'โปรแกรม ACT' ทางเลือกการบำบัดยาเสพติดแก่เยาวชนด้วย 'กระบวนคิด-เทคนิควิจัย'

กองบรรณาธิการ TCIJ 29 พ.ย. 2564 | อ่านแล้ว 14867 ครั้ง

สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เผยโปรแกรมการบำบัดแบบการยอมรับและสร้างพันธะสัญญา (Acceptance Commitment Therapy หรือ ACT) ทางเลือกการบำบัดแก่เยาวชน ด้วยกระบวนคิด-เทคนิควิจัย กับการต่อสู้ในเทรนด์ใหม่ของยาเสพติด | ที่มาภาพประกอบ: BryLin

ช่วงเดือน ต.ค. 2564 หน่วยงานสื่อสาร สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) รายงานว่า หากพูดถึง “ยาเสพติด” กลุ่มที่มีความเสี่ยงกลุ่มแรกๆ ที่เรามักจะนึกถึงคือกลุ่ม “วัยรุ่นหรือเยาวชน” ซึ่งเป็นเพราะอะไร และทำไมปัญหายาเสพติดจึงยังคงอยู่กับสังคมไทยตลอดมา

จากข้อมูลของผู้เข้ารับการบำบัดยาเสพติดของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ในรอบปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่พบว่า ผู้บำบัดอยู่ในช่วงอายุ 15-24 ปี รองลงมาเป็นช่วง 25-29 ปี และ 30-34 ปี ตามลำดับ โดยยาบ้าและสารเสพติดกลุ่มแอมเฟตามีนยังคงเป็นยาเสพติดที่กลุ่มวัยรุ่นนิยมใช้ อาจด้วยราคาซึ่งไม่แพง ตามมาด้วย “ยาไอซ์” ที่ได้รับความนิยมไม่ต่างกัน ด้วยเพราะมีความบริสุทธิ์สูงราว 95% ทำให้ออกฤทธิ์เร็วและรุนแรงกว่า ขณะที่พฤติกรรมการใช้ยาเสพติดมักอยู่ในรูปแบบผสมผสาน โดยทดลองผสมยาเสพติดเองและเปลี่ยนสูตรไปเรื่อยๆ อย่างที่พบในกรณีของเคนมผง หรือ พืช “กระท่อม” ที่คุ้นเคยกันในชื่อสูตรสี่คูณร้อย ซึ่งเป็นที่นิยมของวัยรุ่นทางภาคใต้ โดยสิ่งที่น่ากังวลไปกว่านั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการพบว่า มีการจับกุมการซื้อขายยาเสพติดทางออนไลน์ โดยใช้คริปโตเคอร์เรนซีหรือสกุลเงินดิจิทัลในการซื้อขาย โดยเกิดขึ้นแล้วในประเทศไทย ซึ่งนับว่าเป็นอุปสรรคที่ทำให้การควบคุมป้องกันยาเสพติดในเยาวชนทำได้ยากมากขึ้นไปอีก1

สอดคล้องกับข้อมูลจากสถาบันวิจัยสังคมและวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี 2562 จากการสำรวจพื้นที่ภาคกลาง ครอบคลุมถึงภาคตะวันออกพบว่า มีผู้เข้ารับการบำบัดรักษายาเสพติดรายใหม่ ตั้งแต่ปี 2559-2562 คือ 9,905 ราย, 12,153 ราย, 14,879 ราย, และ 8,755 ราย ตามลำดับ และผู้เข้ารับการบำบัดส่วนใหญ่ ร้อยละ 53.6 เป็นกลุ่มเยาวชนอายุ 18-24 ปี โดยเป็นการบำบัดรักษาจากการใช้ยาบ้ามากที่สุด ถึงร้อยละ 67.9 นอกจากนี้ยังพบว่า พื้นที่ภาคตะวันออก มีการนำเข้ายาเสพติดจากประเทศเพื่อนบ้าน มีการขายและแพร่ระบาดในพื้นที่ชุมชนเมือง พื้นที่ท่องเที่ยว และพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม รวมถึงในพื้นที่มีคนอพยพโยกย้ายจากต่างถิ่นมาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากและมีความสลับซับซ้อนทางสังคม ทำให้ปัญหายาเสพติดกลายเป็นปัญหาสำคัญในพื้นที่

ตัวอย่างการแก้ปัญหายาเสพติดของประเทศไอซ์แลนด์

ทั้งนี้ ตัวอย่างการแก้ปัญหายาเสพติดในต่างประเทศที่น่าสนใจ อย่างเช่น ในประเทศไอซ์แลนด์มีการจัดการปัญหาแอลกอฮอล์และการใช้ยาเสพติดซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ในกลุ่มวัยรุ่นในช่วงทศวรรษที่ 1980-1990 โดยไอซ์แลนด์เคยพบว่า 42% ของเยาวชนอายุ 15-16 ปี มีการดื่มสุราและใช้ยาเสพติด ส่งผลให้ช่วงนั้นกรุงเรคยาวิก กลายเป็นเมืองที่มีปัญหาดังกล่าวรุนแรงที่สุดในยุโรป แต่ในปัจจุบันได้ลดลงเหลือเพียง 5% จาก “5 มาตรการ ปฏิวัติวัยรุ่น” ที่ไอซ์แลนด์นำมาปรับใช้ ได้แก่ 1) การกำหนดเคอร์ฟิว สำหรับวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 16 ปีที่ต้องกลับเข้าบ้านภายในเวลา 22.00 น. โดยในบางพื้นที่จะมีกลุ่มผู้ปกครองออกตรวจตราเยาวชนที่อาจออกไปมั่วสุมนอกบ้านในยามวิกาล 2) ให้ผู้ปกครองลงนามในสัญญา เพื่อกำหนดกฎ/เงื่อนไขการควบคุมพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของบุตรหลานหรือสนับสนุนให้พวกเขาใช้เวลากับครอบครัวมากขึ้น 3) ให้วัยรุ่นใช้เวลาว่างอย่างเป็นประโยชน์ โดยเยาวชนไอซ์แลนด์ จะได้รับบัตรกำนัลมูลค่า 500 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 16,500 บาท) ทุกปี เพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการทำกิจกรรมหลังเลิกเรียน เช่น กีฬาอย่างฟุตบอล วอลเลย์บอล และว่ายน้ำ 4) ใช้หลักวิจัยเชิงวิทยาศาสตร์ลดปัญหาเหล้า-ยา โดยทุกปีโครงการ Youth in Iceland จะทำการสำรวจวัยรุ่น เพื่อใช้ตรวจวัดการใช้ชีวิตของวัยรุ่นจากแง่มุมต่างๆ เช่น ความสัมพันธ์กับเพื่อนและครอบครัว ความรู้สึก รวมถึงการใช้สารเสพติด โดยข้อมูลที่ได้จากแบบสำรวจดังกล่าวถือเป็นกุญแจสำคัญในการวางแผนดำเนินการเพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุดสำหรับเด็กๆ รวมถึงลดการใช้สารเสพติดในกลุ่มเยาวชน และ 5) ให้นักการเมืองเข้ามามีส่วนร่วม2

โปรแกรมการบำบัดแบบการยอมรับและสร้างพันธะสัญญา (ACT)

ในด้านของประเทศไทย มีความพยายามในการแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างหลากหลายและจริงจัง เพื่อต่อสู้กับยาเสพติดที่รุกเข้ามาในหลายรูปแบบอย่างที่ไม่มีอะไรสามารถปิดกั้นได้ ทั้งนี้เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่าน เวทีการแลกเปลี่ยนความคิดความเห็นของกลุ่มนักวิชาการและภาคีเครือข่ายได้เกิดขึ้น เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดรูปแบบใหม่ ซึ่งเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่น่าสนใจ เปลี่ยนไปจากวิธีการดั้งเดิมที่พยายามปิดกั้นช่องทาง ยับยั้งการเพิ่มจำนวน หยุดการแพร่กระจายหรือการขยายเครือข่ายของยาเสพติด ซึ่งจัดเป็นความพยายามจัดการกับปัจจัยภายนอกของกลุ่มเสี่ยง แตกต่างจากการทำงานครั้งนี้ที่เป็นการแก้ปัญหาจากกระบวนการภายในของผู้ติดยาเสพติดหรือกลุ่มเสี่ยงโดยตรง โดยเป็นกระบวนการทำงานบนฐานงานวิจัย “ประสิทธิผลของโปรแกรมกลุ่มบำบัดแบบการยอมรับและสร้างพันธะสัญญาต่อเยาวชนที่ใช้สารเสพติด” ซึ่งจัดขึ้นโดย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ร่วมกับ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ที่มีการนำเสนอเกี่ยวกับ โปรแกรมการบำบัดแบบการยอมรับและสร้างพันธะสัญญา (Acceptance Commitment Therapy หรือ ACT) ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างกระบวนการฝึกสติ การยอมรับ การสร้างพันธะสัญญา และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ที่ไม่ใช่แค่ลดอาการความผิดปกติ แต่ช่วยให้ผู้รับการบำบัดมีชีวิตที่มีคุณค่าและมีความหมายมากขึ้น

ผศ.ดร.จิณห์จุฑา ชัยเสนา ดาลลาส เครือข่ายนักวิจัย สวรส. สังกัดคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ได้อธิบายถึงโปรแกรมการบำบัดแบบการยอมรับและสร้างพันธะสัญญา หรือโปรแกรม ACT นี้ ที่มีการลงมือทำผ่านกิจกรรมต่างๆ 8 กิจกรรมใน 4 สัปดาห์ โดยกิจกรรมต่างๆ เป็นการสร้างความยืดหยุ่นในชีวิตและความตั้งใจในการเลิกสารเสพติด และเป็นโปรแกรมที่ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นทางใจ บนแนวคิดการอยู่กับปัจจุบันขณะ การเปิดใจยอมรับ การปลดปล่อยความคิดยึดติด รับรู้ถึงตัวตนที่สังเกตเห็นหรือรู้ทันการเปลี่ยนแปลง รับรู้คุณค่าในตัวเองและใช้คุณค่านำการกระทำสู่เป้าหมายชีวิตแบบมีพันธะสัญญากับตนเอง

ซึ่งโปรแกรม ACT เป็นทางเลือกในการบำบัดรักษาที่ช่วยให้เกิดการสร้างวิธีคิดวิธีมองชีวิตแบบใหม่ให้กับเยาวชน เพื่อให้เกิดการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ควบคู่ไปกับการสร้างความเข้มแข็งในจิตใจ และเพิ่มความพร้อมในการออกไปใช้ชีวิตในสังคม โดยหลังจากการใช้โปรแกรม ACT กับเยาวชนที่เข้ารับการบำบัดสารเสพติดในโรงเรียนวิวัฒน์พลเมือง เขตพื้นที่ภาคตะวันออก พบว่า ความตั้งใจในการเลิกสารเสพติดและความยืดหยุ่นในชีวิตของกลุ่มทดลองกับกลุ่มควบคุมต่างกันอย่างชัดเจน โดยกลุ่มทดลองมีความตั้งใจในการเลิกสารเสพติดและความยืดหยุ่นในชีวิตสูงขึ้นภายหลังการทดลอง ในขณะที่กลุ่มควบคุมลดลง ในขณะที่จากผลการวิจัยเชิงปริมาณจากโครงการวิจัยนี้ พบว่า ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความตั้งใจเลิกสารเสพติดคือ ความยืดหยุ่นในชีวิต ความผูกพันใกล้ชิดกับเพื่อน และความภาคภูมิใจในตนเอง

ทั้งนี้ในการนำโปรแกรม ACT ไปใช้จริงในพื้นที่ พบว่า “โปรแกรม ACT เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สามารถนำมาต่อยอดกับหลักสูตรอื่นๆ ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะกิจกรรมที่เกิดจากการเรียนรู้การใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5  ซึ่งจะทำให้เกิดการเรียนรู้ที่มีการจดจำได้ดี” เรือเอก ศรวิษฐ์ บุญประชุม โรงเรียนวิวัฒน์พลเมือง อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ได้ให้ความเห็นในเรื่องนี้ไว้ 

ขณะที่ พว.ปทุมรัตน์ เกตุเล็ก พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลประจันตคาม จ.ปราจีนบุรี ซึ่งเป็นผู้บำบัดการใช้สารเสพติด ให้ความเห็นเสริมว่า “โปรแกรม ACT ช่วยสนับสนุนให้ผู้เข้ารับการบำบัดสามารถแก้ปัญหา พึ่งพาตนเองได้ สู้กับวิกฤตอย่างมีความพร้อมมากขึ้น มีความยืดหยุ่นในชีวิตมากขึ้น เปิดใจยอมรับ และมีมุมมองความคิดที่เปลี่ยนไป มีการตั้งเป้าหมายในชีวิตทำให้มีความกระตือรือร้นที่จะมาบำบัดมากขึ้น และรับผิดชอบต่อพันธะสัญญาที่ให้ไว้กับผู้บำบัดอย่างจริงจัง”

ต้องทำความเข้าใจวัยรุ่นในมิติต่างๆ - เน้นกลุ่มวัยรุ่นตอนต้นและตอนกลาง ป้องกันก่อนที่จะเกิดปัญหาต่างๆ

ด้าน ทพ.จเร วิชาไทย ผู้จัดการ สวรส. ให้ความเห็นต่อประเด็นงานวิจัยว่า “การแก้ปัญหาไม่ว่าเรื่องใดก็ตาม จำเป็นต้องเข้าใจลักษณะของกลุ่มเป้าหมายในมิติต่างๆ ให้มากที่สุด เช่น กลุ่มเยาวชนหรือวัยรุ่น เรามักจะพบว่าเป็นกลุ่มที่ขาดการยับยั้งชั่งใจ โดยการตัดสินใจส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากอารมณ์มากกว่าเหตุผล ซึ่งหากมองในด้านกายภาพ สมองส่วนหน้าของวัยรุ่นซึ่งเป็นส่วนควบคุมและประมวลความคิดเชิงระบบหรือการคิดเชิงตรรกะยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ โดยจะสมบูรณ์ก็ต่อเมื่ออายุ 20-25 ปี แต่ขณะที่สมองส่วนที่ทำงานเกี่ยวกับอารมณ์ พฤติกรรมจะพัฒนาเร็วกว่า ดังนั้นวัยรุ่นจึงมีความต้องการมากจากสิ่งเร้าต่างๆ ทั้งความต้องการทางเพศ การเสพติดอะไรบางอย่าง และมีความต้องการการยอมรับจากเพื่อน ซึ่งมีความเสี่ยงที่อาจตกไปอยู่ในวงจรของยาเสพติดได้ง่าย นอกจากนี้ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการใช้สารเสพติดของเยาวชน เช่น ปัญหาการดูแลและความรุนแรงในครอบครัว ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนและคนในชุมชน เช่น กรณีการถูกกลั่นแกล้งจากคำพูด หรือพฤติกรรมที่ก้าวร้าว (Bully) อาจส่งผลให้เยาวชนที่ถูกกระทำ มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ฯลฯ

ทั้งนี้เยาวชนอายุ 12-17 ปี มักเริ่มต้นด้วยการดื่มแอลกอฮอล์ และอายุ 18-25 ปี จะมีทั้งดื่มแอลกอฮอล์และติดยาเสพติด ดังนั้นกรอบทิศทางการวิจัยเพื่อดูแลและช่วยเหลือเยาวชนที่ใช้สารเสพติดให้กลับสู่สังคม จำเป็นต้องพัฒนาความรู้เพื่อส่งต่อไปให้ถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายและมาตรการต่างๆ ในระดับพื้นที่ และควรมีการพัฒนาระบบการดูแลและบำบัดรักษาที่กลุ่มเป้าหมายสามารถเข้าถึงบริการได้ ทั้งในเรื่องของสุขภาพ จิตใจ และสังคม โดยควรมีการจัดบริการทั้งในโรงเรียนและชุมชน หรืออาจมีการพัฒนาแอปพลิเคชันมาเป็นตัวช่วยในการให้บริการ เนื่องจากกลุ่มเยาวชนมีพฤติกรรมการใช้มือถืออย่างชัดเจน ตลอดจนควรเน้นการทำงานซึ่งรวมถึงทิศทางการจัดสรรงบประมาณให้กับกลุ่มวัยรุ่นตอนต้นและตอนกลาง เพื่อเป็นการป้องกันก่อนที่จะเกิดปัญหาต่างๆ นอกจากนี้ควรมีการพัฒนานวัตกรรมเพื่อการจัดการเชิงระบบ เช่น การพัฒนาระบบข้อมูลทั้งด้านการส่งเสริม ป้องกัน รักษา ฟื้นฟู การมีหน่วยงานกลางเพื่อทำหน้าที่บริหารจัดการ ประสาน และเชื่อมต่อ การพัฒนาโปรแกรมและติดตามข้อมูลทางระบาดวิทยา ฯลฯ และทั้งหมดควรเป็นการดำเนินงานที่เกิดขึ้นจากการมีส่วนร่วมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อให้เกิดเครือข่ายทางด้านวิชาการ และเกิดงานวิจัยที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง

นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการ สวรส. กล่าวในช่วงท้ายของการแลกเปลี่ยนครั้งนี้ว่า “แม้ว่าปัญหาต่างๆ จะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์และลักษณะของสังคม แต่สำหรับปัญหายาเสพติด ยังคงเป็นปัญหาสำคัญเร่งด่วนของทุกรัฐบาล ที่หน่วยงานด้านวิชาการมีหน้าที่ต้องพัฒนาองค์ความรู้เพื่อสนับสนุนนโยบายให้เกิดการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้การวิจัยเพื่อพัฒนาเยาวชนกลุ่มเปราะบางของ สวรส. เป็นการดำเนินงานที่ตอบสนองนโยบายประเทศและยุทธศาสตร์การปฏิรูประบบการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งเป็นโจทย์ท้าทายของสังคมปัจจุบัน ที่ต้องเร่งพัฒนาให้เกิดทั้งสังคมสูงวัย สังคมคุณภาพและความมั่นคง การปฏิรูปด้านสาธารณสุข รวมถึงการปฏิรูประบบสุขภาพของกลุ่มเด็กและเยาวชนที่ด้อยโอกาส ซึ่งเยาวชนส่วนหนึ่งเข้าข่ายเป็นกลุ่มเปราะบางที่ตกอยู่ในวงจรขาดความรู้ขาดโอกาส และมีความเจ็บป่วย ส่งผลให้สังคมขาดพลังของเยาวชนในการพัฒนาประเทศ ซึ่ง สวรส. เองจะมุ่งสร้างงานวิจัยควบคู่ไปกับการสร้างนักวิจัย เครือข่าย เชื่อมโยงคนทำงานและหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อให้เกิดโอกาสของการนำความรู้จากงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้จริง และส่งผลให้สังคมมีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น

 

ข้อมูลจาก:

  • โครงการวิจัย ประสิทธิผลของโปรแกรมกลุ่มบำบัดแบบการยอมรับและสร้างพันธะสัญญาต่อเยาวชนที่ใช้สารเสพติด
  • โปรแกรมกลุ่มบำบัดแบบการยอมรับและสร้างพันธะสัญญา เพื่อบ่มเพาะความยืดหยุ่นในชีวิตและความตั้งใจในการเลิกสารเสพติด สำหรับเยาวชนที่ใช้สารเสพติด
  • เสวนาหัวข้อ “บทบาทนักวิชาการและภาคีเครือข่ายในการขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ด้วยโปรแกรมกลุ่มบำบัดแบบ ACT สำหรับเยาวชนในพื้นที่ภาคตะวันออก” (22 ก.ย. 2564)
  • 1 : สมิตานัน หยงสตาร์ , “เปิดเทรนด์ยาเสพติดวัยรุ่นไทย-ตลาดยาเริ่มค้าผ่านสกุลเงินดิจิทัล”, 5 มีนาคม 2021, https://www.bbc.com/thai/thailand-56289278
  • 2 : 5 วิธี ไอซ์แลนด์แก้ปัญหาเหล้า-ยา ในวัยรุ่น”, 21 พฤศจิกายน 2017, https://www.bbc.com/thai/international-42065324
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: