หน้า (ตา) ในฐานะทุนทางสังคมของคนไทย

ภัทรัตน์ พันธุ์ประสิทธิ์ | 8 มี.ค. 2564 | อ่านแล้ว 4699 ครั้ง


ผ่านมุมมองของมานุษยวิทยา การสังเกตการณ์และการสัมภาษณ์ผู้นำระดับท้องถิ่น ข้าราชการไทย ตลอดจนคนธรรมดาสามัญ The Way Thais Lead. Face as Social Capital โดย Larry S. Persons พาเรา (โดยเฉพาะคนไทย) เข้าไปสำรวจการมองเห็นตัวตน ความสัมพันธ์กับคนอื่นและการจัดวางที่ทางของคนไทยภายใต้กรอบความคิดเกี่ยวกับ "หน้าตา" ที่แยกไม่ออกจากชีวิตของคนไทยประหนึ่งปลากับน้ำ

“Face behaviour to Thais is like a water to fish - it is a part of the environment where they live and move and have their being, yet they feel no inclination to analyse or dissect what is so thoroughly familiar to them.” (xi)

ไม่เพียงความจริงที่ว่าคนไทยกับหน้าตาแยกจากกันแทบไม่ออก ความคิดเรื่อง "หน้าตา" และปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันของคนไทยยังวางอยู่บนพื้นฐานของการได้หน้า-เสียหน้า การให้เกียรติ ให้ความนับถือและความเคารพอีกด้วย ในแง่นี้ผู้เขียนจึงมองว่า "หน้าตา" ของคนไทยอยู่ในฐานะของต้นทุนทางสังคมที่ไม่ต่างจากค่าเงินที่แลกเปลี่ยนกันไปมา

จากการวิเคราะห์มุมมองของคนไทยเกี่ยวกับคำห้าคำในภาษาไทย ได้แก่ หน้าตา, เกียรติ, ชื่อเสียง, บารมี, และศักดิ์ศรี ผู้เขียนอ้างว่าคำทั้งห้าสัมพันธ์อย่างมากต่อความคิดเรื่อง “หน้าตา” ตัวตนและตำแหน่งแห่งที่ในสังคมของคนไทย ไม่ว่าจะเป็นการได้หน้า, เสียหน้า, ขายหน้า, รักษาหน้า และคำอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับ “หน้าตา” ซึ่งในครึ่งแรกของหนังสือ ผู้เขียนเข้าไปสำรวจความหมายที่เหลื่อมซ้อนและมีนัยต่างกันออกไปของทั้งห้าคำ รวมถึงสถานการณ์จริงที่คำเหล่านี้ถูกใช้ ขณะที่ส่วนหลังเป็นการลงลึกเกี่ยวกับบทบาทของ “หน้าตา” ต่อผู้นำและปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ในสังคมไทย

กายวิภาคของ "หน้าตา" คนไทย (the anatomy of Thai face)
ภาพประกอบ: The Way Thais Lead. Face as Social Capital หน้า 46

ในส่วนแรก ผู้เขียนเสนอกายวิภาคของ "หน้า" ของคนไทย (the anatomy of Thai face) ที่ประกอบไปด้วย หน้าตา, เกียรติ, ชื่อเสียง, บารมี, และศักดิ์ศรี (ดูรูปประกอบ) โดยกายวิภาคนี้สามารถแบ่งออกเป็นสองส่วนใหญ่ คือส่วนที่เราเป็นผู้ให้กับตนเอง คือ ศักดิ์ศรี ขณะที่อีกส่วนหนึ่งมาจากสังคมเป็นผู้ให้ ได้แก่ หน้าตา, เกียรติ, ชื่อเสียง และบารมี กรวยจะเริ่มจากศักดิ์ศรี อันสิ่งพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนพึงมีและเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนสามารถให้กับตนเอง ชั้นต่อมาคือกรวยที่ความสูงเป็นภาพแทนของเกียรติ และความกว้างเป็นภาพแทนของชื่อเสียง (เกียรติเป็นสิ่งที่ได้มาจากทั้งยศและตำแหน่งอันมีพระมหากษัตริย์เป็นผู้พระราชทาน ในแง่นี้การเป็นข้าราชการจึงเป็นภาพแทนชัดเจนของการมีเกียรติ อย่างไรก็ตามเกียรติยังมีนัยรวมถึงคุณธรรมส่วนบุคคลด้วย ขณะที่ชื่อเสียงคือการเป็นที่รู้จัก) กรวยนี้สามารถยืดหดได้แตกต่างกันไปแล้วแต่บุคคล สำหรับบางคนที่มีเกียรติ ความสูงของกรวยก็เพิ่มขึ้น ยิ่งมีเกียรติมากเท่าไหร่กรวยก็สูงขึ้นตามไปด้วย ขณะเดียวกันชื่อเสียงที่มีจะเป็นตัวกำหนดความกว้างของกรวย ยิ่งชื่อเสียงมากกรวยก็จะมีความกว้างมากขึ้น ดังนั้นความสูงและความกว้างของกรวยจึงขึ้นอยู่กับว่าเกียรติและชื่อเสียงของแต่ละคนมีมากน้อยเพียงใด

ส่วนภายนอกของกรวย คือ หน้าตา หน้าตาเป็นสิ่งที่ฉาบภายนอกของกรวยประหนึ่งทองคำที่ฉาบเจดีย์ ยิ่งมีหน้ามีตาในสังคมมากเท่าไหร่ (หน้าตามาจากหลากหลายเงื่อนไขที่สังคมให้การยอมรับบุคคลนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นฐานะ การศึกษา ความสำเร็จ ฯลฯ) กรวยก็ยิ่งเรืองรองมากขึ้นเท่านั้น สุดท้ายส่วนยอดสุดของกรวยคือ บารมี (อำนาจทางสังคม) สิ่งที่คนธรรมดายากจะมีในครอบครอง ต้องเป็นผู้ที่มีเกียรติ ชื่อเสียงและหน้าตาจึงสามารถเติมเต็มยอดสุดแห่งกรวยนี้ได้

กายวิภาคของหน้าตาคนไทยจึงเป็นเช่นนี้เอง เราแต่ละคนล้วนมีกรวยเป็นของตัวเองที่ประกอบขึ้นจาก หน้าตา, เกียรติ, ชื่อเสียง, บารมี, และศักดิ์ศรี ที่น่าสนใจมากไปกว่านั้น หากจะอิงกับคำอธิบายในเรื่องกรวย จะพบว่าการมองเห็นคุณค่าในตัวเองของคนๆหนึ่ง (ศักดิ์ศรี) เป็นสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับ “หน้าตา” ที่อิงกับการที่สังคมเป็นผู้ให้

หลังจากอธิบายความหมายพื้นฐานของห้าคำและกายวิภาคของ “หน้า” ของคนไทย ผู้เขียนลงลึกเกี่ยวกับความคิดเรื่องของ "หน้า" ในหมู่ผู้นำ หากอ้างตามที่ผู้เขียนเสนอว่า “หน้า” หรือ “หน้าตา” เป็นเสมือนต้นทุนทางสังคมของคนไทย ผู้นำจึงจำเป็นต้องสะสมทุนทางสังคม/วัฒนธรรมเอาไว้ให้ได้มากที่สุด ทั้งต้องระวังไม่ให้ตนเองเสียหน้า พยายามรักษาหน้าตา ตลอดจนบริหารความสัมพันธ์ระหว่างตนเองที่เป็น “ผู้ใหญ่” กับลูกน้องหรือผู้ใต้บังคับบัญชาหรือ “ผู้น้อย” ภายใต้ระบบอุปถัมภ์และความคิดเรื่องบุญคุณและการตอบแทน เพื่อธำรงสถานะของ “หน้าตา” ตนเองเอาไว้ผ่านการเป็นที่ยอมรับและเคารพของคนรอบข้าง

หนึ่งในตัวอย่างที่ผู้เขียนยกขึ้นมาคือการ "เสียหน้า" ที่เป็นเรื่องใหญ่ของคนไทย การเสียหน้าไม่ได้เป็นเพียงความขวยเขินจากการทำผิดพลาดตั้งแต่เรื่องเล็กๆน้อยๆ เช่น พูดผิด เดินตกบันได ฯลฯ ไปจนถึงเรื่องใหญ่เท่านั้น แต่การเสียหน้าไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กน้อยเพียงใดนับเป็นการทำลายซึ่งความนับถือ การยอมรับที่สังคมมีต่อคนๆหนึ่งที่อาจส่งผลต่อคำถามเกี่ยวกับการมีอยู่หรือสถานะของคนนั้นในสังคมเลยทีเดียว สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะความคิดเรื่อง “หน้าตา” ของคนไทยวางอยู่บนการยอมรับจากคนอื่น/สังคมเป็นหลักนั่นเอง

เมื่อการเสียหน้าเป็นเรื่องใหญ่ การรักษาหน้าจึงเป็นเรื่องจำเป็นของเหล่าผู้นำ เราจะพบว่าการยอมรับความผิดของตนเองเป็นสิ่งที่แทบจะหาไม่ได้จากผู้นำในสังคมไทย นั่นเป็นเพราะการยอมรับว่าตนเองทำผิด (แม้จะเรื่องเล็กน้อยที่สุดก็ตาม) เป็นการกระทำที่เสียหน้า การสัมภาษณ์ผู้นำทางศาสนาคนหนึ่งระบุว่าจะหาผู้นำที่เอื้อนเอ่ยคำขอโทษต่อความผิดของตนเองนั้นเป็นเรื่องที่ยากยิ่งหรือแทบจะเป็นไปไม่ได้ ผู้นำบางคนยอมตายเสียดีกว่าจะยอมรับว่าตนเองทำสิ่งที่ผิด

นอกจากนี้ในบางครั้งหรือในหลายครั้งเรายังพบว่า "หน้า" ของ “ผู้ใหญ่” แยกไม่ออกจาก “ผู้น้อย” ที่ติดสอยห้อยตามอยู่ เมื่อเกิดอาการเสียหน้าของผู้นำคนนั้นๆ จึงมักจะตามมาด้วยการออกตัวปกป้องผู้บังคับบัญชาหรือผู้อุปถัมภ์ตนเองของเหล่าผู้น้อย เนื่องด้วย "หน้า" ของผู้ใหญ่ที่ได้มาหรือเสียไปย่อมสัมพันธ์กับตำแหน่งแห่งที่ของตน

ในส่วนท้ายของหนังสือ ผู้เขียนเข้าไปสำรวจสามคำที่สัมพันธ์อย่างมากกับผู้นำไทย ได้แก่ อำนาจ, อิทธิพล, และบารมี โดยพยายามทำให้เห็นว่าสามคำนี้มีเฉดที่แตกต่างกันอยู่ โดย “อำนาจ” มักมาพร้อมกับตำแหน่งหน้าที่ทางกฎหมายสามารถให้คุณให้โทษได้ ขณะที่ “อิทธิพล” มักมาจากความสามารถในการชักจูงหรือโน้มน้าวให้คนรอบข้างเห็นคล้อยได้ โดยอิทธิพลมาจากช่องทางที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ฐานะทั้งการเงินและสังคม ชื่อเสียง การศึกษา ฯลฯ และสำหรับ “บารมี” ผู้เขียนจัดให้เป็นคุณสมบัติที่มาจากคุณธรรมหรือความมุ่งหมายอันดีงามของบุคคลหรือผู้นำที่ได้รับการยอมรับอย่างจริงใจจากสังคมรอบข้าง

ในมุมมองของผู้เขียน ผู้นำที่ประกอบด้วยบารมีจึงเป็นผู้นำที่แท้จริง ขณะที่ผู้นำที่ประกอบด้วยอำนาจและอิทธิพลต่างมุ่งหวังที่จะสะสม “หน้าตา” หรือต้นทุนทางสังคมเพิ่มขึ้นผ่านความพยายามอย่างแรงกล้าที่จะไม่ให้ตนเองเสียหน้าและพยายามได้หน้าและรักษาหน้าไปพร้อมกัน ผู้นำที่มีบารมีจึงเป็นยอดสุดแห่งปรารถนาของสังคม เพราะผู้นำประเภทนี้จะมองเห็นผู้อื่นก่อนตนเองเสมอและพร้อมที่จะทำเพื่อส่วนรวมมากกว่าแสวงหาความมั่งคั่งของต้นทุนทางสังคมให้กับตนเอง

โดยรวมแล้วนับว่า The Way Thais Lead. Face as Social Capital เป็นหนังสือที่อ่านสนุก ด้วยความหนาประมาณ 200 หน้าและภาษาที่ไม่จริงจังนักทำให้หนังสือเล่มนี้อ่านได้เรื่อยๆและเหมาะสมกับผู้อ่านทุกประเภท ไม่จำกัดแค่นักวิชาการที่สนใจประเด็นทางวัฒนธรรมและอารมณ์ความรู้สึกของคนไทยเท่านั้น ด้วยบทสนทนาที่สอดแทรกไปกับบทสัมภาษณ์และบทบรรยายเกี่ยวกับ "หน้าตา" ของผู้นำทำให้อ่านแล้วขำไปด้วยในบางที เพราะในชีวิตประจำวันของคนไทยส่วนใหญ่เป็นไปได้ว่าต้องเจอกับพฤติกรรมทำนองนี้อยู่ตลอดโดยเฉพาะคนที่ทำงานในระบบราชการหรือต้องเจอกับ "ผู้ใหญ่"

ส่วนตัวแล้ว ความประทับใจที่มีต่อหนังสือเล่มนี้อยู่ที่ส่วนแรกที่อธิบายความหมายของ “หน้าตา” และชุดคำทั้งห้าที่ประกอบขึ้นเป็นความคิดและการมองเห็นที่ทางของตัวเองในสังคมของคนไทยได้อย่างดี ในทางหนึ่งแม้จะกล่าวได้ว่าความคิดเรื่องศักดิ์ศรี ชื่อเสียง เกียรติยศ หน้าตา และบารมีเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ในทุกสังคม ไม่ใช่ลักษณะเฉพาะของสังคมไทยเท่านั้น แต่ผู้เขียนได้แสดงให้เห็นผ่านคำอธิบายนัยของคำ รวมถึงสถานการณ์ที่คนไทยรู้สึกหรือมองเห็น “หน้าตา” ในฐานะต้นทุนทางสังคมได้อย่างชัดเจน และเห็นได้ว่าความคิดเรื่อง “หน้า” เป็นองค์ประกอบที่สำคัญอย่างหนึ่งในมิติทางสังคมของคนไทย

ในตอนหนึ่งผู้เขียนยกตัวอย่างความมุ่งหวังของคนไทยส่วนหนึ่งที่ต้องการให้ลูกหลานได้เป็น “เจ้าคนนายคน” เพื่อที่จะได้มาซึ่งเกียรติยศและการนับหน้าถือตาจากคนอื่น ยิ่งอยู่ในสถานะที่คนยอมรับและเคารพมากเท่าใดก็ยิ่งนับเป็นความสำเร็จมากเท่านั้น ซึ่งตรงนี้ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าความคิดเรื่องการเป็นเจ้าคนนายคนจึงนับเป็นความสำเร็จเป็นความคิดที่อยู่ในสังคมไทยมายาวนาน แม้ในปัจจุบันจะเสื่อมคลายไปบ้าง แต่การเป็นข้าราชการก็ยังเป็นความใฝ่ฝันของคนจำนวนไม่น้อย

ความต้องการที่จะได้รับการยอมรับและเคารพจากคนรอบข้างจึงเป็นสิ่งที่คนไทยแสวงหา ถ้าหากจะพูดให้ชัด ความคิดที่เข้มข้นเกี่ยวกับเรื่อง “หน้าตา” ของคนไทยแสดงให้เห็นความเปราะบางของการนับถือ/มองเห็นตัวตนของเราเองที่ขึ้นกับคนอื่นเป็นหลักมากกว่าความภูมิใจที่มีต่อตนเอง ทั้งยังส่งผลต่อความกระหายที่จะเอื้อมแตะสถานะของการมีเกียรติยศและอำนาจอีกด้วย

"หน้าตา" ในสังคมไทยจึงมีความหมายลึกซึ้งและสมควรได้รับการขบคิดมากขึ้นในฐานะระบบความคิดที่ส่งผลอย่างมากต่อการมองตัวเองและความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในสังคม ซึ่งคนไทยที่เกิดและเติบโตในสังคมไทยมองไม่เห็น/ไม่ตระหนักถึงลักษณะเฉพาะตัวของคนไทยตรงนี้มากนัก ทั้งที่วัฒนธรรมการ “เอาหน้า” ความกลัวเสียหน้า กลัวการขายหน้า ล้วนแล้วแต่มีบทบาทสำคัญในหลายช่วงเวลาของชีวิตพวกเรากันทั้งสิ้น ไม่เฉพาะแต่ในหมู่ผู้นำ


 

ที่มา
Larry S. Persons, The Way Thais Lead. Face as Social Capital, (Chiang Mai: Silkworm Books, 2016).

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ

  

Like this article:
Social share: