เครือข่ายสิทธิแรงงานประมง (FRN) เรียกร้องให้รัฐบาลไทยบังคับใช้บทบัญญัติว่าด้วยสัญญาจ้างงาน

กองบรรณาธิการ TCIJ 29 มิ.ย. 2564 | อ่านแล้ว 4695 ครั้ง

เครือข่ายสิทธิแรงงานประมง (FRN) เรียกร้องให้รัฐบาลไทยบังคับใช้บทบัญญัติว่าด้วยสัญญาจ้างงาน

แกนนำแรงงานประมงจากเครือข่ายสิทธิแรงงานประมง ภายใต้การสนับสนุนโดยสหพันธ์แรงงานขนส่งระหว่างประเทศ (ITF) เรียกร้องให้รัฐบาลไทยบังคับใช้บทบัญญัติสัญญาจ้างงาน แรงงานประมงเรียกร้องให้รัฐบาลไทยบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังภายหลังจากผลสำรวจชี้ให้เห็นถึงการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของแรงงานประมงอย่างต่อเนื่อง

FRN ได้ทำการสำรวจเกี่ยวกับสัญญาจ้างงานจากแรงงานประมงกว่า 520 คน ใน 8 จังหวัดของไทย ในระหว่างช่วงเดือนมีนาคมถึงมิถุนายน พ.ศ. 2564 ผลการสำรวจชี้ให้เห็นว่า:

  • ร้อยละ 87 ของแรงงานประมงข้ามชาติในประเทศไทยไม่ได้ถือครองสำเนาสัญญาจ้าง
  • ร้อยละ 96 ของแรงงานประมงไม่เข้าใจสัญญาจ้างอย่างชัดเจน
  • ร้อยละ 33 ของแรงงานบอกว่าสภาพการทำงานไม่ได้เป็นไปตามเงื่อนไขในสัญญาจ้างของพวกเขา
  • ร้อยละ 89 ไม่ได้รับการแปลหรืออธิบายสัญญาจ้างในภาษาที่พวกเขาเข้าใจ
  • ร้อยละ 99 จากการสอบถามกล่าวว่าพวกเขาต้องการที่จะเข้าใจเงื่อนไขและข้อกำหนดต่างๆในสัญญาจ้างก่อนการเซ็นสัญญาและต้องการสำเนาสัญญาจ้างในภาษาของตัวเอง

เยตุย ประธาน FRN และอดีดแรงงานประมงในไทยเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยให้ควบคุมการบังคับใช้กฎหมายในทันที “ประเทศได้ให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาฉบับที่ 188 ว่าด้วยการทํางานในภาคการประมง (C188) ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ แต่แรงงานประมงสัญชาติเมียนมาและกัมพูชายังคงเผชิญกับปัญหาที่รุนแรงอยู่ เช่น การโกงค่าแรง การขาดอาหารและน้ำดื่มสะอาดที่เพียงพอ การยึดเอกสาร และการละเมิดสิทธิแรงงานในรูปแบบอื่นๆ”

“ซึ่งคำมั่นสัญญาของรัฐบาลไทยต่อการให้สัตยาบัณต่ออนุสัญญาฉบับดังกล่าวนั้นเป็นเพียงแค่ลมปาก การละเมิดสิทธิแรงงานยังคงมีให้เห็นอยู่ทั่วไปและการปฏิบัติตามสัญญาจ้างงานก็ยังไม่ได้เป็นไปอย่างเหมาะสม หลายครั้งที่เราได้รับแจ้งจากแรงงานประมงว่าไม่ได้รับค่าจ้างเป็นเดือนๆ ต้องตกอยู่ในสภาพการทำงานบนเรือที่เต็มไปด้วยความอันตราย โดยที่ไม่รู้ว่าค่าแรงที่แท้จริงที่จะได้รับเป็นเท่าไหร่ หรือมีข้อกำหนดอะไรบ้างในสภาพการจ้างของพวกเขาที่ไม่ได้ถูกอธิบายเป็นภาษาที่พวกเขาเข้าใจได้”

“ผมเคยเป็นแรงงานประมงกว่า 15 แต่จนตอนนี้ก็ยังไม่มีอะไรดีขึ้นมากนัก แรงงานประมงส่วนใหญ่ไม่มีสำเนาสัญญาจ้างที่เป็นภาษาที่ตัวเองเข้าใจ และไม่มีทางเข้าใจเงื่อนไขสภาพการจ้างและข้อกำหนดต่างๆ  ทำให้นายจ้างและไต๋เรือสามารถโกงค่าแรงเราได้ง่ายดาย และเป็นเหตุให้แรงงานประมงไม่กล้าที่จะนำเรื่องราวการถูกกระทำความรุนแรงต่างๆร้องเรียนต่อเจ้าหน้าที่รัฐไทย” เยตุย กล่าว

ระหว่างการแถลงข่าวซึ่งมีการนำเสนอผลสำรวจ แรงงานประมงข้ามชาติได้มีข้อเรียกร้องมายังรัฐบาลไทยดังต่อไปนี้:

  • เรียกร้องให้รัฐบาลไทยบังคับใช้มาตราฐานแรงงานสากลตามที่รับสัตยาบัน C188 อย่างมีประสิทธิภาพ โดยทำให้แน่ใจว่าแรงงานประมงทุกคนมีสำเนาสัญญาจ้างเป็นภาษาของตนเอง
  • เรียกร้องให้รัฐบาลไทยผลักดันให้ศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้า – ออก (PIPO) ยินยอมให้แรงงานประมงตรวจสอบและยืนยันสัญญาจ้างงานที่นายจ้างนำมาแสดงระหว่างการตรวจเรือ และจัดให้มีพื้นที่ปลอดภัยและได้รับการคุ้มครองเมื่อแรงงานประมงเข้าแจ้งเรื่องที่ถูกละเมิด
  • เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐของไทยบังคับใช้บทบัญญัติสัญญาจ้างงานและคุ้มครองสิทธิของแรงงานประมงข้ามชาติ

ออง ซาน แรงงานประมงชาวเมียนมาและแกนนำ FRN  กล่าวว่า “ผมทำงานประมงมากว่า 9-10 ปี แต่ไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับสัญญาจ้างจนกระทั้งตอนนี้ ผมอยากถือสำเนาสัญญาจ้างและอยากให้สภาพการทำงานเป็นไปตามที่ระบุไว้ในสัญญาจ้าง”

โซะ คุน สมาชิก FRN ชาวกัมพูชา กล่าวว่า “ผมอยากเข้าใจสัญญาจ้างและเงื่อนไขให้ชัดเจน เพื่อจะได้ไม่ถูกเอาเปรียบ การมีสัญญาจ้างงานเป็นภาษากัมพูชาจะทำให้มั่นใจว่าหากผมมีปัญหาในอนาคตผมสามารถร้องเรียนได้ด้วยตนเอง”

จอนนี่ ฮันเซน ประธานสาขาประมง ITF ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับความล้มเหลวของรัฐบาลไทยในการดำเนินการและบังคับใช้บทบัญญัติในอนุสัญญาอย่างมีประสิทธิภาพ ถึงแม้จะให้สัตยาบันสนธิสัญญา C188 ไปในปี พ.ศ. 2562

“กฎหมายแรงงานไทยและการตรวจแรงงานของไทยในปัจจุบันนั้นยังคงไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ในอนุสัญญาในการคุ้มครองแรงงานประมงจากการถูกเอารัดเอาเปรียบและการละเมิดสิทธิแรงงาน” จอนนี่ ฮันเซน กล่าว “องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และองค์กรอื่นๆยังคงทำงานร่วมกับรัฐบาลไทยเพื่อผลักดันให้เกิดการบังคับใช้กฏหมายและให้เป็นไปตามอนุสัญญา C188 อย่างเหมาะสม แต่ผลของแบบสำรวจได้สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่ายังต้องมีการดำเนินการอย่างเร่งด่วนอีกมากเพื่อปกป้องสิทธิของแรงงานและสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย” จอนนี่ ฮันเซน กล่าว

"แรงงานประมงถือเป็นแรงงานแนวหน้าในห่วงโซ่อุปทานธุรกิจอาหารทะเลของโลก มีผู้บริโภคจำนวนมากที่ต้องการให้สินค้าที่พวกเขาบริโภคนั้นปราศจากการเอารัดเอาเปรียบแรงาน ประเทศไทยมีโอกาสที่จะแสดงให้เห็นว่ากฎหมายพื้นฐานที่เกี่ยวกับแรงงานได้มีการบังคับใช้รวมถึงมีการตรวจเรืออย่างมีประสิทธิภาพเพื่อระบุและลงโทษผู้ฝ่าฝืน” จอนนี่ ฮันเซน กล่าวเพิ่มเติม

ผลการสำรวจของ FRN ได้ชี้ให้เห็นถึงการตรวจเรือของศูนย์ควบคุมแจ้งการเข้า-ออก เรือประมง (PIPO) ว่าเป็นหน่วยงานที่สำคัญในการเปิดเผยและรายงานการละเมิดสิทธิแรงงาน ศูนย์ PIPO มีทั้งทรัพยากรบุคคลในการแปลสัญญาจ้างให้เป็นภาษาเมียนมาและกัมพูชา ทั้งยังให้พื้นที่ที่ปลอดภัยในการสัมภาษณ์แรงงานประมงเพื่อให้แน่ใจว่าสภาพการทำงานของแรงงานประมงหรือค่าจ้างเป็นไปตามสัญญาจ้างงาน

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: