ย้อนดูข้อเสนอแก้ไขปัญหา 'ยาบ้า' ด้วยวิธีการทางเลือกอื่นนอกจากจับกุม

กองบรรณาธิการ TCIJ 26 ส.ค. 2564 | อ่านแล้ว 6437 ครั้ง

จากกรณีอดีต ผกก.สภ.เมืองนครสวรรค์ พร้อมลูกน้องร่วมกับจับกุมและรีดไถผู้ต้องหาค้ายาเสพติดจนเสียชีวิต ได้สร้างกระแสการพูดถึงยาเสพติดในสังคมไทยอีกครั้ง TCIJ ชวนย้อนดูแนวคิดเปลี่ยนการแก้ปัญหายาเสพติดแนวใหม่ ในการแก้ไขปัญหาปัญหา 'ยาบ้า' ด้วยวิธีการทางเลือกอื่นนอกจากการจับกุม

ในช่วงเดือน ส.ค. 2564 จากกรณี พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล อดีต ผกก.สภ.เมืองนครสวรรค์ หรือ 'ผู้กำกับโจ้' พร้อมลูกน้องนายตำรวจอีกจำนวนหนึ่ง ร่วมกับจับกุมและรีดไถผู้ต้องหาค้ายาเสพติดในพื้นที่ จ.นครสวรรค์ ด้วยการทรมานใช้ถุงคลุมหัวและรัดจนถึงแก่ความตายนั้น ได้สร้างกระแสการพูดถึงยาเสพติดในสังคมไทยอีกครั้ง

TCIJ ชวนย้อนดูแนวคิดเปลี่ยนการแก้ปัญหายาเสพติดแนวใหม่ ในการแก้ไขปัญหาปัญหา 'ยาบ้า' ด้วยวิธีการทางเลือกอื่นนอกจากการจับกุม

ปี 2551 แนวคิดรัฐ 'แทรกแซงตลาดยาบ้าเอง' และข้อจำกัดของแนวคิดนี้

สมบูรณ์ ศิริประชัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เขียนบทความ 'คอลัมน์ ดุลยภาพ ดุลยพินิจ: นโยบายยาเสพติดของไทย : อะไรคือความเหมาะสม?' ไว้ในหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 21 พ.ค. 2551 ระบุว่าในวงการแพทย์ก็ได้เคยเสนอแนวคิดการกำจัดยาเสพติดด้วยวิธีแทรกแซงตลาดยาบ้าเอง โดยเสนอว่าวิธีการที่จะกำจัดยาบ้าให้หมดสิ้นไปได้นั้น คือ การเปิดโอกาสให้ผู้ติดยาเสพติดสามารถซื้อขายยาได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

การกระทำดังกล่าวยังส่งผลดีอีก 2 ประการ ประการแรก ในแง่ที่รัฐจะสามารถควบคุมดูแลการซื้อขายยาได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยให้มีการขึ้นทะเบียนผู้ติดยาและผู้ค้ายาทั้งหมดอย่างถูกต้อง จึงเป็นการง่ายต่อการตรวจสอบ ประการที่สอง จะทำให้ยาบ้ามีราคาถูกลงและยาบ้าที่ถูกกฎหมายก็จะเข้าไปแทนที่ยาบ้าที่ผิดกฎหมายในตลาดมืด

แต่ในบทความ ยังระบุว่าในความเป็นจริงข้อเสนอในการกำจัดยาเสพติดดังกล่าวยังเป็นไปได้ยากในทางปฏิบัติ เพราะการวัดหรือการตรวจสอบการผลิตยาและขบวนการค้ายาไม่ใช่สิ่งที่สามารถทำได้โดยง่าย จึงทำให้นโยบายของภาครัฐไม่ประสบความสำเร็จและต้องยกเลิกไปในที่สุด

สำหรับเรื่องยาเสพติดในอเมริกาเอง ในเรื่องการดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับยาเสพติดยังคงเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันอย่างมากระหว่างหน่วยงานของรัฐและองค์กรเอกชน ว่าการดำเนินการควรจะเป็นหน้าที่ของหน่วยงานใด ส่งผลให้การแปรรูปอุตสาหกรรมดังกล่าวยังไม่แล้วเสร็จแต่ประการใด

แน่นอนว่า การซื้อขายยาเสพติดยังคงเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายในเกือบทุกประเทศ สำหรับรูปแบบการใช้ยาก็มีความแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับรสนิยมและความพึงพอใจของผู้เสพยาแต่ละคน แต่สิ่งสำคัญที่เราต้องคำนึงถึง ประการแรก คือ ลักษณะการซื้อขายยาบ้านั้นจะมีความแตกต่างจากตลาด สินค้าโดยทั่วไป จึงยากที่จะเข้าใจและยากที่จะเข้าถึงตลาดได้ ประการที่สอง คือ การขาดข้อมูลที่ถูกต้อง แม่นยำ และน่าเชื่อถือได้ เพราะยังไม่มีการจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ ซึ่งปัญหาดังกล่าวทำให้นักเศรษฐศาสตร์ผู้เสนอแนะนโยบายมีความเสี่ยงที่จะกลายเป็น "คนไร้เดียงสา" ค่อนข้างง่าย

ในบทความนี้ยังระบุถึงบทบาทของนักเศรษฐศาสตร์กับยาเสพติด โดยระบุว่านโยบายในการกำจัดยาเสพติดที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะทำลายธุรกิจยาเสพติดที่มีอยู่ในประเทศให้หมดสิ้นไปได้ ดังจะเห็นได้จากความต้องการยาบ้าที่ยังคงอยู่ในระดับสูงมาก มีการจับกุมได้อยู่เนืองๆ มากบ้างน้อยบ้าง

สาเหตุหนึ่งเกิดจากการที่แหล่งผลิตยาบ้ามิได้ทำการผลิตเฉพาะภายในประเทศเท่านั้น แต่ยังมีการผลิตตามแนวชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้านอีกเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผลร้ายต่อสุขภาพที่เกิดจากการเสพยาบ้าจะไม่ได้รุนแรงเหมือนกับการเสพโคเคนหรือเฮโรอีนก็ตาม แต่ผลกระทบอย่างรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นในระยะยาวเป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลย เพราะยาบ้าถือเป็นสาเหตุสำคัญที่เป็นบ่อนทำลายสังคมและประเทศชาติอย่างร้ายแรง จนทำให้คุณภาพของประชากรไทยลดลงอย่างถาวร

จากการศึกษาของ Becker and Murphy ซึ่งเป็นแบบจำลองอย่างง่ายที่อธิบายพฤติกรรมการเสพยาเสพติด โดยชี้ให้เห็นพฤติกรรมการเสพยาที่ผู้ที่ติดยาจะต้องมีการเพิ่มปริมาณการเสพยามากขึ้นเรื่อยๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เมื่อปริมาณการเสพมากขึ้นเกินระดับหนึ่งแล้วกลับทำให้ความสุขหรือความพึงพอใจที่ได้รับจากการเสพยาดังกล่าวนั้นลดน้อยถอยลง

แบบจำลองของทั้งคู่ได้มีการทดสอบจากนักวิชาการอีกหลายคน ทั้งในอเมริกาและต่างประเทศ แต่สำหรับประเทศไทยยังไม่ปรากฏงานศึกษาในลักษณะดังกล่าว จากแบบจำลองสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญคือ ในเรื่องการคำนวณหาค่าความยืดหยุ่นของอุปสงค์ที่มีต่อยาบ้านั้น ยังคงมีข้อจำกัด เนื่องจากการซื้อขายยาบ้าเป็นธุรกรรมที่ผิดกฎหมาย จึงทำให้การบริโภคยาเป็นพฤติกรรมที่หลบซ่อนไม่สามารถเข้าถึงตลาดได้ จึงทำให้ขาดข้อมูลเกี่ยวกับราคายาที่ซื้อขายกันอยู่ในปัจจุบัน

ส่วนงานของ Niskanen ได้คำนวณค่าความยืดหยุ่นอุปสงค์ของกัญชาว่ามีค่าอยู่ประมาณ -1 ถึง -1.5 โดยศึกษาจากข้อมูลของนักศึกษาของสหรัฐอเมริกาที่ U.C.L.A ในลักษณะการส่งแบบสอบถามทางไปรษณีย์ "what if" อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมการเสพยาดังกล่าวมิได้เป็นการใช้ยาอย่างเปิดเผยตามข้อสมมุติตามแบบจำลองของ Becker and Murphy

ในประเทศสหรัฐอเมริกา มีการประมาณค่าความยืดหยุ่นของอุปสงค์ที่มีต่อเฮโรอีนและยาเสพติดชนิดอื่นๆ นั้นกลับได้ผลการศึกษาที่ไม่สอดคล้องกับงานของ Becker and Murphy ที่สำคัญทฤษฎีและข้อมูลที่มีอยู่ก็ยังมีไม่เพียงพอที่จะนำมากำหนดรูปแบบฟังก์ชั่นอุปสงค์ เพราะมีปัญหาที่มีความเหลื่อมล้ำทางด้านราคาเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ เรายังไม่มีความชัดเจนด้านราคา และยังไม่มีมาตรฐานในการผลิตยาบ้าอย่างเพียงพอ อย่างไรก็ตาม แม้นโยบายการกำจัดยาบ้าผิดกฎหมายโดยใช้ยาบ้าถูกกฎหมายราคาถูกที่กล่าวมาอาจมีความเป็นไปได้ในทางทฤษฎี

แต่สิ่งหนึ่งที่จะต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบอย่างยิ่งก็คือ นโยบายดังกล่าวเป็นสิ่งที่ถูกต้องและเหมาะสมหรือไม่ที่จะนำมาใช้กับกรณีของยาบ้าที่ถือเป็นสินค้าที่ผิดศีลธรรมต่อสังคม กรณีดังกล่าวก็คล้ายคลึงกับการแปลงหวยใต้ดินให้เป็นหวยบนดินนั่นเอง

ในประเด็นของ 'ทำให้ยาบ้าถูกกฎหมาย : แนวทางการแก้ปัญหาที่เหมาะสมหรือไม่?' ในบทความนี้ระบุว่า จากนโยบายการค้ายาบ้าอย่างถูกกฎหมายของรัฐบาล คงไม่มีใครสามารถรับประกันได้ว่า การดำเนินการดังกล่าวจะทำให้ปัญหายาบ้าที่มีอยู่ในปัจจุบันหมดไปได้ในทางตรงข้าม อาจทำให้ปัญหาดังกล่าวเลวร้ายยิ่งขึ้น

เพราะการที่ราคายาบ้าถูกลงจะยิ่งเป็นการกระตุ้นให้เกิดความต้องการยาบ้าเพิ่มขึ้น ตราบใดที่ยังคงมีธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้อง ผู้ที่เสพยาก็จะต้องเผชิญกับต้นทุนที่จะเกิดขึ้น 2 อย่าง คือ ต้นทุนการหาแหล่งขายยาหรือต้นทุนในการได้ยาบ้านั้นมา และต้นทุนด้านความเสี่ยงที่จะถูกตำรวจจับกุม ยิ่งกว่านั้น ยาบ้าที่ซื้อมาอาจมีการปลอมปนหรือเป็น ยาบ้าปลอม ก็เป็นความเสี่ยงในอีกรูปแบบหนึ่งที่ผู้ซื้อต้องเผชิญเองซึ่งแน่นอนว่าการดำเนินนโยบายการขายยาบ้าถูกกฎหมายจะช่วยแก้ปัญหาต้นทุนเหล่านี้เหมาะไปได้ ที่สำคัญ ผู้บริโภคยังมั่นใจได้กับคุณภาพของยา เพราะรัฐสามารถควบคุมคุณภาพการผลิตให้ได้มาตรฐานเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม นโยบายการขายยาบ้าให้ถูกกฎหมายอาจจะส่งผลในทางที่เลวร้ายอย่างที่ไม่อาจคาดเดาได้ ถ้าการดำเนินการของเจ้าหน้าที่นั้นยังมีการทุจริตเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง ดังนั้น การใช้วิธีการดังกล่าวในการแก้ปัญหาจึงต้องพิจารณาในทุกแง่มุมอย่างถี่ถ้วน

ในกรณีประเทศเนเธอร์แลนด์ เป็นอีกก้าวหนึ่งที่ดีในการเปิดให้มีการขายยาเสพติดอย่างถูกกฎหมาย เช่น กัญชา เป็นต้น ในร้านที่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาล โดยมีปรัชญาพื้นฐานการดำเนินนโยบายยาเสพติดว่า วัตถุประสงค์ในการใช้ยานั้นเพื่อบำบัดปัญหาสุขภาพของประชาชนมากกว่าเพื่อแก้ปัญหาแบบตำรวจจับผู้ร้าย

ในบทความนี้ได้สรุปว่าสำหรับการเสนอนโยบายการค้ายาบ้าอย่างถูกกฎหมายดังที่กล่าวมา จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการศึกษาอย่างลึกซึ้ง เพื่อใช้เป็นแนวทางแก่ผู้กำหนดนโยบายไปสู่ผู้ใช้ยาให้หันไปใช้ยาชนิดอื่นที่มีฤทธิ์เบากว่า

นักเศรษฐศาสตร์เพียงแค่สามารถเสนอความคิดเห็นว่าทำอย่างไรยาบ้าที่ผิดกฎหมายเหล่านั้นจึงจะมีราคาถูกลงได้ แต่ยังไม่อาจรับรองได้ว่า แนวทางดังกล่าวจะทำให้ยาบ้าผิดกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันหมดสิ้นไปได้หรือไม่ เพราะงานศึกษาหลายชิ้นได้ชี้ให้เห็นว่าในการใช้ยานั้น ปัจจัยด้านรสนิยมความชอบส่วนตัวของผู้เสพจะเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมการใช้ยามากกว่าปัจจัยด้านเศรษฐกิจเสียอีก

ยิ่งกว่านั้น ในการใช้ยาเสพติดยังมีปัจจัยอื่นๆ ได้แก่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การเที่ยวบาร์หรือไนต์คลับหรือสถานเริงรมย์ต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง และการเสพยาก็จะลดลงเมื่อประชาชนได้รับการศึกษาที่สูงขึ้น Niskanen เชื่อว่า ปัญหาการติดยายังคงจำกัดอยู่ในกลุ่มประชากรที่มีปัญหาส่วนบุคคล จึงเป็นการยากที่จะสามารถแก้ปัญหาการติดยาด้วยวิธีการปกติธรรมดาได้ เพราะเรื่องที่เรากำลังพูดถึงนี้ คือ ยาเสพติดนั่นเอง [1]

ปี 2559 'พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา' อดีต รมว.ยุติธรรม กับแนวคิด 'แก้ปัญหายาเสพติดแนวใหม่'

ในปี 2559 พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในขณะนั้น ได้จุดประเด็นแนวคิดเปลี่ยนการแก้ปัญหายาเสพติดแนวใหม่ โดยระบุว่าไม่ได้เสนอให้ถอดยาบ้าออกจากบัญชียาเสพติด หรือให้เป็นสิ่งถูกกฎหมายหรือเปิดขายเสรี แต่สิ่งที่กำลังสื่อกับสังคมก็คือการ 'แก้ปัญหายาเสพติดแนวใหม่' โดยได้อธิบายว่าช่วงเดือน เม.ย. 2559 ได้เดินทางไปร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยพิเศษว่าด้วยยาเสพติดโลก (UNGASS) ที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ที่ประชุมเสนอรายงานสถานการณ์ยาเสพติด แนวโน้มทิศทางการแก้ปัญหาของแต่ละประเทศ

ประเทศสมาชิกส่วนใหญ่เห็นว่าให้ยาเสพติดเป็นสิ่งถูกกฎหมาย และหลายประเทศเปลี่ยนวิธีการแก้ปัญหายาเสพติด จากการปราบปราม มาเป็นการบำบัดฟื้นฟู ให้ความสำคัญในเรื่องสาธารณสุข ถือว่าผู้เสพเป็นผู้ป่วย ต้องได้รับการบำบัดฟื้นฟูรักษา มีการนำเสนอผลจากประเทศที่ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหา มีทั้งผลงานทางวิชาการ งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์ นี่คือตัวอย่างหนึ่งกับการแก้ปัญหายาเสพติดที่เน้นเรื่องด้านสาธารณสุข

การเปลี่ยนคงไม่ใช่เรื่องของยูเอ็นเพียงอย่างเดียว แต่อีกหนึ่งเหตุผลที่ประเทศไทยต้องปรับเปลี่ยนก็คือ ประเทศไทยทำมาทุกอย่างแล้ว ทั้งทำสงครามยาเสพติด เราใช้ชีวิตคนหมดไปเท่าไหร่ บางรัฐบาลทำลายคนนึกว่าคนคือปัญหา แล้วก็จัดการด้วยการทำลายคน หลังจากนั้นมันหนักกว่าเดิม ผลพวงเรื่องนี้ไปอยู่ที่กระทรวงยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นกรมพินิจฯ กรมราชทัณฑ์ ยิ่งเห็นชัด คนอยู่ในวงจรยาเสพติด เรือนจำมีไว้ขังนักโทษประเภทอื่นด้วย ไม่ใช่ยาเสพติดอย่างเดียว ตอนนี้ร้อยละ 80 เป็นคดียาบ้า ร้อยละ 10 เป็นฝิ่น เฮโรอีน แล้วนี่คือความสำคัญที่เราใช้แนวทางเดิมๆ หรือไม่ อีกอย่างการบำบัดฟื้นฟู ก็ลุ่มๆ ดอนๆ

นี่คือตัวอย่างสะท้อนว่าระบบบำบัดฟื้นฟูมีปัญหา ยิ่งตอกย้ำว่าแนวทางที่เราใช้กันมามันไม่ใช่ การบังคับใช้กฎหมาย ให้คนเสพเข้าไปอยู่ในคุก ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง เพราะคุกไม่ใช่ที่บำบัด คุกเป็นที่กักขังคน กรมราชทัณฑ์ไม่มีบุคลากรในการบำบัด รักษาผู้ป่วยเหล่านี้ ช่วงเวลา 5-6 ปีที่ผ่านมาปริมาณเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น เราจะไม่ยอมรับผลเกิดขึ้นในทางวิชาการ การวิจัยของประเทศประสบความสำเร็จทั้งโลกนี้ และการสร้างความรับรู้เป็นเรื่องสำคัญ

พล.อ.ไพบูลย์ ได้ยกตัวอย่างประเทศประสบผลสำเร็จ เช่น โปรตุเกสได้ปรับสถานะของยาเสพติด กฎหมายระบุว่าการครอบครองยาบ้าไม่ถือว่าเป็นอาชญากรรม ใช้แนวทางดังกล่าวมาแล้ว 12 ปี ปรากฏว่าคนติดยาหรือผู้เสพได้รับการบำบัดรักษาเพิ่มขึ้น อัตราการใช้ของวัยรุ่นลดลง อาชญากรรมเกี่ยวข้องกับยาเสพติดลดลง และมูลค่าของยาเสพติดถูกยกเลิกว่าเป็นอาชญากรรมลดลง หรือราคาถูกลง ยังพบว่าจำนวนผู้ติดโรคผลสืบเนื่องจากการใช้ยาเสพติดและเสียชีวิตลดลงจำนวนมาก แต่ประเทศไทยก็ต้องกลับมาศึกษา แล้วนำมาปรับใช้ให้เหมาะสม

หรืออย่างสวิตเซอร์แลนด์ประสบปัญหาคนล้นคุก ช่วงมีนโยบายประกาศสงครามกับยาบ้า แต่วันนี้ไม่มีปัญหานี้แล้ว เพราะปรับแนวทางมาเน้นเรื่องระบบสุขภาพ สาธารณสุข การบำบัดฟื้นฟู ผู้เสพคือผู้ป่วยชัดเจน นอกจากนี้ ยังมีฮ่องกงได้ยกเลิกแอมเฟตามีนจากการเป็นยาเสพติดร้ายแรง หากใช้ทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ หรือใช้เพื่องานวิจัย ต้องมีใบสั่งจากแพทย์

ในที่ประชุมครั้งนั้น พล.อ.ไพบูลย์ ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนประเทศไทย ไม่ได้เห็นด้วยต่อที่ประชุมให้ยาเสพติดถูกต้องตามกฎหมาย ประเทศไทยยังไม่พร้อม จะไม่ใช้หรือยกเลิกโทษประหารชีวิตกับคดียาเสพติด แต่ประเทศไทยเห็นด้วยกับเรื่องให้ผู้เสพคือผู้ป่วย และยุติคำว่าการทำสงครามกับยาเสพติด ผมได้บอกกับที่ประชุมว่ามีการแก้กฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ และการลงโทษผู้กระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดต้องได้สัดส่วนกับพฤติกรรมในการกระทำความผิด นักค้ารายใหญ่ยังต้องถูกลงโทษอย่างจริงจัง

จากนั้น พล.อ.ไพบูลย์ ก็นำข้อเสนอที่ยูเอ็นเสนอแนะแนวทางผลงานวิจัยของการแก้ปัญหาจากโลก มาบอกต่อที่ประชุมศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ศอ.ปส.) เพื่อกำหนดแนวทางร่วมกันว่าหลังจากนี้ประเทศไทยจะเดินไปในทิศทางใดกับการแก้ปัญหายาเสพติด ที่ประชุม ศอ.ปส.ก็มีมติร่วมกันว่านโยบายการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด จะต้องดำรงเรื่องของการปราบปราม เรื่องการป้องกัน และเรื่องของการบำบัดและฟื้นฟูเช่นเดิมอย่างเข้มข้น สำหรับผู้เสพนั้นเป็นเรื่องของคนป่วย เรื่องการบำบัดฟื้นฟู จึงมีแนวคิดให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานหลักรับเรื่องบำบัดฟื้นฟู ทั้งการบำบัด บังคับบำบัดและกลุ่มสมัครใจบำบัด ส่วนกรมคุมประพฤติรับหน้าที่ควรตรวจสอบว่ากลุ่มคนเหล่านี้ ผ่านมาตรฐานการบำบัดตามระบบหรือไม่ จากนั้นรายงานต่อศาลตามขั้นตอน นี่คือจุดเริ่มและแนวคิดที่เสนอ

พล.อ.ไพบูลย์ ได้ระบุกับที่ประชุม ศอ.ปส.ว่าเราต้องเริ่มนับหนึ่งกันได้แล้ว โดยสร้างความยอมรับกับประชาชน ให้ทุกหน่วยเดินแนวทางเดียวกัน และที่ประชุมก็เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว ผมว่าเราต้องโทษระบบเพราะเราปล่อยให้พวกเขาเสพจนเกิน เพราะการใช้ยาเสพติด หากเสพแต่พอดีแล้ว ไม่มีทางคลุ้มคลั่งได้หรอก เป็นแบบนั้นแสดงว่าเสพเกินปริมาณ เคยเห็นคนดื่มสุราแล้วคลุ้มคลั่งหรือไม่ ก็มี เพราะดื่มเกินปริมาณที่ร่างกายจะรองรับได้ เหมือนกัน นี่คือระบบสุขภาพควบคุมกันต้องเป็นแบบนี้ เสพในปริมาณเหมาะสม เราต้องค่อยๆ สร้างความรับรู้ให้ประชาชนเข้าใจ เพราะที่ผ่านมารับรู้ว่า ผู้ต้องหารับสารภาพว่าเสพยาบ้าแล้วมีอารมณ์ทางเพศแล้วไปข่มขืน ซึ่งมันก็จริง นี่คือสิ่งที่ได้รับความรู้แบบนี้ แต่อย่าลืมว่าไม่มีสารเสพติดไหนเลย ที่เสพเกินปริมาณแล้วจะไม่คลุ้มคลั่ง ดังนั้นถ้าควบคุมให้เสพในปริมาณที่เหมาะสมปัญหาก็ไม่เกิด นี่คำว่าการควบคุมเรื่องสุขภาพสาธารณสุข

ผลงานวิจัยมีความชัดเจนว่าสุราหรือบุหรี่โทษต่อร่างกายแรงกว่ายาบ้า เรื่องนี้ผมไม่ได้พูดเองมีงานวิจัยรองรับ เป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ แต่สิ่งที่สังคมคิดแบบนั้นเพราะสุราหรือบุหรี่ไม่ได้อยู่ในบัญชียาเสพติด แต่สุรากับบุหรี่เป็นสิ่งเสพติด สังคมเลยยอมรับได้ เวลาพกยาบ้าเป็นยาเสพติด ตำรวจจับ เวลาพกเหล้าตำรวจไม่จับ เราต้องบริหารโทษให้สำเร็จก่อน หมายความว่า พ.ร.บ.ยาเสพติด ฉบับใหม่ มีการบริหารโทษยาเสพติด จะสมดุลกันเพราะกฎหมายใหม่จะเป็นเครื่องมือ คัดแยกกลุ่มผู้เสพ เพื่อเข้าสู่ระบบบำบัดฟื้นฟูชัดเจน ผู้เสพจะได้รับความเป็นธรรม งานสาธารณสุขจะมีบทบาทมากขึ้น ผู้เสพสามารถบำบัดที่สถานีอนามัยในชุมชนได้ มีการควบคุมการใช้ยา เพื่อการบำบัดฟื้นฟูอย่างเป็นระบบ

"นี่คือสิ่งที่เรียกว่าอยู่กับยาเสพติดอย่างปลอดภัย เพราะยาเสพติดไม่มีทางหมดจากโลกใบนี้ ตราบใดที่ยังคงมีอุตสาหกรรมการผลิตต่างๆ ที่มีสารตั้งต้น ดังนั้น ต้องอยู่กับมันอย่างปลอดภัย เพราะทุกวันนี้ คนออกจากคุกเป็นตราบาป เพียงแค่ช่วงวัยรุ่นต้องการทดลอง แต่โดนจับติดคุก 20 ปี แบบนี้ไม่เป็นธรรมกับผู้เสพ กลายเป็นปัญหาสังคม ไม่ใช่ปัญหายาเสพติด" พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ได้ระบุไว้ในการให้สัมภาษณ์กับมติชนออนไลน์เมื่อปี 2559 [2]

ปี 2559 'ปลดล็อกยาบ้า' แก้ปัญหาแนวทดลอง

ในปีเดียวกันนั้น (2559) Way Magazine ได้สัมภาษณ์ ผศ.ดร.นพ.อภินันท์ อร่ามรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิชาการสารเสพติด ภาคเหนือ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญที่ศึกษาวิจัยด้านยาเสพติด ผศ.ดร.นพ.อภินันท์ ระบุว่าทั่วโลกเริ่มประสบปัญหาแบบเดียวกัน หลายประเทศจึงมีการปรับเปลี่ยนทิศทางนโยบายใหม่ โดยลดมาตรการปราบปรามขั้นรุนแรงแล้วหันมาเน้นการบำบัดผู้ติดยา เปลี่ยนวิธีการมองผู้เสพให้เป็นผู้ป่วยที่ควรได้รับความช่วยเหลือ

ในยุโรปเริ่มขยับก่อน ไม่ปราบแล้ว ถ้าใครใช้ยาเสพติด ก็ให้ความรู้เขา ให้เขารู้จักควบคุมและใช้ให้ถูกวิธี ถ้าคุณเริ่มรู้สึกมีปัญหา คุณมาหาเรา เราจะสอนวิธีใช้ที่ถูกต้องให้ แต่ดีที่สุดคือไม่ใช้เลย ด้วยวิธีการนี้มันก็ไม่ต้องไปแอบไปซ่อนตำรวจ เขาสามารถมียาที่ควบคุมตามขนาดได้ มีมาตรฐานการผลิต มีความปลอดภัย คนที่เขาเข้ามาคุยด้วยก็เป็นคนในวงการแพทย์ เข้ามาดูแลสุขภาพเขาได้ ถ้าติดขัดไม่มีงานทำ ก็มีบริการสังคมเข้ามาช่วยสงเคราะห์หางานให้ คือเอาตลาดมืดเข้ามาอยู่ในระบบ แทนที่จะกวาดคนเข้าคุก ก็เอาเข้ามาในระบบ แล้วเพิ่มงบประมาณด้านการดูแล ทางด้านสุขภาพ คนเราพอมีทางเลือกที่ดีกว่า ไม่มีใครหรอกที่อยากเดินเข้าสู่ที่มืด

ผศ.ดร.นพ.อภินันท์ บอกอีกว่า มีงานวิจัยที่ศึกษาพฤติกรรมทหารอเมริกันที่เข้าร่วมสงครามเวียดนาม พบว่า หลังสงครามยุติแล้วทหารอเมริกันจำนวนมากต้องกลายเป็นผู้ติดเฮโรอีน จนเกิดข้อกังวลว่าปัญหาเฮโรอีนจะระบาดหนักในอเมริกา แต่เมื่อติดตามดูพฤติกรรมของทหารเหล่านั้นภายหลังกลับไปอยู่ร่วมกับครอบครัว กลับไปใช้ชีวิตตามปกติ ก็ไม่พบว่ามีการติดเฮโรอีนอีก

"งานวิจัยบ่งชี้ว่า ถ้าคนเรามีทางเลือกอื่นที่ดีกว่าก็จะไม่ไปซ้ำซากกับสิ่งเสพติดอีก เพราะความสุขที่ได้จากคนรัก จากครอบครัว มันมากกว่า ฉะนั้น ปัญหายาเสพติดจึงเป็นเรื่องของสังคม ตัวยาเป็นส่วนหนึ่งเท่านั้นเอง"

นอกจากนี้ ทิศทางทั่วโลกมีแนวโน้มว่า เมื่อประเทศใดหันมาใช้นโยบายเชิงบวก สังคมก็เริ่มมีความสงบ อาชญากรรมลดลง

"เมื่อเป็นอย่างนั้น ยุโรปที่นำหน้ามาก่อนจึงเรียกร้องว่าเลิกเถอะ เพราะคนของเขาใช้ยาเสพติดอย่างถูกต้องตามกฎหมาย มีหมอคอยดูแลให้ พอผ่านมาสักระยะหนึ่งก็มีแรงกดดันไปยังสหประชาชาติว่า เปลี่ยนเถอะ นโยบายปราบไม่ได้ผลหรอก หลายประเทศทำมาเยอะแล้วก็เจอปัญหาเหมือนกัน อเมริกาหลังจากปราบมานานก็ยังจนแต้ม"

เมื่อลดทอนความเป็นอาชญากรรมของยาเสพติดลงแล้ว ผศ.ดร.นพ.อภินันท์ เสนอว่า มาตรการที่ต้องเกิดขึ้นควบคู่กันคือ ภาครัฐต้องลงทุนจัดบริการทางสังคมและบริการทางการแพทย์ให้มากขึ้น เพราะผู้เสพคือผู้ป่วย ไม่ใช่อาชญากร ฉะนั้น คนดูแลผู้เสพต้องเป็นหมอ ไม่ใช่ตำรวจหรือทหาร

"ทางผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขมีข้อสรุปแล้วว่า เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงนโยบายนี้ โดยกระทรวงสาธารณสุขยินดีรับภาระที่เพิ่มขึ้น แต่ต้องมาคุยกันต่อว่าจะจัดการเรื่องนี้อย่างไร" ผศ.ดร.นพ.อภินันท์ กล่าว

นอกจากนี้ ควรมีการจำแนกประเภทยาเสพติดกับยาที่มีประโยชน์ทางการแพทย์ เพื่อให้คนไข้มีสิทธิ์เข้าถึงยาได้ภายใต้การควบคุมของแพทย์ โดยระดับสากลมีการแบ่งกลุ่มวัตถุออกฤทธิ์ประเภทที่หนึ่ง เช่น เมตเทอร์โดน หรือมอร์ฟีน เพื่อใช้ในทางการแพทย์ ไม่มีขายตามร้านขายยาและโรงพยาบาลทั่วไป การสั่งยาต้องสั่งโดยหน่วยงานด้านยาของประเทศนั้นๆ และต้องควบคุมอย่างเข้มงวดเพื่อป้องกันการรั่วไหล

ส่วนวัตถุออกฤทธิ์ประเภทที่สอง คือ ยาที่ขายในโรงพยาบาลได้เพื่อใช้รักษาคนไข้โรคหอบหืด โรคซึมเศร้า เหงาหลับ และโรคสมาธิสั้น แต่หากเป็นร้านขายยาต้องมีใบสั่งแพทย์จึงจะสามารถซื้อได้

ทุกวันนี้รัฐก็มีการจ่ายยาเองในราคามาตรฐาน ยกตัวอย่างมอร์ฟีน ถ้าหลุดไปในตลาดมืดจะมีราคาสูงมาก แต่ทุกวันนี้หมอก็ต้องใช้มอร์ฟีนในการผ่าตัด สารเคมีพวกนี้ยังมีความจำเป็นในทางการแพทย์ ฉะนั้น ความกังวลที่ว่าถ้าเอามาใช้แล้วจะคุมอยู่ไหม ทุกวันนี้เราก็ใช้อยู่แล้ว สารเสพติดต่างๆ เราก็ใช้อยู่แล้ว อย่าไปกังวลว่ามันจะรั่วไหล เพราะทุกวันนี้มันก็รั่วไหลอยู่แล้ว แต่ถ้าเอาเข้ามาในระบบแล้วมีมาตรฐานการผลิต มีการใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อคนจริงๆ มันก็น่าจะลดความรุนแรงได้ จะเป็นการตัดวงจรการค้าในตลาดมืดด้วยซ้ำไป

"เมื่อโลกเปลี่ยนไปแล้ว เราจะมานั่งปราบอยู่อย่างนี้ก็คงไม่ได้ หรือจะรอเป็นประเทศสุดท้ายก็คงไม่ใช่ เราต้องเปลี่ยน ข้อมูลทางวิชาการต่างๆ ก็เปลี่ยนไปแล้ว เราคงต้องคิดใหม่ เพียงแต่ว่าเราพร้อมหรือเปล่า"

ผศ.ดร.นพ.อภินันท์ ย้ำกับ Way Magazine ว่า ณ วันนี้ยาบ้ายังถือเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ไม่สามารถใช้ได้อย่างเสรี หากแต่นโยบายนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ท้าทายต่อการเปลี่ยนแปลง [3]

ปี 2559 แนวทางสายกลางแก้ปัญหายาบ้า

เมื่อครั้ง ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) เคยได้ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์คมชัดลึก ระบุว่า "ทิศทางของโลกวันนี้ ชัดเจนว่าใช้การปราบอย่างเดียวไม่ค่อยได้ผล จึงลดโทษลงมา และมีระบบเบี่ยงคดีออกมาจากกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ประเทศไทยเราจริงๆ ก็มีทิศทางแบบนี้ แยกผู้เสพออกมา แล้วให้ได้รับการปฏิบัติพิเศษ แต่เราลังเล ลักลั่น ทำให้คนเสพมีเพิ่มมากขึ้น"

"วิธีของเราคือ ระบบบังคับบำบัด ซึ่งมีปัญหา เพราะเราแยกไม่ขาดจากโทษอาญา ทำให้ไม่มีใครกล้าเผยตัวว่าเป็นผู้เสพ เนื่องจากจะมีตราบาป ทำให้ไม่ค่อยได้ผล"

ดร.กิตติพงษ์อธิบายต่อว่า แนวคิดให้ผู้เสพเป็นผู้ป่วยในต่างประเทศ เริ่มมาพร้อมๆ กับประเทศไทย ราวๆ ปี 2544 ช่วงนั้นดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมคุมประพฤติ ได้พยายามนำแนวคิดนี้มาใช้ เพราะเป็นแนวทางที่ถูกต้อง แต่เวลานำมาใช้จริงสำหรับประเทศไทยกลับพบปัญหา

"บ้านเราไม่กล้าลดระดับการลงโทษทางอาญากับผู้เสพลง แต่ไปใช้ระบบที่เรียกว่า บังคับบำบัด คือจับตัวมาแล้วให้บำบัด ถ้าบำบัดได้ตามเงื่อนไขที่กำหนดก็จะสั่งไม่ฟ้องคดี แต่ถ้าไม่ทำตามกฎเกณฑ์ก็จะส่งตัวไปดำเนินคดีอาญา ถูกควบคุมตัว กลายเป็นปัญหาตามที่บอกไปแล้ว"

"ปีเดียวกันนั้น โปรตุเกสใช้มาตรการที่ไม่ใช้โทษทางอาญา หรือที่เรียกว่า decriminalize โดยใช้มาตรการทางปกครองแทน กำหนดให้ผู้ที่มียาในครอบครองในปริมาณไม่เกิน 10 วันของการเสพตามค่าเฉลี่ย ถือว่าเป็นผู้เสพ จะไม่ใช้มาตรการทางอาญา แต่ใช้มาตรการทางปกครอง"

"วิธีการคือ มีคณะกรรมการฝ่ายกฎหมาย ร่วมกับฝ่ายสาธารณสุข และสังคมสงเคราะห์ เข้ามากำหนดว่าต้องบำบัดอย่างไร ถ้าไม่ปฏิบัติตามก็ใช้กลไกการปรับ เป็นกลไกทางปกครอง ไม่ใช้โทษทางอาญาเลย"

ดร.กิตติพงษ์บอกว่า ในประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยพิเศษเรื่องยาเสพติด หรือ UNGASS ปี 2016 ปรากฏว่าโปรตุเกสกลายเป็นพระเอกในการประชุมหนนี้ เพราะได้มารายงานว่า 15 ปีให้หลังของการดำเนินมาตรการ ผู้เสพยาลดลงมาก โดยเฉพาะวัยรุ่น

"ถ้าเห็นว่าปัญหาของการบังคับบำบัดที่ทำอยู่ไม่สามารถหยุดยั้งการเสพยาได้ ซัพพลายไม่ลด ดีมานด์ก็ไม่ลด กระบวนการที่เอาแอมเฟตามีนมาเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 1 ใช้โทษทางอาญาสูงๆ ก็ทำให้คุกแตก เกิดปัญหานักโทษล้น งบประมาณราชทัณฑ์พุ่งเกินกว่า 50% ของงบกระทรวงยุติธรรม"

"ถ้าเป็นอย่างนี้ก็จำเป็นต้องมีวิธีคิดใหม่ ศึกษาวิธีการของโปรตุเกส แล้วนำไปสู่การกล้าตัดสินใจ ผมคิดว่าโมเดลนี้เป็นทางออกกลางๆ โดยทำให้ชัดเจนว่าผู้เสพไม่ใช่อาชญากร ใช้กลไกทางปกครอง โน้มน้าวสู่ระบบสมัครใจบำบัดการกลับคืนสู่สังคมก็ดีขึ้น เพราะไม่มี 'ตราบาป' หรือ stigmatization จากการถูกลงโทษทางอาญา สามารถหางานทำและเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้โดยไม่ถูกรังเกียจจากสังคม"

ดร.กิตติพงษ์ กล่าวด้วยว่า โมเดลของโปรตุเกสไม่ได้ทำให้ยาบ้า หรือแอมเฟตามีน ถูกกฎหมายอย่างที่หลายฝ่ายกังวล การครอบครองยังคงเป็นความผิดตามกฎหมายอยู่ เพียงแต่ใช้มาตรการทางปกครองแทน ไม่ใช้โทษอาญา ส่วนผู้ค้าก็ต้องถูกลงโทษอย่างเด็ดขาดตามกฎหมาย

ส่วนการทำให้ยาบ้าถูกกฎหมายตามที่บางฝ่ายเสนอนั้น เป็นไปได้ยาก เพราะการแพร่ระบาดมีปริมาณสูงขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช่เฉพาะไทยหรือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่แพร่ไปหมดในภูมิภาคอื่นๆ ของโลกด้วย

"จริงๆ ปัญหาการแพร่ระบาดของยาจำพวกสารกระตุ้นกลุ่มแอมเฟตามีน (Amphetamine-type stimulants หรือ ATF) กำลังทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เพราะเป็นยาซึ่งสังเคราะห์มาจากสารเคมี ต่างจากยาเสพติดประเภทเฮโรอีน หรือฝิ่น ที่การผลิตขึ้นกับพืชเป็นหลัก ฉะนั้นยาพวกนี้จึงผลิตได้ง่ายกว่า ราคาถูกกว่า การจะทำให้ถูกกฎหมายจึงอาจไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้อง"

ดร.กิตติพงษ์ กล่าวอีกว่า ถึงที่สุดแล้วกระบวนการบำบัดแบบสมัครใจควรได้รับการยอมรับมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องพัฒนามาตรการการช่วยเหลือต่อเนื่อง คือมาตรการที่ชุมชนต้องเข้ามาเกี่ยวข้องดูแลผู้เสพยา ที่เรียกว่า อาฟเตอร์แคร์ ไม่ให้มีรอยต่อกับรัฐ คือหลังจากบำบัดผู้เสพในระบบของรัฐแล้ว สามารถส่งกลับชุมชนต่อได้ แต่ขณะนี้ยังขาดช่วงกันอยู่ [4]

ปี 2559 อดีตอธิบดีอัยการแนะองค์การเภสัช ควรผลิตแล้วแจกโดยแพทย์ให้ผู้สมัครใจบำบัด หนุนยกเลิกความผิดฐานยาบ้าในรายย่อย

นายวันชัย รุจนวงศ์ ผู้แทนไทยในคณะกรรมาธิการอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก และอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีแรงงาน ในขณะนั้น (รวมทั้งเคยเป็นอดีตอธิบดีอัยการฝ่ายต่างประเทศ อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน อธิบดีกรมคุมประพฤติ อธิบดีกรมราชทัณฑ์) ได้โพสต์เฟสบุ๊ค สนับสนุนแนวคิดในการปรับเปลี่ยนแนวคิดในการปราบปรามยา ยาบ้า โดยมีข้อความระบุว่า

"เรื่องการปราบยาบ้า เวลาสามสิบกว่าปีที่เราใช้วิธีปราบรุนแรงแบบสหรัฐ แต่ยาบ้ายิ่งระบาดหนัก คนติดคุกมากขึ้น ออกมาค้ายาบ้ากันมากขึ้น เราจะไม่เปลี่ยนวิธีแก้ปัญหาบ้างหรือ"

"เราควรจะลองวิธีใหม่บ้าง วิธีไหนก็น่าจะดีกว่าที่เราใช้อยู่ เพราะยิ่งจับเข้าเรือนจำ ยิ่งสร้างผู้ค้ารายใหม่ให้มากขึ้น รายเล็กที่ออกจากเรือนจำก็จะกลายเป็นรายใหญ่ขึ้น มีเครือข่ายมากขึ้น และจะออกไปพยายามขยายตลาด เพราะรัฐปราบรุนแรง ราคายาสูง กำไรสูงมาก ก็ยิ่งมีแรงจูงใจสูง เหมือนน้ำตก ยิ่งสูงยิ่งตกแรง"

"วิธีแก้ต้องทำให้ราคาและกำไรลดลงมา แล้วถ้ายาไม่แพงเม็ดละสองร้อย เหลือเม็ดละสิบบาท คนเสพก็ไม่ต้องไปลักขโมยหาเงินมาเสพ เพราะทำงานที่ทำอยู่ก็ซื้อได้ คนขายจะไปเอามาจากรัฐฉานมาขายก็ไม่คุ้ม องค์การเภสัช ควรผลิตแล้วแจกโดยแพทย์ให้ผู้สมัครใจบำบัด ต้นทุนไม่น่าจะเกินเม็ดละสองสามบาท ทำให้เห็นว่ายาบ้าในตลาดเม็ดละสองร้อย ราคามันแพงมากมาใช้ของรัฐดีกว่า ปลอดภัยกว่า"

"ทุกวันนี้เราประมาณว่ามีคนใช้ยาเป็นล้านคน เข้าบังคับบำบัดปีละเป็นแสน เพราะการพยายามขยายตลาดของผู้ค้ารายย่อย ถ้าทำยาให้ถูกผู้ใช้ก็ไม่เพิ่มหรอก น่าจะลดลงกว่านี้"

"แล้วเรามีตัวอย่างยุโรปทุกประเทศไม่ยอมเดินตามแบบสหรัฐ ใช้มาตรการทางสังคมและสุขภาพมากกว่ากฎหมาย ยาบ้าไม่ระบาดมากเท่าไทยและไม่มีคนล้นคุก ไม่ทำลายทรัพยากรมนุษย์เหมือนเรา แต่อาชญากรรมไม่สูงเท่าเรา เราปราบมา 30 ปีกว่า แต่ปัญหาหนักขึ้นทุกที แล้วยาบ้าเป็นยากระตุ้น ไม่ใช่ยาเสพติดแบบเฮโรอิน หรือโคเคน การแก้ปัญหาด้วยการปราบยาบ้ามา 30 ปี พิสูจน์แล้วว่าไม่ได้ผล กลับทำให้สถานการณ์หนักขึ้นทุกวัน นักโทษในเรือนจำ 70% เป็นคดียาบ้าทั้งนั้น"

"เหมือนคนป่วย รักษาด้วยวิธีเดิมมา 30 ปี แก้ปัญหาไม่ได้ อาการยิ่งทรุดหนักลงเรื่อยๆ ค่ารักษาแพงมากขึ้นเรื่อยๆ อนาคตเห็นแล้วว่า ทำอย่างนี้ต่อไปไม่มีทางรักษาให้ทุเลาลง มีแต่จะหนักขึ้นเรื่อยๆ จะไม่ลองวิธีอื่นบ้างหรือ เพราะไม่ว่าวิธีไหน ก็ไม่แย่เท่าที่เราใช้อยู่หรอกนะ" [5]

นอกจากนี้ในบทความ 'คอลัมน์ And justice for all: ยาบ้าถูกกฎหมาย' โดย ผศ.ร.ต.อ.ดร.จอมเดช ตรีเมฆ นักอาชญาวิทยามหาวิทยาลัยรังสิต ได้อ้างอิงแนวคิดของนายวันชัย ที่ระบุว่า "ควรยกเลิกความผิดฐานยาบ้าในรายย่อย คงความผิดฐานผลิตยาบ้าโดยไม่รับอนุญาต ความผิดฐานนำเข้า ส่งออก และจำหน่ายรายใหญ่ไว้ ให้ อย. หรือบริษัทยาที่ได้รับอนุญาตอย่างถูกกฎหมายผลิตขายเม็ดละบาทหรือไม่เกินสามบาท เป็นการตัดแรงจูงใจทางการเงินของทุกฝ่าย แค่นี้พวกผู้ผลิตก็ตายเพราะผลิตแล้วขายไม่ได้ พวกนำเข้าก็ไม่รู้จะนำเข้ามาทำไม เพราะเสี่ยงและกำไรไม่คุ้มเสี่ยง พวกขายก็ไม่รู้จะขายใครเพราะจะไม่มีคนซื้อ จะไม่มีใครไปเที่ยวชักจูงลูกค้าใหม่ๆ เข้ามา ไม่ต้องเอาพวกขายยาบ้าเล็กๆ น้อยๆ เข้ามาในเรือนจำทำให้คนเสียอนาคต กลายเป็นคนขี้คุก เป็นการเปลี่ยนทัศนคติในการมองปัญหาอย่างสิ้นเชิง" ไว้ด้วย [6]


ที่มา
[1] คอลัมน์ ดุลยภาพ ดุลยพินิจ: นโยบายยาเสพติดของไทย : อะไรคือความเหมาะสม? (สมบูรณ์ ศิริประชัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 21 พ.ค. 2551)
[2] ‘บิ๊กต๊อก’ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม ‘ไขข้อข้องใจ ปลดล็อกยาเสพติด’ (มติชนออนไลน์, 27 มิ.ย. 2559)
[3] ปลดล็อคยาบ้า แก้ปัญหาแนวทดลอง (เรื่อง: อาทิตย์ เคนมี / ภาพ: อารยา คงแป้น, Way Magazine, 30 มิ.ย. 2559)
[4] 'โปรตุเกสโมเดล'สายกลางแก้ยาบ้าไม่ทำให้ยาถูกกฎหมาย-ไม่ใช่ขายเสรี (คมชัดลึก, ฉบับวันที่ 29 มิ.ย. 2559)
[5] อดีตอธิบดีอัยการ”วันชัย รุจนวงศ์ “หนุน”บิ๊กต๊อก”ปรับวิธีปราบ”ยาบ้า” (มติชนออนไลน์, 18 มิ.ย. 2559)
[6] คอลัมน์ And justice for all: ยาบ้าถูกกฎหมาย (จอมเดช ตรีเมฆ, คมชัดลึก ฉบับวันที่ 9 พ.ค. 2561)

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: