หลังราคาตลาดโลกพุ่งขึ้นต่อเนื่อง คาดอีก 3 เดือนยอดชดเชย LPG แตะ 18,000 ล้านบาท

กองบรรณาธิการ TCIJ 25 ก.ค. 2564 | อ่านแล้ว 3696 ครั้ง

หลังราคาตลาดโลกพุ่งขึ้นต่อเนื่อง คาดอีก 3 เดือนยอดชดเชย LPG แตะ 18,000 ล้านบาท

เผยต้นทุนจริง LPG ช่วง ก.ค. 2564 ขยับขึ้นเป็น 480 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม หลังราคาตลาดโลกพุ่งไม่หยุด ในขณะที่กระทรวงพลังงานกัดฟันตรึงราคาไว้ที่ 318 บาท ทำให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในบัญชี LPG ต้องรับภาระหนักแบกส่วนต่างราคาไว้ 162 บาทต่อถังและคาดว่าการชดเชยจะเต็มวงเงินที่อนุมัติไว้ 18,000 ล้านบาทในอีก 3 เดือนข้างหน้านี้ | ที่มาภาพ: Energy News Center

ช่วงกลางเดือน ก.ค. 2564 Energy News Center รายงานว่าสถานการณ์ราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ตลาดโลก ณ วันที่ 15 ก.ค. 2564 ปรับขึ้นสูงถึง 644.50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน ตามทิศทางราคาน้ำมันโลก ในขณะที่เงินบาทอ่อนค่าลงมาถึง 32.80 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ราคา LPG ขายปลีกของไทยที่แท้จริงต้องปรับขึ้นมาถึง 480 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม แต่ปัจจุบันรัฐบาลตรึงราคาจำหน่ายไว้ที่ 318 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ทำให้กองทุนน้ำมันฯ บัญชี LPG ต้องแบกรับภาระชดเชยถึง 162 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม หรือชดเชยรวมประมาณ 1,000 ล้านบาทต่อเดือน จากเดิมชดเชยอยู่ 700-800 ล้านบาทต่อเดือน

ขณะที่ฐานะการเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในบัญชี LPG ปัจจุบันเหลือวงเงินที่จะชดเชยอีก 3,000 ล้านบาท จากกรอบวงเงินที่คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ขยายไว้ให้ติดลบได้ถึง 18,000 ล้านบาทแต่ โดยที่มีการใช้ชดเชยไปแล้วรวมประมาณ 15,000 ล้านบาท จึงคาดว่าวงเงินที่เหลือ จะสามารถชดเชยราคา LPG ได้อีกแค่ 3 เดือน หรือสิ้นสุดในเดือน ก.ย. 2564 พร้อมกับมาตรการตรึงราคาขายปลีก LPG ในประเทศที่ 318 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัมที่ กบน.อนุมัติไว้ ระหว่างเดือน ก.ค.-ก.ย. 2564 นี้

ดังนั้นแนวทางที่ กบน. จะดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาในเบื้องต้นคือ 1.การขยายกรอบวงเงินบัญชี LPG เพิ่มขึ้นอีก หากภาครัฐยังต้องการตรึงราคา LPG ที่ 318 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัมต่อไป โดยปัจจุบันกำหนดกรอบวงเงินสูงสุดอยู่ที่ 18,000 ล้านบาท การขยายกรอบวงเงินเพื่อใช้อุดหนุนราคา LPG ยังสามารถทำได้ เนื่องจากปัจจุบันกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงยังเหลือเงินประมาณ 17,972 ล้านบาท ซึ่งสามารถชดเชยราคาน้ำมันกลุ่มแก๊สโซฮอล์,ไบโอดีเซลและLPG ต่อไปได้ แต่จะชดเชยได้อีกแค่ 10 เดือนเท่านั้น เพราะปัจจุบันการชดเชยดังกล่าวทำให้เงินกองทุนน้ำมันฯไหลออกถึง 1,800 ล้านบาทต่อเดือน

และ2.การปรับขึ้นราคา LPG ซึ่งที่ผ่านมาสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้เคยเสนอแนวทางปรับขึ้นราคา LPG ต่อ กบน. ไว้แบบขั้นบันได คือปรับขึ้นไตรมาสละ 1 บาทต่อกิโลกรัม หรือขึ้น 15 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ดังนั้นไตรมาสแรกจะปรับราคาขึ้นจาก 318 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม เป็นราคา 333 บาท และไตรมาสที่ 2 จะปรับขึ้นเป็น 348 บาท และไตรมาสที่ 3 จะขึ้นเป็น 363 บาท ซึ่งเป็นราคาสูงสุดที่จะปรับขึ้นได้ตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) เมื่อวันที่ 19 มี.ค. 2563

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา กบน.ยังไม่ยอมปรับขึ้นราคา LPG ให้เกิน 318 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม แม้มติ กพช.จะให้ปรับขึ้นได้ถึง 363 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัมก็ตาม เนื่องจากไม่ต้องการซ้ำเติมประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอยู่ในขณะนี้

ดังนั้นหากสถานการณ์โควิด-19 ในระลอกที่ 3 นี้ยังไม่ดีขึ้น และรัฐบาลต้องการตรึงราคาLPG ต่อไปอีก ก็มีความเป็นไปได้ที่สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) อาจจะต้องขอ กบน. ปรับกรอบเพดานวงเงินสูงสุดของ LPG ขึ้น 3,000 ล้านบาทอีกครั้ง จากปัจจุบันกำหนดกรอบไว้ที่ 18,000 ล้านบาท จะเพิ่มเป็น 21,000 ล้านบาท และในปลายปี 2564 นี้หากยังไม่สามารถหยุดสถานการณ์เงินไหลออกจากกองทุนน้ำมันฯ เดือนละ 1,800 ล้านบาทได้ ก็มีความเป็นไปได้สูงที่ กบน.อาจพิจารณาให้ สกนช. กู้เงินไม่เกิน 20,000 ล้านบาท เพื่อนำมาใช้ดูแลราคา LPG และราคาน้ำมันให้เกิดเสถียรภาพต่อไป

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: