ผลการศึกษา 67 ประเทศ ชี้ ‘การเมือง’ มีอิทธิพลต่อการปฏิบัติตามมาตรการป้องกัน COVID-19 ของประชาชน

กองบรรณาธิการ TCIJ 29 ก.ย. 2564 | อ่านแล้ว 1897 ครั้ง

ผลการศึกษา 67 ประเทศ ชี้ ‘การเมือง’ มีอิทธิพลต่อการปฏิบัติตามมาตรการป้องกัน COVID-19 ของประชาชน

การศึกษาชิ้นล่าสุดที่เกิดจากความร่วมมือของนักจิตวิทยาทั่วโลกถึง 67 ประเทศ ชี้ ‘การเมือง’ มีอิทธิพลต่อการปฏิบัติตามมาตรการป้องกัน COVID-19 ของประชาชน | ที่มาภาพประกอบ: michael_swan (CC BY-ND 2.0)

VOA รายงานเมื่อช่วงปลายเดือน ก.ย. 2021 ว่าการศึกษาชิ้นล่าสุดที่เกิดจากความร่วมมือของนักจิตวิทยาทั่วโลกถึง 67 ประเทศและได้รับการตีพิมพ์ลงบนเว็บไซต์ทางการศึกษาชื่อดังอย่าง PsyArXiv ระบุว่า ผู้คนที่มีความรู้สึกรักชาติของตนเองในระดับสูงมักจะปฏิบัติตามมาตรการควบคุมการระบาดของโคโรนาไวรัส เช่น การเว้นระยะห่าง และการใส่หน้ากากอนามัย

หัวหน้าของทีมนักวิจัยและอาจารย์จากมหาวิทยาลัย NYU ของสหรัฐฯ เจย์ แวน บาเวล บอกกับสำนักข่าววีโอเอว่า “ในทุกๆ ประเทศทั่วโลกที่ทำการสำรวจ คนที่แสดงความภูมิใจและรักชาติ ส่วนใหญ่จะยอมเสียสละความสะดวกสบายส่วนตัว เพื่อประโยชน์ทางด้านสาธารณสุขของคนหมู่มาก”

วิจัยชิ้นดังกล่าวได้ระบุต่อว่า ในกรณีของสหรัฐฯ ปัจจัยสำคัญเรื่องความร่วมมือที่จะปฏิบัติตามมาตรการที่เคร่งครัดในการสกัดกั้นโควิดนั้น ขึ้นอยู่กับการสนับสนุนต่อพรรคการเมืองหรือแนวคิดทางการเมืองของประชาชนชาวอเมริกันด้วย

ทีมวิจัย ยกตัวอย่างการศึกษาข้อมูลการความเคลื่อนไหวจากโทรศัพท์มือถือกว่า 15 ล้านเครื่องในสหรัฐฯ พบว่า ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เขตปกครอง หรือ county ที่ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งส่วนใหญ่ลงคะแนนเสียงให้ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ในศึกชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อปี 2016 เลือกที่จะปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่างของรัฐบาลเพียงแค่ 14 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงเวลาหนึ่งปีแรกที่เกิดการระบาดของโควิด-19 ในอเมริกา

รัฐบาลของอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ที่บริหารประเทศในช่วงเดือนมกราคม 2017-2021 เป็นผู้ดูแลเรื่องการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ในช่วงหนึ่งปีแรกที่โควิดระบาดในอเมริกา ในช่วงนั้นรัฐบาลอดีตปธน.ทรัมป์ มีมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม (social distancing) หรือ เว้นระยะไม่เข้าใกล้ผู้อื่นในระยะอย่างน้อย 2 เมตร เพื่อลดการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส เป็นหนึ่งในข้อปฏิบัตินอกเหนือจากการสวมหน้ากากและล้างมือบ่อยๆ ที่ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสาธารณสุขแนะนำให้ประชาชนทำ

แต่ในวิจัยข้างต้นอธิบายว่า การไม่ยอมเว้นระยะห่างของประชากรกลุ่มดังกล่าวในช่วงต้นของการระบาดของโคโรนาไวรัสนั้น เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้การระบาดทวีความรุนแรงและจำนวนผู้เสียชีวิตพุ่งสูง ในเขตพื้นที่ที่โหวตให้อดีตประธานาธิบดีทรัมป์

นักจิตวิทยาในวิจัยนี้ เสริมว่า ปัจจัยด้านแนวคิดและการสนับสนุนทางการเมือง สะท้อนถึงการปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมการระบาดของโควิดในแต่ละพื้นที่ได้ชัดเจนกว่าปัจจัยอื่นๆ แต่ไม่ได้เป็นสิ่งเดียวที่มีผลกระทบต่อความรุนแรงของการระบาด เพราะปรากฎการณ์ดังกล่าวอาจมีผลมาจาก ผู้นำในระยะเวลานั้น พฤติกรรมของคนบางส่วนในสังคม และการรับสารจากสื่อของประชาชนด้วย

สำหรับปัจจัยอื่นๆที่นำมาใช้ในศึกษาในเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้แก่ รายได้ของประชาชน ความหนาแน่นของประชากร เพศ ศาสนา อายุ และมาตรการป้องกันโคโรนาไวรัสในแต่ละรัฐหรือมลรัฐ

โดยนักวิจัยกลุ่มหนึ่งได้ทำการศึกษาย่อย (sub-study) ลงลึกจากงานวิจัยชิ้นหลักข้างต้น และพบว่าประชากรเพศหญิง ผู้ที่สนับสนุนแนวคิดเสรีนิยม และผู้ที่มีอายุมาก เลือกจะสวมใส่หน้ากากอนามัยมากกว่าคนในกลุ่มอื่นๆ

ส่วนการวิจัยย่อยอีกชิ้นที่ศึกษาเรื่องการใช้ความกลัวหรือการบีบบังคับประชาชนให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการระบาดของโควิด พบว่า กลยุทธ์นี้ประสบผลสำเร็จต่อประชากรแค่เพียงบางส่วนเท่านั้น เพราะว่าความกลัวจะทำให้คนที่รู้สึกว่าจะสามารถรับมือได้ หันมาเปลื่ยนแปลงพฤติกรรมของตนเองเพื่อลดความเสี่ยงต่างๆ ที่จะติดเชื้อ แต่ในกลุ่มคนที่รู้สึกว่าไร้หนทางที่จะเอาชนะ กลับเลือกที่จะยอมจำนนหรือไม่ยอมปรับพฤติกรรมเพื่อรับมือกับโรคระบาดนั่นเอง

อาจารย์จากมหาวิทยาลัย NYU เจย์ แวน บาเวล ทิ้งท้ายไว้ว่า การศึกษาครั้งนี้ ชี้ให้เห็นถึงปัจจัยที่กระตุ้นพฤติกรรมของผู้คนท่ามกลางวิกฤตการณ์ด้านสาธารณสุขครั้งนี้ ซึ่งความรักชาติของประชาชน มีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้ประชาชนทำสิ่งที่ถูกต้องในภาวะวิกฤตระดับชาติหรือระดับโลกนี้ได้ ดูได้จากกรณีของสหรัฐฯ หรือในนิวซีแลนด์ ที่นายกรัฐมนตรี จาร์ซินดา อาร์เดิร์น ได้กระตุ้นให้ประชาชนในประเทศปฏิบัติตามมาตรการการควบคุมการระบาดของโควิดเพื่อประโยชน์ส่วนรวม

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: