ดัชนีความทุกข์ยากของไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ยังอยู่ในระดับที่ดีกว่าหลายประเทศ

กองบรรณาธิการ TCIJ 26 ต.ค. 2564 | อ่านแล้ว 2110 ครั้ง

ดัชนีความทุกข์ยากของไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ยังอยู่ในระดับที่ดีกว่าหลายประเทศ

อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยชี้อัตราเงินเฟ้อสูงทั่วโลกและไทยจะยาวนานกว่าที่คาด ดัชนีความทุกข์ยากของไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นแต่ยังอยู่ในระดับที่ดีมากกว่าหลายประเทศทั่วโลก โดยประเทศเวเนซูเอลาและหลายประเทศในแอฟริกามีดัชนีความทุกข์ยากสูงสุดในโลก

เมื่อวันที่ 24 ต.ค. 2564 รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยและอดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต เปิดเผยว่าทิศทางอัตราเงินเฟ้อทั่วโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นและมีความเสี่ยงที่จะมีแนวโน้มสูงเป็นเวลานานหากเศรษฐกิจใดไม่มีสัญญาณของการกระเตื้องขึ้นของเศรษฐกิจเลยจะเผชิญสภาวะ Stagflation ทันที คือเงินเฟ้อสูง เศรษฐกิจชะงักงันชะลอตัว ว่างงานสูง ภาวะ Stagflation เป็นสภาพที่แก้ไขยากเพราะหากใช้นโยบายการเงินการคลังผ่อนคลายมากเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว ว่างงานสูง ก็จะสร้างแรงกดดันเงินเฟ้อได้ คาดการณ์ประเทศไทยจะไม่เจอกับภาวะดังกล่าวหรือหากจะเจอก็จะเป็นปรากฎการณ์ชั่วคราว

แม้นตนมองว่าดัชนีความทุกข์ยากทางเศรษฐกิจ (Misery Index) จะเพิ่มขึ้นก็ตามแต่ไม่สูงมากในไทย ไทยเคยมีอัตราความทุกข์ยากทางเศรษฐกิจต่ำที่สุดในโลกหลายปีต่อเนื่องจากอัตราเงินเฟ้อต่ำและอัตราการว่างงานต่ำ ใน ช่วง พ.ศ. 2543-2562 ดัชนีทุกข์ยากคำนวณจากการนำอัตราเงินเฟ้อมาบวกกับอัตราการว่างงาน ดัชนีพัฒนาขึ้นมาโดย ดร. Art Okun นักเศรษฐศาสตร์ชาวสหรัฐอเมริกา การที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วโดยล่าสุด ราคาน้ำมันในตลาดโลกทะลุระดับ 85 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลไปแล้ว โดยกลุ่มประเทศละตินอเมริกาโดยเฉพาะประเทศเวเนซูเอลาและหลายประเทศในแอฟริกา ยุโรปตะวันออก ดัชนีความทุกข์ยากอาจเพิ่มสูงขึ้นอย่างรุนแรง โดยประเทศเวเนซูเอลานั้นดัชนีความทุกข์ยากทางเศรษฐกิจเคยสูงทะลุระดับ 490 จุดมาต่อเนื่องหลายปีและเกิดอัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงรุนแรง (Hyperinflation)

กรณีของไทยนั้น สถานการณ์ดีกว่าหลายประเทศ แม้นดัชนีทุกข์ยากเพิ่มขึ้นแน่ และอาจสูงกว่าระดับ 4 แต่ไม่สูงมากเมื่อเทียบกับหลายประเทศ ไทยไม่ควรปล่อยให้อัตราเงินเฟ้อสูงกว่า 3% และอัตราการว่างงานสูงกว่า 2% หากปล่อยให้อัตราการว่างงานเพิ่มสูงขึ้น 1% จะทำให้อัตราการขยายตัวของจีดีพีต่ำกว่าผลผลิตระดับศักยภาพหรือศักยภาพการผลิตสูงสุดที่ประเทศสามารถผลิตได้ โดยมีการใช้ทรัพยากรและปัจจัยการผลิตอย่างเต็มประสิทธิภาพ และไม่ก่อให้เกิดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ

รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวสนับสนุนการผ่อนคลายมาตรการสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ของแบงก์ชาติ คาดกระตุ้นในเกิดธุรกรรมซื้อขาย การจ้างงานและการลงทุนเพิ่มขึ้นในช่วงหนึ่งปีข้างหน้า การประกาศมาตรการผ่อนคลายมาตรการ LTV ชั่วคราวจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปีนี้และต่อเนื่องไปถึงปีหน้า คาดว่าธุรกิจวัสดุก่อสร้าง ภาคก่อสร้างและธุรกิจอุตสาหกรรมก่อสร้าง รวมทั้งโรงแรมและรีสอร์ทในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญที่มีปัญหาสภาพคล่องและเจ้าของเดิมไม่สามารถดำเนินการธุรกิจต่อได้ จะถูกเปลี่ยนมือเป็นผู้ลงทุนรายใหม่ได้ง่ายขึ้น หากพิจารณารายละเอียดของมาตรการแบงก์ชาติ พบว่าการกำหนดให้เพดานอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV ratio) เป็นร้อยละ 100 สำหรับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย จะสามารถกระตุ้นในเกิดธุรกรรมซื้อขายเพิ่มขึ้นเป็นประโยชน์ทั้งประชาชนผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ของสถาบันการเงินต่าง ๆ

นอกจากนี้ธุรกิจตกแต่งบ้านและเฟอร์นิเจอร์จะได้รับผลบวกอีกด้วย โดยคาดว่าจะทำให้เม็ดเงินเข้าสู่ระบบประมาณร้อยละ 9.8 ของจีดีพี ทำให้เกิดการจ้างงาน 2.8 ล้านตามการคาดการณ์ของแบงก์ชาติ ซึ่งตนมองว่าหากตัวทวีคูณทางเศรษฐกิจทำงานได้ดีจากความเชื่อมั่นจากการเปิดประเทศพร้อมกับการเปิดช่องให้นักลงทุนต่างชาติลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ได้มากขึ้นจะทำให้ผลบวกอาจดีกว่าที่แบงก์ชาติคาดการณ์ไว้ ส่วนการผ่อนคลายชั่วคราวเป็นระยะหนึ่งปีนั้น อาจสั้นเกินไป ควรผ่อนคลายอย่างน้อย 2-3 ปี เพราะไม่เชื่อว่าจะมีสัญญาณฟองสบู่ใดๆในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในระยะ 2-3 ปีข้างหน้านี้ และไม่มีสัญญาณหนี้เสียเพิ่มขึ้นอย่างรุนแรงเนื่องจากสถาบันการเงินส่วนใหญ่ล้วนมีมาตรการปล่อยสินเชื่อที่ค่อนข้างรัดกุมอยู่แล้ว

รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวทิ้งท้ายคาดเศรษฐกิจสองเดือนสุดท้ายกระเตื้องขึ้นชัดเจนจากการเปิดประเทศ เงินจะสะพัดมากขึ้น ไม่มีความจำเป็นใด ๆ ในขณะนี้ในการชดเชยเกินพอดีจากการปรับตัวสูงขึ้นจากราคาน้ำมัน ไม่ว่าจะกู้เงินก่อหนี้สาธารณะเพิ่มมาชดเชยราคาน้ำมันผ่านกองทุนน้ำมันหรือลดภาษีสรรพสามิตเพราะจะก่อให้เกิดปัญหาฐานะทางการคลังในระยะปานกลางและระยะยาว รวมทั้งไม่ส่งเสริมให้เกิดการปรับตัวของระบบเศรษฐกิจในการลดใช้พลังงาน ลดการปล่อยมลพิษลดภาวะโลกร้อน คาดเงินทุนต่างชาติไหลเข้าตลาดการเงินไทยจากเงินบาทอ่อนค่า การเปิดประเทศ ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนกระเตื้องขึ้น และการคาดการณ์ต่ออนาคตทางเศรษฐกิจดีขึ้น การปรับลดมาตรการ QE ไม่มีผลต่อตลาดหุ้นในอาเซียนมากนัก คาดการณ์ว่าดัชนีตลาดหุ้นมีโอกาสทดสอบระดับ 1,680 จุดในช่วงปลายปีนี้ได้ คาดกลุ่มธุรกิจพลังงาน กลุ่มธุรกิจสถาบันการเงินขนาดใหญ่ กลุ่มธุรกิจโรงพยาบาล กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และท่องเที่ยว จะเป็นตัวนำตลาด และมีการฟื้นตัวของหุ้นกลุ่มธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจโรงแรม กลุ่มโลจิสติกส์การเดินทาง กิจการสายการบิน เป็นต้น แนะนำให้ทยอยเทขายทำกำไรกลุ่มพลังงานหากราคาน้ำมันทะลุระดับ 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนกลุ่มสถาบันการเงินให้เลือกลงทุนในหุ้นที่มี Valuation ที่น่าสนใจ ราคาไม่แพงเกินไป

"การเปิดประเทศแม้นเป็นผลบวกอย่างมากต่อเศรษฐกิจ การสร้างรายได้และการจ้างาน ขอเตือนว่าทุกคนต้องร่วมมือกันและตระหนักว่าต้องดำเนินชีวิตตามหลักการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ให้ระวังติดเชื้อพุ่งขึ้นจากบางกิจกรรมโดยเฉพาะกิจกรรมผิดกฎหมายที่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐมีผลประโยชน์เกี่ยวพันหรือมีการติดสินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐ และหากมีการแพร่ระบาดอีกในบ่อนการพนันหรือสถานบันเทิง หรือแรงงานต่างด้าวลักลอบเข้าเมืองผิดฎหมาย จะนำไปสู่ความจำเป็นต้องกลับมาล็อกดาวน์และปิดประเทศอีกในระลอกสี่ จะเกิดวิกฤตซ้ำซ้อน ประชาชนระดับฐานราก กิจการขนาดย่อมและขนาดเล็กจะไม่สามารถรองรับการล็อกดาวน์และปิดประเทศได้ การมีมาตรการควบคุมโรคระบาดที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลเมื่อมีสัญญาณของการเพิ่มขึ้นของการติดเชื้อในบางพื้นที่หรือบางกิจกรรมหลังเปิดประเทศจะเป็นหลักประกันว่า เศรษฐกิจจะสามารถกลับมาดำเนินได้ตามปรกติหรือไม่ท่ามกลางการระบาดของโควิดที่ยังดำเนินต่อไป" รศ.ดร.อนุสรณ์ ระบุ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: