เดือน มี.ค. 2564 ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม ม.33 ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน 345,908 คน ถูกเลิกจ้าง 130,460 คน - สภาองค์การนายจ้างฯ ประเมินจำนวนผู้ตกงานระยะยาวไปจนถึงสิ้นปี 2565 ไม่ต่ำกว่า 2.7-2.9 ล้านคน | ที่มาภาพประกอบ: ไทยรัฐออนไลน์
ข้อมูลจาก รายงานเศรษฐกิจแรงงาน ประจำเดือน มี.ค. 2564 โดยกองเศรษฐกิจการแรงงาน สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน ระบุว่าเดือน มี.ค. 2564 มีแรงงานในระบบประกันสังคมหรือผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 11,090,989 คน ลดลงร้อยละ -5.45 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา (จำนวน 11,730,351 คน) และเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา (จำนวน 11,100,132 คน) ลดลงร้อยละ -0.08
สถานการณ์การว่างงาน [ผู้ว่างงาน หมายถึง ผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในระบบประกันสังคม (สำนักงานประกันสังคม : SSO)] เดือน มี.ค. 2564 มีผู้ว่างงานจำนวน 345,908 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 103.30 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา (จำนวน 170,144 คน) และเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา (จำนวน 310,031 คน) เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.57
สถานการณ์การเลิกจ้าง เดือน มี.ค. 2564 มีผู้ประกันตนที่ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากสาเหตุเลิกจ้างจากสำนักงานประกันสังคม มีจำนวน 130,460 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 297.88 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา (จำนวน 32,789 คน) และเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา (จำนวน 114,890 คน) เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.55 และอัตราการเลิกจ้างของผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากสาเหตุเลิกจ้างของระบบประกันสังคมในเดือน ก.พ. 2564 [1]
สภาองค์การนายจ้างฯ ประเมินจำนวนผู้ตกงานระยะยาวไปจนถึงสิ้นปี 2565 ไม่ต่ำกว่า 2.7-2.9 ล้านคน
นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย ประเมินว่าการว่างงานจากพิษโควิดระลอก 3 ในเดือน เม.ย. 2564 นี้จึงมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น โดยยังมีสัญญาณอันตราย ที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เตือนมาล่าสุดว่า อาจเกิด scarring effects ที่แรงขึ้น คือ แรงงานบางกลุ่มจะว่างงานนานขึ้น หรืออีกนานกว่าจะได้กลับมาทำงาน แม้การระบาดจะสิ้นสุดลง ทำให้บางกลุ่มต้องออกจากการเป็นกำลังแรงงาน เพราะหางานทำไม่ได้ นานจนสูญเสียทักษะฝีมือ ที่จะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจระยะยาว
นายธนิตเปิดเผยว่ามีการประเมินจำนวนผู้ตกงานระยะยาวไปจนถึงสิ้นปี 2565 ว่าจะมีตัวเลขคนว่างงานไม่ต่ำกว่า 2.7-2.9 ล้านคน โดยนับทั้งผู้ที่มาลงทะเบียนเป็นคนว่างงาน จากการลาออก และถูกปลดออกเพราะธุรกิจเลิกกิจการในระบบประกันสังคม กับคนที่เสมือนคนว่างงาน หรือว่างงานแฝง เพราะถูกลดเวลาการทำงาน เพียงสัปดาห์ละ 1-19 ชั่วโมง จากปกติทำงานสัปดาห์ละ 48 ชั่วโมง และที่น่าห่วงยังมีนักศึกษาจบใหม่ในเดือนสองเดือนนี้อีกกว่า 5 แสนคนที่เตรียมหางาน โดยยังมีนักศึกษาที่จบตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่มีเพียงครึ่งเดียวจากกว่า 5 แสนคนที่มีงานทำแล้ว [2]
COVID-19 กระทบความต้องการแรงงานใน EEC ลดลง
ข้อมูลจากคณะทำงานด้านการพัฒนาบุคลากรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC -HDC ซึ่งมีองค์ประกอบจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในทุกสาขาได้แก่ ท่องเที่ยว, โลจิสติกส์, ระบบราง, เกษตรสมัยใหม่และเทคโนโลยีชีวภาพ ,Medical Hub, พาณิชย์นาวี, Smart Electronics และ Digital, หุ่นยนต์ & Automation, อากาศยาน ,ยานยนต์สมัยใหม่
โดยคณะทำงานประกอบด้วย EIF (EEC Industrial Forum) ,EEC Net หรือ ศูนย์เครือข่ายการพัฒนาบุคลากร,คณะทำงานชุดพิเศษ 2 ชุด ซึ่งจะแยกทำหน้าที่ ทั้งสนับสนุนสาขาขาดแคลนและสถาบัน Droneนอกจากนี้ ยังมีมหาวิทยาลัย อีก 8 แห่ง เช่น ม.บูรพา ม.ศรีปทุม PIM มธ.พัทยา เป็นต้น
องค์ประกอบเหล่านี้จะทำหน้าที่วิเคราะห์และพัฒนาบุคลากรในพื้นที่ EEC ซึ่งหลังสถานการณ์โควิด-19 พบว่าความต้องการบุคลากรมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ลดลง จึงต้องมีการทบทวนประมาณการความต้องการบุคลากรใน EEC อีก 5 ปีข้างหน้าใหม่ พบว่าสาขาการบินมีความต้องการลดลงสูงสุดถึง 40% [3]
ข้อมูลอ้างอิง
[1] รายงานเศรษฐกิจแรงงาน ประจำเดือน มี.ค. 2564 (กองเศรษฐกิจการแรงงาน สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน, เข้าถึงข้อมูล 10 พ.ค. 2564)
[2] แรงงานสาหัส 2.7 ล้านคนเตรียมทำใจตกงานนานถึงปีหน้า (ไทยรัฐออนไลน์, 8 พ.ค. 2564)
[3] โควิดทุบ “ดีมานด์แรงงาน” ในอีอีซี (กรุงเทพธุรกิจ, 10 พ.ค. 2564)
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ