เปิดตัวโครงการอาสาสมัคร 'ในม็อบมีเด็ก' ร่วมสร้างวงล้อมแห่งความปลอดภัยแก่เด็ก-เยาวชนในพื้นที่ชุมนุม เชิญชวนประชาชนทั่วไปร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการด้วยการเป็นอาสาสมัครและร่วมบริจาคเงินเพื่อสนับสนุนการปกป้องและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของเด็กและเยาวชน
เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 2564 คณะทำงานโครงการ “ในม็อบมีเด็ก” (Child In Mob) ได้แถลงข่าวเปิดตัวอย่างเป็นทางการ หลังเปิดรับอาสาสมัครทำงานในพื้นที่ชุมนุมเพื่อสร้าง “วงล้อมแห่งความปลอดภัย” ต่อเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ที่ออกมาใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบมาตั้งแต่เดือน พ.ย. 2563 และเชิญชวนประชาชนทั่วไปร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการด้วยการเป็นอาสาสมัครและร่วมบริจาคเงินเพื่อสนับสนุนการปกป้องและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของเด็กและเยาวชน
นางปิยนุช โคตรสาร ตัวแทนโครงการในม็อบมีเด็ก เปิดเผยว่า อาสาสมัคร Child in Mob คือ กลุ่มอาสาสมัครในพื้นที่การชุมนุมหนึ่งในภารกิจหลักของโครงการ Child in Protest ที่เกิดจากการรวมตัวของหลายองค์กรเช่น แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย มูลนิธิสายเด็ก 1387 (Child Line) กลุ่มหิ่งห้อยน้อย ครูขอสอน ก่อการสิทธิเด็ก โครงการสวนครูองุ่น การเมืองหลังบ้าน นักจิตบำบัดอิสระ อาสาสมัคร และคนทำงานที่สนใจด้านสิทธิเด็ก โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉิน ดูแลปกป้อง และสนับสนุนสร้างพื้นที่ปลอดภัยต่อเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ที่ออกมาใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ
จากการรวบรวมข้อมูลของ Mob Data เราพบว่า มีจำนวนเด็กอายุน้อยกว่า 18 ปีเข้าร่วมชุมนุมเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ในการชุมนุมที่ห้าแยกลาดพร้าวเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม มีจำนวนเด็กมากกว่า 800 คน และภายในเวลา 2 เดือน เฉพาะในการชุมนุมที่กรุงเทพ มีจำนวนเด็กรวมกันกว่า 5,000 คน โดยตัวเลขนี้ได้มาจากจำนวนสายรัดข้อมือที่กลุ่มอาสาสมัคร Child in Mob ได้แจกตั้งแต่การลงพื้นที่ครั้งแรกในเดือน พ.ย. 2563
“การลงพื้นที่ทำงานของอาสาสมัครใช้หลักการที่เป็นไปตามกฎหมายคุ้มครองเด็ก และหลักการสิทธิมนุษยชนสากล โดยหลักการสำคัญ 4 ข้อ คือ การไม่เลือกปฏิบัติต่อเด็ก การคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็ก เด็กมีสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่รอดและได้รับการพัฒนา และการเคารพความคิดเห็นของเด็ก
“ดังนั้น อาสาสมัคร Child in Mob จึงดำเนินการเพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับเด็กในการใช้สิทธิในเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบและหากเกิดเหตุอันตรายจากการกระทำใด ๆ ในพื้นที่ชุมนุม เด็กควรได้รับการปกป้องคุ้มครองตามหลักกฎหมายและมาตรฐานสากล”
“เมื่อมีการชุมนุมบูท ‘Child in Mob’ จะไปตั้งอยู่ข้างหน่วยพยาบาลในพื้นที่ชุมนุมเสมอ โดยอาสาสมัครจะสวมป้ายอาสาสมัครของโครงการและเสื้อกั๊กสะท้อนแสงสีชมพูระบุว่าเป็นอาสาสมัคร “ในม็อบมีเด็ก” และนำเทปกาวสำหรับปิดชื่อที่เสื้อนักเรียนเด็ก ข้อมูลหรือคู่มือแจกเด็กและผู้แวดล้อม สายรัดข้อมือ รวมทั้งธง Child in Mob ด้วย”
ทั้งนี้ตัวแทนโครงการยังได้เชิญชวนประชาชนที่สนใจในประเด็นการแสดงออกและสิทธิเด็ก ร่วมเป็นอาสาสมัคร Child in Mob โดยอาสาสมัครจะได้รับคู่มือในการปฏิบัติงาน การฝึกอบรม และอุปกรณ์ป้องกัน และก่อนการลงพื้นที่ปฏิบัติงานทุกครั้งจะต้องมีการทำความเข้าใจด้านความปลอดภัยและการสื่อสารเสมอ
นอกจากนี้ยังเชิญชวนให้ร่วมบริจาคสมทบทุนเพื่อสนับสนุนการปกป้องและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของเด็ก โดยเงินบริจาคจะถูกนำไปใช้เพื่อซื้ออุปกรณ์ระบุตัวตนของเด็กในพื้นที่ชุมนุมได้ เช่น สายรัดข้อมือที่ไม่เพียงช่วยระบุและยืนยันตัวตนสำหรับเด็กแต่ยังช่วยเป็นจุดสังเกตุของผู้ใหญ่ที่เข้าร่วมการชุมนุม เช่น สื่อมวลชนต้องระวังการถ่ายภาพและลงรูปของเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี หรือแม้แต่ช่วยระแวดระวังการถูกล่วงละเมิดทางเพศและร่างกายกับเด็กในพื้นที่การชุมนุมด้วย
เงินบริจาคยังสามารถช่วยจัดทำและตีพิมพ์คู่มืออาสาสมัคร รวมทั้งผลิตและจัดส่งคู่มือปฏิบัติการเด็กนักปกป้องสิทธิไปทั่วประเทศ ซึ่งเป็นคู่มือการทำงานสำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการทำงานของเด็ก
รวมทั้งการช่วยสนับสนุนสวัสดิการการทำงานของอาสาสมัคร และช่วยสนับสนุนการจัดซื้ออุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัย ที่ประกอบไปด้วย หมวก เสื้อกั๊ก Child in Mob หน้ากากกันแก๊สน้ำตา รวมไปถึงชุดปฐมพยาบาลเบื้องต้น ทั้งนี้เพื่อช่วยแบ่งเบาความเสี่ยง อันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นทั้งจากการเดินทางไปทำงาน ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการปฏิบัติงานในพื้นที่ชุมนุมโดยการทำประกันชีวิตและอุบัติเหตุสำหรับอาสาสมัครด้วย
หากต้องการบริจาคเงินสนับสนุนโครงการนี้ สามารถโอนเงินเข้าบัญชี แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ธนาคากรุงเทพ เลขที่บัญชี 129-5-62892-7 สาขา ลาดพร้าว จากนั้นส่งหลักฐานการโอนเงินบริจาคมาที่อีเมล membership@amnesty.or.th
นอกจากนั้นภายในงานยังมีเวทีเสวนาในหัวข้อ “เมื่อผีเสื้อตัวน้อยขยับปีก: สิทธิเด็ก ความหวัง ความฝัน ผลกระทบ เมื่อเด็กต้องการมีส่วนร่วมทางสังคม” ที่ร่วมพูดโดยตัวแทนองค์กรทำงานด้านเด็ก นักวิชาการ ตัวแทนเยาวชน ตัวแทนผู้ปกครองและทนายความ เพื่อเน้นย้ำให้ตระหนักถึงสิทธิเด็ก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหลักการสิทธิมนุษยชนสากลที่สังคมไทยจำเป็นต้องให้ความสำคัญ
และยังมีการจัดแสดงนิทรรศการ “Silent voices matter เมื่อความเงียบกู่ก้อง” นิทรรศการศิลปะจาก 10 ศิลปินรุ่นใหม่ ที่จัดแสดงผลงานและร้อยเรียงเรื่องเล่าไร้เสียง เพื่อสะท้อนภาพปัญหาจริงของเด็กไทยที่ต้องการบอกให้ใครสักคนได้รับรู้ นิทรรศการจัดแสดงที่ ลิโด้ คอนเน็คท์ สยามสแควร์ ปทุมวัน กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 27 มี.ค.-25 เม.ย. 2564 นี้
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ