ทำไมญี่ปุ่นฉีดวัคซีน COVID-19 ล่าช้า (ก.พ.-เม.ย. 2021)

Dada Journalism | 28 เม.ย. 2564 | อ่านแล้ว 4891 ครั้ง


ญี่ปุ่น ประเทศร่ำรวยที่ฉีดวัคซีน COVID-19 ล่าช้า

ช่วงปลายเดือน เม.ย. 2021 ยอดรวมผู้เสียชีวิตจาก COVID-19 ในญี่ปุ่นพุ่งขึ้นแตะหลักหมื่นรายแล้ว ญี่ปุ่นกำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดระลอกที่ 4 เนื่องจาก COVID-19 กลายพันธุ์มีอัตราการแพร่เชื้อสูงขึ้น ข้อมูลจาก NHK ณ เวลา 23.59 น. ของวันที่ 26 เม.ย. 2021 ญี่ปุ่นมีผู้ติดเชื้อ COVID-19 รวม 572,384 คน ในจำนวนนี้อาการหนัก 898 คน เสียชีวิต 10,025 คน และรักษาหาย 505,397 คน

ข้อมูลจาก Our World in Data ณ วันที่ 25 เม.ย. 2021 เปรียบเทียบอัตราการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 อย่างน้อย 1 โดสให้แก่ประชาชน เทียบญี่ปุ่นกับประเทศร่ำรวยอื่น ๆ พบว่าญี่ปุ่นมีความล่าช้าอยู่มาก

ข้อมูลจาก Our World in Data ณ วันที่ 25 เม.ย. 2021 เปรียบเทียบอัตราการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 อย่างน้อย 1 โดสให้แก่ประชาชน จะเห็นได้ว่า ณ ช่วงเวลาหนึ่ง ญี่ปุ่นกับไทยมีอัตราการฉีดวัคซีนสูสีกันมาก

ข้อมูลจาก Our World in Data ณ วันที่ 25 เม.ย. 2021 พบว่าประเทศญี่ปุ่นฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 ให้กับประชาชนไปแล้วประมาณ 2.72 ล้านโดส ตั้งแต่เดือน ก.พ. 2021 เป็นต้นมา โดยมีผู้ฉีดวัคซีนครบ 2 โดสเพียง 8.79 แสนคน และอัตราการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 อย่างน้อย 1 โดสให้แก่ประชาชนอยู่ที่ 1.45 % ต่อประชากรทั้งประเทศเท่านั้น[1]

ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศร่ำรวยแถวหน้าของโลก อย่างเช่น อิสราเอล (เริ่มฉีด ธ.ค. 2020) ก็ฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 อย่างน้อย 1 โดสให้แก่ประชาชนอยู่ที่ 62.20% ต่อประชากรทั้งประเทศ สหราชอาณาจักร (เริ่มฉีด ม.ค. 2021) 49.59% สหรัฐฯ (เริ่มฉีด ธ.ค. 2020) 41.85% เยอรมนี (เริ่มฉีด ธ.ค. 2020) 23.26% ค่าเฉลี่ยของญี่ปุ่นยังต่ำกว่าทั้งโลกที่ฉีดไปแล้ว 7.12% และทั่วทั้งเอเชียที่ฉีดไปแล้ว 3.94% อีกด้วย

Timeline วัคซีน COVID-19 ของญี่ปุ่น ช่วง ม.ค.-ก.ย. 2021

ม.ค. 2021: ญี่ปุ่นเริ่มการทดลองทางคลินิกวัคซีน Moderna ในประเทศ ส่วน Pfizer ส่งข้อมูลจากการทดลองทางคลินิกในญี่ปุ่นช่วงปลายเดือน สาเหตุความล่าช้าของการผลิตวัคซีน COVID-19 ในญี่ปุ่น คือต้องมีการทดสอบทางคลินิกมากกว่าประเทศอื่น ๆ เพื่อให้มั่นใจว่าวัคซีนนั้นปลอดภัย

ก.พ. 2021: 5 ก.พ. AstraZeneca ได้ยื่นขออนุมัติวัคซีนแบบ fast-track ญี่ปุ่นอนุมัติวัคซีน Pfizer อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 14 ก.พ. และในวันที่ 17 ก.พ. ญี่ปุ่นได้ฉีดวัคซีนเข็มแรกให้กับบุคลากรทางการแพทย์

มี.ค. 2021: Daiichi Sankyo บริษัทยารายใหญ่อันดับ 2 ของญี่ปุ่น เริ่มผลิตวัคซีน AstraZeneca โดยระบุว่าวัคซีนจะถูกแจกจ่ายทันทีหลังจากได้รับการอนุมัติจากรัฐบาล ในช่วงปลายเดือน มี.ค. ทางการได้เริ่มแจกคูปองฉีดวัคซีน Pfizer ให้กับผู้อยู่อาศัยในญี่ปุ่นที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป

เม.ย. 2021: 12 เม.ย. ญี่ปุ่นเริ่มฉีดวัคซีน Pfizer ให้ผู้มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ทั้งนี้ญี่ปุ่นมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป ประมาณ 36 ล้านคน

*พ.ค. 2021: สำนักข่าว Reuters รายงานว่าหน่วยงานกำกับดูแลของญี่ปุ่นจะตัดสินใจว่าจะอนุมัติวัคซีน Moderna ภายในสิ้นเดือน พ.ค. นี้หรือไม่ ศูนย์ฉีดวัคซีนขนาดใหญ่ที่สามารถฉีดวัคซีนได้ถึง 10,000 คนต่อวัน มีกำหนดเปิดให้บริการในเขต Otemachi ของโตเกียวในวันที่ 24 พ.ค. และจะมีการจัดตั้งศูนย์ที่คล้ายกันนี้โอซาก้าด้วย ญี่ปุ่นกำหนดให้รับวัคซีน Pfizer 100 ล้านโดสระหว่างเดือนพ.ค.-มิ.ย.

*มิ.ย. 2021: สำนักข่าว NHK รายงานว่านักกีฬาที่แข่งขันในโอลิมปิกและพาราลิมปิกอาจจะได้รับวัคซีนภายในปลายเดือนมิ.ย. แม้ว่ารัฐบาลญี่ปุ่นจะบอกว่าการฉีดวัคซีนจะไม่เป็นข้อกำหนดในการเข้าร่วมการแข่งขัน

*ก.ค. 2021: ตามกำหนดการเดิม การฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนทั่วไปจะเริ่มต้นขึ้น ผู้อยู่อาศัยในญี่ปุ่นทุกคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไปรวมถึงชาวต่างชาติมีสิทธิ์ได้รับวัคซีนฟรี รัฐบาลไม่แนะนำให้เด็กฉีดวัคซีนเนื่องจากกังวลเรื่องความเสี่ยงและอาการแพ้

*ก.ย. 2021: ตามรายงานของสื่อ Japan Times หัวหน้าผู้รับผิดชอบด้านการฉีดวัคซีนของรัฐบาลระบุว่าญี่ปุ่นจะมีวัคซีนเพียงพอที่จะฉีดวัคซีนให้กับผู้อยู่อาศัยทุกคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไปภายในสิ้นเดือน ก.ย.

*เหตุการณ์ช่วงเดือน พ.ค.-ก.ย. 2021 เป็นการคาดการณ์

ที่มา: Here’s the tentative timeline of Japan’s Covid-19 vaccination programme (Emma Steen, Time Out, 20 April 2021)

 

ข้อวิพากษ์-วิจารณ์ ในประเทศเขา

ภาพล้อเลียนความเชื่องช้าในการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 ของรัฐบาลให้แก่ประชาชนญี่ปุ่น โดย Hiroko Oshima เผยแพร่ใน Nikkei Asia เมื่อช่วงปลายเดือน มี.ค. 2021

ญี่ปุ่นเป็นอีกประเทศหนึ่งที่สื่อมวลชนและคนในประเทศส่วนหนึ่งออกมาวิพากษ์-วิจารณ์เรื่องการฉีดวัคซีน COVID-19 ให้แก่ประชาชน เพราะนับตั้งแต่เริ่มฉีดวัคซีน COVID-19 เข็มแรกเมื่อวันที่ 17 ก.พ. 2021 พบว่าจนถึงปลายเดือน เม.ย. 2021 การฉีดวัคซีนของญี่ปุ่นก็ถือว่าล่าช้าเป็นอย่างมากเมื่อเทียบกับหลายประเทศ

หนึ่งในสาเหตุความล่าช้าแรกเริ่มตั้งแต่มีการฉีดวัคซีน ที่หลายคนต้องตกใจว่าเกิดกับประเทศร่ำรวยและมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีลำดับต้นๆ ของโลกได้อย่างญี่ปุ่นได้อย่างไร นั่นก็คือการขาดแคลนเข็มฉีดยาชนิดพิเศษสำหรับฉีดวัคซีน COVID-19[2]

เดือน มี.ค. 2021 สื่อ Nikkei Asia วิเคราะห์ว่าการไม่เร่งรีบฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 ให้แก่ประชาชนของญี่ปุ่นนั้น เป็นเพราะยอดผู้ติดเชื้อรายวันในขณะนั้นไม่สูงมากนัก สถานการณ์ในญี่ปุ่น ณ ตอนนั้นมีผู้ติดเชื้อเฉลี่ยประมาณ 1,200 รายต่อสัปดาห์ ซึ่งการฉีดวัคซีนนั้นมีค่าเสียโอกาสที่จะต้องพิจารณา รวมถึงวัฒนธรรมการเป็น 'ประเทศที่ไม่ชอบความเสี่ยง' ซึ่งผู้เชียวชาญมองว่าเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้การฉีดวัคซีน COVID-19 เป็นไปอย่างล่าช้า

วัฒนธรรมการฉีดวัคซีนของญี่ปุ่นนั้น ก็เคยมีโครงการฉีดวัคซีนภาคบังคับมาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง แต่จุดเปลี่ยนของญี่ปุ่นเกิดขึ้นในยุค 1970's เมื่อรัฐบาลต้องเผชิญกับการฟ้องร้องแบบกลุ่มโดยประชาชนจากปัญหาผลกระทบจากการฉีดวัคซีน

นักวิเคราะห์ด้านเวชภัณฑ์รายหนึ่งระบุกับ Nikkei Asia ว่าคนญี่ปุ่นมักให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่องความเสี่ยงมากกว่าผลตอบแทน "คนญี่ปุ่นมักจะใช้ยาที่ปลอดภัยแม้ว่าจะมีประสิทธิภาพน้อยกว่า แต่ในสหรัฐฯ ผู้คนนิยมใช้ยาที่มีประสิทธิภาพแม้ว่าจะมีผลข้างเคียงก็ตาม"

ท่าทีของญี่ปุ่นเองในช่วงการระบาดเริ่มต้น ก็ทำให้ความสามารถในการต่อสู้กับ  COVID-19 ซับซ้อนมากขึ้นเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ทั้งนี้ผู้ผลิตยาในญี่ปุ่นกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงของการระบาดของโรคก่อนที่จะมีการพัฒนาวัคซีน และเมื่อประเทศได้รับเชิญให้เข้าร่วมในการทดลองทางคลินิกระดับโลก วัฒนธรรมด้านสาธารณสุขของญี่ปุ่นก็กลายอุปสรรคสำหรับการวิจัยวัคซีนแบบเร่งด่วนนี้ ซึ่งเมื่อมีการพัฒนาวัคซีน COVID-19 แล้วหลายประเทศก็อนุมัติโดยไม่ต้องมีการทดลองในประเทศ แต่ญี่ปุ่นยืนยันที่ต้องมีการทดลองในประเทศก่อนนำมาใช้จริงในวงกว้าง

สำหรับการระดมฉีดวัคซีนนั้น อย่างในสหรัฐฯ มีการให้พยาบาล เภสัชกร และนักเรียนโรงเรียนแพทย์ เป็นผู้ฉีดได้ แต่ในญี่ปุ่นโดยหลักการแล้วการฉีดยาจะต้องทำโดยแพทย์ ในขณะเดียวกันรัฐบาลท้องถิ่นของญี่ปุ่นมักจะรอที่จะร่างแผนอย่างเป็นทางการ จนกว่าพวกเขาจะรู้ว่าจะมีปริมาณวัคซีนเท่าใดและจะได้รับเมื่อใด[3]

ช่วงต้นเดือน เม.ย. 2021 สำนักข่าว Kyodo วิเคราะห์ว่าสาเหตุหลักที่ทำให้การฉีดวัคซีนในญี่ปุ่นล่าช้า คือการวิจัยและพัฒนาในประเทศที่ล่าช้าทำให้ไม่สามารถผลิตวัคซีนในประเทศได้ รวมถึงขั้นตอนการอนุมัติอันเข้มงวด ส่งผลให้ต้องการพึ่งพาการนำเข้าอย่างมาก ส่วนการจัดซื้อได้นั้นก็จำเป็นต้องได้รับใบอนุญาตสถานที่ผลิตวัคซีน

ญี่ปุ่นกำหนดให้มีการทดลองทางคลินิกของวัคซีน COVID-19 กับอาสาสมัครในท้องถิ่น ซึ่งข้อกำหนดที่ไม่เหมือนกับประเทศอื่นนี้เองที่ทำให้กระบวนการอนุมัติล่าช้า จนถึงขณะนี้ (ช่วงปลายเดือน เม.ย. 2021) มีเพียงวัคซีนของ Pfizer-BioNTech เท่านั้นที่ผ่านการอนุมัติจากหน่วยงานกำกับดูแลของญี่ปุ่น ขณะที่วัคซีน AstraZeneca ที่พัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และวัคซีน Moderna ของสหรัฐฯ กำลังอยู่ระหว่างการทดลองทางคลินิกและรอการอนุมัติจากหน่วยงานกำกับดูแลของญี่ปุ่น ซึ่งคาดว่าจะได้รับการอนุมัติในเดือน พ.ค. 2021[4]

หวังเร่งสปีดเดือน พ.ค. 2021 แต่จะทันการแข่งขันโอลิมปิกในเดือน ก.ค.-ส.ค. 2021 นี้ไหม?

สื่อ NHK รายงานบรรยากาศในกรุงโตเกียวช่วงปลายเดือน เม.ย. 2021 หลังการประกาศภาวะฉุกเฉินในกรุงโตเกียวและในอีก 3 จังหวัดจะมีไปจนถึงวันที่ 11 พ.ค. 2021 แม้รัฐบาลญี่ปุ่นเรียกร้องให้ผู้คนทำงานจากบ้าน เพื่อลดจำนวนผู้คนที่เดินทางไปทำงานลง 70% แต่ทว่าว่าพื้นที่โดยรอบสถานีโตเกียวมีผู้คนเนืองแน่นอยู่ หญิงวัย 35 ปีคนหนึ่งกล่าวกับ NHK ว่ารถไฟสายยามาโนเตะมีผู้โดยสารมากกว่าปกติ เธอกล่าวว่ามีผู้คนแน่นรถ "จนแทบจะขยับตัวไม่ได้" เธอกล่าวว่าขณะที่มีการประกาศภาวะฉุกเฉินครั้งแรกเมื่อปีที่แล้ว เธอกังวลแม้กระทั่งเวลาไปซื้อของที่ซูเปอร์มาร์เก็ต แต่ตอนนี้เธอไม่รู้สึกลำบากใจมากนักกับการออกไปนอกบ้าน[5]

ญี่ปุ่นกำลังเผชิญปัญหาเช่นเดียวกับหลายที่ในโลก ที่ผู้คนเริ่มเหนื่อยล้าจากข้อบังคับต่าง ๆ ของรัฐภายใต้สถานการณ์ COVID-19 คนเริ่มออกมาใช้ชีวิตปกติโดยไม่สนใจคำเตือนต่าง ๆ ท่ามกลางการระบาดระลอกใหม่ ๆ อยู่เนือง ๆ

ในสถานการณ์เช่นนี้ 'วัคซีน' ดูเหมือยจะเป็นความหวังเดียวที่มีอยู่ และดังที่กล่าวไปว่าวัคซีน AstraZeneca และ Moderna ของสหรัฐฯ น่าจะได้รับการอนุมัติในเดือน พ.ค. 2021 นี้ รวมถึงวัคซีนล๊อตใหญ่จาก Pfizer กว่า 100 ล้านโดสก็จะเข้ามาในช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย. 2021 นี้ด้วยเช่นกัน

ช่วงปลายเดือน เม.ย. 2021 รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังพยายามสกัดการเเพร่ระบาดของ COVD-19 ที่กลับมารุนเเรงอีกครั้ง ท่ามกลางการวิพากษ์-วิจารณ์ถึงความล่าช้าในการกระจายวัคซีน ซึ่งส่วนใหญ่มีจัดการผ่านหน่วยงานเทศบาล ทำให้รัฐบาลมีแผนการที่จะเปิดศูนย์ให้บริการฉีดวัคซีนป้องกัน COVD-19 ในโตเกียวและโอซาก้า

โดยศูนย์ฉีดวัคซีนที่กำลังจะเปิดให้บริการในกรุงโตเกียวนั้น คาดว่าจะให้บริการได้เร็วที่สุดภายในภายในต้นเดือน พ.ค. 2021 ตั้งเป้าฉีดวัคซีนป้องกัน COVD-19 ไว้สูงสุดประมาณ 10,000 คนต่อวัน โดยจะมีการนำบุคลากรจากกองกำลังป้องกันตนเอง (SDF) มาช่วยฉีดวัคซีนในศูนย์ฯ นี้ด้วยด้วย[6]

จากนี้ไปญี่ปุ่นจะต้องเร่งการฉีดวัคซีนขนานใหญ่ เพราะในช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค. 2021 ญี่ปุ่นจะต้องจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก แม้ว่าการแข่งขันครั้งนี้จะห้ามกองเชียร์ชาวต่างชาติเข้าประเทศก็ตาม แต่คนญี่ปุ่นก็หวังว่าการต่อสู้กับ COVID-19 จนการแข่งขันสำเร็จลุล่วง จะเป็นบททดสอบอันยิ่งใหญ่ และทำให้โอลิมปิกครั้งนี้เป็นการแสดงถึงชัยชนะที่มนุษย์มีต่อภัยพิบัติครั้งสำคัญครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์[7]

ซึ่งเราทุกคนก็พร้อมร่วมเชียร์ญี่ปุ่นไปด้วยกัน.

 

อ้างอิง

[1] https://github.com/owid/covid-19-data/blob/master/public/data/vaccinations/country_data/Japan.csv (ข้อมูล ณ 25 เม.ย. 2021 - เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 26 เม.ย. 2021)

[2] Japan COVID-19 inoculations off to snail pace start due to vaccine, syringe shortages (Reuters,8 March 2021)

[3] Japan's slow COVID vaccine rollout turns hope into frustration (Nikkei Asia, 23 March 2021)

[4] สื่อญี่ปุ่นวิจารณ์ ญี่ปุ่นฉีดวัคซีนโควิด-19 ล่าช้า เหตุไม่มีวัคซีนที่ผลิตเอง-อนุมัติยาก (Xinhuathai, 12 เม.ย. 2021)

[5] Tokyo still crowded despite state of emergency (NHK, 26 April 2021)

[6] Japan to open large vaccination centers in Tokyo, Osaka: report (Japan Today, 26 April 2021)

[7] ชาวญี่ปุ่นกังวลฉีดวัคซีนโควิดไม่ทันจัดแข่งโอลิมปิกเกมส์ (Thai PBS, 14 เม.ย. 2021)

 

เกี่ยวกับผู้เขียน

Dada Journalism เป็นนามปากกาของคนทำงานในแวดวงสื่อออนไลน์มาตั้งแต่ปี 2006 ผู้นิยามระดับความสามารถในวิชาชีพของตนเองว่าเป็น 'นักก้อปปี้วางชำนาญการพิเศษอาวุโส' มีเครื่องมือหลักในการประกอบอาชีพ ได้แก่ กูเกิล โปรแกรมโน้ตแพด โปรแกรมเพนท์ และโปรแกรมเครื่องคิดเลข ที่แถมมากับระบบปฏิบัติการวินโดวส์.

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: