แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ยืนยันว่ารัฐบาลต้องปล่อยตัวนักกิจกรรมเพื่อให้พวกเขามีโอกาสต่อสู้คดีอย่างเป็นธรรม พร้อมทั้งยุติการดำเนินคดีกับนักกิจกรรมเพียงเพราะการชุมนุมเเละการเเสดงออกทางการเมืองในช่วงปีที่ผ่าน
29 เม.ย. 2564 สืบเนื่องจากรายงานการเข้าเยี่ยมนักกิจกรรม พริษฐ์ ชีวารักษ์ (เพนกวิน) เเละปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล (รุ้ง) ปรากฏว่าพริษฐ์ ผู้อดอาหารเพื่อเรียกร้องสิทธิในการปล่อยชั่วคราวหรือสิทธิในการประกันตัวมาตั้งเเต่วันที่ 15 มี.ค. 2564 เริ่มมีอาการอ่อนเเรง ผิวหนังซีด อีกทั้งยังขับถ่ายออกมาเป็นก้อนเนื้อสีดำ
นางปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นเเนล ประเทศไทย เผยว่าแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นเเนล ประเทศไทย มีความกังวลอย่างยิ่งต่อความเสี่ยงเเละอันตรายร้ายเเรงที่อาจถึงแก่ชีวิตของนักกิจกรรมทั้งสอง โดยเฉพาะพริษฐ์ ผู้อดอาหารเพื่อเรียกร้องสิทธิในการปล่อยชั่วคราวนานถึง 45 วัน
“การไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวนักกิจกรรมโดยไม่มีเหตุอันชอบธรรม ตอกย้ำว่าทางการไทยไม่เคารพสิทธิในการได้รับพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม อีกทั้งยังขัดต่อหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ การปล่อยชั่วคราวเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ถูกกล่าวหาในคดีอาญาทุกคนตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายไทย”
“แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ยืนยันว่ารัฐบาลต้องปล่อยตัวนักกิจกรรมเพื่อให้พวกเขามีโอกาสต่อสู้คดีอย่างเป็นธรรม พร้อมทั้งยุติการดำเนินคดีกับนักกิจกรรมเพียงเพราะการชุมนุมเเละการเเสดงออกทางการเมืองในช่วงปีที่ผ่าน”
ข้อมูลพื้นฐาน
จากการดำเนินคดีต่อกลุ่มแกนนำผู้ชุมนุมเเละผู้เข้าร่วมชุมนุมของรัฐนับตั้งเเต่ปี 2563 ตามรายงานของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในเดือน มี.ค. 2564 มีผู้ถูกดำเนินคดีอันเนื่องมาจากการเข้าร่วมชุมนุมเเละแสดงออกทางการเมืองอย่างน้อย 581 คน เป็นจำนวนทั้งสิ้น 268 คดี
อย่างน้อย 88 คนถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญาใน 81 คดี พริษฐ์ ชีวารักษ์ และปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล คือหนึ่งในแกนนำผู้ชุมนุมที่ถูกเเจ้งข้อหาตามมาตราดังกล่าวถึง 20 และ 9 คดี ตามลำดับ มาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญามีโทษสูงสุด 15 ปี พริษฐ์และปนัสยาจึงอาจถูกลงโทษจำคุกตลอดชีวิต
ศาลอาญา รัชดาภิเษก มีคำสั่งยกคำร้องขอปล่อยชั่วคราวพริษฐ์เเละปนัสยา 8 และ 4 ครั้ง ตามลำดับ นับเเต่ทั้งสองถูกสั่งฟ้องและไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราวเมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2564 สำหรับพริษฐ์ และ 8 มี.ค. 2564 สำหรับปนัสยา ทั้งสองถูกคุมขังในเรือนจำมาเเล้วทั้งสิ้น 79 วันเเละ 52 วัน โดยศาลอาญา รัชดาภิเษก ยังมิได้เริ่มกระบวนการสืบพยานเเละนับเป็นการคุมขังบุคคลที่ยาวนานที่สุดนับเเต่มีการชุมนุมประท้วงใหญ่ในเดือนกรกฏาคม เเละรัฐเริ่มใช้มาตรา 112 กลับมาดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมในเดือนพฤศจิกายนของปีเดียวกัน
พริษฐ์ได้เริ่มอดอาหารตั้งแต่วันที่ 15 มี.ค. 2564 และปนัสยา ตั้งแต่วันที่ 30 มี.ค. 2564 โดยการอดอาหารเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมในสิทธิในการปล่อยชั่วคราว ซึ่งปัจจุบัน มีผู้ถูกกล่าวหาด้วยมาตรา 112 อย่างน้อย 12 คนไม่ได้รับสิทธิดังกล่าว และถูกคุมขังทั้งในชั้นสอบสวน ระหว่างรอสืบพยาน และระหว่างอุทธรณ์คดี
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ