ลาวออกคำสั่งจัดการเขื่อน หวังลดน้ำท่วม-น้ำแล้ง

กองบรรณาธิการ TCIJ 28 ก.พ. 2564 | อ่านแล้ว 13191 ครั้ง

ลาวออกคำสั่งจัดการเขื่อน หวังลดน้ำท่วม-น้ำแล้ง

หนังสือพิมพ์เวียงจันทน์ ไทมส์ รายงานเมื่อช่วงปลายเดือน ก.พ. 2564 ว่ารัฐบาลลาวออกคำสั่งจัดการเขื่อนพลังน้ำเพื่อลดปัญหาขาดแคลนน้ำและปัญหาน้ำท่วม ในขณะที่ยังมีการถกเถียงว่าเขื่อนเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อแม่น้ำโขง 

VOA รายงานว่าหนังสือพิมพ์เวียงจันทน์ ไทมส์ รายงานเมื่อช่วงปลายเดือน ก.พ. 2564 ว่ารัฐบาลลาวออกคำสั่งจัดการเขื่อนพลังน้ำเพื่อลดปัญหาขาดแคลนน้ำและปัญหาน้ำท่วม ในขณะที่ยังมีการถกเถียงว่าเขื่อนเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อแม่น้ำโขง

สื่อทางการลาวดังกล่าว รายงานคำสั่งที่จะมีผลบังคับใช้วันที่ 4 มี.ค. นี้ โดยกำหนดให้บริษัทที่จัดการเขื่อนทุกเจ้าต้องแจ้งทางการลาวหาน้ำในเขื่อนมีเยอะถึงจุดสูงสุดหรือเมื่อระดับน้ำในแม่น้ำที่อยู่ใต้เขื่อนลดลงจนถึงระดับวิกฤติ โดยหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ระบุว่า การจัดการทรัพยากรน้ำและแม่น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะแหล่งน้ำที่ใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำ เป็นเรื่องสำคัญในขณะที่ลาวตั้งเป้าสร้างเขื่อนมากขึ้น และเป็นผู้ส่งออกกระแสไฟฟ้ารายหลัก

แต่กระทรวงพลังงานและกระทรวงการต่างประเทศของลาวไม่ให้ความเห็นต่อประเด็นดังกล่าว

องค์กรติดตามการก่อสร้างสาธารณูปโภคในลาว Mekong Infrastructure Tracker ระบุว่า การพัฒนาแหล่งผลิตไฟฟ้าพลังน้ำเป็นแผนของลาวที่จะส่งออกไฟฟ้าราว 20,000 เมกะวัตต์ไปยังประเทศเพื่อนบ้านภายในปี ค.ศ. 2030 โดยลาวสร้างเขื่อนอย่างน้อย 50 แห่งในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา และนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2018 ลาวสร้างเขื่อนใหม่อย่างน้อย 14 แห่งบนแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขา

นักสิ่งแวดล้อมต่างระบุว่า เขื่อนเหล่านี้ทำลายระบบนิเวศวิทยาอันเปราะบางในแถบลุ่มแม่น้ำโขง โดยการปล่อยน้ำแบบกะทันหันทำให้น้ำท่วม และกักเก็บน้ำจนบริเวณที่อยู่ใต้เขื่อนขาดแคลนน้ำ จนส่งผลกระทบต่อชาวประมงและชาวนาในลาว ไทย และกัมพูชา ที่ผู้คนหลายล้านคนพึ่งพาแม่น้ำโขงในการดำรงชีวิต

นักสิ่งแวดล้อมเรียกร้องให้มีการจัดการเขื่อนในลาวที่ดีกว่านี้ รวมถึงเขื่อนอีก 11 เขื่อนที่สร้างกั้นแม่น้ำโขงตอนบนในจีน เพื่อลดผลกระทบในเชิงลบ

นักเคลื่อนไหวยังคงจับตาดูการบังคับใช้คำสั่งใหม่ของรัฐบาลลาวนี้ต่อไป โดยแกรี่ ลี ผู้อำนวยการโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขององค์กรไม่แสวงหากำไร International Rivers ระบุว่า แม้รัฐบาลลาวจะพัฒนาและใช้กฎระเบียบแนวทางจัดการพลังน้ำในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่ประสิทธิภาพขององค์กร การบังคับใช้กฎหมาย และการเฝ้าติดตามยังคงเป็นไปอย่างหละหลวม

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: