แพทย์เตือน 'เมนูอาหารกัญชา' กินต้องระวัง ตรวจสอบส่วนผสมแหล่งที่มาให้ชัดเจนก่อน

กองบรรณาธิการ TCIJ 28 มี.ค. 2564 | อ่านแล้ว 11955 ครั้ง

หลังคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เห็นชอบประกาศ 2 ฉบับ 'กัญชา-กัญชงในผลิตภัณฑ์อาหาร' โพลล์เผยคน 50.8% อยากลองกินอาหารและเครื่องดื่มเมนูกัญชา – แพทย์เตือนก่อนเลือกซื้อกินต้องตรวจสอบส่วนผสม แหล่งที่มาใบกัญชาให้ชัดเจน – ภาคประชาสังคมห่วงเป็นช่องทางเด็กเยาวชนยกระดับพฤติกรรมสู่การเสพ - ด้านนักวิชาการองค์กรผู้บริโภคชี้ต้องกำกับดูแลร้านอาหารและเครื่องดื่มแจ้งข้อมูลผู้บริโภค ให้มีทั้งคำเตือนและกำหนดอายุผู้ซื้อ มีบทลงโทษถ้าไม่ดำเนินการ | ที่มาภาพประกอบ: Respect My Region

เมื่อช่วงเดือน ก.พ. 2564 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าจากที่รัฐบาลมีนโยบายเร่งด่วนผลักดันให้กัญชาและกัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญสามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร จนนำไปสู่การปรับปรุงกฎหมายและออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2563 มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2563 ที่ผ่านมา กำหนดให้ส่วนของพืชกัญชาและกัญชง เฉพาะที่ได้รับอนุญาตให้ปลูก ผลิต หรือสกัดในประเทศไทย ไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษนั้น ปรากฏว่ามีประชาชนทั้งเกษตรกร และผู้ประกอบการแขนงต่างๆ ให้ความสนใจขอรับคำแนะนำมายังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบการอนุญาตเป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้ รัฐบาลย้ำว่าประชาชนทุกครัวเรือนมีสิทธิปลูกกัญชาได้เพียงแต่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นั่นคือ ทั้งการปลูก สกัด และผลิต จะต้องขออนุญาตจาก อย. ตามพ.ร.บ.ยาเสพติด ฉบับที่ 7 ซึ่งกำหนดให้ผู้ที่จะขออนุญาตต้องเป็นหน่วยงานรัฐ สถาบันอุดมศึกษา วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ ผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์ เภสัชกร แพทย์แผนไทย ซึ่งกลุ่มวิสาหกิจชุมชน สหกรณ์จะต้องร่วมกับหน่วยงานรัฐเพื่อขออนุญาต ซึ่งการยื่นคำขออนุญาตปลูกนั้น สามารถยื่น ณ สถานที่ปลูกตั้งอยู่ โดยหากอยู่ที่กรุงเทพฯ ให้ยื่นที่ อย. หากอยู่ต่างจังหวัดให้ยื่นที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.)

"ประชาชนมีสิทธิ์ปลูกกัญชาได้ผ่านการรวมตัวเป็นวิสาหกิจชุมชนและร่วมมือกับหน่วยงานรัฐ เช่นร่วมกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เพื่อขออนุญาตปลูกกัญชาโดยมีจุดประสงค์เพื่อใช้ในทางการแพทย์ ซึ่งเวลานี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ผลักดันให้เริ่มความร่วมมือรูปแบบนี้แล้ว ใน 46 จังหวัด ครอบคลุมประชาชนประมาณ 2,500 ครัวเรือน รพ.สต. 251 แห่ง ปลูกกัญชาไปแล้ว 15,000 ต้น โดยรัฐบาลคาดหวังว่าตั้งแต่นี้ไปทั้งกัญชาและกัญชงจะเป็นอีกหนึ่งพืชเศรษฐกิจหลัก ที่เป็นทางเลือกการสร้างรายได้และสร้างชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับเกษตรกร และเป็นพื้นฐานสำคัญของการผลิตสินค้าที่เป็นนวัตกรรมใหม่ๆ ในอนาคต" น.ส.ไตรศุลี กล่าว

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ส่วนของกัญชาและกัญชงที่ไม่จัดเป็นยาเสพติดซึ่งสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้นั้น ได้แก่ เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้าน และราก ใบซึ่งไม่มียอดหรือช่อดอกติดมาด้วย สารสกัดที่มีสารแคนนาบิไดออล (CBD) เป็นส่วนประกอบ และมีสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (THC) ไม่เกิน 0.2% โดยน้ำหนัก เมล็ดกัญชง น้ำมันจากเมล็ดกัญชง หรือสารสกัดจากเมล็ดกัญชง ซึ่งแต่ละส่วนสามารถใช้ประโยชน์ทั้งทางการแพทย์ เช่นใช้ในตำรับยาแผนไทย ผลิตภัณฑ์สมุนไพร อุตสาหกรรมยา อาหาร เครื่องสำอางตลอดจน เป็นเส้นใยใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ

อย่างไรก็ตาม ในแง่ของผู้สามารถใช้ประโยชน์นั้น ไม่ได้มีเพียงผู้ประกอบการเท่านั้นที่สามารถนำส่วนของกัญชา และกัญชงไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ แต่ประชาชนทั่วไปก็สามารถใช้ประโยชน์ได้ เช่นการนำไปประกอบอาหารในครัวเรือน หรือประกอบอาหารและเครื่องดื่มเพื่อขายในร้านอาหาร เพียงแต่ต้องเป็นผลผลิตจากผู้ที่ได้รับอนุญาตปลูกที่ถูกต้องตามกฎหมาย สามารถระบุที่มาของส่วนกัญชาหรือกัญชงได้[1]

คณะกรรมการอาหารและยาเห็นชอบประกาศ 2 ฉบับ 'กัญชา-กัญชงในผลิตภัณฑ์อาหาร'

ต่อมาในวันที่ 22 ก.พ. 2564 เภสัชกรหญิงสุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่าคณะกรรมการอาหารได้มีมติเห็นชอบ (ร่าง) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ (ร่าง) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ ....) พ.ศ.... ออกตามความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 เรื่อง กำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย ซึ่งมีสาระสำคัญคือ ปลดให้ใช้ส่วนของกัญชาและกัญชงที่ไม่เป็นยาเสพติดในผลิตภัณฑ์อาหารได้ และ (ร่าง) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ ....) พ.ศ.... ออกตามความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 เรื่อง เมล็ดกัญชง น้ำมันจากเมล็ดกัญชง โปรตีนจากเมล็ดกัญชง และผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบของเมล็ดกัญชง น้ำมันจากเมล็ดกัญชง หรือโปรตีนจากเมล็ดกัญชง ซึ่งมีสาระสำคัญคือ สามารถใช้เมล็ดกัญชง น้ำมันจากเมล็ดกัญชง โปรตีนจากเมล็ดกัญชงในผลิตภัณฑ์อาหารได้ เช่น ใช้เมล็ดกัญชงและโปรตีนจากเมล็ดกัญชงในผลิตภัณฑ์อาหารซีเรียล เบเกอรี่ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องดื่ม ขนมขบเคี้ยว เป็นต้น ส่วนน้ำมันจากเมล็ดกัญชงใช้ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร น้ำมัน ผลิตภัณฑ์ทาขนมปัง เป็นต้น ทั้งนี้ปริมาณที่ให้ไช้ในอาหารแต่ละประเภทให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด โดย อย. จะเสนอ (ร่าง) ประกาศฯ ทั้ง 2 ฉบับนี้ ให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขลงนาม และประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป[2]

โพลล์เผยคน 50.8% อยากลองกินอาหารและเครื่องดื่มเมนูกัญชา

20 มี.ค. 2564 กรุงเทพโพลล์โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพสำรวจความคิดเห็นประชาชนเรื่อง “ปลดล็อกกัญชา...สู่พืชเศรษฐกิจใหม่ของไทย” โดยเก็บข้อมูลจากประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,171 คน พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 64.5 ระบุว่าทราบข่าวเรื่องที่กระทรวงสาธารณสุข ปลดล็อก ให้ปลูกกัญชาอย่างถูกกฎหมายได้บ้านละ 6 ต้น โดยร้อยละ 52.3 ระบุว่ายังไม่ทราบรายละเอียดเรื่องการปลูก รองลงมาร้อยละ 30.4 ระบุว่าต้องมีการรวมตัวเป็นวิสาหกิจชุมชนก่อนจึงขออนุญาตปลูกได้ และร้อยละ 17.3 เข้าใจว่าสามารถปลูกได้เลยอย่างเสรีบ้านละ 6 ต้น ขณะที่ร้อยละ 35.5ระบุว่ายังไม่ทราบข่าว

ส่วนความเห็นต่อการอนุญาตให้ปลูกกัญชาได้ครัวเรือนละ 6 ต้น ว่าเหมาะสมเพียงพอหรือไม่ ต่อการสร้างรายได้ให้เกษตรกรและนําไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจนั้น ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 53.3 ระบุว่าไม่เหมาะสมเพียงพอ ขณะที่ร้อยละ 46.7 ระบุว่าเหมาะสมเพียงพอแล้ว ทั้งนี้หากภาครัฐต้องการผลักดันกัญชาให้เป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ ควรส่งเสริมและสนับสนุนในเรื่องใด พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 71.3 ระบุว่าควรให้ความรู้กับผู้ที่ต้องการปลูกและหาตลาดรองรับ รองลงมาร้อยละ 47.5 ระบุว่าควรปรับเกณฑ์/เงื่อนไขต่างๆ ให้ผู้ที่สนใจเข้าถึงได้ง่ายขึ้น และร้อยละ 44.7 ระบุว่า ควรสนับสนุนผู้ประกอบการที่สนใจผลิตสินค้าแปรรูปจากกัญชา

สำหรับสิ่งที่ประชาชนกังวลมากที่สุดจากการอนุญาตให้ทุกครัวเรือนมีสิทธิปลูกได้บ้านละ 6 ต้นคือ หากควบคุมไม่ดีอาจมีการลักลอบนําไปเสพ จําหน่ายเป็นสารเสพติด ร้อยละ 44.7 รองลงมาคือ ผู้ที่ไม่รู้หลักเกณฑ์ในการปลูกอาจทําผิดกฎหมายโดยไม่รู้ตัว ร้อยละ 17.2 และอาจทําให้มีคนหันมาเสพกัญชามากขึ้น ร้อยละ 16.2 เมื่อถามว่า ท่านคิดว่าจะกินอาหาร และเครื่องดื่ม เมนูกัญชา หรือไม่ ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 50.8 ระบุว่าจะกิน โดยให้เหตุผลว่า เป็นสมุนไพรมีสรรพคุณเป็นยา ร้อยละ 52.5 รองลงมาคือ อยากลอง ร้อยละ 21.1 และ เคยกินมาแล้วทําให้อาหารอร่อยขึ้น ร้อยละ 18.0 ขณะที่ร้อยละ 49.2 ระบุว่า จะไม่กิน โดยให้เหตุผลว่า ติดภาพว่าเป็นยาเสพติด ร้อยละ 54.9 รองลงมาคือ ไม่ชอบลองของใหม่/ของแปลก ร้อยละ 30.1 และมีโรคประจําตัว ร้อยละ 10.0[3]

แพทย์เตือนก่อนเลือกซื้อกินต้องตรวจสอบส่วนผสม แหล่งที่มาใบกัญชาให้ชัดเจน

รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ ผู้จัดการศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า กัญชาจะมีสารสำคัญ 2 ชนิด ได้แก่ CBD และTHC ซึ่งสาร THC ในกัญชาทำให้มึนเมา เคลิ้ม โดยแต่ละส่วนของกัญชาจะมีสาร THC ต่างกัน ส่วนที่มี THC เข้มข้นสูงไม่ค่อยดีนักในแง่นำมาใช้ เพราะทำให้เป็นพิษและเมาได้ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กฎหมายอนุญาตให้นำบางส่วนมาใช้ในการปรุงอาหารได้ เฉพาะส่วนที่มี THC น้อย ห้ามนำส่วนที่มี THC มากมาใส่อาหาร อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นอาหารที่มีส่วนผสมของใบกัญชาตามที่กฎหมายอนุญาต ซึ่งจะมีสารเมา THC ต่ำ แต่ในการกินจะต้องระวัง การใส่ใบปริมาณมากอาจทำให้สารเมาสะสมได้เพิ่มขึ้ นอกจากนี้ ประชาชนไม่ควรปลูกกัญชาเพื่อนำมาปรุงอาหารเอง เนื่องจากการปลูกตามกฎหมายจะต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก่อน ไม่ใช่ทุกคนสามารถปลูกเพื่อนำมาทำอาหารได้

รศ.พญ.รัศมน กล่าวว่า การนำใบกัญชามาปรุงอาหาร เมื่อใบกัญชาผ่านความร้อน สาร THC จะออกฤทธิ์มากกว่า เพราะฉะนั้น การปรุงใบกัญชาเป็นอาหารด้วยวิธีการที่ผ่านความร้อนจะต้องระมัดระวัง ยิ่งการนำใบมาผัดผ่านน้ำมันจะยิ่งอันตราย เพราะมีทั้งผ่านความร้อนและน้ำมัน ที่จะทำให้สกัดสารได้มาก อาจมีผลให้ได้สารเมาปริมาณมากขึ้น จึงต้องระมัดระวัง แม้ว่าบางส่วนของกัญชามีร้อยละของปริมาณสารเมาน้อย แต่ถ้าใช้ปริมาณมาก ปริมาณสารเมาก็เพิ่มขึ้นได้ ถ้าจะเอาอะไรเข้าสู่ร่างกาย ก็ต้องใช้จากที่ได้มาตรฐานและระมัดระวังอย่างดี

"กัญชาคือสารชนิดหนึ่ง เมื่อเอาเข้าสู่ร่างกายทำให้มีฤทธิ์ที่ทำให้มึนเมาได้ ถ้าจำเป็นต้องใช้ก็ใช้ให้ปลอดภัย ต้องรู้แหล่งที่มา รู้ให้ชัดว่าภายในมีอะไรเป็นส่วนผสมอย่างไรบ้าง หากสงสัยให้สอบถามตรวจสอบไปยัง อย. ก่อน ซึ่งขณะนี้อาหารผสมใบกัญชาคนอยากลอง เพราะเป็นของใหม่ในประเทศ แต่อะไรที่ดูน่าลองก็พยายามสังเกตว่าได้รับการอนุญาตที่ถูกต้องหรือไม่ เราเป็นผู้บริโภคเรากำลังจะรับบางอย่างเข้าสู่ร่างกาย ก็ต้องตรวจสอบให้ชัดเจนก่อน ซึ่งกลุ่มคนที่มีความเปราะบางหรืออ่อนไหวกับสารต่างๆ ที่เข้าสู่ร่างกายได้ง่ายอยู่แล้ว เป็นไปได้ว่าถ้าใช้ปริมาณใบกัญชาที่เท่าๆ กับคนทั่วไป อาจจะได้รับฤทธิ์เมาที่มากกว่าคนอื่น ก็ต้องดูเป็นรายบุคคลไป โดยกลุ่มที่ควรระมัดระวังคือ หญิงตั้งครรภ์ เด็กเยาวชน และผู้สูงอายุ ไม่ควรลอง เพราะจะมีความเปราะบางในการรับสาร" รศ.พญ.รัศมนกล่าว

ภาคประชาสังคมห่วงเป็นช่องทางเด็กเยาวชนยกระดับพฤติกรรมสู่การเสพ

ด้านนายวัชรพงศ์ พุ่มชื่น ผู้รับผิดชอบโครงการเสริมสร้างพื้นที่ปลอดภัย จากยาเสพติดโดยกลไกเครือข่ายภาคประชาชนร่วมป้องกันปัญหายาเสพติดและสร้างชุมชนสุขภาวะ กล่าวว่าจากการทำงานการขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมและชุมชนเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหายาเสพติด ขณะนี้เรื่องกระแสอาหารที่ประกอบด้วยใบกัญชา ภาคประชาชน ภาคประชาสังคมที่ทำงานเรื่องยาเสพติดได้มีการพูดคุยกันและเห็นว่ามีสถานการณ์ที่น่าห่วงใยซึ่งเป็นมุมมองที่ชาวบ้านสะท้อนมาคือ คนในสังคมมองว่ากัญชาปลดล็อคแล้ว แต่จริงๆ ยังไม่ปลดทั้งหมด แต่อนุญาตให้ใช้เฉพาะบางคนและบางส่วนของกัญชาเท่านั้น

"กัญชามีทั้งคุณและโทษ ตัวกัญชายังถือเป็นสารเสพติดที่เมื่อเสพไปแล้วส่งผลกระทบต่อพัฒนาการสมองของเด็กแน่นอน ส่งผลต่อสุขภาพของผู้เสพบางคนแน่นอนเป็นเรื่องจริง แต่ขณะเดียวกันก็มีข้อดีในเรื่องของสาร CBDในกัญชาที่สามารถทำให้เกิดเรื่องดีๆ มากมาย แต่คนในสังคมส่วนใหญ่ตอนนี้เหมือนเด็กเห่อของเล่นใหม่ พอกระแสกัญชามา คิดว่าเป็นพืชทางออก พืชที่ทำรายได้ และใช้สันทนาการด้วย ประกอบกับนโยบายของรัฐบาล หรือกระทรวงสาธารณสุข พยายามประโคมเรื่องนี้ว่าดี เลยเป็นแฟชั่นที่คนในสังคมคิดว่ามันไม่น่าจะมีพิษมีภัย แม้แต่ผู้ปกครองพบกัญชาในกระเป๋าลูกที่อยู่ชั้นมัธยมศึกษา ก็ไม่เกิดความกังวลอะไร เพราะเข้าใจว่ากัญชาไม่อันตราย แต่ที่น่ากังวลคือ เด็กเยาวชนที่สามารถเข้าถึง จะยกระดับพฤติกรรมไม่ใช่แค่ใบ แต่ไปใช้ช่อดอกที่มีสาร THC สารที่ทำให้เกิดความเมา มึนและมีสารเสพติด จึงต้องสื่อสารความถูกต้องให้กับสังคมว่ากัญชามีข้อดีและข้อเสีย" นายวัชรพงศ์ กล่าว[4]

องค์กรผู้บริโภคชี้ต้องกำกับดูแลร้านอาหารและเครื่องดื่มแจ้งข้อมูลผู้บริโภค ให้มีทั้งคำเตือนและกำหนดอายุผู้ซื้อ มีบทลงโทษถ้าไม่ดำเนินการ

น.ส.มลฤดี โพธิ์อิน นักวิชาการด้านอาหาร มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการด้านอาหาร ยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ ในคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน ได้มีการประชุมในประเด็นนี้ และมีความเห็นว่า อย.และคณะกรรมการอาหารต้องพิจารณาอย่างรอบคอบและระมัดระวัง โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นหลัก เนื่องจากจนถึงขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลความปลอดภัยในการใช้เปลือก ลำต้น กิ่งก้าน และราก และการใช้ส่วนต่างๆ เหล่านี้เป็นอาหารทั้งในและต่างประเทศ มีเพียงข้อมูลการใช้ใบในการประกอบอาหารหรือใช้ในลักษณะเครื่องเทศเพียงเล็กน้อย แต่ยังคงมีความเสี่ยงในการควบคุมปริมาณที่ใช้ จนผู้บริโภคที่มีอาการแพ้หรือกลุ่มเสี่ยง กลุ่มเปราะบางอาจได้รับสารต่างๆในกัญชาในปริมาณที่เป็นอันตรายอย่างไม่รู้ตัว

"สาร THC และ CBD ที่อยู่ในใบละลายได้ดีในอาหารที่มีไขมันเป็นองค์ประกอบและถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดผ่สนระบบทางเดินอาหารได้ดี จึงมีความเสี่ยงต่อความปลอดภัยของผู้บริโภคค่อนข้างสูง อาจเกิดผลข้างเคียงจากการบริโภค โดยเฉพาะ หญิงมีครรค์ หญิงให้นมบุตร ทารก เด็กเล็ก อาจได้รับสารนี้จากการบริโภคทั้งโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ ดังที่เกิดเหตุการณ์ในออสเตรเลียเมื่อเร็วๆ นี้ คุณแม่ลูกสองซื้อบราวนี่กลับไปทานที่บ้าน ลูกสาวสาววัย 5 ขวบที่รับประทานเข้าไปเกิดอาการพร่ามัว หวาดระแวง และกรีดร้องอย่างบ้าคลั่ง ขณะที่คุณแม่มีอาการผ่อนคลายแบบแปลกๆ ก่อนจะเกิดอาการมึนๆ แล้วหลับไป โดยที่ทางร้านใช้เนยกัญชาในการทำขนมที่อ้างว่าไว้รับประทานเอง แต่อาจปะปนไปกับสิ่งที่ขายโดยไม่ตั้งใจ"

"แม้แต่ทาง ภญ.สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการ อย.เอง ก็ให้สัมภาษณ์ยอมรับว่า ใบกัญชามีสารอื่นๆ เช่น สารเทอร์พีน (Terpene) ที่มีผลต่อความไวในการตอบสนองของคนต่างกัน ควรใส่ในปริมาณไม่มาก และต้องหลีกเลี่ยงสำหรับผู้บริโภคบางกลุ่ม เช่น คนที่มีโรคประจำตัว เด็กเล็ก โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคหัวใจ" น.ส.มลฤดี กล่าว

นอจากนี้ น.ส.มลฤดี ยังระบุอีกว่า "คำถามคือในกรณีของร้านอาหารและเครื่องดื่ม การให้ข้อมูลผู้บริโภคจะเป็นในรูปแบบใด มีความชัดเจนเพียงพอให้ผู้บริโภคได้รับทราบถึงผลข้างเคียงและความเสี่ยงหรือไม่ คำเตือนผู้บริโภคจะแสดงตรงไหนอย่างไรให้เห็นชัดเจน การกำหนดอายุผู้บริโภค ความรับผิดชอบของผู้ประกอบการ จะควบคุมอย่างไร เรื่องเหล่านี้ต้องกำกับดูแลและมีบทลงโทษร้านค้าที่ไม่ปฏิบัติตาม ซึ่งคณะกรรมการอาหาร และ อย.ต้องพิจารณาให้ละเอียดถี่ถ้วน ไม่ใช่แค่เพียงสนองตอบนโยบาย โดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยและละทิ้งหน้าที่ในการคุ้มครองผู้บริโภค เพราะเป็นสิทธิผู้บริโภคขั้นพื้นฐานที่จะต้องได้รับความปลอดภัย มีข้อมูลที่เพียงพอ เพื่อใช้ในการตัดสินใจบริโภคหรือไม่บริโภค ไม่ได้มีความจำเป็นต้องบริโภคทุกวัน" นักวิชาการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคย้ำ

ทั้งนี้ขณะที่ยังไม่มีการแก้ไขประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 378 พ.ศ.2559 เรื่องการกำหนดพืชสัตว์หรือส่วนของพืชหรือสัตว์ที่ห้ามใช้ในอาหาร ที่กำหนดให้ทั้งต้นของกัญชาหรือกัญชงห้ามใช้ในอาหาร อย.ยังต้องทำหน้าที่ตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด มิเช่นนั้น อย.จะเข้าข่ายผิด ม.157 ละเว้นในการปฏิบัติหน้าที่

ทางด้าน ภก.วรวิทย์ กิตติวงศ์สุนทร ผู้อำนวยการวิทยาลัยคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพแห่งประเทศไทย เห็นว่าคณะกรรมการอาหารและ อย. ที่กำลังจะพิจารณาเรื่องปลดล็อคกัญชาในอาหารต้องพิจารณาให้ละเอียดถี่ถ้วน โดยคำนึงถึงหลักพิจารณาดังนี้ 1.การให้ใช้มีความจำเป็นและเกิดประโยชน์ต่อส่วนร่วมอย่างไร ทั้งนี้ การให้ใช้เป็นอาหารคือการส่งสัญญาณสนับสนุนให้เกิดการบริโภคจึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ 2.ฝ่ายที่เสนอให้ปลดล็อคการใช้กัญชาในอาหารโดยไม่ต้องควบคุมต้องเสนอหลักฐานในทุกประเด็น โดยเฉพาะความปลอดภัย รวมทั้งข้อจำกัดต่างๆ และนำเสนอแนวทางป้องกันปัญหาที่มีหลักประกันได้ เพราะคนกินอาหารไม่ได้มีจำกัดเหมือนกินยา และกลุ่มคนที่มีความเสี่ยง เช่น คนที่มีโรคประจำตัว เด็กเล็ก ผู้ที่มีโรคหัวใจ  จะหลีกเลี่ยงอันตรายที่จะเกิดขึ้นได้อย่างไร 3.หากพิสูจน์ไม่ได้ว่ามีความปลอดภัยอย่างแน่นอน อย. จำเป็นต้องใช้หลัก Precautionary Principle คือไม่เสี่ยงโดยไม่จำเป็นและยังมีทางเลือกอื่น[5]

 

ข้อมูลอ้างอิง
[1] รัฐบาลเดินหน้าผลักดันกัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญ-สร้างรายได้ให้เกษตรกร (สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 21 ก.พ. 2564)
[2] คณะกรรมการอาหารเห็นชอบประกาศ 2 ฉบับ กัญชา-กัญชงในผลิตภัณฑ์อาหาร (Hfocus, 22 ก.พ. 2564)
[3] กรุงเทพโพลล์เผยผลสำรวจพบ 50.8% อยากลองกินอาหารและเครื่องดื่มเมนูกัญชา (ประชาไท, 20 มี.ค. 2564)
[4] แพทย์เตือน “เมนูอาหารกัญชา” กินต้องระวัง! (Hfocus, 21 ก.พ. 2564)
[5] องค์กรผู้บริโภคเตือนสติ อย. ต้องพิจารณาปลดล็อคกัญชาในอาหารอย่างรอบคอบ (ประชาไท, 21 ก.พ. 2564)

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: