จับตา: สถานการณ์ COVID-19 ประจำสัปดาห์ 21-27 พ.ย. 2021

กองบรรณาธิการ TCIJ 27 พ.ย. 2564 | อ่านแล้ว 3931 ครั้ง



สถานการณ์ COVID-19 ประจำสัปดาห์ 21-27 พ.ย. 2021 ณ วันที่ 27 พ.ย. 2021 (เวลา 10.00 น.) มีผู้ป่วย COVID-19 ทั่วโลกรวม 260,876,508 คน เสียชีวิต 5,206,264 คน รักษาหาย 235,679,163 คน ส่วนสถานการณ์ในประเทศไทยมีผู้ป่วยยืนยันสะสม 2,100,959 ราย รักษาหายสะสม 2,000,502 ราย เสียชีวิตสะสม 20,677 ราย ฉีดวัคซีนสะสม (26 พ.ย. 2564) รวม 91,658,056 โดส

21 พ.ย. 2021

- ศบค. รายงานสถานการณ์ COVID-19 ในไทย ผู้ป่วยใหม่ 7,006 ราย สะสม 2,035,718 ราย รักษาหาย 7,591 ราย สะสม 2,064,581 ราย เสียชีวิต 29 ราย สะสม 20,387 คน
- ปลัดกระทรวงสาธารณสุข มอบนโยบายให้โรงพยาบาลในสังกัดทุกแห่งใช้มาตรการ COVID Free Setting สร้างพื้นที่ปลอดภัยจาก COVID-19 ให้ผู้มารับบริการ พร้อมให้ทุกจังหวัดจัดสัปดาห์ฉีดวัคซีนสู่เป้าหมาย 100 ล้านโดส 27 พ.ย.-5 ธ.ค. 2564
- องค์การอนามัยโลก (WHO) ออกแถลงการณ์เตือนว่าทวีปยุโรปอาจมีผู้เสียชีวิตจากโรค COVID-19 มากกว่า 5 แสนคน ภายในเดือน มี.ค. 2022 หากไม่ดำเนินมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดอย่างมีประสิทธิภาพ
- เวียดนาม ต้อนรับนักท่องเที่ยวฉีดวัคซีนครบโดสกลุ่มแรก หลังปิดประเทศไปเกือบ 2 ปี เพื่อควบคุม COVID-19
- มาเลเซีย ขอให้ผู้ฉีดวัคซีน COVID-19 ครบโดสแล้ว รับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นทุกคน หลังจากพบว่าผู้ติดเชื้ออาการหนักที่เคยฉีดวัคซีนแล้วมีจำนวนเพิ่มขึ้น
- ออสเตรเลีย นักศึกษาต่างชาติกลุ่มหนึ่งเดินทางจากสิงคโปร์กลับเข้าออสเตรเลียแล้ว หลังจากออสเตรเลียปิดประเทศมาเกือบ 2 ปี เนื่องจากข้อตกลงทราเวลบับเบิลระหว่าง 2 ประเทศมีผลบังคับใช้
- บราซิล โครงการฉีดวัคซีน COVID-19 ที่คืบหน้าอย่างมาก ส่งผลให้ในรอบ 14 วันที่ผ่านมาบราซิลมีผู้เสียชีวิตเฉลี่ย 228 คน/วัน ซึ่งเป็นยอดผู้เสียชีวิตรายวันที่ต่ำมาก เมื่อเทียบกับช่วงเดือนเม.ย. 2021 ซึ่งบราซิลมียอดผู้เสียชีวิต เฉลี่ยเกือบ 3,000 คน/วัน ทั้งนี้บราซิลมีผู้ที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้วกว่า 128 ล้านคน หรือประมาณร้อยละ 60 ของประชากรทั้งหมดราว 212 ล้านคน
- แคนาดา ออกแถลงการณ์ที่ระบุว่าผู้ที่ฉีดวัคซีน COVID-19 ของซิโนแวค ซิโนฟาร์ม และโควาซิน ครบโดสแล้วสามารถเดินทางเข้าประเทศตั้งแต่วันที่ 30 พ.ย. 2021 นี้เป็นต้นไป หลังรัฐบาลแคนาดารับรองวัคซีนดังกล่าว
- อิตาลี รายงานพบผู้ติดเชื้อ COVID-19 รายใหม่ 11,555 คน ซึ่งเป็นตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันมากกว่า 10,000 คน เป็นวันที่ 4 ติดต่อกัน
- เกาหลีใต้ รายงานพบผู้ติดเชื้อ COVID-19 รายใหม่ 3,120 คน นับเป็นตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันมากกว่า 3,000 คน เป็นวันที่ 5 ติดต่อกัน
- สิงคโปร์ ออกแถลงการณ์ที่ระบุว่าตั้งแต่วันที่ 24 พ.ย. 2021 นี้เป็นต้นไป ประชาชนที่มีสิทธิ์ฉีดวัคซีน COVID-19 ทุกช่วงอายุสามารถเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้น หลังฉีดวัคซีนครบโดสแล้วอย่างน้อย 5 เดือน ซึ่งมาตรการดังกล่าว จะช่วยให้อัตราการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นของสิงคโปร์ อยู่ที่ร้อยละ 50 ภายในสิ้นปี 2021 นี้

22 พ.ย. 2021


ข้อมูลจากรัฐบาลกลางและมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ ระบุว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจาก COVID-19 ในสหรัฐฯ ปี 2021 นี้สูงกว่ายอดรวมผู้เสียชีวิตทั้งหมดเมื่อปี 2020 ถึง 2 เท่า | ที่มาภาพ: Thomas Cizauskas (CC BY-NC-ND 2.0)

- ศบค. รายงานสถานการณ์ COVID-19 ในไทย ผู้ป่วยใหม่ 6,428 ราย สะสม 2,042,146 ราย รักษาหาย 7,882 ราย สะสม 1,964,805 คน เสียชีวิต 49 ราย สะสม 20,439 คน ฉีดวัคซีน (21 พ.ย. 2564) สะสม 88,989,235 โดส
- วัคซีนโมเดอร์นา จำนวน 1 ล้านโดส ลอตที่ 2 จากสหรัฐฯ ที่บริจาคให้กับไทยเดินทางถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิแล้ว
- นายกรัฐมนตรีลี เซียนลุงของสิงคโปร์แนะว่าถึงเวลาที่สมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนและจีนจะเดินหน้าเปิดพรมแดนให้แก่กันได้แล้ว เนื่องจากประเทศในภูมิภาคนี้มีความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อ COVID-19
- ญี่ปุ่น การแพร่ระบาดระลอก 5 ของ COVID-19 ในญี่ปุ่นเกือบจะหายไปอย่างรวดเร็ว ผู้เชี่ยวชาญส่วนหนึ่งบ่งชี้ว่ามันน่าจะมีต้นตอจากการที่ตัวกลายพันธุ์เดลตาที่แพร่เชื้อได้ง่ายมาก เกิดการกลายพันธุ์จนกระทั่งสูญพันธุ์บนเกาะแห่งนี้ โดยมีการอ้างผลการศึกษาทางพันธุศาสตร์ของตัวอย่างที่รวบรวมระหว่างเดือน มิ.ย.-ต.ค. 2021 ระบุว่าในกรณีของการแพร่ระบาดระลอก 5 ของญี่ปุ่นโปรทีนเอ็นเอสพี 14 ของตัวกลายพันธุ์เดลตาล้มเหลวไม่ทำหน้าที่ สวนทางกับความคาดหมายของทีมงาน มันปราศจากความหลากหลายทางพันธุกรรม ตัวอย่างจำนวนมากมีการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมมากมายในจุดที่เรียกว่า A394V ซึ่งเกี่ยวข้องกับโปรทีนซ่อมแซมข้อผิดพลาด
- สหรัฐฯ ข้อมูลจากรัฐบาลกลางและมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ ระบุว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจาก COVID-19 ในสหรัฐฯ ปี 2021 นี้สูงกว่ายอดรวมผู้เสียชีวิตทั้งหมดเมื่อปี 2020 ถึง 2 เท่า ซึ่งเป็นผลมาจากการระบาดของเชื้อกลายพันธุ์เดลตาและแสดงให้เห็นว่า ภัยคุกคามของเชื้อไวรัสร้ายนี้ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง
- เบลเยียม ผู้ประท้วงหลายหมื่นคน รวมตัวกันที่ใจกลางกรุงบรัสเซลส์ เพื่อต่อต้านการประกาศใช้ข้อจำกัด เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 อีกครั้ง
- ออสเตรเลีย จะให้ชาวต่างชาติที่ฉีดวัคซีน COVID-19 ครบโดสเข้าประเทศได้ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2021 โดยไม่ต้องยื่นขออนุญาตยกเว้นการเดินทางตามมาตรการจำกัดการระบาด
- นิวซีแลนด์ จะเปลี่ยนมาใช้ระบบการมีชีวิตอยู่ร่วมกับโรคติดเชื้อ COVID-19 ตั้งแต่วันที่ 3 ธ.ค. 2021 นี้ ยุติการใช้มาตรการจำกัดเคร่งครัดและให้ธุรกิจในเมืองใหญ่ที่สุดเปิดทำการอีกครั้ง
- สิงคโปร์ จะพิจารณาใช้มาตรการควบคุม COVID-19 ที่เข้มงวดเป็นตัวเลือกสุดท้าย ในขณะที่สิงคโปร์กำลังผ่อนคลายข้อจำกัดบางส่วนเกี่ยวกับการรวมตัวของประชาชนและการรับประทานอาหารนอกบ้านภายใต้ยุทธศาสตร์เปิดประเทศ
- อิสราเอล เริ่มโครงการฉีดวัคซีน COVID-19 ให้แก่เด็กอายุ 5-11 ปี และกลายเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่เริ่มฉีดวัคซีนให้กลุ่มเด็กเล็กเพื่อรับมือกับการระบาดของ COVID-19
- อังกฤษ อนุญาตให้ผู้ที่ฉีดวัคซีน COVID-19 ของซิโนแวกและซิโนฟาร์มของจีน รวมทั้งวัคซีนโคแวกซินของอินเดียครบโดส สามารถเดินทางเข้าประเทศโดยไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการกักตัว

23 พ.ย. 2021

- ศบค. รายงานสถานการณ์ COVID-19 ในไทย ผู้ป่วยใหม่ 5,126 ราย สะสม 2,047,272 ราย รักษาหาย 7,748 ราย เสียชีวิต 53 ราย ฉีดวัคซีน (22 พ.ย. 2564) สะสม 89,336,791 โดส
- มหาวิทยาลัยมหิดลร่วมออกซฟอร์ด แถลงการศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิภาพยาต้าน COVID-19 เป็นครั้งแรกของโลก หวังช่วยให้มาตรฐานการรักษาชัดเจน ผู้ป่วยเข้าถึงยาราคาถูก และมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยยาที่กำลังประเมินในรอบการศึกษาปัจจุบันโดยวิธีการสุ่ม คือ ยากิน 2 ชนิด คือ “ฟาวิพิราเวียร์” และ “ไอเวอร์เมคติน” และยาฉีด 2 ชนิด คือ “เรมเดซิเวียร์” และ “รีเจนเนอรอน” โครงการวิจัยนานาชาติหลายสถาบัน จะรับผู้ป่วยอาสาสมัครทั่วโลกทั้งหมด 750 คน สำหรับเครือข่ายโรงพยาบาลในประเทศไทยจะรับอาสาสมัครประมาณ 200 คน
- สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้อนุมัติเพิ่มแหล่งผลิตในประเทศสหรัฐฯ สำหรับวัคซีนโมเดอร์นาแล้ว ซึ่งจะทำให้บริษัทซิลลิคฯ สามารถนำเข้าวัคซีนโมเดอร์นางวดถัดไปจำนวน 1.4 ล้านโดส จากแหล่งผลิตในประเทศสหรัฐฯ โดยจะเริ่มทยอยนำเข้าในช่วงประมาณปลายเดือน พ.ย.-ต้นเดือน ธ.ค. 2564
- องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าทวีปยุโรปยังคงเผชิญกับการระบาดรุนแรงของโรค COVID-19 คาดอาจมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอีกราว 700,000 คนในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
- ไฟเซอร์/ไบออนเทค เผยว่าวัคซีน COVID-19 ของไฟเซอร์ยังคงมีประสิทธิภาพป้องกันโรคโควิดได้ 100% ในเด็กอายุ 12-15 ปี หลังฉีดวัคซีนครบโดสเป็นเวลา 4 เดือน
- สหรัฐฯ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ประกาศเพิ่มเยอรมนีและเดนมาร์กไว้ในรายชื่อจุดหมายการเดินทางระดับ 4 ซึ่งเป็นระดับเสี่ยงติดเชื้อ COVID-19 สูงมาก ทั้งยังเตือนให้ชาวอเมริกันเลี่ยงการเดินทางไปยังประเทศดังกล่าว ขณะที่กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ก็ประกาศเตือนไม่ให้พลเมืองเดินทางไปยังเยอรมนีและเดนมาร์กเช่นกัน
- เยอรมนี เริ่มมีแนวคิดบังคับฉีดวัคซีนเข็ม 2 และอาจต้องกระตุ้นด้วยเข็ม 3 หลังตัวเลขผู้ติดเชื้อ COVID-19 ยังพุ่งต่อเนื่องสูงสุดเป็นวันที่ 15 ติดต่อกัน
- ฝรั่งเศส สำนักนายกรัฐมนตรีของฝรั่งเศสเผยว่านายกรัฐมนตรีฌอง คาสเท็กซ์ ของฝรั่งเศส มีผลตรวจหาเชื้อ COVID-19 เป็นบวกและจะเข้าสู่มาตรการกักตัวเป็นเวลา 10 วัน
- นิวซีแลนด์ เตรียมบังคับใช้ระบบการแจ้งเตือนโรค COVID-19 แบบใหม่ตั้งแต่วันที่ 3 ธ.ค. 2021 นี้เป็นไป โดยแบ่งตามระบบไฟจราจร ที่กำหนดสีแดง สีส้ม และสีเขียว ตามระดับอัตราการฉีดวัคซีนและความเสี่ยงติดเชื้อ COVID-19 ในแต่ละภูมิภาค เพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถกลับมาดำเนินการอีกครั้ง
- เวียดนาม นครโฮจิมินห์ยื่นเรื่องไปยังกระทรวงสาธารณสุขเพื่อขอลดระยะเวลาการกักตัวสำหรับผู้ป่วย COVID-19 ที่ฉีดวัคซีนครบโดสและไม่แสดงอาการให้เหลือ 7 วัน จากเดิม 14 วัน เพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาลและศูนย์ดูแลผู้ป่วย

24 พ.ย. 2021


องค์การอนามัยโลก (WHO) คาดการณ์ว่ายอดผู้เสียชีวิตจาก COVID-19 ในภูมิภาคยุโรปและเอเชียกลางอาจจะพุ่งแตะระดับมากกว่า 2.2 ล้านรายภายในเดือน มี.ค. 2022 | ที่มาภาพประกอบ: @Miryam1968

- ศบค. รายงานสถานการณ์ COVID-19 ในไทย ผู้ป่วยใหม่ 5,857 ราย สะสม 2,053,129 ราย รักษาหาย 7,318 ราย สะสม 1,979,871 คน เสียชีวิต 55 ราย สะสม 20,544 คน
- ขณะที่ข้อมูลตั้งแต่ 15 ก.พ. 2563 - 22 พ.ย. 2564 พบบุคลากรแพทย์ติดเชื้อ COVID-19 สะสม 4,270 คน
- ผอ.กองควบคุมโรค เผยหลังเปิดประเทศ 24 วัน พบนักท่องเที่ยวต่างชาติติด COVID-19 แล้ว 126 ราย จากที่เดินทางเข้ามาทั้งหมด 94,756 ราย อัตราติดเชื้อสูงสุด คือ สวิตเซอร์แลนด์ 2.33%
- องค์การอนามัยโลก (WHO) คาดการณ์ว่ายอดผู้เสียชีวิตจาก COVID-19 ในภูมิภาคยุโรปและเอเชียกลางอาจจะพุ่งแตะระดับมากกว่า 2.2 ล้านรายภายในเดือน มี.ค. 2022 ขณะที่หลายประเทศยังคงต่อสู้กับการแพร่ระบาดที่เพิ่มขึ้นของไวรัสสายพันธ์เดลตา
- เกาหลีใต้ พบผู้ติดเชื้อ COVID-19 รายใหม่ 4,115 ราย ถือเป็นสถิติสูงสุดนับตั้งแต่ทางการเกาหลีใต้รายงานพบผู้ติดเชื้อรายแรกในประเทศเมื่อเดือน ม.ค. 2020
- สิงคโปร์และมาเลเซียจะเปิดเส้นทางเดินทางที่ด่านพรมแดนทางบกโดยไม่ต้องกักโรคในสัปดาห์หน้า สำหรับผู้ที่ฉีดวัคซีน COVID-19 ครบโดสแล้ว
- อินโดนีเซีย ประกาศสั่งห้ามพนักงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ และบริษัทเอกชน ลาหยุดในช่วงเทศกาลคริสต์มาสและขึ้นปีใหม่ ซึ่งถือเป็นการใช้มาตรการเข้มงวดเพื่อป้องกันการกลับมาระบาดของ COVID-19 อีกครั้ง
- นิวซีแลนด์ เริ่มทยอยผ่อนปรนข้อจำกัดการเดินทางจากการระบาดของ COVID-19 บ้างแล้ว แต่จะยังคงปิดพรมแดนไม่รับชาวต่างชาติต่อไปอีกอย่างน้อย 5 เดือน
- เยอรมนี จะกำหนดให้การฉีดวัคซีน COVID-19 ให้ทหารเป็นภาคบังคับเร็ว ๆ นี้ ท่ามกลางการเรียกร้องให้พิจารณาการเตรียมวัคซีนไว้ต่อสู้กับการระบาดระลอก 4 ในประเทศ
- สวิตเซอร์แลนด์ เป็นประเทศแรกในโลกที่ยินยอมแลกคิวการได้รับวัคซีน COVID-19 กับโครงการ COVAX ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งทำให้ COVAX ได้รับวัคซีนโมเดอร์นาเร็วขึ้น ขณะที่สวิตเซอร์แลนด์จะได้รับวัคซีนช้าลง
- อินเดีย กระทรวงสาธารณสุขส่งจดหมายถึงรัฐบาลท้องถิ่นต่าง ๆ โดยระบุว่าระดับการตรวจหาเชื้อ COVID-19 ที่ลดลงอย่างน่าตกใจนั้น ส่อเค้าว่าจะเป็นอุปสรรคต่อการควบคุมการแพร่ระบาดในอินเดีย ขณะที่การติดเชื้อระลอกใหม่จากต่างประเทศก็ได้สร้างความวิตกกังวลให้กับรัฐบาลอินเดียเช่นกัน

25 พ.ย. 2021


นักวิทยาศาสตร์ของแอฟริกาใต้ พบเชื้อ COVID-19 กลายพันธุ์ชนิดใหม่ที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า B.1.1.529 โดยเชื้อดังกล่าวสามารถกลายพันธุ์ได้หลายครั้ง และเป็นต้นเหตุที่ทำให้ยอดผู้ป่วยติดเชื้อในแอฟริกาใต้พุ่งสูงขึ้น | ที่มาภาพ: Africa CDC

- ศบค. รายงานสถานการณ์ COVID-19 ในไทย ผู้ป่วยใหม่ 6,335 ราย สะสม 2,059,464 ราย รักษาหาย 7,218 ราย เสียชีวิต 37 ราย ฉีดวัคซีน (24 พ.ย. 2564) สะสม 90,468,955 โดส
- คณะกรรมการโรคติดต่อฯ เคาะแผนเปิดประเทศระยะ 2 ต่างชาติเข้าไทยไม่ต้องกักตัว ลดค่าธรรมเนียมออกใบรับรองฉีดวัคซีน และจัดซื้อยาโมลนูพิราเวียร์-แพกซ์โลวิด ขณะที่กรมการแพทย์ แจงยาออกฤทธิ์ในระดับเซลล์เหมือนกันเหมาะใช้ในการกลุ่มอาการน้อยถึงปานกลาง
- คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ชี้เดือน ธ.ค.เป็นช่วงเวลาเสี่ยง COVID-19 แพร่หนัก ทั้งหยุดยาว อากาศหนาว สังสรรค์ ครบ 3 ปัจจัย เสี่ยงคนเสี่ยง สถานที่เสี่ยง กิจกรรม ขอให้เคร่งครัดมาตรการป้องกันตนเอง และรับวัคซีน ยกตัวอย่างต่างประเทศฉีดวัคซีนเกิน 70% ยังมีติดเชื้อสูง
- องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าวัคซีน COVID-19 สามารถลดการแพร่กระจายเชื้อได้เพียง 40% เท่านั้นพร้อมเตือนผู้ที่รับวัคซีนแล้วยังคงต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันอื่น ๆ ต่อไป
- ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคของสหภาพยุโรป (ECDC) เรียกร้องให้ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป ดำเนินมาตรการเร่งด่วนเพื่อลดภาระหนักจากโรค COVID-19 ในเดือน ธ.ค. 2021 และ ม.ค. 2022
- นักวิทยาศาสตร์ของแอฟริกาใต้ พบเชื้อ COVID-19 กลายพันธุ์ชนิดใหม่ที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า B.1.1.529 โดยเชื้อดังกล่าวสามารถกลายพันธุ์ได้หลายครั้ง และเป็นต้นเหตุที่ทำให้ยอดผู้ป่วยติดเชื้อในแอฟริกาใต้พุ่งสูงขึ้น
- อิตาลี เตรียมยกระดับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโรค COVID-19 ให้เข้มงวดมากขึ้น หลังตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยจะบังคับใช้มาตรการกรีนพาส ซึ่งเป็นการแสดงหลักฐานรับรองการฉีดวัคซีนหรือหายจากโรค COVID-19 รวมถึงผลการตรวจหาเชื้อเป็นลบภายใน 48 ชั่วโมงก่อนเข้าใช้บริการสถานที่สาธารณะ อาทิ โรงภาพยนตร์ ร้านอาหาร โรงยิม หรือสนามกีฬา ตั้งแต่วันที่ 6 ธ.ค. 2021 นี้
- รัสเซีย ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ชาวรัสเซียเข้ารับการฉีดวัคซีน COVID-19 หลังตัวเลขผู้ติดเชื้อยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมเน้นย้ำว่าประชาชนทุกคนไม่เพียงต้องเข้ารับการฉีดวัคซีนตามกำหนดเวลาแต่ยังต้องเข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น
- ออสเตรเลีย ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าออสเตรเลียกำลังเผชิญการแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโรค COVID-19 และวัคซีนเข็มบูสเตอร์เป็นสิ่งสำคัญที่จะมอบอิสระในการใช้ชีวิตให้กับประชาชนทั่วประเทศ
- สหรัฐฯ สำนักงานบริหารและงบประมาณ (OMB) ของทำเนียบขาวเปิดเผยว่าพนักงานของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ 92% ได้รับวัคซีนป้องกันโรค COVID-19 อย่างน้อย 1 โดสตามข้อกำหนดของคณะทำงานแล้ว
- เยอรมนี รัฐท้องถิ่นหลายแห่งในเยอรมนีให้การสนับสนุนข้อบังคับฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 ขณะที่ยอดผู้ป่วยพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ระหว่างการแพร่ระบาดระลอกที่ 4

26 พ.ย. 2021


องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้ เชื้อ COVID-19 กลายพันธุ์ชนิดใหม่ที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า B.1.1.529 เป็นสายพันธุ์ที่ "น่ากังวล" และให้ชื่อว่า "ออมิครอน" (Omicron)

- ศบค. รายงานสถานการณ์ COVID-19 ในไทย ผู้ป่วยใหม่ 6,875 ราย สะสม 2,066,023 ราย รักษาหาย 6,875 ราย สะสม 1,993,964 คน เสียชีวิต 64 ราย สะสม 20,645 คน ศบค. รายงานฉีดวัคซีน (25 พ.ย. 2564) สะสม 90,735,069 โดส
- ศบค.ขยายเวลาประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอีก 2 เดือน สิ้นสุด ม.ค. 2565 ยกเลิกเคอร์ฟิวทั่วประเทศ เหตุไม่มีพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด เปิดสถานบันเทิงตามกำหนดเดิมวันที่ 16 ม.ค. 2565
- รมว.สธ. ระบุเหลือแค่ 3 ล้านคนยังไม่ฉีดวัคซีน ทั้งกลุ่มเข้าไม่ถึง และรอวัคซีนทางเลือก แต่ยังตรงเป้าครบ 100 ล้านโดส สิ้นเดือน พ.ย. 2564 นี้
- ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุยังเร็วไปที่จะสรุปว่า COVID-19 สายพันธุ์ B.1.1.529 รุนแรงหรือไม่ แม้มีการเปลี่ยนแปลง 32 จุด แต่ยังต้องรอให้ธรรมชาติพิสูจน์ 3-6 เดือน และถอดรหัสพันธุกรรม
- องค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดประชุมคณะผู้เชี่ยวชาญนัดเฉพาะกิจที่เมืองเจนีวาของสวิตเซอร์แลน์ เพื่อประเมินเกี่ยวกับสถานการณ์ระบาดของเชื้อ COVID-19 กลายพันธุ์ใหม่ที่พบในแอฟริกาใต้ ท่ามกลางความวิตกกังวลที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก โดยได้ประกาศให้เป็นเป็นสายพันธุ์ที่ "น่ากังวล" และให้ชื่อว่า "ออมิครอน" (Omicron)
- หลายประเทศและดินแดนในทวีปเอเชียต่างยกระดับการใช้มาตรการเข้มงวดพรมแดน หลังแอฟริกาใต้พบเชื้อ COVID-19 กลายพันธุ์ใหม่ที่อาจหลบหลีกภูมิคุ้มกันจากวัคซีนได้ ขณะที่ข่าวดังกล่าวทำให้ตลาดหุ้นเอเชียทรุดหนักสุดในรอบ 3 เดือน และสร้างความหวั่นวิตกในตลาดค้าน้ำมันที่ร่วงลงกว่าร้อยละ 3
- สหภาพยุโรป (EU) อนุมัติให้ฉีดวัคซีน COVID-19 ของบริษัทไฟเซอร์ในเด็กอายุ 5-11 ปีแล้ว
- อังกฤษ สั่งห้ามเที่ยวบินจาก 6 ประเทศแอฟริกาใต้ทันที หลังแอฟริกาใต้ประกาศพบผู้ติดเชื้อ COVID-19 กลายพันธุ์ตัวใหม่ล่าสุด และระบุเป็นโควิดกลายพันธุ์ที่ร้ายที่สุดเท่าที่เคยพบมา เพิ่งพบครั้งแรกเมื่อต้นสัปดาห์นี้ที่บอตสวาน่า และพบในฮ่องกงด้วย
- ฮ่องกง พบผู้ป่วยโรคติดเชื้อ COVID-19 กลายพันธุ์ชนิดใหม่ที่พบครั้งแรกในแอฟริกาใต้ 2 คนที่กักตัวอยู่ในโรงแรมแห่งหนึ่งบนเกาะเช็กแลปก๊กของฮ่องกงในช่วงต้นเดือน พ.ย. 2021 ที่ผ่านมา
- จีน พบผู้ติดเชื้อ COVID-19 จำนวนหนึ่ง ซึ่งไม่มากนักในพื้นที่ทางตะวันออกของประเทศ แต่ทำให้นครเซี่ยงไฮ้ สั่งจำกัดกิจกรรมทางด้านการท่องเที่ยวและในเมืองซูโจว ซึ่งอยู่ไม่ห่างออกไป ก็ลดบริการขนส่งสาธารณะ ในขณะที่จีนยังคงยืนยันนโยบายเข้มงวดมิให้เชื้อไวรัสระบาดออกไป
- ฟิลิปปินส์ จะทดลองเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฉีดวัคซีน COVID-19 ครบโดสในกลุ่มประเทศที่ฟิลิปปินส์จัดให้อยู่ระดับเสี่ยงติดเชื้อต่ำซึ่งรวมถึงประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2021 เป็นต้นไป เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดของ COVID-19
- สิงคโปร์ จะอนุญาตให้ผู้เดินทางชาวไทยที่ฉีดวัคซีน COVID-19 ครบโดสเข้าประเทศได้โดยไม่ต้องกักตัวตั้งแต่วันที่ 14 ธ.ค. 2021 นี้รวมถึงผู้เดินทางต่างชาติจากอีก 5 ประเทศตั้งแต่วันที่ 16 ธ.ค. 2021

27 พ.ย. 2021

- ศบค. รายงานสถานการณ์ COVID-19 ในไทย ผู้ป่วยใหม่ 6,875 ราย สะสม 2,072,096 ราย รักษาหาย 6,538 ราย เสียชีวิต 32 ราย ฉีดวัคซีนสะสม (26 พ.ย. 2564) รวม 91,658,056 โดส
- สธ.ไม่อนุญาตให้ 8 ประเทศพบสายพันธุ์ Omicron เข้าประเทศ ยืนยันยังไม่พบการระบาดในไทย
- แอสตราเซเนกา กำลังศึกษาและตรวจสอบผลกระทบของเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรค COVID-19 กลายพันธุ์ Omicron กับวัคซีนของบริษัทและยาแอนติบอดี ค็อกเทล และยังคาดหวังว่ายาแบบผสมของบริษัทฯ จะยังคงรักษาประสิทธิภาพไว้ได้ต่อไป
- BioNTech (ไบออนเทค) บริษัทสัญชาติเยอรมันที่ได้พัฒนาวัคซีนร่วมกับไฟเซอร์ คาดว่าจะใช้เวลาราว 2 สัปดาห์ศึกษาข้อมูลว่าจะต้องมีการปรับสูตรวัคซีนเพื่อสู้กับเชื้อ COVID-19 ตัวกลายพันธุ์ Omicron หรือไม่ และหากมีความจำเป็นก็คาดว่าจะสามารถจัดส่งวัคซีนรุ่นใหม่ออกสู่ท้องตลาดได้ภายใน 100 วัน
- บริษัทโนวาแวกซ์ ออกแถลงการณ์ว่าได้เริ่มการวิจัยและพัฒนาวัคซีน COVID-19 รุ่นต่อไป เพื่อให้มีประสิทธิภาพเพียงพอสำหรับการรับมือกับเชื้อกลายพันธุ์ Omicron
- องค์การยาแห่งยุโรปกำลังตรวจสอบเชื้อ COVID-19 กลายพันธุ์สายพันธุ์ Omicron อย่างใกล้ชิด หลังมีรายงานพบครั้งแรกในแอฟริกาใต้ และว่ายังเร็วเกินไปที่จะบอกได้ว่าจำเป็นต้องปรับปรุงวัคซีนหรือไม่
- สหรัฐฯ จะห้ามนักเดินทางเกือบทั้งหมดที่มาจาก 8 ประเทศในทวีปแอฟริกาเข้าประเทศตั้งแต่วันที่ 29 พ.ย. 2021 เป็นต้นไป หลังจากพบผู้ติดเชื้อ COVID-19 กลายพันธุ์ Omicron ที่สามารถติดต่อกันได้อย่างรวดเร็วในแอฟริกาใต้
- บราซิล ประธานาธิบดีฌาอีร์ โบลโซนารูประกาศจะไม่ล็อกดาวน์ประเทศอีก แม้มีรายงานว่ามีการพบเชื้อ COVID-19 กลายพันธุ์ Omicron ที่มีฤทธิ์ร้ายและแพร่ระบาดได้รวดเร็วกว่าเดิม
- แอฟริกาใต้ รมต.สาธารณสุขแอฟริกาใต้ โวยนานาชาติห้ามนักเดินทางจากแอฟริกาเข้าประเทศ เป็นการใช้มาตรการรุนแรงเกินไป ชี้ยังไม่มีหลักฐานชี้ชัดว่าเชื้อ COVID-19 กลายพันธุ์ Omicron แพร่ระบาดเร็วและรุนแรงกว่าตัวเก่า
- เนเธอร์แลนด์ พบผู้ที่เดินทางจากแอฟริกาใต้มายังกรุงอัมสเตอร์ดัม 2 เที่ยวบินจำนวน 61 คน มีผลตรวจ COVID-19 เป็นบวก และวันนี้เจ้าหน้าที่กำลังทดสอบต่อไปเพื่อดูว่ามีการติดเชื้อสายพันธุ์ Omicron หรือไม่


ณ วันที่ 27 พ.ย. 2021 (เวลา 10.00 น.) มีผู้ป่วย COVID-19 ทั่วโลกรวม 260,876,508 คน เสียชีวิต 5,206,264 คน รักษาหาย 235,679,163 คน ส่วนสถานการณ์ในประเทศไทยมีผู้ป่วยยืนยันสะสม 2,100,959 ราย รักษาหายสะสม 2,000,502 ราย เสียชีวิตสะสม 20,677 ราย ฉีดวัคซีนสะสม (26 พ.ย. 2564) รวม 91,658,056 โดส

ที่มาข้อมูล Timeline เรียบเรียงจาก: กรมควบคุมโรค | Thai PBS | สำนักข่าวไทย | VOA | NHK-World | สำนักข่าวอินโฟเควสท์ 

*อัพเดทข้อมูล ณ วันที่ 27 พ.ย. 2021 อนึ่งวันเวลาที่ระบุไว้อาจจะมีความคลาดเคลื่อนไปบ้าง

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: