แนะเยียวยา 'วิกฤตหนี้' ให้ตรงจุด ผลักดันกฎหมาย 'ยื่นล้มละลายโดยสมัครใจ'

กองบรรณาธิการ TCIJ 27 ก.ย. 2564 | อ่านแล้ว 11220 ครั้ง

แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย (Fair Finance Thailand) จัดเสวนาออนไลน์ 'โควิด วิกฤติหนี้: ผีซ้ำด้ำพลอย ทางออกที่ยั่งยืนและเป็นธรรม' แนะเยียวยา 'วิกฤตหนี้' ให้ตรงจุด ผลักดันกฎหมาย 'ยื่นล้มละลายโดยสมัครใจ' | ที่มาภาพ: Fair Debt Thailand

เมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2564 แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย (Fair Finance Thailand) จัดเสวนาออนไลน์ ‘โควิด วิกฤติหนี้: ผีซ้ำด้ำพลอย ทางออกที่ยั่งยืนและเป็นธรรม’ โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินมาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมอง เพื่อสะท้อนปัญหาการจัดการหนี้สินในสถานการณ์โควิด และร่วมกันนำเสนอว่ารัฐควรออกมาตรการอย่างไรเพื่อให้ทุกคนรอดพ้นจากวิกฤตินี้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม 

เริ่มที่ สฤณี อาชวานันทกุล จาก Fair Finance Thailand ระบุว่า โควิด-19 เป็น ‘ทวิวิกฤติ’ ทั้งวิกฤติสาธารณสุขและวิกฤติเศรษฐกิจ ซึ่งมาตรการต่างๆ ของภาครัฐที่มุ่งจำกัดการระบาดของโรค ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะงักงัน ประชาชนทั่วประเทศขาดรายได้ สถานการณ์เช่นนี้ยังซ้ำเติมภาวะหนี้สินล้นพ้นตัวของครัวเรือนไทยให้ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

ตั้งแต่ต้นปี 2563 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมกับสมาคมธนาคารไทยและสถาบันการเงินต่างๆ ได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ในช่วงโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง ซึ่งสฤณีตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพและประสิทธิผลของมาตรการเหล่านี้ว่า บรรดาลูกหนี้รายย่อยสามารถเข้าถึงมาตรการดังกล่าวมากน้อยเพียงใด รัฐบาลและ ธปท. ควรทำอะไรบ้าง นี่เป็นคำถามที่ยังไม่มีการหาคำตอบอย่างเป็นระบบ 

โควิดกระทบ รายได้หดหาย หนี้สินพอกพูน

จากนั้นสฤณี อาชวานันทกุล นำเสนอสรุปกรณีศึกษา สถานการณ์และความต้องการของลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยผลสำรวจพบว่า หลังเกิดการระบาด รายได้เฉลี่ยต่อเดือนของคนทุกกลุ่มอาชีพลดลงเฉลี่ยประมาณ 30% ของรายได้เดิม โดยเฉพาะอาชีพธุรกิจส่วนตัว เกษตรกร ลูกจ้างรายวัน และฟรีเเลนซ์ มีแนวโน้มรายได้ลดลงอย่างมาก ขณะที่อัตราส่วนหนี้ต่อรายได้ต่อเดือนซึ่งมีมากอยู่แล้วก็เพิ่มสูงขึ้น 2.5 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงก่อนการระบาดของโควิด 

วิธีจัดการหนี้ของลูกหนี้มีหลากรูปแบบคือ 1) ไม่กู้ยืมเพิ่ม แต่จะบริหารจัดการการเงินของตัวเองก่อนด้วยการลดรายจ่าย หารายได้เพิ่ม หรือขายทรัพย์สิน 2) กู้ยืมเงินเพิ่ม จากช่องทางที่เป็นทางการ เช่น สถาบันการเงิน สหกรณ์ กองทุนหมู่บ้าน และ 3) กู้เงินนอกระบบ ยืมเงินญาติ คนรู้จัก เพื่อนร่วมงาน นายจ้าง นายทุน ซึ่งน่าสนใจว่า วิธีการจัดการหนี้สินของแต่ละกลุ่มอาชีพจะแตกต่างกันไปตามช่องทางและโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงิน

“กรณีลูกหนี้นอกระบบ มีภาระหนี้เฉลี่ยรายละ 19,746 บาทต่อเดือน และภาระดอกเบี้ยเฉลี่ย 5,691 บาทต่อเดือน โดยจุดประสงค์หลักที่ต้องกู้หนี้นอกระบบ เพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในครัวเรือน (65%) รองลงมาคือ นำมาชำระหนี้อื่นที่ครบกำหนดชำระ (55%)”

นอกจากนี้ ผลการสำรวจพบว่า แม้สถาบันการเงินจะมีมาตรการเยียวยา แต่จำนวนลูกหนี้ที่เข้าร่วมมาตรการค่อนข้างน้อย โดยลูกหนี้เกินครึ่ง (52.9%) ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมมาตรการของสถาบันการเงิน เหตุผลหลักคือไม่อยากรับภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นหลังจากจบมาตรการ (73.4% ของลูกหนี้ที่ปฏิเสธจะเข้าร่วมมาตรการ) รองลงมาคือเห็นว่ามาตรการจะบรรเทาภาระหนี้ได้ชั่วคราวเท่านั้น (31.3%) และกระบวนการยุ่งยากใช้เวลานาน (21.9%)

“จากแบบสอบถาม มีลูกหนี้อีก 47.1% ระบุว่า สถาบันการเงินไม่มีมาตรการช่วยเหลือ และอีก 12.4% ระบุว่า ถูกสถาบันการเงินปฏิเสธ”

เมื่อสอบถามถึงความต้องการของลูกหนี้เกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติม มีข้อเสนอจากลูกหนี้ว่าต้องการให้ขยายเวลาพักชำระหนี้จนกว่าโควิดจะคลี่คลาย ลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อเสริมสภาพคล่อง รวมถึงเสนอให้รัฐเพิ่มเงินเยียวยา ลดค่าน้ำค่าไฟ ลดภาษี และขอให้ขยายเวลาในการเข้าร่วมมาตรการ เพื่อให้ลูกหนี้มีเวลาพิจารณาอย่างถี่ถ้วน

6 ข้อเสนอ เพื่อแก้ปัญหาหนี้โควิด-19 อย่างยั่งยืน

จากผลการศึกษาดังกล่าว สฤณีได้สรุปข้อเสนอแนะเชิงนโยบายจาก Fair Finance Thailand ถึงรัฐบาลและ ธปท. 6 ประการ เพื่ออุดช่องว่างและแก้ปัญหาลูกหนี้ที่ไม่สามารถเข้าถึงมาตรการการช่วยเหลือ ได้แก่

1. ควรมีการสำรวจความคิดเห็นของลูกหนี้ เพื่อปรับปรุงมาตรการให้ตรงจุดมากขึ้น และแก้ไขอุปสรรคของลูกหนี้ที่เข้าไม่ถึงมาตรการบรรเทาภาระหนี้

เนื่องจากมาตรการในปัจจุบันยังไม่สามารถช่วยเหลือลูกหนี้ได้อย่างเพียงพอ ลูกหนี้จำนวนมากปฏิเสธที่จะเข้าร่วมมาตรการ เพราะกังวลว่าจะต้องแบกรับภาระหนี้เพิ่มขึ้นหลังจากจบมาตรการ หรือมาตรการไม่ตรงกับความต้องการของลูกหนี้ตั้งแต่แรก

2. เสนอรัฐบาลให้มีการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างตรงจุด

ลูกหนี้ประสบปัญหารายได้ไม่พอจ่ายหนี้ การปรับโครงสร้างหนี้และมาตรการบรรเทาภาระหนี้อื่นๆ ของ ธปท. เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ธปท. ควรเสนอรัฐบาลให้เยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการต่างๆ ของรัฐอย่างเป็นธรรมและเพียงพอ เช่น การชดเชยรายได้ที่ขาดหายไป

3. พิจารณายกเลิกเพดานอัตราดอกเบี้ยทุกชนิด เน้นการกำกับดูแลการให้บริการที่เป็นธรรม (market conduct) แทน

เนื่องจากเพดานดอกเบี้ยส่งผลให้ผู้ให้บริการทางการเงินขาดแรงจูงใจที่จะคิดค้นนวัตกรรม ดังนั้นจึงควรออกแบบผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ตอบโจทย์ผู้บริโภค ลดต้นทุนการให้บริการ และขยายบริการทางการเงิน

4. จัดตั้งกลไกไกล่เกลี่ยข้อพิพาทนอกศาล (Alternative Dispute Resolution: ADRs)

กลไกไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางเลือก หรือ ADRs มีหลายรูปแบบ ซึ่งเป็นที่นิยมในหลายประเทศ เนื่องจากเป็นวิธีการที่ช่วยยกระดับกระบวนการการให้การคุ้มครองผู้บริโภคทางการเงินในการเยียวยาจากข้อพิพาท โดยการหาคนกลางที่มีความน่าเชื่อถือ (third party) มาไกล่เกลี่ยแทน อาทิ หน่วยงานอิสระ องค์กรอิสระภายใต้ภาครัฐ องค์กรจัดตั้งโดยสมาพันธ์วิชาชีพ และหน่วยงานภายใต้องค์กรที่ดูแลคุ้มครองผู้บริโภคทางการเงิน

5. ผลักดันกฎหมายล้มละลายโดยสมัครใจสำหรับบุคคลธรรมดา

กฎหมายล้มละลายโดยสมัครใจสำหรับบุคคลธรรมดา คือเครื่องมือพื้นฐานที่จำเป็นต่อการรับมือวิกฤติหนี้รายย่อย เพราะนอกจากจะเป็นการรับประกัน ‘สิทธิพื้นฐาน’ ของลูกหนี้รายย่อยในการมี ‘ชีวิตใหม่’ แล้ว ยังเป็นวิธีรับมือกับวิกฤติที่มีประสิทธิภาพกว่าการปล่อยให้เจ้าหนี้ยื่นฟ้องล้มละลายฝ่ายเดียว

6. สำหรับปัญหาการเข้าไม่ถึงสินเชื่อ ควรออกวงเงินเครดิตสำหรับผู้มีรายได้น้อย เพื่อแก้ปัญหาระยะสั้น และจัดตั้งทะเบียนหลักประกันแห่งชาติ (National Collateral Registry: NCR) เพื่อแก้ปัญหาระยะยาว

ในระยะสั้น กระทรวงการคลังอาจกำหนด ‘วงเงินเครดิต’ สำหรับผู้มีรายได้น้อย วงเงินคนละ 5,000-10,000 บาท โดยคิดอัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อช่วยผ่อนหนักเป็นเบาและหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่จะเพิ่มภาระจากหนี้นอกระบบ

ในระยะยาว ธปท. ควรจัดตั้งทะเบียนหลักประกันแห่งชาติ (NCR) เพื่อบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับสังหาริมทรัพย์ (อาทิ วัว ควาย คอมพิวเตอร์ รถไถ ฯลฯ) ที่ใช้เป็นหลักประกันเงินกู้ โดยไม่ต้องส่งมอบทรัพย์สินให้กับเจ้าหนี้

การที่สินทรัพย์แทบทุกชนิดสามารถนำมาจดทะเบียนได้ จะช่วยขยายโอกาสได้อย่างมหาศาลในการเข้าถึงสินเชื่อสำหรับ SMEs

ปัญหาหนี้สิน ติดอันดับ 1 เรื่องร้องเรียน

นฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า จากการเก็บสถิติของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พบว่าข้อร้องเรียนเรื่องหนี้ถือว่าเป็นอันดับ 1 โดยเฉพาะหนี้จากธุรกิจเช่าซื้อ บัตรเครดิต สินเชื่อ การกู้ยืมเงิน และหนี้นอกระบบ

ปัญหาลูกหนี้ที่พบมากคือ การผิดนัดชำระหนี้ รองลงมาคืออัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการติดตามทวงถามหนี้ และปัญหาลูกหนี้ถูกฟ้องดำเนินคดี ซึ่งผลกระทบที่ตามมาคือการทวงหนี้ที่ผิดกฎหมาย 

แม้ภาครัฐจะมีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ในการพักชำระหนี้ต่างๆ ก็ตาม แต่ปัญหาที่ลูกหนี้ต้องเผชิญคือ เจ้าหนี้ไม่ยอมรับเงื่อนไขดังกล่าว เพราะไม่ได้อยู่ในการกำกับของ ธปท. หรือโครงการของ ธปท. หรือโครงการของรัฐ

“ส่วนมาตรการพักชำระหนี้หรือพักเงินต้น ลูกหนี้มองว่าไม่ได้ประโยชน์ เพราะต่อให้พักหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยหรือพักแค่เงินต้น เขาก็เป็นหนี้อยู่ดี แล้วในอนาคตเขาก็ต้องใช้หนี้เท่าเดิมหรือมากกว่าเดิม เพราะดอกเบี้ยจะคงอยู่ต่อไปในหนี้ที่ยังเหลือ สุดท้ายก็ไม่ได้ช่วยอะไรเขาเลยในวิกฤติแบบนี้” นฤมลกล่าว 

นอกจากนี้ การเข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้หรือมาตรการที่รัฐกำหนด พบว่า บริษัทที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับของ ธปท. จะไม่ยอมช่วยเหลือลูกหนี้ แม้แต่สถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้การกำกับของรัฐเองก็ปฏิเสธไม่ให้ลูกหนี้เข้าร่วมมาตรการ เพราะมาตรการของรัฐจะช่วยเฉพาะคนที่ยังมีงานทำหรือมีแนวโน้มที่จะชำระหนี้ได้ ลูกหนี้ที่อยู่ในภาวะย่ำแย่จึงไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการเจรจาหนี้ได้ และจำต้องปล่อยให้เป็นปัญหาต่อไป

“ลูกหนี้ที่ดี ไม่ได้แปลว่าเขาไม่มีปัญหาทางการเงิน แล้วถ้าวันหนึ่งเขามีปัญหาตกงาน หรือบริษัทกำลังจะปิด รัฐจะมีมาตรการช่วยเหลือเขาบ้างหรือเปล่า” 

นฤมลเสนอว่า ทางออกคือต้องลดดอกเบี้ย เพราะลูกหนี้ที่ยังมีสภาพดียังเจอปัญหาดอกเบี้ยสูงอยู่ อีกประการคือการพักชำระหนี้และการช่วยเหลือของรัฐน่าจะครอบคลุมมากกว่านี้ ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อที่อยู่ใต้กำกับของ ธปท. หรือไม่

ธปท. ผลักดันมาตรการแก้หนี้ระยะยาว

ทางด้านตัวแทนจาก ธปท. อรมนต์ จันทพันธ์ รองผู้อำนวยการ กลุ่มงานปรับโครงสร้างหนี้ กล่าวว่า ผลกระทบจากโควิดทำให้เกิดความไม่แน่นอนและเป็นปัญหาระยะยาว ธปท. จึงออกมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ เพราะรายได้ลูกหนี้เปลี่ยนแปลงไป และมีการติดตามปัญหาของลูกหนี้ด้วย

“ช่วงก่อนหน้านี้เราออกมาตรการหลายรูปแบบ เพื่อให้สอดคล้องสถานการณ์ เพราะมีทั้งคนที่ได้รับผลกระทบและไม่ได้รับผลกระทบ แนวทางการช่วยเหลือลูกหนี้ก็เปรียบเหมือนว่า เราต้องเก็บห้อง ICU ไว้ให้คนป่วยหนัก ส่วนคนที่ป่วยน้อยก็อาจจะใช้ hospitel ได้ ฉะนั้นเราต้องช่วยลูกหนี้ให้ตรงเป้าหมายมากขึ้น 

“หลังการล็อคดาวน์ล่าสุด ธปท. มีมาตรการพักหนี้ 2 เดือน เพื่อเป็นการช่วยเหลือเฉพาะหน้าและเร่งด่วน แต่การพักหนี้ระยะสั้นอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ เพราะปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นอาจกระทบต่อรายได้ไปถึงกลางปีหน้า กว่าจะกลับสู่สภาพปกติก็อาจจะต้นปี 2567 ดังนั้นจึงต้องมีการปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาว เพื่อให้ภาระหนี้รายเดือนลดลง ให้ลูกหนี้จัดการตนเองได้และไม่เป็นภาระกับเขามากเกินไป โดยคาดว่าอีก 6 เดือนหลังจากนี้เศรษฐกิจจะเริ่มทยอยฟื้นตัว” 

อรมนต์กล่าวต่อว่า ธปท. พยายามหามาตรการช่วยเหลือที่รวดเร็วและรองรับคนจำนวนมาก โดยใช้ระบบดิจิทัลเข้ามาช่วย ไม่ว่าจะเป็นแอพพลิเคชั่นหรือเว็บไซต์ เพื่อให้เหมาะกับลูกหนี้แต่ละราย 

นอกจากการปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาวแล้ว ยังมีมาตรการลดดอกเบี้ยค้างชำระบางส่วน ถ้าลูกหนี้ผ่านพ้นช่วงนี้ไปได้ เจ้าหนี้ก็จะรอดไปด้วยกัน 

ทั้งนี้ เมื่อถามว่าจะทำอย่างไรให้สถาบันการเงินทั้งที่อยู่ในกำกับและไม่ได้อยู่ในกำกับของ ธปท. ปฏิบัติตามในทิศทางเดียวกัน อรมนต์กล่าวว่า ที่ผ่านมา ธปท. ได้หารือกับธนาคารอย่างใกล้ชิด โดยให้ธนาคารสามารถออกแบบวิธีการช่วยเหลือให้ตรงกับอาการของลูกหนี้แต่ละราย 

“หลังจาก ธปท. ออกมาตรการต่างๆ แล้วก็จะมีการติดตามโปรดักส์ที่จะนำมาช่วยเหลือลูกหนี้แต่ละกลุ่มว่ามีลักษณะอย่างไรบ้าง ตอบโจทย์ความช่วยเหลือลูกหนี้ได้หรือไม่ รวมถึงติดตามว่ามีลูกหนี้ได้รับการช่วยเหลือจำนวนเท่าใดบ้าง

“ในส่วนของ Non-Bank (ผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน) ที่ ธปท. ยังกำกับดูแลไม่ทั่วถึง เราก็พยายามหารือร่วมกันว่า จะทำอย่างไรจึงจะส่งเสริมให้ลูกหนี้ได้ประโยชน์จากมาตรการมากขึ้น”

2 แสนบริษัท เสี่ยงล้มละลาย การจ้างงานหาย 9.3 ล้านตำแหน่ง

ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ให้ความเห็นว่าสถานการณ์ขณะนี้คือ ‘ทวิวิกฤติ’ โดยปัญหาด้านสาธารณสุข นักเศรษฐศาสตร์คงทำอะไรไม่ได้มาก แต่ด้านเศรษฐกิจเราทำได้

“ถามว่าเราเป็นห่วงเรื่องหนี้ไหม โดยหลักการผมไม่ได้กังวลมากเท่ากับประเด็นที่ว่า เรากู้มาทำอะไร แล้วใช้คืนได้หรือไม่ 

“ที่จริงแล้วการเป็นหนี้ก็คือ การจัดสรรทรัพยากรระหว่างคนที่มีเงินเหลือกับคนที่ขาด ระหว่างวันที่เรามีเงินเหลือก็ออมเอาไว้ ระหว่างวันที่เราขาดเราก็กู้เอามาใช้ ในสถานการณ์ปกติเราจะมีความสามารถชำระหนี้ แต่เมื่อมีโควิด ความสามารถของเราหายไป แปลว่า การเป็นหนี้ตอนนี้ก็เพื่อหล่อเลี้ยงตัวเองให้มีชีวิตรอด รอให้เศรษฐกิจเปิดอีกครั้ง เราจึงต้องยอมรับที่จะเป็นหนี้ได้” 

ดร.สมประวิณ กล่าวอีกว่า “สถานการณ์ข้างหน้าหากเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ต้องดูว่าจะฟื้นทุกคนหรือไม่ เพราะทุกคนได้รับผลกระทบไม่เท่ากัน คนจนจะกระทบมากกว่า ส่วนคนรวยก็กระทบน้อยกว่า วันนี้กลไกการช่วยเหลือเข้าถึงแต่คนที่มีรายได้สูง เพราะอยู่ในระบบฐานภาษี ขณะเดียวกัน ในแง่อัตราการฟื้นตัว คนที่มีรายได้สูงกว่าจะฟื้นตัวได้เร็วกว่า ฉะนั้น หลังโควิดเราจะเจอปัญหาความเหลื่อมล้ำที่กว้างขึ้น” 

มีข้อมูลด้วยว่า จากพื้นที่ควบคุม 29 จังหวัด และ 9 อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบสูง ในจำนวนนี้มีกว่า 700,000 บริษัทที่เข้าข่ายได้รับผลกระทบสูง หรือคิดเป็น 94 เปอร์เซ็นต์ของธุรกิจทั้งหมดในประเทศ ฉะนั้น มาตรการเยียวยาประการแรกต้องทำให้ครอบคลุมทั่วถึง ประการต่อมา เมื่อภาคธุรกิจเริ่มฟื้นตัวแล้ว รัฐต้องมีการช่วยเหลือเรื่องการฟื้นฟู และประการสุดท้าย โลกหลังโควิดจะเปลี่ยนโฉมไปอย่างมาก ดังนั้นรัฐต้องมีเงินช่วยเหลืออีกก้อนในการช่วยให้เกิดการปรับตัวสำหรับโลกใหม่หลังโควิด

“วันนี้เหมือนเราโดนรถชน เลือดไหล อย่างแรกเราต้องห้ามเลือด ภาระหนี้ทั้งหลายต้องหยุด แล้วใส่เลือดใหม่ แต่วันนี้การใส่เลือดใหม่ยังน้อยมาก” 

ดร.สมประวิณ กล่าวว่า จากการวิจัยของธนาคารกรุงศรีฯ ได้ไปศึกษามาตรการเศรษฐกิจทั้งหมดที่สำเร็จในต่างประเทศว่ามีอะไรที่ไทยควรทำบ้าง โดยพบตัวอย่างที่น่าสนใจ เช่น การให้เงินช่วยเหลือโดยตรงแก่ภาคธุรกิจ ลดค่าใช้จ่ายสำหรับครัวเรือนและธุรกิจ หรือช่วยเหลือโดยตรงด้วยการโอนเงินให้ภาคครัวเรือน ซึ่งประเทศไทยสามารถทำได้ มาตรการที่ใช้เงินมากสุดคือการรักษาระดับการจ้างงาน ใช้เงินประมาณ 300,000 ล้าน โดยการให้เงินอุดหนุนเพื่อให้เกิดการจ้างงาน ให้คนมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของรายได้เดิม และต้องเป็นมาตรการระยะยาว 6-18 เดือน 

“ถ้าเราไม่ทำ ผลสุดท้ายภาคธุรกิจกว่า 200,000 บริษัท อาจจะเผชิญปัญหาขาดสภาพคล่องและมีโอกาสล้มละลายได้ การจ้างงานอาจจะหายไป 9.3 ล้านตำแหน่ง ส่วนภาคครัวเรือน หากไม่ได้รับการช่วยเหลือเพียงพอ คนไทยกว่า 4 ล้านครัวเรือนจะมีรายได้ไม่พอรายจ่าย”

ดร.สมประวิณ บอกอีกว่า หากคนไทย 4 ล้านครัวเรือนมีรายได้ไม่พอจ่าย สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือการลดรายจ่าย ซึ่งจะส่งผลระยะยาวต่อเศรษฐกิจ ฉะนั้นหากมาตรการทางเศรษฐกิจไม่ดีพอ หลังหมดโควิดแล้วเศรษฐกิจไทยจะไม่กลับมาเหมือนเดิม เหมือนได้ออกซิเจนไม่พอ สมองก็ทำงานได้ไม่เต็มที่ ท้ายที่สุดบริษัทห้างร้านและภาคการจ้างงานจะล้มหายตายจากไป ถึงตอนนั้นความสามารถในการหารายได้ให้กับประเทศก็จะน้อยลงไปด้วย 

“ในอนาคตถ้าหมดโควิด แล้วนักท่องเที่ยวกลับมา แต่โรงแรมที่เราเคยมีจะเหลือน้อยลงไม่ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ รายรับของประเทศก็จะหายไป ถ้ารัฐออกมาตรการช่วยเหลือทางการเงินตอนนี้ยังพอทัน เพราะเราเริ่มเปิดประเทศแล้ว เงินฟื้นฟูต้องมา วันนี้เริ่มมีออกซิเจนมากขึ้นแล้ว หลังจากกลั้นหายใจมานาน หากมาตรการรัฐออกมาเพียงพอ เราก็อาจจะรอด”

ผลักดันกระบวนการล้มละลาย ควบคู่การเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้

ดร.ปาริชาต มั่นสกุล ผู้อำนวยการ ประจำสำนักประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คาราบาวตะวันแดง จำกัด อดีตผู้พิพากษาศาลล้มละลายกลาง และอดีตเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ กรมบังคับคดี กล่าวถึงกระบวนการล้มละลายที่ดีว่าเป็นอย่างไร ต้องดูวัตถุประสงค์ของกระบวนการล้มละลาย 3 อย่างคือ หนึ่ง-เจ้าหนี้ต้องได้รับการชำระอย่างรวดเร็วและเป็นธรรม สอง-ลูกหนี้ต้องมีโอกาสปลดเปลื้องภาระหนี้สินและสามารถรีสตาร์ทได้ สาม-เศรษฐกิจโดยรวมต้องเดินหน้าต่อไปได้ ถ้าทำได้ตามวัตถุประสงค์ 3 อย่าง นี่คือกระบวนการล้มละลายที่ดี 

“นักเศรษฐศาสตร์วิเคราะห์ว่า วิกฤติเศรษฐกิจจากโควิดรุนแรงกว่าต้มยำกุ้ง เราจึงต้องเตรียมตัวให้ดี ใช้กระบวนการล้มละลายเฉพาะกรณีที่เหมาะสม และทำให้กระบวนการมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว

“ถามว่ากระบวนการล้มละลายจะช่วยลูกหนี้จริงไหม สำหรับลูกหนี้ที่ไปไม่ไหว ถ้าลูกหนี้ล้มละลายจากวิกฤติเศรษฐกิจ นับจากวันฟ้องคดีล้มละลายถึงวันปลดจากการล้มละลายตามกรอบเวลาเฉลี่ยปัจจุบัน น่าจะประมาณ 5 ปี ดังนั้น นั่นหมายความว่า ถ้าเขาล้มวันนี้ กว่าจะลุกขึ้นมาได้ใหม่ก็อีก 5 ปี ส่วนลูกหนี้ที่ยังไปไหวหรือยังไม่อยากล้มละลายจะทำอย่างไร กระบวนการล้มละลายจะช่วยโอบอุ้มแค่ไหน กระบวนการประนอมหนี้ต้องทำอย่างไรเพื่อให้เขายังไปไหว” 

ดร.ปาริชาต ให้ข้อสังเกตว่า กระบวนการล้มละลายในปัจจุบันถูกนำมาใช้ตรงตามวัตถุประสงค์แล้วหรือไม่ หรือเป็นเพียงวิธีตรวจสอบทรัพย์สินลูกหนี้ หรือเป็นเครื่องมือที่ใช้บีบบังคับในการทวงหนี้หรือจำหน่ายหนี้สููญเท่านั้น เมื่อมีการใช้กระบวนการล้มละลายที่ไม่เหมาะสม ส่งผลให้จำนวนคดีในระบบมีมากเกินไป ใช้ระยะเวลานาน และใช้ทรัพยากรไม่คุ้มค่า

ทั้งนี้ ดร.ปาริชาต เสนอแนวทางในการพัฒนากระบวนการล้มละลาย 4 ข้อ ได้แก่ 

Screen คือ ต้องลดคดีที่ไม่จำเป็นออกไป หรือมีกระบวนการไกล่เกลี่ยก่อนฟ้อง

Shorten คือ ทำให้กระบวนการสั้นลง ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้รวดเร็วขึ้น

Sync คือ เชื่อมโยงระบบฐานข้อมูลทรัพย์สิน เพื่อลดขั้นตอนการสืบหาทรัพย์สิน

Sale คือ การขายทรัพย์สิน เมื่อรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้ได้แล้ว ให้นำมาขายทอดตลาดอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เช่น ผ่านระบบออนไลน์โดยผู้ซื้อมีข้อมูลครบถ้วน

สำหรับการผลักดันให้เกิดกฎหมายล้มละลายโดยสมัครใจให้แก่บุคคลทั่วไป นอกเหนือจากนิติบุคคลแล้ว ดร.ปาริชาต มองว่า แนวคิดดังกล่าวมีความพยายามที่จะผลักดันมานาน ถือเป็นประโยชน์ต่อลูกหนี้ที่สามารถเข้าสู่กระบวนการล้มละลายได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องรอเจ้าหนี้ แต่ขณะเดียวกันต้องเตรียมความพร้อมและพัฒนาประเด็นอื่นควบคู่กันไปด้วย 

นอกจากนี้ ดร.ปาริชาต ยังกล่าวถึงกระบวนการไกล่เกลี่ยว่า ประเทศไทยมีการริเริ่ม ผลักดัน และพัฒนาการไกล่เกลี่ยโดยหน่วยงานของรัฐ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีและสามารถทำให้คนเข้าถึงการไกล่เกลี่ยได้มาก แต่หากเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาดำเนินการในส่วนนี้มากขึ้น ก็จะเพิ่มโอกาสในการไกล่เกลี่ยให้มากขึ้น และเมื่อเปิดเสรีมากขึ้น เป็นธรรมดาที่ประสิทธิภาพจะตามมา

 

อ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่ https://fairdebtthailand.org/2021/09/14/results-of-research-on-the-situation-and-needs-of-retail-debtors-affected-by-covid-19/

ชมคลิปเสวนาย้อนหลังที่ https://www.facebook.com/FairFinanceThailand/videos/1254374251680483

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: