เผยไตรมาส 1/2564 บริษัทจดทะเบียนมีกำไรสุทธิ 259,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 141% จากช่วงเดียวกันของปี 2563

กองบรรณาธิการ TCIJ 30 พ.ค. 2564 | อ่านแล้ว 3008 ครั้ง

เผยไตรมาส 1/2564 บริษัทจดทะเบียนมีกำไรสุทธิ 259,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 141% จากช่วงเดียวกันของปี 2563

เผยไตรมาส 1/2564 บริษัทจดทะเบียนมีกำไรสุทธิ 259,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 141% จากช่วงเดียวกันของปี 2563 กลุ่มที่กำไรเพิ่มขึ้นสูงสุด ได้แก่ กลุ่มของใช้ส่วนตัวและเวชภัณฑ์ 10,500 ล้านบาท เติบโต 1,632% จากปี 2563 ที่มีกำไร 611 ล้านบาท กลุ่มพลังงาน 83,000 ล้านบาท เติบโต 540% จากปี 2563 ขาดทุน 18,800 ล้านบาท

Thai PBS รายงานเมื่อช่วงกลางเดือน พ.ค. 2564 ว่าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) สรุปภาพรวมภาวะตลาดหลักทรัพย์เดือน เม.ย.2564 ระบุว่า ในช่วง ม.ค. - เม.ย.2564 แต่ละประเทศทยอยฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 ให้ประชากร โดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้ว

ส่งผลให้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์เศรษฐกิจโลกว่าจะสามารถฟื้นตัวกลับมาสู่ภาวะปกติ และปรับประมาณการเติบโตของ GDP โลกเพิ่มขึ้นจาก 5.5% เป็น 6.0%

โดยการระบาดของ COVID-19 รอบใหม่ในประเทศไทย ส่งผลให้นักเศรษฐศาสตร์ปรับลดประมาณการเติบโตของ GDP ลงเล็กน้อย ส่วนหนึ่งเพราะได้รับปัจจัยบวกจากภาคการส่งออกของไทยในช่วงไตรมาส 1/2564 ที่ส่งสัญญาณฟื้นตัวแข็งแกร่งอีกทั้งนักวิเคราะห์ยังปรับประมาณการกำไรของบริษัทจดทะเบียนไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

หุ้นไทยปรับเพิ่มขึ้นเหนือกว่าตลาดหุ้นอื่น

นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลท.เปิดเผยว่า ภาวะตลาดหลักทรัพย์ไทย ณ สิ้นเดือน เม.ย.2564 SET Index ปิดที่ 1,583.13 จุด เพิ่มขึ้น 9.2% จากจากสิ้นปี 2563 ซึ่งถือเป็นการปรับเพิ่มขึ้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยของดัชนีตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ จากการฟื้นตัวของภาคการส่งออกและผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ขนาดใหญ่ที่ทยอยประกาศผลประกอบการที่แข็งแกร่งกว่าที่นักวิเคราะห์คาด

โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีกว่า SET Index เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2563 ได้แก่ กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม กลุ่มธุรกิจการเงิน กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง

4 เดือนแรก ซื้อขายเฉลี่ย 96,115 ล้าน

ตลท.ระบุว่า ในเดือน เม.ย.2564 มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันใน SET และ mai อยู่ที่ 93,283 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 37.0% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยใน 4 เดือนแรกปี 2564 มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 96,115 ล้านบาท

ในเดือน เม.ย. 2564 มีบริษัทเข้าจดทะเบียนซื้อขายใหม่ใน SET 1 บริษัท และใน mai 2 บริษัท โดยใน 4 เดือนแรกปี 2564 SET มีมูลค่าระดมทุน (IPO) สูงที่สุดเมื่อเทียบกับตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ ใน ASEAN ทั้งนี้ สาเหตุหลักมาจากการเข้าจดทะเบียนของ บมจ.ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก (OR)

ส่วน Forward และ Historical P/E ของตลาดหลักทรัพย์ไทย ณ สิ้นเดือน เม.ย.2564 อยู่ที่ระดับ 19.5 เท่า และ 39.3 เท่าตามลำดับ สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชีย ซึ่งอยู่ที่ระดับ 14.8 เท่า และ 22.6 เท่าตามลำดับ ส่วนอัตราเงินปันผลตอบแทน ณ สิ้นเดือน เม.ย.2564 อยู่ที่ระดับ 2.39% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชีย ซึ่งอยู่ที่ 2.34%

กำไร บจ.สูงกว่านักวิเคราะห์คาด 39%

ข้อมูลของบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส จำกัด ซึ่งรายงานผลการดำเนินงานของ บจ.ไตรมาส 1 ปี 2564 โดยระบุว่า บจ.ประกาศผลการดำเนินงานออกมาแล้ว สิ้นสุด ณ วันที่ 17 พ.ค.2564 จำนวน 593 บริษัท มีมูลค่าตามราคาตลาด (มาร์เกตแคป) 95% ของมาร์เกตแคปทั้งตลาด มีกำไรสุทธิ 259,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 141% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไร 107,000 ล้านบาท

และเพิ่มขึ้น 41% จากไตรมาสที่แล้ว 184,000 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์ในตลาดคาด 39% จากเดิมคาดกำไร บจ.ในไตรมาส 1 ปี 2564 จะอยู่ที่ 187,000 ล้านบาท

กลุ่มของใช้ส่วนตัวฯ กำไรเพิ่มขึ้นสูงสุด

สำหรับกลุ่มที่กำไรเพิ่มขึ้นสูงสุด ได้แก่ กลุ่มของใช้ส่วนตัวและเวชภัณฑ์ 10,500 ล้านบาท เติบโต 1,632% จากปีก่อนที่มีกำไร 611 ล้านบาท (รวม บมจ.ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) หรือ STGT), กลุ่มพลังงาน 83,000 ล้านบาท เติบโต 540% จากปีก่อนขาดทุน 18,800 ล้านบาท

กลุ่มเหล็ก 3,740 ล้านบาท เติบโต 484% จากปีก่อนขาดทุน 974 ล้านบาท, กลุ่มปิโตรเคมี 17,600 ล้านบาท เติบโต 419% จากปีก่อนขาดทุน 5,500 ล้านบาท และกลุ่มเกษตร 6,700 ล้านบาท เติบโต 364% จากปีก่อน 1,400 ล้านบาท

ส่วนมุมมองกำไร บจ.ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2564 คาดว่าหุ้นขนาดกลาง และขนาดเล็กที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จะกลับมาฟื้นตัว เช่น กลุ่มค้าปลีก กลุ่มวัสดุก่อสร้าง กลุ่มสื่อ และกลุ่มท่องเที่ยว-ขนส่งทางอากาศ ฯลฯ

โดยปัจจัยหนุนมาจากการกระจายวัคซีนที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น จากรายงานข่าวที่วัคซีนของบริษัทแอสตราเซเนกาจะพร้อมฉีดเดือน มิ.ย. และวัคซีนของบริษัทไฟเซอร์ที่จะพร้อมฉีดเดือน ก.ค. จึงปรับเพิ่มประมาณการกำไร บจ.ปี 2564 มาอยู่ที่ 805,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.96% จากเดิมคาดอยู่ที่ 719,000 ล้านบาท

บล.เมย์แบงก์ฯ ระบุกำไรต่อหุ้นเพิ่มขึ้น

ขณะที่ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ระบุว่า ยังคงเป้าหมายกำไร บจ.ปีนี้ที่ 920,000 ล้านบาท หรือกำไรต่อหุ้น (EPS) ที่ 84 บาท แต่คาดว่านักวิเคราะห์ในตลาดจะทยอยปรับเพิ่มเป้ากำไรขึ้น เพราะกำไรไตรมาส 1 ปี 2564 ออกมาดีกว่าที่คาดการณ์ โดยปัจจุบันเริ่มเห็นสัญญาณจากค่าเฉลี่ย EPS ที่ปรับขึ้นมาอยู่ที่ 82 บาท เพิ่มขึ้นจากต้นปีที่ 75 บาท

อย่างไรก็ดี คาดว่ากำไรไตรมาส 2 ปี 2564 มีความเสี่ยงปรับตัวลงจากไตรมาสแรก และคาดว่าจะเป็นจุดต่ำสุดของกำไรปี 2564 จากสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศที่คาดว่าจะส่งผลให้กลุ่มธนาคารจำเป็นต้องตั้งสำรองเพิ่มขึ้นเพื่อรับมือความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ ขณะที่ไตรมาส 3 และ 4 ของปีนี้คาดการณ์ภาพการเติบโตดีขึ้นภายใต้เงื่อนไขการกระจายวัคซีนที่ทั่วถึงและการกลับมาเปิดประเทศตามแผนของรัฐบาล

บล.ซีจีเอสฯ ทยอยปรับคาดการณ์กำไร

ด้าน บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) ระบุว่า ได้ทยอยปรับเพิ่มคาดการณ์กำไร บจ.ปี 2564 อย่างต่อเนื่อง ล่าสุด คาดการณ์เติบโต 44% อยู่ที่ 567,000 ล้านบาท (กำไร บจ.กว่า 100 บริษัท คิดเป็นมาร์เก็ตแคป 70-80%) จากในช่วงต้นปีที่คาดว่าจะเติบโต 36% โดยหลักมาจากความคาดหวังเชิงบวกจากการกระจายวัคซีนในไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ของปีนี้ รวมถึงมีแผนปรับเพิ่มประมาณการกำไร บจ.อีกครั้ง หลังประเมินสถานการณ์ COVID-19 ในประเทศ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: