พิษเศรษฐกิจโควิดชนวนแรงงานไทยทิ้งควันบุหรี่ ศจย.ย้ำ ‘เลิกสูบเลิกจน’ มีเงินออมใช้ยามวิกฤต

กองบรรณาธิการ TCIJ 27 พ.ค. 2564 | อ่านแล้ว 2867 ครั้ง

พิษเศรษฐกิจโควิดชนวนแรงงานไทยทิ้งควันบุหรี่ ศจย.ย้ำ ‘เลิกสูบเลิกจน’ มีเงินออมใช้ยามวิกฤต

สวนดุสิตโพลเผยผลสำรวจกลุ่มแรงงานตัวอย่างทั้งใน-นอกระบบ เขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล พบพฤติกรรมบริโภคบุหรี่ช่วงโควิดระบาดระลอก 3 สูบน้อยลงถึง ร้อยละ 10 จากการระบาดในปี 2563  เหตุรายได้ลด ค่าใช้จ่ายเพิ่ม ด้าน ศจย.แนะรัฐ-ฝ่ายรณรงค์ตอกย้ำ “เลิกบุหรี่เลิกจน” มีเงินออมใช้ยามฉุกเฉิน เตรียมผลักดันกลุ่มอยากเลิกบุหรี่เข้าระบบ ช่วยเลิก ตามแคมเปญวันงดสูบบุหรี่โลกปีนี้ “Commit to Quit” ของ WHO 

เมื่อวันที่ 21 พ.ค. 2564 ศูนย์วิจัยและจัดการวามรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) แจ้งข่าวต่อสื่อมวลชนว่า ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการวามรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เผยผลการสำรวจ “พฤติกรรมการบริโภคยาสูบ ของกลุ่มผู้ใช้แรงงานในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19” ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ช่วงเดือน เม.ย. 2564 โดยร่วมกับ สวนดุสิตโพล และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในโครงการชาวแรงงานปฏิรูปวิถีชีวิต “เลิกสูบ เลิกจน” พบแรงงานทั้งในและนอกระบบ เช่น โรงงานอุตสาหกรรม โรงแรม ห้างร้าน รถมอเตอร์ไซด์รับจ้าง แท็กซี่ งานบ้าน เกษตร และประมง ฯลฯ จำนวน 1,120 ตัวอย่าง บริโภคบุหรี่ลดลงร้อยละ 19 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาการระบาดในปี  2563 ที่พฤติกรรมบริโภคบุหรี่ของกลุ่มแรงงานทั้งในและ นอกระบบลดลงที่ ร้อยละ 29 เท่ากับกลุ่มแรงงานบริโภคบุหรี่ลดลงจากปีก่อนถึง ร้อยละ 10 

ส่วนสาเหตุที่ทำให้กลุ่มแรงงานบริโภคบุหรี่ลดลง เนื่องจากมีรายได้ลดลงมากที่สุด  ร้อยละ 49.12 รองลงมาคือค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ร้อยละ 29.57 ต้องการดูแลสุขภาพ ร้อยละ 16.29  กังวลว่าการสูบบุหรี่ทำให้ติดเชื้อโควิด 19 ร้อยละ  3.51 หาซื้อบุหรี่ได้ยากขึ้น ร้อยละ 1.25 และอื่นๆ ร้อยละ 0.25 ส่วนสถานที่ซื้อบุหรี่ของกลุ่มผู้ใช้แรงงานคือ ร้านค้าทั่วไป ร้อยละ 50.20 ร้านสะดวกซื้อ 44.86 สั่งออนไลน์ ร้อยละ 4.66 นอกจากนี้ ยังพบด้วยว่าปริมาณมวนบุหรี่ที่กลุ่มผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่บริโภคในช่วงโควิดระบาดระลอก 3 ส่วนใหญ่อยู่ที่วันละ 6-10 มวน รองลงมาคือ 11-15 มวน ส่วนน้อยที่สูบ 1-5 มวนต่อวัน 

ศ.นพ.รณชัย กล่าวว่าที่น่าสนใจคือแม้พฤติกรรมการสูบบุหรี่ของกลุ่มแรงงานทั้งในระบบ และนอกระบบลดลง เมื่อเทียบกับช่วงโควิดระบาดในปี 2563 แต่ปริมาณการสูบบุหรี่ต่อวันส่วนมากยังอยู่ที่ 6-10 มวน ซึ่งถือว่าสูง เพราะแค่สูบ 1-4 มวนต่อวัน ก็ตายเร็วกว่าผู้ไม่สูบถึง 1.5 เท่า 

“หมายความว่ารัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านรณรงค์เลิกบุหรี่ ต้องเพิ่มความเข้มข้นในการรณรงค์ แคมเปญเลิกสูบเลิกจน และฉวยโอกาสตอกย้ำให้กลุ่มแรงงานทั้งหมดเห็นและตระหนักว่ายามเกิดวิกฤต บุหรี่ไม่ใช่สิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิต ดังนั้นช่วงที่ไม่เกิดวิกฤตก็ยิ่งไม่จำเป็นที่จะต้องสูบบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์ยาสูบอื่นๆ เพราะเงินที่ซื้อบุหรี่คือรายได้ที่จะเหลือออมไว้ใช้ในชีวิตประจำวัน เป็นเงินสำรอง ในอนาคตหากถูกเลิกจ้าง ซึ่งการงดสูบบุหรี่วันละ 6-10 มวน ช่วยประหยัดเงินได้ถึงวันละ 30-55 บาท แล้วแต่ยี่ห้อ และยังส่งผลดีต่อสุขภาพของผู้ใช้แรงงานอีกด้วย เพราะการสูบบุหรี่ในช่วงโควิดระบาดทำให้เกิด ความเสี่ยงทั้งติดและแพร่กระจายเชื้อโรคมากขึ้น นอกจากนี้ยังควรผลักดันให้กลุ่มแรงงานที่อยากเลิกบุหรี่ เข้าถึงบริการช่วยเลิกบุหรี่ เช่น สายเลิกบุหรี่ 1600 ให้มากขึ้น ซึ่งเป็นไปตามแคมเปญวันงดสูบบุหรี่โลกประจำปี 2564 Commit to Quit ขององค์การอนามัยโลก หรือ WHO ที่ต้องการให้คนที่อยากเลิกบุหรี่ มีความมุ่งมั่นทำให้สำเร็จ โดยสามารถเข้าถึงบริการช่วยเลิกบุหรี่ที่มีอยู่ในทุกช่องทางให้มากขึ้น” ผอ.ศจย. ระบุ

ศ.นพ.รณชัย กล่าวต่ออีกว่า กรณีที่ผู้ใช้แรงงานบริโภคยาสูบในปริมาณที่มากขึ้นต่อวัน  โดยมีสาเหตุมาจากความเครียด ทั้งในเรื่องของความเครียดจากการทำงาน ความเครียดกับสถานการณ์โควิด 19 รวมไปถึงความเครียดจากการถูกเลิกจ้างหรือลดเงินเดือนนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือหน่วยงานด้าน สาธารณสุข ควรจัดกิจกรรมให้ความรู้ หรือจัดทำสื่อแนะนำการดูแลสุขภาพจิตของคนไทย ในการดำรงชีวิตอย่างมี ความสุขภายใต้สถานการณ์ความตึงเครียดอีกทางหนึ่งด้วย

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: