งานวิจัยเผยการกระทำ ‘เหยียดอายุ’ พบทั่วไปในออสเตรเลีย

กองบรรณาธิการ TCIJ 27 ส.ค. 2564 | อ่านแล้ว 2029 ครั้ง

งานวิจัยเผยการกระทำ ‘เหยียดอายุ’ พบทั่วไปในออสเตรเลีย

รายงานผลสำรวจทั่วประเทศฉบับใหม่ที่มอบหมายจัดทำโดยซีรีส์รายการของ SBS ว่าด้วยการเลือกปฏิบัติพบว่าการเลือกปฏิบัติเนื่องจากอายุนั้นพบได้แพร่หลายในสังคมออสเตรเลีย โดยผู้ตอบแบบสำรวจเกินครึ่งหนึ่งชี้ว่า การกระทำเชิงเหยียดอายุเป็น “เรื่องที่เกิดขึ้นทั่วไป” | ที่มาภาพประกอบ: stocksnap.io (CC0 1.0)

สื่อ SBS รายงานเมื่อช่วงปลายเดือน ส.ค. 2021 ว่าในอีกเพียง 30 ปีข้างหน้า คาดการณ์กันว่าราว 1 ใน 4 ของประชากรออสเตรเลีย คือกลุ่มผู้มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ทว่า รายงานผลสำรวจทั่วประเทศฉบับใหม่ที่มอบหมายจัดทำโดยซีรีส์รายการของ SBS ว่าด้วยการเลือกปฏิบัติพบว่าการเลือกปฏิบัติเนื่องจากอายุนั้นพบได้แพร่หลายในสังคมออสเตรเลีย โดยผู้ตอบแบบสำรวจเกินครึ่งหนึ่งชี้ว่า การกระทำเชิงเหยียดอายุเป็น “เรื่องที่เกิดขึ้นทั่วไป”

สำหรับคุณมาเรียน เร (Marion Rae) ยิ่งเวลาล่วงเลยไป เธอยิ่งเผชิญเหตุการณ์ถูกเลือกปฏิบัติบนพื้นฐานของปัจจัยด้านอายุบ่อยครั้งขึ้น เธอเล่าว่าเจอเหตุการณ์เช่นนี้ครั้งแรกช่วงวัย 40 กลาง เมื่อการหางานทำกลายเป็นเรื่องยากลำบากสำหรับเธอ หลังกลับจากทำงานในต่างประเทศ

"ฉันพบว่าน่าตกใจมากที่ออสเตรเลียกลายเป็นประเทศที่มีความคิดตื้นเขิน จนถึงขั้นประเมินคนจากแค่ว่าพวกเขามีริ้วรอยบนใบหน้าหรือยัง ไม่ได้พิจารณาที่ประสบการณ์ แต่ดูกันที่หน้าตา" คุณเรกล่าว

วันนี้ในวัย 70 ปี... คุณเรกล่าวว่า แวดวงที่เธอเผชิญอุปสรรคมากที่สุด คือด้านสุขภาพและด้านการเงิน

“ฉันรู้สึกว่าไม่มีใครฟังฉันเลย จากประสบการณ์ของฉัน อย่างเช่นเวลาไปหาหมอ พวกเขาไม่ถามฉันเลย ฉันไม่มีส่วนร่วมแม้แต่ในแผนดูแลผู้สูงอายุของตัวเอง พวกเขาไม่คำนึงถึงประสบการณ์ของฉันเลย” คุณเรกล่าว

รายงานผลสำรวจทั่วประเทศเมื่อไม่นานมานี้พบว่า ผู้ตอบแบบสำรวจเกินครึ่งหนึ่งเห็นตรงกันว่า การเลือกปฏิบัติบนพื้นฐานปัจจัยด้านอายุ พบได้ทั่วไปในออสเตรเลีย ร้อยละ 72 มองว่า ผู้สูงอายุมักรู้สึกโดดเดี่ยว อีกทั้งร้อยละ 42 ยังเห็นด้วยว่า คนอายุน้อยกว่ามักมีความเข้าใจที่ทึกทักขึ้นเองเกี่ยวกับประชากรกลุ่มนี้ สืบเนื่องจากปัจจัยด้านอายุ

ดร.แนนซี พาฮานา (Nancy Pachana) นักจิตวิทยาคลินิกด้านผู้สูงอายุ เป็นผู้ตรวจทบทวนผลสำรวจครั้งนี้

“การกระทำเล็ก ๆ น้อย ๆ หรือการทึกทักเข้าใจเอาเองนั้นทำให้ผู้สูงอายุถูกมองข้าม อย่างเช่นทึกทักเอาว่าคนสูงวัยไม่รู้เรื่องเทคโนโลยีหรือคิดอะไรได้ไม่ชัดเจน การกระทำเล็กน้อยเหล่านี้เมื่อสั่งสมนานวันเข้าก็ กัดกร่อนตัวตนของบุคคลได้อย่างสาหัสเช่นกัน” ดร.พาฮานาอธิบาย

ถึงอย่างนั้น บางคนยังคงมุ่งมั่นพิสูจน์ว่า อายุเป็นเพียงตัวเลข อย่างเช่นนักแสดงผู้นี้

คุณโนนี ฮาเซลเฮิสต์ (Noni Hazelhurst) กล่าวว่าคนสูงอายุมีหลากหลายประเภทไม่ต่างกับคนอายุน้อย คุณเหมารวมไม่ได้ และวิธีการตัดสินคนที่เราใช้กันในสังคมสมัยนี้สร้างความเสียหายอย่างมาก เพราะเราไม่ได้มองเข้าไปถึงระดับความเป็นมนุษย์ เราเอาแต่ตัดสินกันจากภายนอก

คุณโช ตง เหยิน (Show Tson Yen) ผู้ย้ายถิ่นฐานชาวไต้หวัน ตั้งมั่นท้าทายความเชื่อเหมารวมอันเนื่องมาจากอายุด้วยเช่นกัน

“ผู้สูงอายุชาวเอเชียมักพึ่งพาให้ลูกหลานดูแลยามแก่ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่คนเฒ่าคนแก่จะอาศัยอยู่กับลูกหลาน ผมไม่อยากเอาแต่พึ่งลูกของผม ผมอยากดูแลตัวของผมเอง” คุณเหยินกล่าว

คุณซันนี เฉิน (Sunny Chan) เล่าว่า การทำงานอาสาสมัครกับองค์กรพารามัตตา มิชชัน (Parramatta Mission) ในนครซิดนีย์ ช่วยเชื่อมต่อเขาเข้ากับสังคมรอบตัว

“ผมยังคงเรียนรู้อยู่ทุกวัน ทุกวันผมได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ และเข้าใจตามทันโลก” คุณเฉินกล่าว

สำหรับผู้สูงอายุชาวออสเตรเลียจำนวนมาก อิสรภาพ ความสัมพันธ์เชื่อมต่อทางสังคม และการเคารพซึ่งกันและกันนั้น นับเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้น ๆ เลยทีเดียว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: