บริษัทขนส่งขานรับใช้ผลิตภัณฑ์กันกระแทกจากผักตบชวา

กองบรรณาธิการ TCIJ 29 มิ.ย. 2564 | อ่านแล้ว 4661 ครั้ง

บริษัทขนส่งขานรับใช้ผลิตภัณฑ์กันกระแทกจากผักตบชวา

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หนุนใช้ผลิตภัณฑ์กันกระแทกจากผักตบชวา เผยเบื้องต้น 'ไปรษณีย์-เคอร์รี่' ขานรับ ทดแทนการใช้เม็ดโฟม

สำนักข่าวอินโฟเควสท์ รายงานช่วงปลายเดือน มิ.ย. 2564 ว่านายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยความคืบหน้าโครงการสนับสนุนการใช้วัสดุกันกระแทกจากธรรมชาติ ทดแทนเม็ดโฟม-โฟมตัวหนอน ในธุรกิจขนส่งพัสดุ-เดลิเวรี่ว่า หลังจากเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ตนได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมและสนับสนุนสินค้าจากวิสาหกิจชุมชน อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี ที่มีการแปรรูปผักตบชวาเป็นสินค้าเฟอร์นิเจอร์ และพบว่านอกจากชาวบ้านในพื้นที่จะสามารถผลิตสินค้าเป็นงานหัตถกรรม ที่ต้องอาศัยทักษะฝืมือขั้นสูงแล้วนั้น ยังมีการแปรรูปผักตบชวา เป็นวัสดุกันกระแทก ที่มีความยืดหยุ่น แข็งแรง รับแรงกระแทกได้ดี มีขั้นตอนการผลิตที่ง่าย ไม่ซับซ้อน และสามารถ Scaling เพิ่มจำนวนในปริมาณมาก เหมาะแก่การใช้ขนส่งสินค้าที่แตกหักง่าย จึงเล็งเห็นโอกาส ในการนำผักตบชวากันกระแทก เข้าสู่ supply chain ธุรกิจขนส่งพัสดุ-เดลิเวรี่ แทนเม็ดโฟมกันกระแทก ที่เป็นปัญหาเรื้อรังทางสิ่งแวดล้อมมาหลายสิบปี เนื่องจากเป็นขยะประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง ที่ไม่มีวันย่อยสลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ที่มูลค่าธุรกิจขนส่งพัสดุในประเทศไทยได้เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด เมื่อพิจารณาข้อมูลในรายงานของ Economic Intelligence Center ดังนี้

ปี 2559 : 18,000 ล้านบาท
ปี 2560 : 25,000 ล้านบาท
ปี 2561 : 35,000 ล้านบาท
ปี 2562 : 49,000 ล้านบาท
ปี 2563 : 66,000 ล้านบาท

สิ่งที่เกิดขึ้นตามมา นอกเหนือจากมูลค่าการเติบโตทางเศรษฐกิจแล้ว คือปริมาณขยะแพคเกจจิ้ง และโฟมกันกระแทก ในปริมาณมหาศาลหลายล้านตัน ที่ตกเป็นภาระทางงบประมาณแผ่นดิน

ปัจจุบัน มีผู้ประกอบการขนาดเล็กอยู่ 2-3 ราย ที่ผลิตผักตบชวากันกระแทก โดยมีการรับซื้อผักตบชวาจากชาวบ้านท้องถิ่น นำมาผ่านขั้นตอนการผลิตและติดแบรนด์จำหน่ายอยู่ในท้องตลาด สามารถสร้างกระแส การขนส่งสินค้าด้วยวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในกลุ่มผู้บริโภคสาย Eco-Friendly กลุ่มเล็กๆ แต่ยังคงขาดการสนับสนุนที่เป็นรูปธรรมจากภาครัฐ ทำให้ยังไม่สามารถเข้ามาแก้ไขปัญหาขยะจากธุรกิจขนส่งพัสดุในภาพรวมได้

รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจึงได้มอบหมายให้ ดร.ยุทธพล อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับ กรมควบคุมมลพิษ พร้อมด้วยทีมงานพรรคชาติไทยพัฒนา จัดการประชุมหารือเมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 2564 ผ่านระบบ VDO Conference เพื่อพูดคุยถึงโอกาสทางธุรกิจ และแนวทางผลักดันการใช้ผักตบชวากันกระแทก โดยมีตัวแทนสมาคมธุรกิจค้าปลีก ผู้ประกอบการขนส่งพัสดุชั้นนำของประเทศไทย เช่น ไปรษณีย์ไทย KERRY ฯลฯ และผู้ประกอบการธุรกิจผักตบชวากันกระแทก เข้าร่วมพูดคุย

นายวราวุธกล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ เป็นการจับกลุ่ม "ผู้ซื้อ" (ธุรกิจเดลิเวรี่) มาพบ "ผู้ขาย" (ผักตบชวากันกระแทก) โดยตรง โดยคาดหวังให้เกิดดีลทางธุรกิจที่ประสบความสำเร็จจริง สร้างดีมานด์ ความต้องการใช้ผักตบชวา ในระดับ Mass Consuming ในจำนวนมหาศาลมากพอ ที่จะสร้างมูลค่าให้ผักตบ สร้างอาชีพ กระจายรายได้ให้ชาวบ้านในพื้นที่ลุ่มน้ำทั่วประเทศ หากทำได้จริงจะเป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นก 3 ตัว คือ 1. ลดการสร้างปริมาณขยะโฟมกันกระแทก 2. สร้างแรงจูงใจให้ประชาชนในการกำจัดผักตบชวาที่เป็นปัญหาในแหล่งน้ำธรรมชาติ 3.สร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ สร้างอาชีพ กระจายรายได้ ให้คนตัวเล็กในท้องถิ่น

นายวราวุธ เปิดเผยว่า ผลการประชุมหารือ เป็นไปด้วยดี ได้ข้อสรุปที่น่าพึงพอใจ โดยเบื้องต้น บริษัทไปรษณีย์ไทยและบริษัท KERRY ได้แสดงความยินดีอย่างยิ่งที่จะสนับสนุนการใช้ผลิตภัณฑ์ผักตบชวากันกระแทก ทดแทนการใช้เม็ดโฟม โดยหลังจากนี้ จะมีการแบ่งปันข้อมูลและรายละเอียดต่างๆ ทั้งในเรื่องคุณภาพและปริมาณความต้องการใช้งาน เพื่อเริ่มเปลี่ยนผ่านการใช้วัสดุกันกระแทกในธุรกิจขนส่ง จากโฟมไปเป็นผักตบชวา

นยวราวุธ กล่าวทิ้งท้ายว่า โครงการนี้ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวเล็กๆในแผนการใหญ่ ที่ตนตั้งใจจะทำให้ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมในประเทศไทย เปลี่ยนผ่านสู่การเป็นเศรษฐกิจสีเขียว ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมให้ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมของไทย พร้อมรับมาตรการทางสิ่งแวดล้อม อันเกี่ยวกับ Carbon Neutrality / Carbon Tax / Carbon Credit ซึ่งจะถูกนำมาใช้เป็นมาตรการกีดกันทางการค้าบนเวทีโลกในอนาคตอันใกล้นี้ ซึ่งหากประเทศไทยไม่รีบปรับตัว อาจสูญเสียโอกาสทางการค้าระหว่างประเทศเป็นมูลค่ามหาศาล

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: