงค์ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และดำเนินรายการ โดย รักชนก ศรีนอก จากกลุ่มพลังคลับ

จุดเริ่มต้นของการเขียนจดหมาย

เพชรรัตน์ ศักดิ์ศิริเวทย์กุล หัวหน้าฝ่ายรณรงค์ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยกล่าวว่า แอมเนสตี้ทำงานที่ประเทศไทยมาหลายปีมาก และเชื่อมั่นในกระบวนการในไทยว่าจะมีการพัฒนาเรื่องสิทธิมนุษยชนในที่สุด ทั้งนี้ ที่ผ่านมาแอมเนสตี้ทำเรื่องผู้ลี้ภัย เรื่องสิทธิในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบมาอย่างยาวนาน โดยประเด็นดังกล่าวเป็นหัวใจสำคัญของประเทศและสังคมเพราะทำให้มีพื้นที่ให้มีการพูดคุยกัน แอมเนสตี้จึงเชื่อว่าการที่ยังยืนหยัดเพื่อปกป้องเรื่องสิทธิมนุษยชนจึงจำเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ การเขียนจดหมายนั้นสำคัญมากเพราะในเรือนจำนั้นไม่มีเทคโนโลยีอื่นๆ ที่ทำให้สื่อสารได้ จดหมายจึงเป็นส่วนสำคัญในการทำให้คนในเรือนจำได้ได้รับรู้เรื่องราว ข่าวสารจากข้างนอก และรับรู้ว่ามีคนเป็นห่วง คิดถึง และเชื่อมั่นใจตัวพวกเขา ทั้งยังช่วยเยียวยาจิตใจด้วย

"จดหมายหลายๆ ฉบับก็สามารถกดดันเจ้าหน้าที่รัฐบาลได้จริง จดหมายอาจเป็นแค่ตัวเขียนหนังสือ แต่ก็เป็นการรวมพลังของคนธรรมดาที่สร้างเป็นแรงผลักดันในสังคม การเขียนจดหมายเพื่อผลักดันด้านกฎหมาย และเรียกร้องให้ปล่อยเพื่อนเราจึงสำคัญมาก ทั้งการเขียนจดหมายก็เป็นการเคลื่อนไหวของคนทั่วโลกด้วย การทำให้ทั่วโลกรู้ว่าขบวนการเรียกร้องในไทยยังมีอยู่ และจะเข้ามาร่วมยืนหยัดด้วยกันกับเราด้วยจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก เช่น กิจกรรม Write for Rights ของแอมเนสตี้ที่เป็นแคมเปญทั่วโลก ดังนั้น การที่คนคนหนึ่งถูกลิดรอนจึงเป็นเรื่องที่คนทั้งประเทศและทั่วโลกมาร่วมเคลื่อนไหวด้วยกัน" เพชรรัตน์กล่าว และว่าคาดว่าปีนี้จะมีการเขียนจดหมายมายังประเทศไทยมากกว่าสามล้านฉบับ

เมื่อจดหมายคือสิ่งเดียวที่เชื่อมต่อคนข้างนอกกับคนข้างในได้

นรเศรษฐ์ นาหนองตูม จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่านับตั้งแต่มีการชุมนุมของเยาวชนปลดแอกเมื่อปี 2563 ปัจจุบันมีคนดำเนินคดีกว่า 800 คดีแล้ว ในจำนวนนี้มีเหล่านักสู้ทางความคิดที่ถูกกุมขังอย่างน้อย 24 คน ไม่ว่าจะ เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ ไผ่-จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา อานนท์ นำภา ฯลฯ ทั้งยังมีเยาวชนอีกหลายคนถูกกุมขังในสถานพินิจโดยไม่ได้รับสิทธิการประกันตัวทั้งที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ทั้งที่คนเหล่านี้แค่ออกมาเรียกร้องชีวิตที่ดีขึ้นเท่านั้น

"จดหมายและการสื่อสารนั้นเป็นเรื่องสำคัญมาก แทบทุกครั้งที่ตนไปเยี่ยมนักโทษในเรือนจำ คำถามที่เจอตลอดคือ สถานการณ์ข้างนอกเป็นยังไงบ้าง ล่าสุดไปเจอกับ ไมค์-ภาณุพงศ์ จาดนอก ที่ศาลแขวงดุสิต เขาบอกว่าอยากได้จดหมาย และนี่น่าจะตอบคำถามได้ว่าจดหมายที่เราส่งไปนั้นสำคัญอย่างไร เพราะเวลาที่พวกเขาถูกจับขัง มันเหมือนพวกเขาถูกตัดขาดจากโลกใบนี้ ไม่สามารถสื่อสารกับใครได้ ไม่ได้ดูข่าวสารเพราะโทรทัศน์ไม่เปิดข่าวให้ดู จดหมายจึงเป็นช่องทางในการสื่อสาร เมื่อพวกเขาได้ยินเรื่องราวเหล่านั้น หลายคนยิ้มมีความสุข หัวเราะ หลายคนก็รู้สึกเศร้า เสียใจที่รู้ข่าวว่าเพื่อนก็ถูกจับขังมาเช่นกัน ดังนั้น จดหมายที่ส่งไปจึงสำคัญมาก" นรเศรษฐ์กล่าวและว่า นอกจากนั้น จดหมายยังเป็นสิ่งเดียวที่ส่งไปในเรือนจำได้ จึงเป็นสิ่งเดียวที่นำไปสื่อสารให้ทุกคนรู้สึกไม่โดดเดี่ยว เพราะอยู่ในนั้นพวกเขาไม่รับรู้โลกภายนอกเลย

ความรู้สึกของผู้ที่ได้รับจดหมาย

ด้านผู้ที่เคยได้รับจดหมายจากแอมเนสตี้อย่าง โตโต้-ปิยะรัฐ จงเทพ กลุ่มมวลชนอาสา We Volunteer กล่าวว่า ตามปกติแล้วเอกสารอะไรก็ตามแต่แม้กระทั่งหนังสือพิมพ์ ไม่สามารถผ่านเข้าไปในรั้วเรือนจำได้เลย ทั้งเจ้าหน้าที่ในเรือนจำก็จะถูกกำชับให้ตรวจตราทุกตัวอักษรที่ถูกส่งไปหาเหล่านักโทษทางความคิดหรือนักโทษการเมือง จดหมายทุกฉบับนั้นตนได้นั้นปัจจุบันก็ได้นำไปเคลือบพลาสติกไว้อย่างดีเพราะกลัวสูญหาย

"จดหมายเหล่านี้เป็นกำลังใจมากๆ ถึงคนที่อยู่ข้างใน ตนอ่านแล้วอ่านอีก บางฉบับวาดรูปมา บางฉบับมาจากต่างประเทศก็มี อย่างในเวลานี้ เรานั่งตรงนี้เราไม่รู้หรอกว่าจดหมายเหล่านี้มีคุณค่าขนาดไหน เพราะจดหมายเป็นสิ่งเดียวที่เราปรารถนาตอนอยู่ในเรือนจำ" ปิยะรัฐกล่าว และว่าในแต่ละวัน หากได้จดหมายเราก็จะหยิบจดหมายนั้นมาอ่านและเขียนกลับออกไป แม้จะรู้ว่าสิ่งที่เขียนกลับออกไปนั้นอาจไปไม่ถึงข้างนอกก็ตาม แต่เป็นเหมือนการเขียนฆ่าเวลา ดังนั้น จดหมายจึงเป็นทั้งกำลังใจทั้งข่าวสาร และเป็นสิ่งเดียวที่เชื่อมเรากับโลกภายนอก จดหมายจึงเป็นสิ่งเดียวที่เราได้อ่านและยิ้มไปกับมัน โครงการนี้จึงเป็นโครงการที่ดีมากๆ

ส่วนรุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล นักกิจกรรมประชาธิปไตยเสริมว่า ตอนที่อยู่ในเรือนจำนั้นไม่ค่อยได้จดหมาย รวมกันน่าจะประมาณ 20 กว่าฉบับ และว่า จดหมายช่วยต่อกำลังใจให้เราได้เยอะมาก เพราะอยู่ข้างในนั้นเป็นกำแพงที่ตัดขาดโลกออกจากกัน ตัวกลางมีไม่กี่ช่องทาง คือทนาย ญาติและจดหมายที่ทำให้ตนไม่รู้สึกโดดเดี่ยวจนเกินไป และรู้สึกว่าคุ้มที่ต้องมาอยู่ในนี้ อย่างน้อยสังคมก็เปลี่ยนไปเยอะมาก และทำให้คนตื่นรู้ได้มากแล้ว เท่านี้ก็คิดว่าคุ้มแล้ว ฉะนั้นอยากชวนให้ทุกคนเขียนจดหมายเยอะๆ ตนไม่เคยได้ของแอมเนสตี้เลยเพราะทางทัณฑสถานหญิงเข้มมากๆ และไม่มีเวลามาตรวจให้ มาได้รับจากแอมเนสตี้อีกทีตอนอยู่บ้าน และยังอ่านวนไปวนมาอยู่เช่นนั้นเหมือนเดิม

"จดหมายที่อ่านบ่อยที่สุดคือจดหมายจากอาจารย์ที่คณะ เราต้องแอบเก็บไปไว้ใต้หมอนเพราะปกติในเรือนจำเขาไม่ให้เก็บของไว้บนห้อง มีแค่ขวดน้ำ ยาหม่อง ทิชชู่ แต่ตนก็แอบเก็บจดหมายไว้เผื่อหยิบมาอ่านระหว่างวัน โดยอาจารย์เขียนว่า ขอบคุณที่ทำให้ได้เป็นรุ่นพี่คณะที่ควรเป็น ขอบคุณที่ทำให้ได้เป็นอาจารย์อย่างที่ควรเป็นและขอบคุณที่ทำให้เป็นมนุษย์อย่างที่ควรเป็น เมื่ออ่านจบแล้วก็รู้สึกขอบคุณเหมือนกันที่ทำให้รู้ว่าสิ่งที่ทำไปไม่สูญเปล่า" ปนัสยาเล่า และกล่าวอีกว่า หากจะให้เขียนจดหมายกลับไปหาถึงคนที่เคยเขียนจดหมายมาหา คงเขียนอะไรไม่ได้นอกจากขอบคุณ ขอบคุณที่ไม่ลืมเรา ยังติดตามความเป็นไปของเราในเรือนจำ แม้ว่ามันจะยากมากๆ ในการที่เราจะส่งข้อความออกไปหรือคุณส่งข้อความเข้ามา แต่ในความยากลำบากนั้นคุณก็ยังจะทำให้เรา จึงอยากขอบคุณทุกคนมากๆ

ด้าน แม่สุ-สุรีย์รัตน์ ชิวารักษ์ แม่ของ เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์เล่าถึงสิ่งช่วงเวลาที่เพนกวินเล่าเรื่องจดหมายว่า เพนกวินพูดเสมอว่าเวลาได้รับจดหมายนั้นเป็นสิ่งที่ทำให้อยากมีชีวิตอยู่ มีแรงสู้ต่อไป เพนกวินอยู่คนเดียวในห้องขังแคบๆ ไม่มีเพื่อนที่จะคุยหรือปรึกษาใดๆ ได้ สิ่งเดียวที่จะได้รับรู้จากข้างนอกคือข่าวสารจากจดหมาย และจะได้รู้ว่าสิ่งที่ทำนั้นมีคนมองเห็น ทั้งยังเป็นสิ่งที่ช่วยประโลมใจ เช่น เมื่อมีคนแต่งกลอนผ่านจดหมายไปให้เพนกวิน เพนกวินก็จะเขียนกลอนตอบ

"แต่จดหมายนั้นส่งยากอย่างมาก ห้ามส่งอะไรที่เกี่ยวกับการเมือง จดหมายที่ส่งถึงเพนกวินก็มีการตรวจกันอย่างเข้มงวด ตนเขียนจดหมายด้วยลายมือ สื่อถึงความรู้สึก ความตั้งใจ อารมณ์ เพนกวินจะซึมซับคำพูดของทุกคนผ่านตัวอักษรเหล่านั้น และถึงแม้จะส่งยากเย็นแต่ก็ไม่เกินความพยายาม จดหมายนั้นเป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงทุกคนไม่ใช่แค่เพนกวิน การสื่อสารด้วยจดหมายจึงสำคัญมากและทำให้ทุกคนที่ถูกกักขังมีชีวิตที่มีความหวังอยู่ ตนรู้สึกว่าทุกคนมีแรงใจที่จะอดทนต่อสู้ และรอเวลาออกมาต่อสู้พร้อมทุกคนข้างนอกอีกครั้ง" สุรีย์รัตน์กล่าว และว่าฝากถึงเหล่าผู้ปกครองว่า เด็กของเราเราเลี้ยงมา เรารู้ว่าเขาเป็นอย่างไร และแม้ไม่เข้าใจก็ต้องคุยกันให้มากๆ หากเราปล่อยให้คนอื่นมาทำร้ายลูกเรา เราจะไปยอมได้อย่างไร และอยากฝากไปถึงผู้มีอำนาจว่า การจับเด็ก ทำร้ายเด็ก ยิ่งทำก็ยิ่งแสดงถึงความขี้ขลาด โง่เขลา ไร้วุฒิภาวะของผู้ปกครองและผู้บริหาร ฉะนั้น สิ่งที่ยิ่งทำทุกวันก็เป็นการแสดงตัวตน อย่าคิดว่าคนอื่นเขาไม่เห็น เพราะยิ่งทำก็ยิ่งประจานตัวเองไปในตัว

"เพนกวินบอกว่าตราบใดที่ข้างนอกยังสู้อยู่ เพนกวินก็จะสู้และยังไม่หมดกำลังใจ จดหมายคือยาใจชนิดหนึ่งที่หาค่าไม่ได้ ถ้าเป็นไปได้ก็อยากส่งข้อความไปถึงคนข้างในว่า เด็กๆ ทุกคนที่อยู่ในนั้น พวกคุณไม่ได้เป็นนักโทษ แต่เป็นนักสู้ที่เสียสละและกล้าหาญ จงภูมิใจในตัวเอง อยากบอกทุกคนว่า ต้องภูมิใจในตัวเอง คุณกล้าหาญมากที่ออกมายืนตรงนี้ พวกเราทุกคนข้างนอกก็ชื่นชมสิ่งที่คุณทำด้วย" สุรีย์รัตน์ปิดท้าย

หากได้เขียนจดหมายถึงผู้มีอำนาจ

รักชนก ศรีนอก ผู้ดำเนินรายการได้ชวนถามตอบว่า หากสามารถเขียนจดหมายถึงผู้มีอำนาจได้ จะเขียนถึงใครและเขียนว่าอย่างไร โดยโตโต้-ปิยะรัฐ เล่าว่ามีอะไรอยากเขียนมากมายไปหมด แต่ที่อยากชวนทุกคนให้เขียนและเรียกร้องคือ นาทีนี้เรารู้แล้วว่าฝ่ายบริหารใช้วิธีจัดการคนที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยโดยการจับคนเห็นต่างเข้าคุก ตนอยากเขียนไปหาสถาบันตุลาการโดยตรง ว่าตุลาการต้องแสดงความกล้าหาญในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน สร้างความปลอดภัยให้ประชาชนว่าถ้าเขาออกมาเรียกร้องเสรีภาพ สู้ทางการเมือง ก็ยังมีศาลเป็นที่พึ่ง แต่ในปัจจุบัน ยุคที่รัฐกำลังใช้นิติสงครามกับประชาชน กลับกลายเป็นว่าเมื่อตำรวจออกหมายจับ ศาลก็ออกหมายให้ ทั้งยังรับฝากขัง และไม่ให้ประกันตัว ทำให้ประชาชนรู้สึกไม่ปลอดภัย ไม่มีที่พึ่ง จึงอยากเชิญชวนทุกคนเรียกร้องโดยตรงไปยังสถาบันตุลาการให้กล้าหาญ ยึดมั่นในหลักกฎหมาย ถ้าศาลยืนข้างความถูกต้องและประชาชน ประชาชนก็จะยืนข้างศาล

"ตนสงสัยและอยากถามมากว่า กลุ่มครอบครัวของตุลาการรู้สึกอย่างไรกับการที่เอาคนคนหนึ่งไปขังโดยยังไม่มีความผิด อยากถามว่าคุณกินอิ่มนอนหลับไหมที่พ่อคุณตัดสินแบบนี้ ยังเชิดหน้าชูตาในสังคมได้อย่างในกับการใช้นามสกุลนี้ ยังสบายดีอยู่ใช่ไหมกับการที่พ่อคุณรับใช้กระบวนการที่ไม่ยุติธรรม และคิดว่าเป็นสิ่งที่สังคมต้องตั้งคำถาม" ปิยะรัฐกล่าว

ด้านปนัสยาเล่าว่า มีหลายคนที่อยากเขียนถึง รวมถึงคนในสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วย ทั้งนี้ ที่ผ่านมาตนได้ผ่านกระบวนการยุติธรรมมากมายแต่กลับไม่เคยได้เห็นความยุติธรรมจริงๆ ทั้งที่เคยเชื่อมาตลอดว่าคนที่ทำงานในสถาบันตุลาการต้องยึดมั่นในความยุติธรรมมากๆ แต่ความจริงกลับไม่ใช่เลย จึงอยากเขียนจดหมายไปบอกว่าช่วยทำหน้าที่อย่างที่ควรจะทำได้หรือไม่ ช่วยเป็นผู้พิพากษาอย่างที่ควรเป็น และช่วยเป็นสถาบันที่คงไว้ซึ่งความยุติธรรมอย่างที่ควรเป็นได้ไหม เพราะสิ่งที่เป็นตอนนี้ มันไม่เห็นทางไปทางไหนของประเทศไทยนอกจากความเสื่อมโทรม

ขณะที่สุรีย์รัตน์เสริมว่า อยากให้กำลังใจตุลาการ ขอให้แสดงความกล้า แสดงสติปัญญาและวุฒิภาวะให้พอกับสิ่งที่ทุกคนให้เกียรติศาลด้วย เนื่องจากอาชีพตุลาการนั้นเป็นอาชีพอิสระ ก็ขอให้แสดงความกล้าหาญที่จะลุกขึ้นมาต่อสู้กับความอยุติธรรมด้วย ส่วนอีกฉบับนั้น ตนอยากสื่อสารไปถึงทั้งโลก ว่าให้ช่วยกันจับตาประเทศไทยและยื่นมือเข้ามาหาพวกเราบ้างเมื่อเห็นว่าเราถูกลิดรอนสิทธิ

โดยเพชรรัตน์กล่าวปิดท้ายว่า จะไม่มีการเขียนจดหมายเหล่านี้หากไม่มีการละเมิดสิทธิ ไม่มีการลอยนวลพ้นผิด ไม่มีความอยุติธรรม ไม่มีการซ้อมทรมาน ไม่มีการเลือกปฏิบัติ ไม่มีการกดขี่ และคงจะไม่มีการเขียนจดหมายเหล่านี้หากว่าคนเท่ากัน "อยากส่งให้เจ้าหน้าที่กับคนที่ยังใช้อำนาจรัฐอยู่ อยากให้ทุกคนมองว่าเราเท่ากันจริงๆ และอยากให้คนที่ยังถืออำนาจอยู่ กล้าหาญ เชื่อว่าคนในสังคมมีความสามารถ พัฒนาสังคมได้ และเชื่อว่าคนในสังคมเท่ากันกับคนที่ถืออำนาจจริงๆ" เพชรรัตน์กล่าว

ทั้งนี้รักชนกได้เชิญชวนให้ทุกคนร่วมเขียนจดหมายถึงแกนนำและคนธรรมดา เพื่อให้พวกเขาไม่รู้สึกว่าโดดเดี่ยวและยังได้รับรู้สถานการณ์ภายนอกด้วย อยากฝากว่า งานประชาราษฎร์ Festival และประเด็นเรื่องการเขียนจดหมายนั้นอาจไม่ต้องเกิดขึ้นเลยก็ได้

"เราไม่ต้องเขียนจดหมายหรือไม่ต้องมีกิจกรรมใดๆ เลยถ้าประเทศนี้ยังมีสิทธิเสรีภาพอยู่จริง ถ้ากระบวนการยุติธรรมและเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมยังทำหน้าที่อย่างเป็นอิสระจริงๆ โดยคงไม่ต้องมีกิจกรรมใดๆ เลย ถ้านักเคลื่อนไหวทุกคนไม่ต้องติดคุกเมื่อไม่มีกฎหมายที่ใช้ปิดปากผู้คน จึงอยากให้คนในสังคมเข้าใจว่าต้นตอของสิ่งต่างๆ เกิดจากกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมนั่นเอง" รักชนกกล่าวปิดท้าย

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: