บริษัท จีพีซี อินเตอร์เนชั่นแนล เทอร์มินอล จำกัด (GPC) ร่วมลงนามสัญญาร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership: PPP) กับการท่าเรือแห่งประเทศไทย เพื่อพัฒนาและดำเนินโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F จังหวัดชลบุรี โดยมีมูลค่าการลงทุนในส่วนของการพัฒนาโครงสร้างหน้าท่าจำนวน 30,871 ล้านบาท | ที่มาภาพ: Energy News Center
เมื่อช่วงปลายเดือน พ.ย. 2564 Energy News Center รายงานว่า บริษัท จีพีซี อินเตอร์เนชั่นแนล เทอร์มินอล จำกัด (GPC) ร่วมลงนามสัญญาร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership: PPP) กับการท่าเรือแห่งประเทศไทย เพื่อพัฒนาและดำเนินโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F จังหวัดชลบุรี โดยมีมูลค่าการลงทุนในส่วนของการพัฒนาโครงสร้างหน้าท่าจำนวน 30,871 ล้านบาท มุ่งผลักดันท่าเรือแหลมฉบังสู่ประตูการค้า การลงทุน และเสริมยุทธศาสตร์ให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางภูมิภาคได้อย่างเต็มศักยภาพ รวมถึงเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้ประเทศ โดยคาดว่าจะเริ่มเปิดดำเนินการภายในปี พ.ศ. 2568
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ผู้เป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาร่วมทุนฯ พัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 กล่าวว่า โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนของ ท่าเทียบเรือ F เป็นโครงการโครงสร้างพื้นฐานหลักสำคัญของอีอีซี ที่จะช่วยเสริมความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นในอนาคต และยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน ตามความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการบริหารประเทศ ซึ่งเป็นการส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรมเพิ่มมูลค่า และการบริหารจัดการขนส่งหลายรูปแบบ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนค่าขนส่ง ซึ่งจะช่วยพัฒนาและขยายพื้นที่หลังท่าของท่าเรือแหลมฉบัง ได้อย่างเต็มศักยภาพ
ด้าน เรือโทยุทธนา โมกขาว รองผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย สายบริหารการเงินและกลยุทธ์องค์กร รักษาการแทนผู้อำนวยการ การท่าเรือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 จะสามารถรองรับเรือที่มีขนาดบรรทุกสินค้าใหญ่ที่สุดในโลกได้ มีการบริหารจัดการสินค้าด้วยเครื่องมือที่ทันสมัยด้วยระบบอัตโนมัติ พร้อมทั้งจะมีโครงข่ายเชื่อมโยงหลังท่าเรือ ทั้งทางบก ทางราง และทางเรือชายฝั่ง อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนผสมผสานให้เป็นท่าเรือสีเขียว คำนึงถึงคุณภาพสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ คำนึงถึงสุขภาพของประชาชนในบริเวณใกล้เคียง อันจะนำไปสู่ท่าเรือชั้นนำระดับมาตรฐานโลกต่อไป
นายรัฐพล ชื่นสมจิตต์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะตัวแทน GPC กล่าวว่า ทางกลุ่ม GPC รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้ร่วมทำ PPP กับทางภาครัฐ ซึ่งการรวมตัวกันของกลุ่ม GPC นี้ถือเป็นการนำจุดแข็งที่แต่ละพันธมิตรมีมาร่วมกันทำงานอย่างเต็มที่ โดยทาง GULF พร้อมนำความแข็งแกร่งและประสบการณ์อันยาวนานในการพัฒนาและบริหารจัดการโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานขนาดใหญ่ทั้งในและต่างประเทศมาร่วมพัฒนาท่าเรือ ส่วนทางพันธมิตรอย่าง PTT TANK มีประสบการณ์ด้านการบริหารท่าเทียบเรือ การจัดการคลังสินค้า และการขนถ่ายผลิตภัณฑ์เหลว และ CHEC OVERSEA บริษัทลูกของ China Harbour Engineering Company Limited เชี่ยวชาญด้านการก่อสร้างและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ และโครงการท่าเทียบเรือตู้สินค้าระดับโลก โดยหลังจากลงนามเสร็จ จะเริ่มงานในส่วนของการออกแบบควบคู่ไปกับการเตรียมทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EHIA) ในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อเดินหน้าโครงการและพร้อมร่วมมือกับภาครัฐในการผลักดันให้เกิดท่าเรือที่จะกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญทางโลจิสติกส์ของภูมิภาค ที่จะสนันสนุนโครงการเมกะโปรเจ็กต์อื่น ๆ ของทางกระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในอนาคตอีกด้วย
ทั้งนี้ การท่าเรือแห่งประเทศไทยจะเป็นผู้ดำเนินการถมทะเล ในขณะที่ GPC จะเป็นผู้ออกแบบ ก่อสร้าง ให้บริการ และซ่อมบำรุงรักษาท่าเทียบเรือ F1 และ F2 เพื่อรองรับการขนถ่ายตู้สินค้าด้วยระบบจัดการตู้สินค้าแบบอัตโนมัติ ซึ่งมีความสามารถในการรองรับการขนถ่ายตู้สินค้าได้อย่างน้อย 4,000,000 ทีอียูต่อปี โดย GPC จะได้รับรายได้จากการประกอบกิจการท่าเรือ เช่น ค่าภาระการใช้ท่าของเรือ ค่าภาระยกขนตู้สินค้า ค่าภาระการใช้ท่าของตู้สินค้า และรายได้อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องตามขอบเขตและเงื่อนไขที่กำหนดภายใต้สัญญาร่วมลงทุนระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เป็นระยะเวลา 35 ปี ทั้งนี้ คาดว่าท่าเทียบเรือ F1 จะเริ่มก่อสร้างในปี 2566 โดยมีกำหนดเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี 2568 และท่าเทียบเรือ F2 จะเริ่มก่อสร้างในปี 2570 โดยมีกำหนดเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี 2572
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ