วงเสวนาชี้แรงงานข้ามชาติติด COVID-19 ไม่กล้าไป รพ. เหตุไม่มีเงิน-ไร้ประกันสุขภาพ

กองบรรณาธิการ TCIJ 25 พ.ค. 2564 | อ่านแล้ว 1916 ครั้ง

วงเสวนาชี้แรงงานข้ามชาติติด COVID-19 ไม่กล้าไป รพ. เหตุไม่มีเงิน-ไร้ประกันสุขภาพ

วงถกแก้ปัญหา 'คลัสเตอร์แคมป์คนงาน' พบแรงงานข้ามชาติกังวลค่าใช้จ่าย-สถานะทางกฎหมาย ส่วนใหญ่ไม่มีประกันสุขภาพ ไม่กล้าไปโรงพยาบาลเมื่อติดเชื้อโควิด-19 สธ. ยันไม่มีสิทธิประกันสุขภาพก็เข้ารับบริการได้ ขณะที่รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติแนะสร้างความมั่นใจให้แรงงานไม่เคลื่อนย้าย | ที่มาภาพประกอบ: มติชนออนไลน์

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) รายงานว่า เมื่อวันที่ 20 พ.ค. 2564 สำนักข่าวไทยพีบีเอส จัดเวทีสาธารณะออนไลน์หัวข้อ “รู้จัก-เข้าใจ-แก้ปัญหา คลัสเตอร์แคมป์คนงาน” เพื่อติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ พร้อมระดมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อการแก้ไขปัญหา

ชูวงศ์ แสงคง มูลนิธิรักษ์ไทย เปิดเผยว่า แรงงานข้ามชาติมีส่วนสำคัญในระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย แต่ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ทำให้การเข้ามาทำงานของแรงงานข้ามชาติเป็นไปด้วยความยากลำบาก ปัจจุบันแทบเป็นไปไม่ได้ที่จะมีแรงงานใหม่เข้ามาอย่างถูกกฎหมาย ขณะที่แรงงานซึ่งอยู่ภายในประเทศอยู่แล้ว ก็อาจกลายไปเป็นแรงงานผิดกฎหมายมากขึ้น เพราะพ้นสภาพการจ้างงาน หางานใหม่ได้ยาก รวมถึงใบอนุญาตหมดอายุ และไม่สามารถต่ออายุได้

“คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเวลาภาครัฐจะให้การช่วยเหลือ จะไปดูที่สถานะทางกฎหมายเป็นสำคัญ พอแรงงานกลายเป็นกลุ่มผิดกฎหมายเขาก็จะเข้าไม่ถึงความช่วยเหลือ โดยเฉพาะช่วงนี้มีกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่เป็นคลัสเตอร์การแพร่ระบาดอยู่หลายจุด ซึ่งเขาไม่สามารถที่จะเข้าถึงระบบการคัดกรองหรือการรักษาได้สะดวก เพราะแม้จะมีกฎหมายอนุญาตให้ผ่อนผันต่างๆ แต่ข้อเท็จจริงก็ยังมีความลักลั่นเชิงนโยบายกับการปฏิบัติจริง ทำให้แรงงานยังคงมีความระแวงในการเข้ารับบริการอยู่” ชูวงศ์กล่าว

Aye Min tun ผู้แทนแรงงานข้ามชาติ กล่าวว่า ปัญหาที่แรงงานข้ามชาติกังวลใจมากที่สุดในขณะนี้คือค่าใช้จ่ายสำหรับที่อยู่อาศัย เพราะสถานการณ์โควิด-19 ทำให้แรงงานขาดรายได้ และทุกวันนี้ลักษณะการจ้างมักเป็นการจ้างรายวัน นายจ้างจึงไม่ทำประกันสุขภาพให้ ส่งผลให้แรงงานในตลาดส่วนใหญ่ไม่มีหลักประกันสุขภาพใดๆ

“หากเป็นไปได้จึงอยากให้หน่วยงานเกี่ยวข้อง มีการจัดแจงในเรื่องหลักประกันของแรงงานให้ชัดเจนสักที รัฐบาลอาจเข้ามาเจรจากับกลุ่มนายจ้างว่าจะให้มีประกันสุขภาพแรงงานอย่างไร ถึงแรงงานจะต้องร่วมจ่ายบางส่วนก็ยินยอม แต่ถ้ารัฐไม่คุย นายจ้างก็ไม่ได้สนใจว่าจะมีหรือไม่ สุดท้ายจึงเป็นกรณีที่เมื่อเกิดการเจ็บป่วย หรือแม้แต่การติดโควิด จะมีแรงงานส่วนที่ไม่ยินยอมไปเข้ารับบริการเพราะกลัวต้องเสียเงิน และจะไม่มีเงินจ่าย” Aye Min tun กล่าว

นพ.วลัญช์ชัย จึงสําราญพงศ์ รองผู้อำนวยการกองเศรษฐกิจสุขภาพและหลักประกันสุขภาพ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ในจำนวนแรงงานข้ามชาติที่มีอยู่ราว 3 ล้านคนทั่วประเทศ จะเป็นผู้ที่อยู่ระบบประกันสังคมประมาณ 1.2 ล้านคน อยู่ในระบบประกันสุขภาพของ สธ. ประมาณ 8 แสนคน และจะมีประมาณ 1 ล้านคนที่ไม่มีหลักประกันสุขภาพใด ซึ่งข้อมูลเหล่านี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นอยู่กับแหล่งที่มาในการรวบรวม

นพ.วลัญช์ชัย กล่าวว่า อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะในกลุ่มแรงงานที่มีสิทธิหรือไม่มีสิทธิใดๆ เลย ล้วนสามารถเข้าไปรับบริการด้านสุขภาพได้ เพียงแต่แรงงานที่มีหลักประกันจะเกิดความสบายใจในการเข้ารับบริการมากกว่า ดังนั้นโดยภาพรวมแล้วการให้บริการในโรงพยาบาลของรัฐ แรงงานข้ามชาติล้วนมีสิทธิเข้าถึงและสามารถเข้ารับบริการได้เลยเมื่อเกิดปัญหา แต่ที่ผ่านมาน่าจะเป็นเรื่องของความกังวลใจ

นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท ผู้อำนวยการสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า บทเรียนการจัดการโควิด-19 ในชุมชนคลองเตย ใช้ต้นทุนเดิม คือ โครงสร้างทางสังคมผนวกกับหน่วยงานรัฐในการดูแล ทำให้เห็นว่าการดูแลนั้นจำเป็นจะต้องเอาชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม ต้องใช้ทั้งมาตรการทางการแพทย์และสังคม หากนำแนวคิดนี้มาประยุกต์ใช้ที่แคมป์งานก่อสร้าง ดูว่าต้นทุนที่มีอยู่คืออะไร พบว่า ต้นทุนคือบริษัทนายจ้างทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก ที่จะต้องเชื่อมประสานเข้ามาร่วมคิดและดูแล

“แต่นายจ้างมีทั้งบริษัทเล็ก บริษัทใหญ่ จะดูแลกันไหวหรือไม่ หรือในเครือข่ายสมาคมเอกชนจะช่วยกันดูแลกันอย่างไร เพื่อให้ทั้งนายจ้างและแรงงานอยู่ได้ อย่าง กทม. กำลังมีการใช้แนวคิด Bubble and Seal แบบสมุทรสาคร เนื่องจากเราจำเป็นต้องเปิดกิจการเพื่อให้เศรษฐกิจหมุนไปได้ แต่จะจำกัดการเคลื่อนย้ายอย่างไร เป็นส่วนที่เอกชนต้องไปร่วมกับรัฐในการออกแบบการดูแลที่เหมาะสม และโยงไปถึงการให้บริการสุขภาพกับทุกคนในชุมชนของแรงงาน” นพ.วิรุฬ กล่าว

ด้านสุทธิพงษ์ วสุโสภาพล รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า จากการระดมความเห็นหลายภาคส่วนถึงแนวทางความร่วมมือ ในสถานการณ์โควิด-19 แรงงานข้ามชาติมีทั้งข้อเสนอให้คัดกรองเพื่อแยกคนที่ติดเชื้อออกจากคนที่ไม่ติดเชื้อ ป้องกันไม่ให้มีผู้ป่วยเพิ่ม การประยุกต์ใช้โมเดลของคลองเตย ที่มีการจัดระบบข้อมูล การทำศูนย์พักคอยสำหรับผู้ติดเชื้อ และส่งต่อผู้ป่วยไปรับการรักษา ซึ่งการสนับสนุนให้แรงงานข้ามชาติไม่เคลื่อนย้ายนั้น จะต้องให้ความมั่นใจใน 4 เรื่อง หรือ 4 อ. คือ อาหาร อาการ อาศัย และอาชีพ

รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติกล่าวว่า สำหรับข้อเสนอเพื่อการ quick win เฉพาะหน้า คือการเชื่อมระบบการทำงานร่วมกันระหว่างสายด่วน ที่มีอยู่ในปัจจุบัน อาทิ 1330 (สปสช.) 1422 (กรมควบคุมโรค) 1506 (กระทรวงแรงงาน) 1668 (ศูนย์เอราวัณ) ขณะเดียวกันจะต้องมีการทำงานเชิงรุก เช่น ทำแผนที่พื้นที่เสี่ยงระบาดในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ในการเฝ้าระวังและวางแนวทางรับมือหากเกิดการระบาด รวมไปถึงการจัดระบบอาสาสมัครสาธารณสุขข้ามชาติทั่วประเทศ เพื่อการรับมือสถานการณ์โควิด-19 ในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ

“ส่วนข้อเสนอระยะกลางและระยะยาว คือการเตรียมการเรื่องวัคซีน การฟื้นฟูคุณภาพชีวิตเมื่อสถานการณ์คลี่คลาย การวางระบบบริหารจัดการ ระบบข้อมูลแรงงานข้ามชาติที่เป็นเอกภาพ การพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายสาธารณะ เพื่อจัดการระบบแรงงานข้ามชาติทั้งระบบ” นายสุทธิพงษ์ กล่าว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: