สื่อ 'กรุงเทพธุรกิจ' เปิดผลสำรวจ 'ความเสมอภาคทางเพศ' ในที่ทำงาน มีผลต่อธุรกิจอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งพบว่าปี 2562 การมีสตรีในตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงสามารถเพิ่มกำไรและมูลค่าหุ้นให้บริษัทได้สูงสุดถึง 50% | ที่มาภาพประกอบ: The MBA Tour
เมื่อช่วงเดือน มี.ค. 2564 ที่ผ่านมา เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ รายงานว่าความเสมอภาคทางเพศในที่ทำงาน เป็นมากกว่ามาตรวัดทางจริยธรรมและเรื่องภาพลักษณ์ แต่ยังเป็นเรื่องทางธุรกิจซึ่งสามารถแสดงให้เห็นได้ด้วยตัวเลขผลประกอบการอย่างชัดเจน หนึ่งในงานวิจัยของแมคคินซี ปี 2562 พบว่า การมีสตรีในตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงสามารถเพิ่มกำไรและมูลค่าหุ้นให้บริษัทได้สูงสุดถึง 50%
ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 75% ของพนักงานที่ให้คะแนนองค์กรของตนว่ามีความหลากหลายมากที่สุด รู้สึกว่าองค์กรของตนมีผลงานเหนือกว่าคู่แข่ง ซึ่งสูงกว่ากลุ่มพนักงานที่ให้คะแนนองค์กรของตนว่ามีความหลากหลายน้อยที่สุดถึงเกือบ 2 เท่า
เมื่อพิจารณาเฉพาะในประเทศไทยนั้น The Economist Intelligence Unit and International Finance Corporation พบว่าจำนวนของผู้หญิงในตำแหน่งระดับคณะกรรมการบริษัทที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 10% จะทำให้มีผลตอบแทนจากสินทรัพย์เพิ่มขึ้น 0.7%
สัดส่วนผู้บริหารหญิงและผลประกอบการสัมพันธ์กันอย่างไร?
เพื่อให้ฝ่ายบริหารเห็นความสำคัญของเรื่องเหล่านี้ เราจำเป็นต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับประโยชน์โดยตรงของความหลากหลายของพนักงานที่มีต่อองค์กรด้วยวิธีการ ดังนี้
ความหลากหลายขององค์กรสร้างประโยชน์ต่อลูกค้า บริษัทต่างๆ ล้วนสร้างความสำเร็จจากการสร้างโซลูชั่นที่หลากหลายเพื่อมอบให้กับลูกค้า การมีมุมมองที่แตกต่างจะช่วยตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น และช่วยผลักดันการเติบโตขององค์กร โดยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น ความหลากหลายในที่ทำงานมีความเชื่อมโยงโดยตรงกับการสรรค์สร้างนวัตกรรม บริษัทที่มีความหลากหลายตั้งแต่ 5 มิติขึ้นไปสามารถสร้างรายได้ถึง 46% จากผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ หรือสูงกว่าบริษัทที่มีความหลากหลายในเพียงมิติเดียวถึง 10%
การส่งเสริมความหลากหลายผ่านนโยบายที่เป็นทางการของบริษัท และวัฒนธรรมที่ไม่เป็นทางการในสถานที่ทำงาน จะช่วยให้พนักงานรู้สึกเป็นที่ต้องการและมีส่วนร่วม ซึ่งจะส่งผลดีต่อพนักงานทุกระดับในบริษัท ทั้งพนักงานปัจจุบัน พนักงานใหม่ และดึงดูดผู้ที่สนใจเข้าทำงานในองค์กร
พนักงานใหม่ที่รู้สึกได้รับการสนับสนุนและเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรจะสามารถปรับตัวได้เร็วขึ้นอย่างมาก นอกจากนี้ยังช่วยลดการขาดงานของพนักงานและเพิ่มความภักดีต่อองค์กร พนักงานมากถึง 53% ในภูมิภาคเอเชียมองว่าความหลากหลายและการมีส่วนร่วมจากตัวแทนของกลุ่มคนต่างๆ จะช่วยให้นายจ้างรักษาคนที่ความสามารถไว้ในบริษัทได้ดีขึ้น
ในภูมิภาคที่มีผู้บริหารระดับสูงมากกว่า 70% ตอบแบบสำรวจว่าการรักษาพนักงานที่มีความสามารถระดับสูงเป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง การสร้างความหลากหลายในสถานที่ทำงานไม่ใช่เพียงแค่ทางเลือกอีกต่อไป แต่เป็นเรื่องที่จำเป็นจะต้องทำ
ความหลากหลายยังมีความสำคัญต่อพนักงานที่เป็นคนรุ่นใหม่ จากการสำรวจของดีลอยต์ พบว่า 58% ของคนรุ่นมิลเลนเนียลจากองค์กรต่างๆ เห็นว่าบริษัทของพวกเขาสามารถดึงดูดและรักษาคนเก่งไว้ได้ดี เทียบกับเพียง 41% ของพนักงานจากองค์กรที่ขาดความหลากหลาย นอกจากนี้พนักงาน 69% จากองค์กรที่หลากหลายยังตอบว่า คาดว่าจะยังคงอยู่กับบริษัทเดิมเกินกว่า 5 ปี ซึ่งสูงกว่าองค์กรที่ขาดความหลากหลายถึงสองเท่า
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ