ในออสเตรเลียมีการผลักดันให้มีนักการเมืองเชื้อสายเอเชียมากขึ้น

กองบรรณาธิการ TCIJ 25 เม.ย. 2564 | อ่านแล้ว 2100 ครั้ง

ในออสเตรเลียมีการผลักดันให้มีนักการเมืองเชื้อสายเอเชียมากขึ้น

สื่อ SBS รายงานว่าในออสเตรเลียมีการผลักดันให้มีนักการเมืองเชื้อสายเอเชียมากขึ้น เพราะปัจจุบันพบปัญหาเรื้อรังของการขาดนักการเมืองที่เป็นตัวแทนชุมชนผู้มีเชื้อสายเอเชียในแวดวงการเมืองของออสเตรเลียทุกระดับ | ที่มาภาพประกอบ: ANU

เมื่อช่วงเดือน เม.ย. 2021 สื่อ SBS รายงานว่านักการเมืองชาวออสเตรเลียเชื้อสายเอเชียมีจำนวนน้อย อย่างไม่เหมาะสมกับสัดส่วนประชากรในแวดวงการเมืองของออสเตรเลียในทุกระดับ

ขณะนี้ มีชาวออสเตรเลียเชื้อสายเอเชียมากมายเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง แต่พวกเขากลับไม่ได้ดำรงตำแหน่งในรัฐบาลต่างๆ ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ไม่เหมาะสมกับชุมชนชาวเอเชียในออสเตรเลีย

ขณะนี้ ถึงเวลาแล้วที่จะขจัดปราการกีดขวางต่างๆ ออกไป

ประชาชนซึ่งระบุตนว่าเป็นชาวออสเตรเลียเชื้อสายเอเชียนั้นมีกว่าร้อยละ 10 ของประชากรออสเตรเลีย

แต่จำนวนน้อยมากที่เป็นตัวแทนทางการเมือง

ดร.ซูร์จีต์ แดห์นจิ (Surjeet Dhanji) นักวิจัยของสถาบันเอเชีย แห่งมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น กล่าวว่า ออสเตรเลียล้มเหลวในการมองเห็นเรื่องนี้เป็นปัญหาและดำเนินการแก้ไข

“ความจริงแล้วมันค่อนข้างเลวร้ายเลยทีเดียวเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ดูเหมือนว่าเรามีตัวแทนที่เป็นคนเชื้อสายเอเชียเพียงแค่ 2 คนในรัฐสภาสหพันธรัฐ 2 คนในนิวเซาท์เวลส์และ 2 คนในวิกตอเรีย” ดร.แดห์นจิ กล่าว

คุณโคชาลิยา วาเกห์ลา (Koshiliya Vaghela) เป็น สส. เกิดในประเทศอินเดียคนแรกของวิกตอเรีย

เธอได้ก้าวข้ามอุปสรรคต่างๆ ที่ชาวออสเตรเลียเชื้อสายเอเชียรุ่นแรกที่ย้ายมาอยู่ในออสเตรเลียต้องเผชิญ ในการเดินเข้าสู่สังเวียนการเมือง

“เมื่อเรามุ่งเน้นไปที่การหาอาหารมาวางบนโต๊ะและการทำมาหากิน จึงไม่มีเวลาที่จะคิดถึงเรื่องการเมือง เมื่อเราเป็นแม่ เป็นผู้หญิง เป็นคนผิวสี มันลำบาก เราต้องทำงานหนักอย่างมากเพื่อพิสูจน์ตัวเอง และบางครั้งก็มีอคติ หรือมีความคิดแบบเหมารวม เกี่ยวกับผู้อพยพย้ายถิ่น ดังนั้น เราจึงมักถูกจับตามองอยู่ตลอดเวลา และเรายังต้องพยายามก้าวข้ามสิ่งเหล่านั้นทั้งหมดเพื่อตั้งตัวที่นี่” คุณวาเกห์ลา กล่าว

ดร.แดห์นจิ กล่าวว่า หนึ่งในอุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดคือ ความซับซ้อนในกระบวนการคัดสรรผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง

“ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งเชื้อสายเอเชียจำนวนมากถูกวางให้ลงสมัครชิงที่นั่งที่ไม่มีทางชนะได้ โดยที่นั่งเหล่านั้นเป็นที่นั่งที่คะแนนสูสีคู่คี่กันมาก หรือเป็นที่นั่งที่ไม่สำคัญเท่าใดนักสำหรับแต่ละพรรคการเมืองและพวกเขาเพียงต้องการชื่อใครสักคนมาเติมลงในช่องว่าง” ดร.แดห์นจิ กล่าว

คุณแดเนียล ลอง เหงียน (Daniel Long Nguyen) มีประสบการณ์เป็นศูนย์ในด้านการเมือง เมื่อเขาได้ลงสมัครรับเลือกตั้งสภาเทศบาลท้องถิ่นในฐานะผู้สมัครอิสระ

ลูกชายของผู้ลี้ภัยชาวเวียดนามผู้นี้ ต่อมาได้รับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีเขตเทศบาล ซิตี ออฟ ยาร์รา (City of Yarra) ขณะอายุ 29 ปี

“ความเป็นจริงก็คือ ผมไม่เคยได้พบนักการเมืองคนใดเลยในทุกระดับก่อนที่ผมจะลงสมัคร ดังนั้น ไม่เพียงแต่ผมจะไม่เคยมีประสบการณ์ทำงานด้านนี้ แต่ผมยังไม่มีใครให้ปรึกษาได้ในระหว่างนั้น ผมจึงต้องค้นหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต ทางยูทิวบ์ และพูดคุยกับคนอื่นๆ ไม่กี่คน และผมโชคดีที่มีใครคนหนึ่งที่ติดต่อมาหาผมผ่านทางชุมชนเวียดนามและให้คำแนะนำแก่ผม” คุณเหงียน กล่าว

การได้รับความสนับสนุนจากชุมชนชาวเวียดนามในท้องถิ่นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะผู้คนไม่เคยเห็นใครที่มีเชื้อสายเวียดนามได้รับเลือกตั้งมาก่อน

“รูปแบบที่ระบบการเมืองของเราถูกจัดตั้งขึ้นคือ การไม่มีตัวแทนทำให้ยากลำบากมากที่สมาชิกในชุมชนของเราจะได้เห็นใครขึ้นไปดำรงตำแหน่งผู้นำ และแน่นอนว่ามีความสงสัยและความกังวลเกี่ยวกับการที่ผมได้เข้ารับบทบาทนี้” คุณเหงียน เล่า

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชาวออสเตรเลียเชื้อสายจีน คนแรกที่ได้รับเลือกตั้ง คือนางกลาดิส ลิว เธอกล่าวว่า พรรคของเธอกระตือรือร้นที่จะใช้ประโยชน์จากความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับชุมชนชาวจีนของเธอ

แต่เวลาที่ต้องใช้ในการสานสัมพันธ์กับผู้คนในพื้นที่ของเธอเอง ทำให้เธอมีเวลาจำกัดสำหรับพื้นที่อื่นๆ นอกเหนือไปจากนั้น

“นั่นหมายความว่า เวลาที่คุณมี หากคุณมุ่งเน้นไปกับการทำสิ่งนั้น คุณมีเวลาน้อยลงที่จะทำอย่างอื่น ซึ่งบางทีอาจทำให้ถูกมองได้ว่าคุณทำได้ดีเพียงอย่างเดียว” นางกลาดิส ลิว กล่าว

คุณเหงียน กล่าวว่า ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งควรร่วมกันผลักดันให้มีตัวแทนที่หลากหลายและกว้างขวางยิ่งขึ้น

“เราจำเป็นต้องมองที่เพศ มองที่วัฒนธรรม มองที่ภูมิหลังด้านอาชีพของผู้คนเหล่านั้น ผมไม่ต้องการเห็นทนายความอีกคนในรัฐสภา และผมเองก็เป็นคนที่กำลังเรียนกฎหมายอยู่แล้ว"

"ผมจึงคิดว่าสำหรับพวกเราในฐานะชุมชน เราจำเป็นต้องเรียกร้องให้ตัวแทนทางการเมืองของเราก้าวกลับมาหนึ่งก้าว ให้มีการทำให้กระบวนการไม่รวมศูนย์อำนาจอยู่ที่ใดที่หนึ่ง ให้ชุมชนที่หลากหลายได้มีโอกาสรับบทบาทผู้นำ และเราจะได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าสำหรับชุมชนหากเราสามารถทำเช่นนั้นได้” คุณเหงียน กล่าว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: