จนถึงวันที่ 24 เม.ย. 2021 พบ 207 ประเทศและดินแดนทั่วโลกมีการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 ไปแล้ว 1,002,938,540 โดส แต่ยังคงมีความไม่เท่าเทียมในการกระจายวัคซีน วัคซีน 47% ฉีดในประเทศรายได้สูงที่มีประชากรเพียง 16% ของโลก ขณะที่ประเทศยากจนส่วนใหญ่ที่ได้รับวัคซีนผ่านโครงการ COVAX ขององค์อนาการอนามัยโลก (WHO) ฉีดไปเพียง 0.2% เท่านั้น 'สหรัฐฯ' เผชิญเสียงเรียกร้องให้แบ่งปันวัคซีนแก่ประเทศที่ขาดแคลน | ที่มาภาพประกอบ: Satish Bate/The Hindustan Times
สำนักข่าว AFP ได้รวบรวมข้อมูลการฉีดวัคซีน COVID-19 ณ วันที่ 24 เม.ย. 2021 มีการฉีดวัคซีนโควิดไปแล้วกว่า 1,002,938,540 โดส ใน 207 ประเทศและดินแดนทั่วโลก ขณะที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่อยู่ที่ระดับ 893,000 คน สูงสุดเป็นสถิติใหม่ โดย 1 ใน 3 ของจำนวนนี้อยู่ในอินเดีย และจนถึงช่วงบ่ายวันที่ 25 เม.ย. 2021 ตามเวลาในสหรัฐฯ มีผู้ติดเชื้อโคโรนาไวรัสสะสมทั่วโลกแล้วกว่า 146.6 ล้านคน เสียชีวิตมากกว่า 3.1 ล้านคน
AFP ชี้ว่าขณะนี้เกือบทุกประเทศทั่วโลกได้เริ่มโครงการฉีดวัคซีนไปแล้ว แต่หากเทียบสัดส่วนระหว่างประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนายังพบว่าแตกต่างกันมาก กล่าวคือในขณะที่ประเทศรายได้สูงมีการฉีดวัคซีนให้ประชากรไปแล้วโดยเฉลี่ย 47% ของจำนวนประชากรทั้งหมด ประเทศรายได้ต่ำกลับเพิ่งฉีดวัคซีนให้ประชาชนของตนไปเพียง 0.2% เท่านั้น
ที่ยุโรป สหภาพยุโรป (EU) เปิดเผยเมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2021 ว่าจะสามารถฉีดวัคซีนให้ประชากรวัยผู้ใหญ่ราว 70% ได้ภายในเดือน ก.ค. 2021 โดยรัฐบาลเบลเยียมเปิดเผยว่าได้อนุมัติให้ใช้วัคซีนโควิดของบริษัท Johnson & Johnson สำหรับผู้ใหญ่ทุกคนแล้ว และคาดว่าจะได้รับวัคซีนดังกล่าวเพิ่ม 1.4 ล้านโดสภายในเดือน มิ.ย. 2021
อย่างไรก็ตาม ประชาชนในบางประเทศของยุโรปออกมาชุมนุมประท้วงมาตรการล็อคดาวน์ของรัฐบาลเมื่อช่วงเดือน เม.ย. 2021 รวมทั้งในกรุงเบอร์ลิน และกรุงลอนดอน เพื่อต่อต้านการบังคับสวมหน้ากาก การขยายเวลาปิดร้านค้าและธุรกิจบางประเภท ตลอดจนนโยบายวัคซีนพาสปอร์ตที่หลายคนบอกว่าไม่เป็นธรรมสำหรับผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนด้วย
'สหรัฐฯ' เผชิญเสียงเรียกร้องให้แบ่งปันวัคซีนแก่ประเทศที่ขาดแคลน
ในขณะที่หลายประเทศของโลกยังขาดแคลนวัคซีนต้าน COVID-19 นั้น กำลังมีเสียงเรียกร้องมากขึ้นให้รัฐบาลสหรัฐอเมริกา ช่วยแบ่งปันวัคซีนให้กับประเทศที่ยังขาดแคลน เพราะในหรัฐฯ เวลานี้มีคนอเมริกันกว่า 1 ใน 4 ของประชากรทั้งหมดหรือเกือบ 90 ล้านคนที่ได้รับวัคซีนแล้ว และวัคซีนที่มีอยู่ในประเทศก็มีมากพอจนกระทั่งบางรัฐได้ปฏิเสธการรับวัคซีนซึ่งรัฐบาลกลางเป็นผู้จัดหาให้
แต่ขณะเดียวกัน ในบางประเทศของอเมริกากลาง อย่างเช่น ฮอนดูรัส เพิ่งจะได้รับวัคซีนเพียงราว 60,000 โดสสำหรับประชากรทั้งหมด 10 ล้านคน ส่วนในทวีปแอฟริกาซึ่งมีประชากรรวม 1,300 ล้านคน นั้นก็สามารถจัดหาวัคซีนได้เพียงแค่ 36 ล้านโดสเท่านั้น
ช่องว่างและความแตกต่างที่ว่านี้ทำให้มีเสียงเรียกร้องมากขึ้นจากทั่วโลก ให้สหรัฐฯ ส่งวัคซีนไปช่วยเหลือประเทศที่ยากจน ซึ่งก็แน่นอนว่าเสียงเรียกร้องดังกล่าวได้สร้างแรงกดดันและเป็นเครื่องทดสอบการตัดสินใจของประธานาธิบดี Joe Biden ผู้เคยให้สัญญาว่าจะนำพาสหรัฐฯ กลับคืนสู่บทบาทของผู้นำในเวทีโลก และจะทำงานโดยอาศัยความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ เพื่อแก้ปัญหาของโลกด้วย
J. Stephen Morrison ผู้อำนวยการ Center for Strategic & International Studies ในกรุงวอชิงตัน ชี้ว่าขณะที่สหรัฐฯ สามารถเปลี่ยนสถานะจากการเป็นประเทศผู้ขาดแคลนมาเป็นประเทศที่มีวัคซีน COVID-19 อย่างมากมายนั้น ขณะนี้จึงเป็นโอกาสที่สหรัฐฯ จะใช้ทรัพยากรซึ่งมีอยู่เพื่อกำหนดทิศทางและผลลัพธ์ของสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปได้
ขณะนี้ประธานาธิบดี Biden ยังคงใช้ความระมัดระวังเพื่อตอบสนองต่อเสียงเรียกร้องจากประเทศต่าง ๆ เรื่องความช่วยเหลือด้านวัคซีน และรัฐบาลของประธานาธิบดีไบเดนก็ยังคงข้อตกลงที่ทำขึ้นโดยประธานาธิบดี Trump ซึ่งกำหนดให้บริษัทผู้ผลิตยาที่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลสหรัฐฯ ในการวิจัยและพัฒนาวัคซีนจะต้องขายวัคซีนชุดแรกที่ผลิตได้ในประเทศให้กับรัฐบาลสหรัฐฯ ก่อน รวมทั้งยังใช้อำนาจตามกฏหมายเรื่องการผลิตสินค้าในเวลาฉุกเฉินหรือ Defense Production Act เพื่อห้ามการส่งออกวัคซีนไปยังต่างประเทศด้วย
โดยทำเนียบขาวได้ให้เหตุผลว่ารัฐบาลสหรัฐฯ จำเป็นต้องใช้ความระมัดระวังเพื่อให้มีวัคซีนเพียงพอสำหรับการใช้ในประเทศ รวมทั้งได้ยกกรณีจากปัญหาการผลิตวัคซีนของบริษัท Johnson & Johnson และการสั่งยุติการใช้วัคซีนชั่วคราวจากปัญหาลิ่มเลือด ว่าเป็นตัวอย่างของความจำเป็นที่จะต้องมีวัคซีนอยู่ในมืออย่างเพียงพอรวมทั้งเพื่อให้สามารถระดมฉีดให้กับวัยรุ่นและเด็กเล็ก หลังจากที่ผลการศึกษาเรื่องความปลอดภัยของคนกลุ่มนี้เสร็จสมบูรณ์แล้วด้วย
การที่สหรัฐฯ ยังไม่ให้ความช่วยเหลือด้านวัคซีนแก่ประเทศต่าง ๆ อย่างเต็มที่ได้เปิดโอกาสให้กับทั้งจีนและรัสเซีย โดยในเดือน เม.ย. 2021 Wang Yi รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน ได้กล่าวว่าจีนคัดค้านเรื่องลัทธิชาตินิยมด้านวัคซีนและระบุว่าวัคซีน COVID-19 นั้นควรจะเป็นสินค้าเพื่อประโยชน์สาธารณะสำหรับทั่วโลกด้วย
การขาดแคลนวัคซีนในบางส่วนของโลกก็จะเป็นผลให้เกิดเชื้อกลายพันธุ์
ศาสตราจารย์ Willem Hanekom ผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีนและผู้อำนวยการ Africa Health Research Institute ชี้ว่าประเทศที่ร่ำรวยล้วนมีส่วนได้เสียอยู่กับความสำเร็จของการฉีดวัคซีนในภูมิภาคอื่น ๆ ของโลกด้วย เพราะเรื่องนี้นอกจากจะเป็นภาระผูกพันด้านศีลธรรมแล้ว การควบคุม COVID-19 ในระดับโลกจะเกิดขึ้นไม่ได้หากหลายประเทศยังไม่สามารถเข้าถึงวัคซีน
นอกจากนั้นการขาดแคลนวัคซีนในบางส่วนของโลกก็จะเป็นผลให้เกิดเชื้อกลายพันธุ์ซึ่งจะทำให้วัคซีนที่มีอยู่มากมายในประเทศที่พัฒนาแล้วนั้นใช้ไม่ได้ผลในที่สุดด้วย
ที่มา
Vaccine Doses Pass 1 Billion Mark as Global Cases Set Another Record (VOA, 24 April 2021)
From Scarcity to Abundance: US Faces Calls to Share Vaccines (VOA, 26 April 2021)
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ