แอมเนสตี้แถลงกรณีสลายการชุมนุมหมู่บ้านทะลุฟ้าข้างทำเนียบรัฐบาล แนะทางการต้องยุติการปราบปรามผู้เห็นต่างอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย | ที่มาภาพ: สำนักข่าวประชาไท
29 มี.ค. 2564 สืบเนื่องจากการสลายการชุมนุมโดยสงบหน้าทำเนียบรัฐบาลเมื่อวานนี้ (28 มี.ค.) และการที่ตำรวจจับกุมผู้ชุมนุมโดยสงบอย่างน้อย 99 คนโดยพลการ ซึ่งในนั้นมีเด็กหกคน พระสองรูป และผู้สูงวัย เนื่องจากถูกกล่าวหาว่าละเมิดข้อห้ามในการชุมนุมระหว่างประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน
นางปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยเผยว่า การจับกลุ่มและดำเนินคดีต่อผู้ชุมนุมโดยสงบจำนวนมากเมื่อวานนี้ถือเป็นการปราบปรามอย่างเป็นระบบอีกครั้งหนึ่งต่อสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ การใช้กฎหมายอย่างมิชอบเช่นนี้ตอกย้ำข้อกังวลว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินเป็นเพียงข้ออ้างแบบเหมารวม และไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่ถูกใช้เพื่อย่ำยีความเห็นที่แตกต่าง โดยอ้างการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ดังนั้นจึงต้องมีการยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินโดยทันที
“การจับกุม การควบคุมตัวและการดำเนินคดีหลายครั้งโดยใช้อำนาจตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน มักพุ่งเป้าไปที่นักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักกิจกรรม และผู้ชุมนุม ทั้งนี้เพื่อปิดปากผู้เห็นต่างจากรัฐ การจับกุมโดยพลการและมิชอบด้วยกฎหมายตอกย้ำว่า ตำรวจไม่ใส่ใจต่อสิทธิของบุคคลที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม และเป็นไปตามกระบวนการอันควรของกฎหมาย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ชุมนุม และให้ยกเลิกข้อหาทั้งหมดโดยทันที
“รัฐบาลไทยต้องเคารพสิทธิเด็กที่จะสื่อข้อความและแสดงความเห็นของตน การควบคุมตัวเด็กต้องนำมาใช้เป็นมาตรการขั้นสุดท้าย โดยต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กของเด็กเป็นหลัก”
ข้อมูลพื้นฐาน
เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2564 ตำรวจจับกุมผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยสองกลุ่ม รวมกันอย่างน้อย 99 คน พวกเขาได้ชุมนุมโดยสงบเพื่อเรียกร้องการปฏิรูปอย่างเป็นประชาธิปไตย ในบรรดาผู้ชุมนุมที่ถูกจับเป็นเด็กอย่างน้อยหกคน สี่คนมีอายุเพียง 15 ปี มีพระสองรูปและผู้สูงวัยหนึ่งคน
ตอนหกโมงเช้า กำลังตำรวจปราบจลาจลประมาณ 300 นาย ได้บุกเข้ามายังที่ชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาล พวกเขาชุมนุมต่อเนื่องมาสองสัปดาห์เพื่อเรียกร้องการปฏิรูปอย่างเป็นประชาธิปไตย ตำรวจอ้างว่าพวกเขาละเมิดข้อห้ามการชุมนุมสาธารณะระหว่างประกาศพระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉิน และให้เวลาพวกเขาสามนาทีเพื่อสลายตัว จากนั้นได้จับนักกิจกรรมและผู้ชุมนุม 67 คน ระหว่างการจับกุม เจ้าหน้าที่ยังได้ยึดโทรศัพท์และขู่จะใช้มาตรการหนักขึ้น หากผู้ชุมนุมยังคงถ่ายทอดสดเหตุการณ์ขณะจับกุมผ่านโซเชียลมีเดียต่อไป มีการระบุสถานที่ควบคุมตัวของพวกเขาแตกต่างกัน พระสองรูปที่ถูกจับ ยังถูกนำตัวไปสึกด้วย
ผู้ชุมนุมทั้งหมดถูกนำตัวไปที่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 จังหวัดปทุมธานี ใกล้กับกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นสถานที่ควบคุมตัวอย่างไม่เป็นทางการ ถือว่าขัดกับมาตรฐานการควบคุมการชุมนุมระหว่างประเทศ มีการจำกัดสิทธิของผู้ชุมนุมในการเข้าถึงทนายความที่ตนเลือก เนื่องจากข้อจำกัดเรื่องสถานที่ควบคุมตัวและระยะทางที่ห่างไกล เจ้าหน้าที่ไม่ยอมให้ญาติมาเยี่ยมระหว่างการควบคุมตัว
เพื่อตอบโต้กับสถานการณ์นี้ กลุ่มผู้ชุมนุมหลายร้อยคนได้รวมตัวเป็น ‘แฟล็ชม็อบ’ ด้านหน้าทำเนียบรัฐบาล เรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ที่ถูกจับกุมในตอนเช้าทันที ประมาณหกโมงครึ่งตอนเย็น ตำรวจปราบจลาจลพยายามสลายการชุมนุม และจับผู้ชุมนุมไปอีกอย่างน้อย 32 คน รวมทั้งเยาวชนและศิลปิน แม้จะถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดในสถานที่เดียวกัน พวกเขากลัยถูกนำตัวไปที่สโมสรตำรวจในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นสถานที่ควบคุมตัวอย่างไม่เป็นทางการ ในระหว่างเขียนรายงานนี้ ตำรวจกำลังจะนำตัว 60 คน รวมทั้ง 32 คนที่ถูกจับเป็นกลุ่มที่สอง ไปยังศาลแขวงดุสิตเพื่อทำเรื่องฝากขัง เยาวชนหกคนได้รับการปล่อยตัวเมื่อวานนี้ หลังศาลเยาวชนและครอบครัวให้ประกันตัว เด็กผู้ชายอายุ 19 ปีอีกคนหนึ่งก็ได้รับการปล่อยตัวระหว่างการสอบสวนที่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดน ภาค 1
นับแต่ปี 2563 บุคคลกว่า 500 คนรวมทั้งเด็กประมาณ 29 คน ถูกจับ และ/หรือดำเนินคดีจากการใช้สิทธิในการชุมนุมโดยสงบ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลบันทึกข้อมูลตำรวจใช้กำลังสลายการชุมนุมอย่างสงบอย่างน้อย 12 ครั้งในปี 2564
ตำรวจต้องเคารพสิทธิในการชุมนุมโดยสงบของผู้ชุมนุม เพื่อแสดงความเห็นของตน และอำนวยความสะดวกเพื่อช่วยให้ผู้ชุมนุมสื่อข้อความของตนได้ โปรดดู เอกสาร ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเกี่ยวกับการปฏิบัติที่ดีของตำรวจในการบริหารจัดการการชุมนุมสาธารณะ
ตามมาตรฐานการควบคุมการชุมนุมระหว่างประเทศ บุคคลที่ถูกจับต้องได้รับแจ้งข้อกล่าวหาและสถานที่ควบคุมตัวโดยพลัน พวกเขายังมีสิทธิได้รับการพิจารณาอย่างเป็นธรรม รวมทั้งการเข้าถึงทนายความที่ตนเลือก และการติดต่อกับครอบครัวหรือบุคคลที่ไว้วางใจ ต้องมีการนำตัวพวกเขาไปยังสถานที่ควบคุมตัวอย่างเป็นทางการ และต้องไม่ใช้วิธีการทรมานหรือการปฏิบัติที่โหดร้ายกับพวกเขา ที่สำคัญสุด ต้องสันนิษฐานว่าพวกเขาเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าจะมีการพิสูจน์ว่ามีความผิด
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ