เผย 1 เดือนหลังสั่งบล็อก SMS ยังมีผู้ร้องเฉลี่ย 100 ราย/วัน เหตุ กสทช. ไม่บังคับใช้กฎหมาย

กองบรรณาธิการ TCIJ 29 ต.ค. 2564 | อ่านแล้ว 1686 ครั้ง

เผย 1 เดือนหลังสั่งบล็อก SMS ยังมีผู้ร้องเฉลี่ย 100 ราย/วัน เหตุ กสทช. ไม่บังคับใช้กฎหมาย

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคปัญหา SMS ก่อกวนไม่คืบหน้าหลังสั่งบล็อก SMS แล้วถึง 30 วัน ยังมีผู้ร้องเรียนเฉลี่ยวันละ 100 ราย รวม 2,039 ราย เหตุเพราะ กสทช. ไม่บังคับใช้กฎหมายกับค่ายมือถือ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจี้ให้ระงับการเอาเปรียบของค่ายมือถือทันที หากยังไม่ปฏิบัติตามปรับไม่เกิน 5 ล้าน และวันละแสน จนกว่าจะแล้วเสร็จ | ที่มาภาพ: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

ช่วงปลายเดือน ต.ค. 2564 เว็บไซต์มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค รายงานว่าจากกรณีที่ เมื่อวันที่ 23 ก.ย. 2564 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้ออกคำสั่งให้ค่ายมือถือบล็อก SMS เนื้อหาหลอกลวง เว็บพนัน และอนาจาร แต่หลังจากนั้นยังมี SMS ส่งเข้ามาก่อกวน จนกระทั่งมีผู้บริโภคกว่า 1,000 ราย ร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) เมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2564 มูลนิธิฯ เข้าพบรองเลขาฯ กสทช. เพื่อชี้แจงปัญหาที่ผู้บริโภคพบ และเรียกร้องให้ กสทช. เปิดเผยคำสั่งที่ให้แก้ไขปัญหา ออกคำสั่งให้ค่ายมือถือจ่ายค่าเสียหายให้กับผู้ร้องเรียน 1,000 บาท/ข้อความ และลงโทษตามกฎหมายสูงสุดกับค่ายมือถือที่ยังปล่อยให้เกิดปัญหานั้น ขณะนี้ก็ยังไม่เห็นการดำเนินการใดๆ ของ กสทช. ตามข้อเรียกร้อง

นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ปัญหาเรื่อง SMS ก่อกวนที่ กสทช. ออกประกาศให้ค่ายมือถือบล็อกนั้น ขณะนี้ผู้บริโภคยังพบปัญหาเรื่องนี้มาตลอด มีผู้บริโภคเข้ามาร้องเรียนที่มูลนิธิฯ เฉลี่ยวันละ 100 ราย นับตั้งแต่วันที่ไปเข้าพบรองเลขาฯ กสทช. ทำให้มีผู้ร้องเรียนเข้ามาทั้งหมด 2,039 รายแล้ว ทั้งยังพบปัญหาเบอร์ Call Center รับเรื่องร้องเรียนของแต่ละค่ายมือถือ ซึ่งหมายเลข Call Center ของแต่ละค่ายมือถือที่ไม่เสียค่าบริการเป็นโทรศัพท์พื้นฐาน เมื่อผู้บริโภคสอบถามเรื่องการแก้ไขปัญหา SMS กู้เงินออนไลน์ เจ้าหน้าที่รับสายให้โทรไปที่หมายเลข 4 หลัก ซึ่งเป็นเบอร์ที่เสียค่าบริการเหมือนเดิม เบอร์โทรฟรีของค่ายมือถือจึงไม่สามารถช่วยเหลือรับเรื่องร้องเรียนของประชาชนได้ดีเท่าที่ควร เป็นอีกปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไข ดังนั้นหากรัฐไม่จัดการ ผู้ประกอบธุรกิจจะมีรายได้มหาศาล แต่ผู้บริโภคกลับถูกเอาเปรียบ อีกทั้งในวันที่ยื่นหนังสือ ทาง กสทช. เคยแจ้งว่าจะรีบจัดประชุมหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องและผู้ประกอบธุรกิจ เพื่อหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาโดยเร็วที่สุด แต่จนตอนนี้ผ่านมา 30 วันแล้วนับตั้งแต่ออกคำสั่งให้บล็อก SMS ก็ยังไม่เห็นข้อสรุปของบทบาทหน่วยงานรัฐว่าจะดำเนินการเรื่องนี้อย่างไร จึงขอให้ กสทช. ออกมาชี้แจงต่อประชาชนถึงสาเหตุที่ยังไม่สามารถระงับการส่ง SMS หรือโทรศัพท์รบกวนได้ และยังไม่ดำเนินการลงโทษกับค่ายมือถือด้วย รวมถึงค่ายมือถือต้องออกมาชี้แจงสังคมด้วยว่าทำไม SMS เหล่านี้ถึงส่งมาได้ทั้งที่ไม่ได้รับอนุญาต และผู้ผลิตเนื้อหาเอาข้อมูลเบอร์โทรศัพท์ผู้บริโภคมาจากไหน

ปัญหาที่ยังคงพบอยู่ต่อเนื่องนี้เกิดจากการที่ กสทช. ยังไม่บังคับใช้กฎหมายกับค่ายมือถือที่ปล่อยปละละเลยให้มี SMS หรือโทรศัพท์ ส่งเข้าในระบบมือถือของผู้บริโภคโดยไม่ได้รับอนุญาต และยังไม่มีคำสั่งลงโทษจึงทำให้ผู้ประกอบการไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ฉะนั้นตามกฎหมาย กสทช. สามารถระงับการเอาเปรียบผู้บริโภคของผู้ประกอบการได้โดยทันที และเมื่อไม่ปฏิบัติตาม ให้ลงโทษปรับไม่เกิน 5 ล้านบาท และวันละไม่เกิน 100,000 บาทจนกว่าจะแก้ไขเสร็จ แต่ขณะนี้ประชาชนยังไม่เห็นคำสั่งดังกล่าว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: