ผุดแผน 'ดูแลผู้ป่วยตามความต้องการ' รับรองสิทธิบุคคลตัดสินใจรับบริการสาธารณสุข

กองบรรณาธิการ TCIJ 29 ม.ค. 2564 | อ่านแล้ว 4578 ครั้ง

สช. ระดมผู้เชี่ยวชาญจัดทำแนวทาง 'Advance care plan' วางแผนการดูแลล่วงหน้า หวังสร้างเป็นระบบมาตรฐานในการรักษาพยาบาล 'นายกสมาคมบริบาลผู้ป่วยระยะท้าย' เสนอชง 'แพทยสภา' รับรองให้เป็นแนวทางกลาง เดินหน้าตามหลักการ ม.8 และ ม.12 พ.ร.บ.สุขภาพฯ เพื่อรับรองสิทธิของบุคคลในการตัดสินใจเกี่ยวกับการรับบริการสาธารณสุข ช่วยลดปัญหาข้อสงสัยของเอกสารแสดงความต้องการของผู้ป่วย-สร้างความสบายใจให้บุคลากรทางการแพทย์ | ที่มาภาพประกอบ: truthseeker08 (Pixabay License)

สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดให้มีการประชุมคณะทำงานจัดทำแนวทางการวางแผนการดูแลล่วงหน้า (Advance care planning) สำหรับประเทศไทย ครั้งที่ 1/2564 แบบออนไลน์ผ่านโปรแกรม Zoom Meeting เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2564 เพื่อร่วมกันพิจารณา ร่าง กรอบเนื้อหาของ Advance care plan (ACP) ให้เกิดแนวทางการดูแลล่วงหน้าที่เป็นมาตรฐานเดียวกันและเหมาะสมกับบริบทของระบบบริการสุขภาพของประเทศไทย

Advance care plan (ACP) คืออะไร


ACP คือ กระบวนการวางแผนสิ่งที่ผู้ป่วยต้องการ โดยออกแบบให้มีกระบวนการปรึกษาหารือร่วมกันระหว่างผู้ป่วย ญาติ บุคลากรด้านสาธารณสุข เกี่ยวกับอาการและการวางแผนการดูแลในแต่ระยะ และเน้นให้ความสำคัญกับการดูแลผู้ป่วยในทุกมิติเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลที่มีคุณภาพจนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต | ที่มาภาพ: Murray PHN

สำหรับ ACP คือ กระบวนการวางแผนสิ่งที่ผู้ป่วยต้องการ โดยออกแบบให้มีกระบวนการปรึกษาหารือร่วมกันระหว่างผู้ป่วย ญาติ บุคลากรด้านสาธารณสุข เกี่ยวกับอาการและการวางแผนการดูแลในแต่ระยะ และเน้นให้ความสำคัญกับการดูแลผู้ป่วยในทุกมิติเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลที่มีคุณภาพจนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต รวมไปถึงการแสดงเจตนาว่าจะรับหรือไม่รับการดูแลรักษาใดเมื่อถึงเวลาที่ผู้ป่วยไม่อยู่ในภาวะที่สามารถตัดสินใจได้ด้วยตนเองได้ ตลอดจนการเลือกบุคคลใกล้ชิดผู้ทำหน้าที่แสดงเจตนาแทน

ศ.คลินิก สุพรรณ ศรีธรรมา ประธานคณะทำงานฯ เผยว่า กรอบเนื้อหาของการจัดทำ ACP นี้ ประกอบด้วยสาระสำคัญ 4 ส่วน คือ 1.ข้อมูลความเข้าใจเกี่ยวกับการวางแผนการดูแลล่วงหน้า เช่น ความหมาย ความสำคัญ รวมถึงขั้นตอนหรือวิธีการทำ 2.ข้อมูลเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล ทั้งในส่วนของบุคคลที่มีหน้าที่ให้ข้อมูลผู้ป่วย บุคคลที่มีหน้าที่รับข้อมูล ร่วมกันวางแผน และให้ความยินยอมในการดูแล ข้อมูลที่จะต้องแจ้งแก่ผู้ป่วยและครอบครัว รวมไปถึงวิธีการให้ข้อมูล 3.ข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับตัวผู้ป่วยและเจตจำนงของผู้ป่วย เช่น การทำเอกสารแสดงเจตนา การแต่งตั้งผู้สื่อสารเจตจำนง และ 4.ข้อเสนออื่นๆ ที่นอกเหนือจากกระทรวงสาธารณสุขแนะนำ อาทิ การจัดทำระบบเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ การมีผู้แทน (Proxy) และให้ผู้ปกครองดูแลเป็นผู้ให้ความยินยอมในการวางแผนการดูแลได้ การระบุความต้องการอื่นๆ ที่นอกเหนือจากความต้องการด้านการแพทย์สาธารณสุข

ศ.คลินิก สุพรรณ กล่าวว่า เป้าหมายการวางกรอบเนื้อหา ACP คือ การสร้างแนวทางกลางที่เป็นระบบให้ทุกฝ่ายสามารถนำไปใช้เป็นกรอบแนวทางในการประยุกต์ใช้ ขณะที่ในอนาคตก็สามารถปรับปรุงให้เหมาะสมกับบริบทต่อไปได้ ซึ่งในระยะต่อไปจะต้องมีการออกแบบกระบวนการขับเคลื่อน รวมถึงการติดตามประเมินผลร่วมกันต่อไป

“ตอนนี้เป็นการวางอิฐก้อนแรก ก่อนที่จะมีก้อนต่อๆ ไปคือ กระบวนการขับเคลื่อนในอนาคต โดยสิ่งที่เราอยากเห็น ไม่ใช่เพียงข้อเสนอหรือเครื่องมือที่สร้างขึ้นแล้วอยู่กับที่ แต่จะรวมถึงแนวทางการผลักดันนโยบายให้เกิดผลที่ปฏิบัติได้และเป็นประโยชน์กับประชาชนและสังคม ซึ่งที่ผ่านมาเราก็ได้เกิดการรวมความคิดกันจนเกิดข้อกำหนดแนวทางการดูแลแบบประคับประคองมาแล้ว เรื่อง ACP นี้ จะเป็นอีกขั้นหนึ่งของเครื่องมือการทำงานให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลที่มีคุณภาพจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต” ศ.คลินิก สุพรรณ กล่าว

ช่วยลดปัญหาข้อสงสัยของเอกสารแสดงความต้องการของผู้ป่วย-สร้างความสบายใจให้บุคลากรทางการแพทย์

รศ.ศรีเวียง ไพโรจน์กุล นายกสมาคมบริบาลผู้ป่วยระยะท้าย กล่าวว่า หากมีการนำกระบวนการทำ ACP เข้าไปเป็นขั้นตอนหนึ่งของการดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาล จะทำให้ลดปัญหาในเรื่องข้อสงสัยของเอกสารแสดงความต้องการของผู้ป่วยว่าเป็นเอกสารที่ผู้ป่วยทำไว้จริงหรือไม่ รวมทั้งเป็นการสร้างความสบายใจให้กับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ในการดูแลผู้ป่วย เนื่องจาก ACP เป็นกระบวนการวางแผนร่วมกันระหว่างผู้ป่วย ญาติ และบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งหากแพทยสภารับรองในเรื่องนี้ เชื่อว่าแพทย์ส่วนใหญ่จะยอมรับในเรื่องนี้ได้ง่ายขึ้น และจะทำให้การดำเนินการมาตรา 12 ขับเคลื่อนไปได้ด้วย

“ถ้าเราทำให้ ACP รวมอยู่ในระบบของโรงพยาบาลได้ ก็จะไม่ต้องมีคำถามว่าใครเป็นคนทำ เพราะมีอยู่แล้วในระบบ ลดข้อถกเถียงเรื่องของจริงหรือของปลอม และช่วยให้แพทย์ทำงานได้ง่ายขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าเรื่องของมาตรา 12 แม้เราจะสื่อสารไปยังทุกโรงพยาบาลว่าสามารถทำได้ แต่ก็ยังไม่มีแพทย์คนไหนที่ทำด้วยความสบายใจ ฉะนั้นถ้าแพทยสภาออกมารับรองว่าสิ่งเหล่านี้ถูกต้องและทำได้ เชื่อว่าแพทย์ส่วนใหญ่ก็จะยอมรับตรงนี้ได้ง่ายมากขึ้น และจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้มาตรา 12 เดินหน้าไปได้” รศ.ศรีเวียง กล่าว

ศ.อิศรางค์ นุชประยูร คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในส่วนของโครงสร้าง อยากให้กระบวนการ ACP มีหลายระดับ เนื่องจากผู้ป่วยมีความเข้าใจต่อเรื่องนี้ที่ไม่เท่ากัน บางรายแม้จะยังมีอาการที่ดี แต่เมื่อได้ศึกษาในเรื่องนี้จึงมีการเขียนเอาไว้อย่างละเอียด หากแต่บางรายกลับปฏิเสธและไม่ยอมคุยถึงเรื่องนี้ ดังนั้นจึงอาจมีแบบฟอร์มหรือคำถามที่ง่ายขึ้น เช่น คำถามว่าหากสลบไปแล้ว จะให้ใครเป็นผู้ตัดสินใจแทน เป็นต้น

ด้าน นายสุทธิพงษ์ วสุโสภาพล รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ในเชิงของการจัดการหลังจากนี้ สช. จะพัฒนากระบวนการมีส่วนร่วม เพื่อทำให้การขับเคลื่อน ACP ไปสู่การใช้ประโยชน์ในสังคมวงกว้าง โดยพยายามที่ทำให้เกิด “Norm” หรือแนวทางกลาง และเพื่อทำให้เกิดความชัดเจนในองค์ประกอบต่างๆ มากขึ้น อาจมีกระบวนการเวิร์คช็อป จากผู้เกี่ยวข้องที่มีประสบการณ์ มาร่วมกันสร้างแนวทางกลางให้เกิดขึ้น ตัวอย่างเช่นเรื่องการจัดทำคำนิยามปฏิบัติการของการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care) ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งปฏิบัติการที่นำไปสู่การเคลื่อนไหวเป็นวงกว้าง

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: