เผยผลศึกษาครั้งใหม่พบว่ามีเพียง 7% ของจีโนมหรือยีนทั้งหมดของมนุษย์ยุคใหม่ที่มีความพิเศษเฉพาะสำหรับคนกลุ่มนั้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามนุษย์ในปัจจุบันมีความคล้ายคลึงกันอย่างมากทางด้านพันธุกรรมกับบรรพบุรุษของตนเมื่อหลายหมื่นปีก่อน | ที่มาภาพประกอบ: Michael Brace (CC BY-NC-ND 2.0)
VOA รายงานเมื่อช่วงปลายเดือน ส.ค. 2021 ว่ามีผลการศึกษาครั้งใหม่พบว่ามีเพียง 7% ของจีโนมหรือยีนทั้งหมดของมนุษย์ยุคใหม่ที่มีความพิเศษเฉพาะสำหรับคนกลุ่มนั้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามนุษย์ในปัจจุบันมีความคล้ายคลึงกันอย่างมากทางด้านพันธุกรรมกับบรรพบุรุษของตนเมื่อหลายหมื่นปีก่อน
Nathan Schaefer นักชีววิทยาหรือนักวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิตแห่งมหาวิทยาลัย University of California ซึ่งเป็นหัวหน้าการศึกษาวิจัยนี้ กล่าวว่า ตัวเลขดังกล่าวเป็นอัตราส่วนที่ค่อนข้างน้อย และว่าการค้นพบลักษณะนี้เป็นสาเหตุที่นักวิทยาศาสตร์จำนวนมากปฏิเสธแนวคิดที่ว่า มนุษย์เรามีความแตกต่างอย่างมากจากกลุ่มมนุษย์ “นีแอนเดอทัล” หรือมนุษย์ยุคหินซึ่งสูญพันธุ์ไปเมื่อประมาณ 40,000 ปีก่อน
การศึกษาวิจัยในเรื่องนี้ใช้ดีเอ็นเอที่นำมาจากซากของมนุษย์นีแอนเดอทัลและกลุ่มมนุษย์ยุคแรก ๆ หรือที่เรียกว่า “เดนิโซวาน” โดยนักวิทยาศาสตร์ได้นำดีเอ็นเอจากผู้คน 279 คนที่มีชีวิตอยู่จากทั่วโลกไปเปรียบเทียบกับดีเอ็นเอที่ได้มาจากซากมนุษย์โบราณเหล่านั้น
John Hawks นักบรรพชีวินวิทยา และเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่วิจัยต้นกำเนิดและการพัฒนาของมนุษย์ ที่มหาวิทยาลัย University of Wisconsin ในเมืองเมดิสัน ซึ่งไม่ได้มีส่วนร่วมในการศึกษานี้ กล่าวว่า การระบุยีนที่กลุ่มต่าง ๆ มีร่วมกันนั้นเป็นการคำนวณที่ยาก เขายกย่องนักวิจัยที่ทำการศึกษาเรื่องนี้ว่าได้ "พัฒนาเครื่องมือที่มีคุณค่าซึ่งจะช่วยค้นหาข้อมูลที่ขาดหายไปในจีโนมโบราณ"
นอกจากนี้ การวิจัยยังแสดงให้เห็นถึงอัตราส่วนที่น้อยกว่า คือ 1.5 เปอร์เซนต์ของจีโนมมนุษย์สมัยใหม่ที่มีการใช้ร่วมกันอย่างแปลกประหลาดในหมู่มนุษย์ในยุคปัจจุบัน ยีนจำนวนเล็กน้อยเหล่านี้อาจสามารถให้คำตอบถึงสิ่งที่ทำให้มนุษย์สมัยใหม่มีความแตกต่างออกไป
Richard Green นักชีววิทยาที่มหาวิทยาลัย University of California ที่เมืองซานตา ครูซ และเป็นหนึ่งในผู้เขียนรายงานนี้ กล่าวว่า จีโนมที่ใช้ร่วมกันเฉพาะในมนุษย์ในปัจจุบันนั้น "มีความอุดมสมบูรณ์อย่างมาก" สำหรับยีนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาและการทำงานของสมอง
ในปี 2010 Green ช่วยสร้างโครงร่างแรกของจีโนมมนุษย์นีแอนเดอร์ทัล สี่ปีต่อมา นักพันธุศาสตร์ Joshua Akey ได้ร่วมเขียนบทความที่แสดงให้เห็นว่ามนุษย์สมัยใหม่มี ดีเอ็นเอที่สืบทอดมาจากมนุษย์นีแอนเดอร์ทัล ตั้งแต่นั้นมา นักวิทยาศาสตร์ได้พัฒนาวิธีการในการศึกษาสารพันธุกรรมจากฟอสซิลอย่างต่อเนื่อง
Akey กล่าวชื่นชมการศึกษานี้ว่า เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถหาคำตอบได้มากขึ้นเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และวิวัฒนาการของมนุษย์ และว่าการค้นพบนี้แสดงให้เห็นว่าที่จริงแล้วมนุษย์เราเป็นสายพันธุ์ที่เยาว์วัยมาก และว่าเมื่อไม่นานมานี้ เราอยู่บนโลกใบนี้ร่วมกับมนุษย์สายพันธุ์อื่น ๆ ด้วย
งานวิจัยเรื่องตีพิมพ์อยู่ในวารสาร Science Advances
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ