สช.จับมือ กทม. ผนึกภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพและสังคม ร่วมกันจัดตั้ง “ศูนย์พักคอย” หรือ Community isolation ในชุมชนคลองเตย โดยใช้พื้นที่วัดสะพาน เขตพระโขนงเป็นฐานพักพิงใกล้บ้านใกล้ใจ หวังตัดวงจรระบาด COVID-19 ระลอก 3 ในชุมชนแออัด แยกตัวผู้ติดเชื้อออกจากชุมชน ลดการแพร่ระบาดและดูแลเบื้องต้นระหว่างรอส่งต่อไปรักษาต่อที่ รพ. คาดเริ่มเปิดแห่งแรก 30 เม.ย. 2564 นี้
29 เม.ย. 2564 นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้ร่วมกับกรุงเทพมหานคร และภาคีเครือข่าย อาทิ วัดสะพาน เขตพระโขนง, สำนักงานวิจัยสังคมและสุขภาพ สำนักวิชาการกระทรวงสาธารณสุข มูลนิธิดวงประทีป ประธานชุมชน สำนักงานเขตคลองเตย ศูนย์บริการสาธารณสุขที่ 10 และ 41 ทีมงานโครงการคลองเตยดีจัง สำนักข่าวไทยพีบีเอส สมาคมอสังหาริมทรัพย์แห่งประเทศไทย และกรุงเทพมหานคร นำร่อง “คลองเตยโมเดล” ต้นแบบการจัดระบบควบคุมและป้องกันโรคโดยชุมชน ด้วยการใช้พื้นที่ “วัดสะพาน” เป็นศูนย์พักคอยใกล้ชุมชนคลองเตย บริหารจัดการและดูแลโดยคณะกรรมการของชุมชนภายใต้การสนับสนุนของหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อแยกตัวผู้ติดเชื้อ ให้การดูแลเบื้องต้น และรอการจัดหาเตียงเข้ารักษาใน รพ. สนามหรือ รพ.หลักในพื้นที่ มีการจัดระบบสนับสนุนทรัพยากรต่างๆ เข้าไป ซึ่งจะช่วยแยกตัวผู้ติดเชื้อออกจากบ้านพักอาศัยและชุมชน ลดการแพร่ระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยคาดจะเริ่มเปิดจุดพักคอยในวันที่ 30 เม.ย.นี้ เป็นแห่งแรก
นพ.ประทีป กล่าวว่าชุมชนคลองเตยมีประชากรหนาแน่น โดยข้อมูล ณ วันที่ 24 เม.ย. 2564 ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่มีการประชุมคณะทำงานเพื่อจัดทำ “คลองเตยโมเดล” พบว่ามีผู้ติดเชื้อโควิด-19 แล้ว 11 ราย โดยผู้ติดเชื้อต้องกลับมากักตัวที่บ้านเพื่อรอการส่งตัวไปรักษาตามมาตรฐาน ซึ่งแน่นอนว่าการกักตัวที่บ้านของชาวคลองเตย ที่ค่อนข้างแออัด ไม่สะดวกสบาย มีข้อจำกัด และเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อต่อให้คนรอบข้าง ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องแยกตัวผู้ติดเชื้อเหล่านั้นออกมาจากชุมชน เพื่อจัดระบบดูแลอย่างเหมาะสม โดย ภาคีเครือข่าย และชุมชนคลองเตย ได้รับความเมตตาจากพระพิศาลธรรมานุสิฐ เจ้าอาวาสวัดสะพาน ที่เสนอให้ใช้พื้นที่วัดสะพานในการจัดตั้งศูนย์พักคอยฯ ขึ้นมา
สำหรับเป้าหมายสำคัญของการจัดตั้งศูนย์พักคอยในชุมชนคลองเตย คือการสร้างระบบดูแลกันเองของประชาชนในระดับชุมชนที่เชื่อมต่อกับระบบใหญ่ ลดความตื่นตระหนกของประชาชน ลดภาระของระบบบริการหลักในการตระเตรียมที่ดูแลหรือศูนย์พักพิง ที่สำคัญคือเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน และลดอัตราการแพร่ระบาด โดยมีแผนจะขยายไปยังพื้นที่ชุมชนแออัดอื่นๆ ใน กทม. และปริมณฑล รวมทั้งเตรียมการขยายไปยังจังหวัดต่างๆ ที่มีการระบาดและมีผู้ติดเชื้อโควิดจำนวนมาก
“นอกจากการตั้งศูนย์พักคอยแล้ว ในชุมชนยังมีการตั้งคณะทำงานต่อต้านเชื้อโควิดในชุมชนคลองเตย 1 คณะ มีทีมย่อย 2 ทีม คือ 1.ทีมศูนย์พักคอย โดยเจ้าอาวาสวัดสะพานเป็นประธาน และ 2.ทีมประสานงานข้อมูลข่าวสาร มีสายด่วนเป็นช่องทางให้ชุมชนได้สื่อสารกัน โดยศูนย์ประสานจะเป็นตัวแทนประสานต่อกับระบบต่างๆ ของรัฐ ซึ่งจะทำให้ลดความซับซ้อนและสื่อสารได้อย่างเป็นเอกภาพมากขึ้น” นพ.ประทีป กล่าว
นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท ผู้อำนวยการสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวใน 3 ประเด็น
1. การจัดตั้งศูนย์พักคอยใกล้บ้านใกล้ใจในชุมชนแออัด เพื่อดูแลกันเองเบื้องต้นในระหว่างรอส่งตัวเข้าสู่การรักษาของ รพ. ใช้แนวคิดเรื่อง Home isolation ซึ่งอาจมีข้อจำอัดในชุมชนแออัด ยกระดับเป็น Community isolation มีอาสาสมัครจากเจ้าหน้าที่และประชาชนช่วยกันดูแล และชุมชนตั้งคณะทำงานบริหารจัดการภายใต้การสนับสนุนของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน
2. ระยะเวลาการพักคอย ตั้งเป้าไว้ไม่เกิน 24 ชม. ซึ่งจะมีการทดสอบดูจากสถานการณ์ว่าภายใน 24 ชม. สามารถรับส่งผู้ป่วยเข้าสู่สถานพยาบาลได้จริงมั้ย เพื่อปรับปรุงและพัฒนา ขยายต่อไปยังชุมชนอื่นๆ เนื่องจากการพักคอยแม้เพียง 1 ชม. ในบ้านหรือชุมชนก็มีความหมายต่อการแพร่เชื้อมาก
3. การจัดตั้งศูนย์พักคอยเป็นปัจจัยที่เสริมให้ ชุมชนเข้มแข็ง มีกระบวนการสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคม ชุมชนที่จะจัดตั้งศูนย์พักคอยได้นั้นต้องมีองค์ประกอบ ด้านคนที่มีองค์การทำงานอย่างเข้มแข็ง สถานที่มีความพร้อม และการออกแบบศูนย์ให้เหมาะสมกับพื้นที่ การประสานงานระหว่างพื้นที่และส่วนกลาง รวมทั้งการจัดระบบอาหารเข้ามาสนับสนุนในการดูแลคน
ขณะนี้ได้มีการประสานกรมควบคุมโรคเพื่อประเมินความพร้อมของศูนย์พักคอย ซึ่งจะใช้เป็นสถานที่ป้องกันแพร่ระบาดของโรค รวมถึงจัดหารถตรวจคัดกรองโรคเชิงรุก และยังมีการตั้งคณะทำงานฮอตไลน์ภายใต้การสนับสนุนของ call center ของ สปสช. และเอกชน ทำหน้าที่ตอบคำถามชาวบ้านและจัดทำระบบข้อมูลในพื้นที่
“การแก้ไขปัญหาครั้งนี้ต้องให้ชุมชนลุกขึ้นมาจัดการตนเอง เชื่อว่าโมเดลพื้นที่คลองเตยจะสรุปเป็นบทเรียนขยายไปยังพื้นที่อื่นได้” นพ.วิรุฬ กล่าว
นพ.ชวินทร์ ศิรินาค รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่าการจัดระบบควบคุมและป้องกันโรคโดยชุมชนครั้งนี้ จำเป็นต้องเชื่อมต่อกับระบบบริการปฐมภูมิที่มีอยู่ในพื้นที่ นั่นก็คือ ศูนย์บริการสาธารณสุข ใน กทม. ซึ่งมีกําลังของอาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) ที่จะทําหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้กับชุมชนได้ โดยเฉพาะเรื่อง การให้ความรู้ และการดูแลเบื้องต้นในชุมชน
น.ส.ศิริพร พรมวงศ์ หรือ “ครูแอ๋ม” หัวหน้าโครงการคลองเตยดีจัง กล่าวว่า ได้ทำงานร่วมกับชุมชนคลองเตยมานานและมีประสบการณ์ทำงานเชิงรุกป้องกันเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในชุมชนแออัดช่วงการระบาดรอบแรก จึงมั่นใจว่าคลองเตยมีความพร้อม และมีความเข้มแข็งในระดับที่สามารถลุกขึ้นมาจัดการปัญหาด้วยตนเองได้ ภายใต้การสนับสนุนของหน่วยงานรัฐ
“เรามีการทำงานร่วมกับผู้นำชุมชน และมูลนิธิดวงประทีป ซึ่งเป็นแกนกลางการประสานความช่วยเหลือครอบคลุมอีกหลายด้าน เช่น การระดมของบริจาคอาหาร อุปกรณ์ป้องกันตัวเอง และ โครงการคลองเตยดีจังก็ยังมีระบบที่ออกแบบไว้สำหรับแก้ไขสถานการณ์และได้ดำเนินการมาก่อนหน้านี้แล้ว เช่น ระบบคูปองอาหาร การจ้างงาน” น.ส.ศิริพร กล่าว
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ