ม.ค.-เม.ย. 2564 ไทยได้ส่งออกผลไม้ไปจีนแล้วจำนวน 532,262 ตัน 'ทุเรียน' มากที่สุด 193,778 ตัน

กองบรรณาธิการ TCIJ 26 พ.ค. 2564 | อ่านแล้ว 1619 ครั้ง

ม.ค.-เม.ย. 2564 ไทยได้ส่งออกผลไม้ไปจีนแล้วจำนวน 532,262 ตัน 'ทุเรียน' มากที่สุด 193,778 ตัน

กรมวิชาการเกษตร เผย ม.ค.-เม.ย. 2564 ไทยได้ส่งออกผลไม้ไปจีนแล้วจำนวน 532,262 ตัน 'ทุเรียน' มากที่สุด 193,778 ตัน กำชับผู้ส่งออกไทยเฝ้าระวังเชื้อ COVID-19 ติดไปกับผลไม้ เผยจีนมาตรการเข้มงวดตรวจหนัก แนะปฏิบัติตามแนวทางป้องการปนเปื้อนในโรงคัดบรรจุเคร่งครัด พร้อมดันผู้ส่งออกใช้บริการตรวจปล่อยสินค้าที่ด่านตงซิงและผิงเสียงแก้ปัญหารถติดสะสมหน้าด่านยอดนิยมโหย่วอี้กวน หลังจีนยืนยันไม่ขยายเวลาให้บริการเพิ่มจากเดิม

กลุ่มประชาสัมพันธ์ กรมวิชาการเกษตร แจ้งต่อสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 21 พ.ค. 2564 ว่านายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่าด้วยสถานการณ์ของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในประเทศไทยที่ยังมีอัตราการตรวจพบผู้ติดเชื้อในประเทศสูงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตรไทยได้โดยเฉพาะผลไม้ที่ขนส่งผ่านเส้นทางบกไปยังประเทศจีน   เนื่องจากฝ่ายจีนมีมาตรการในการควบคุมการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 อย่างเข้มงวด โดยสินค้าผลไม้ที่ส่งออกมาจีนจะถูกตรวจกรดนิวคลิอิกเพื่อหาเชื้อโควิด-19 ในสินค้า รวมทั้งการตรวจหาเชื้อในคนขับรถสินค้า และการพ่นฆ่าเชื้อในสินค้า  ดังนั้นกรมวิชาการเกษตรจึงขอย้ำเตือนผู้ประกอบการส่งออกของไทยในการควบคุม  กำกับดูแลและป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโควิด-19 อย่างเข้มงวดตั้งแต่สวน  โรงคัดบรรจุและขั้นตอนการขนส่งเพื่อป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อโควิด-19 ติดไปกับสินค้า  ซึ่งในขณะนี้จีนได้ให้ความสำคัญกับประเด็นนี้เป็นอย่างมาก  หากตรวจพบอาจนำไปสู่การระงับการนำเข้าสินค้าผลไม้จากไทยได้  
     
ทั้งนี้ ที่ผ่านมากรมวิชาการเกษตรก็ได้จัดทำแนวทางปฏิบัติเพื่อป้องกันการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สำหรับโรงคัดบรรจุผลไม้ให้ผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุผลไม้ใช้เป็นแนวทางปฏิบัติ โดยยึดตามแนวทางขององค์การอนามัยโลก (WHO) และ FAO ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติที่ทางจีนให้การยอมรับและแนะนำให้ประเทศคู่ค้าปฏิบัติด้วยเช่นกันเพื่อควบคุมสุขอนามัยของพนักงานและสิ่งแวดล้อมในสถานที่ผลิต โดยกรมวิชาการเกษตรได้จัดทำเอกสารดังกล่าวทั้งฉบับภาษาไทยและภาษาจีนส่งให้สำนักงานศุลกากรของจีนพร้อมกับยืนยันว่าไทยได้ให้ความสำคัญกับการควบคุมเชื้อโควิด-19 ในผลไม้ส่งออกตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง เพื่อตอกย้ำให้เกิดความมั่นใจในความปลอดภัยของผลไม้ไทย
      
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่านอกจากประเด็นดังกล่าวแล้วขอแจ้งเตือนให้ผู้ส่งออกของไทยวางแผนและบริหารจัดการเวลาในการแจ้งนำเข้าสินค้าผลไม้ที่ด่านนำเข้าของจีนให้ทันต่อเวลา เพื่อไม่ให้เกิดการตกค้างของผลไม้ที่หน้าด่าน โดยเฉพาะด่านโหย่วอี้กวนซึ่งเป็นด่านนำเข้าผลไม้ทางบกที่ผู้ส่งออกของไทยนิยมไปใช้บริการจำนวนมากทำให้เกิดปัญหารถติดสะสมที่หน้าด่านต้องใช้ระยะเวลารอคิวตรวจปล่อยสินค้าค่อนข้างนานส่งผลกระทบต่อคุณภาพผลไม้ ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  และกระทรวงพาณิชย์ของไทยได้เจรจากับกระทรวงพาณิชย์  และสำนักงานศุลกากรของจีน เพื่อขอขยายเวลาทำการของด่านโหย่วอี้กวนจากเดิมเวลา 09.00-19.00 น. เป็นเวลา 09.00-21.00 น. แต่ได้รับแจ้งจากจีนว่าไม่สามารถดำเนินการให้ได้  เนื่องจากได้เปิดด่านใหม่ตงซิงเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้กับฝ่ายไทยอย่างเป็นทางการแล้วตั้งแต่วันที่ 29 เมษายนที่ผ่านมา ดังนั้นจึงขอย้ำเตือนผู้ส่งออกให้แก้ปัญหาด้วยการเปลี่ยนไปใช้เส้นทางด่านรถไฟผิงเสียงและด่านตงซิง ซึ่งทั้ง 2 ด่านดังกล่าวมีศักยภาพเพียงพอและใช้เวลารวดเร็วในการตรวจปล่อยสินค้า รวมทั้งสามารถรองรับสินค้านำเข้าได้จำนวนมาก
     
“แม้ที่ผ่านมาแม้จีนจะยังไม่เคยตรวจพบปัญหาการปนเปื้อนของเชื้อโควิด-19 ในสินค้าเกษตรจากไทยแต่ก็อยากจะเน้นย้ำให้ผู้ส่งออกให้ความสำคัญและปฏิบัติตามแนวทางการป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อโควิด-19 ในโรงคัดบรรจุซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติที่จีนแนะนำให้ประเทศคู่ค้าปฏิบัติด้วยเช่นกัน   รวมทั้งขอให้ผู้ส่งออกปรับเปลี่ยนไปใช้เส้นทางด่านนำเข้าด่านตงซิงและผิงเสียงเพื่อให้เกิดความคล่องตัวต่อการส่งออกและไม่กระทบกับคุณภาพสินค้าผลไม้ไทยที่ต้องรอคิวการตรวจปล่อยสินค้านาน  

ทั้งนี้ แต่เดือน ม.ค.-เม.ย. 2564 ไทยได้ส่งออกผลไม้ไปจีนแล้วจำนวน 532,262 ตัน รวมมูลค่า 34,453 ล้านบาท โดยผลไม้ไทยที่จีนนำเข้ามากสุด 5 ลำดับแรก ได้แก่ ทุเรียน 193,778 ตัน  มูลค่า 23,585 ล้านบาท ลำไย 188,844 ตัน มูลค่า 7,993 ล้านบาท มะพร้าวอ่อน 102,110 ตัน มูลค่า 1,940 ล้านบาท  สับปะรดปอกเปลือก 16,309 ตัน มูลค่า 102 ล้านบาท และขนุนปริมาณ 12,289 ตัน มูลค่า 172 ล้านบาท” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: