VOA เผยปักกิ่งเริ่มนโยบายดูดกลืนทางวัฒนธรรมห้ามนักเรียนชนกลุ่มน้อยเรียนภาษาตนเอง

กองบรรณาธิการ TCIJ 30 ต.ค. 2564 | อ่านแล้ว 1868 ครั้ง

VOA เผยปักกิ่งเริ่มนโยบายดูดกลืนทางวัฒนธรรมห้ามนักเรียนชนกลุ่มน้อยเรียนภาษาตนเอง

VOA เผยรัฐบาลจีนเปิดเผยแผนงานพัฒนาเยาวชนระดับชาติสำหรับช่วงสิบปีข้างหน้าที่ยกเลิกการสอนภาษาท้องถิ่นให้กับนักเรียนของชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศเพื่อส่งเสริมการสอนภาษาจีนกลางในฐานะภาษาหลักของชาติแทน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาและวัฒนธรรมหลายคนเห็นว่าเป็นความพยายามของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในการผสานกลืนด้านวัฒนธรรม | ที่มาภาพประกอบ: Bitter Winter

VOA รายงานว่าเมื่อปลายเดือน ก.ย. 2021 ที่ผ่านมา รัฐบาลจีนเปิดเผยแผนงานพัฒนาเยาวชนระดับชาติสำหรับช่วงสิบปีข้างหน้าที่ยกเลิกการสอนภาษาท้องถิ่นให้กับนักเรียนของชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศเพื่อส่งเสริมการสอนภาษาจีนกลางในฐานะภาษาหลักของชาติแทน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาและวัฒนธรรมหลายคนเห็นว่าเป็นความพยายามของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในการผสานกลืนด้านวัฒนธรรม

ถึงแม้ที่ผ่านมาการกำจัดหรือลดการใช้ภาษาเฉพาะของกลุ่มชาติพันธ์กลุ่มใดโดยเฉพาะอาจเป็นเรื่องที่โลกได้เคยเห็นมาก่อนแล้วในฐานะเครื่องมือของกระบวนการดูดซึมทางวัฒนธรรม ตัวอย่างเช่น สหภาพโซเวียตเดิมเคยพยายามจำกัดการใช้ภาษาของชาวยูเครน ชาวโปแลนด์ ชาวลิทัวเนีย และชาวเบลารุส ส่วนอังกฤษก็เคยห้ามสอนภาษาของชาวเวลส์ ชาวสก็อต และชาวไอร์แลนด์ในโรงเรียน หรือแม้กระทั่งในสหรัฐฯ เองก็เคยมีการห้ามสอนภาษาท้องถิ่นของชาวฮาวายในโรงเรียนรัฐบาลเมื่อกว่า 120 ปีที่แล้วเช่นกัน

อย่างไรก็ตามตั้งแต่ปี 2496 หรือเมื่อ 68 ปีที่แล้วองค์การยูเนสโกมีนโยบายที่ส่งเสริมการสอนภาษาแม่หรือภาษาดั้งเดิมของกลุ่มชนต่างๆ ในโรงเรียนระดับประถมซึ่งก็เป็นเรื่องที่นักวิชาการหลายคนสนับสนุน โดยรายงานของ Global Partnership for Education ซึ่งได้รวบรวมผลการวิจัยต่างๆ และเผยแพร่เมื่อปี 2014 ระบุว่าเด็กนักเรียนมักมีแนวโน้มที่จะเข้าเรียนและประสบความสำเร็จทางการศึกษามากกว่าถ้ามีการสอนหรือการเรียนรู้ด้วยภาษาแม่ของตนเอง

แต่ในกรณีของจีน รัฐบาลกรุงปักกิ่งได้เปลี่ยนนโยบายเดิมที่เคยให้หลักประกันสิทธิของเยาวชนคนกลุ่มน้อยเรื่องการได้รับการศึกษาด้วยภาษาแม่มาเป็นการยกเลิกการสอนภาษาดังกล่าวเพื่อมุ่งสอนเด็กนักเรียนให้อ่านและเขียนด้วยภาษาจีนกลางแทน และอาจารย์แพน เม-ลิน จากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ของมหาวิทยาลัย National Yang Ming Chiao Tung ในไต้หวันได้กล่าวกับวีโอเอภาคภาษาจีนว่านโยบายล่าสุดของจีนปักกิ่งนี้จะเป็นผลให้วัฒนธรรมเฉพาะตัวของชนกลุ่มน้อยต่างๆ ในประเทศจีนค่อยๆ ถูกกลืนหายไป

อาจารย์แพน เม-ลินชี้ด้วยว่าจากมุมมองของชาวจีนเชื้อสายฮั่นซึ่งเป็นชนกลุ่มใหญ่ที่สุดในประเทศขณะนี้ มาตรการดังกล่าวแม้จะมีขึ้นเพื่อช่วยสร้างเอกภาพภายในชาติก็ตามแต่ผลกระทบที่แท้จริงของเรื่องนี้จะทำให้วัฒนธรรมซึ่งมีความเฉพาะตัวของชนกลุ่มน้อยต่างๆ สูญหายไปโดยปริยาย

ส่วนอาจารย์ยาง ไฮยิง นักสังคมวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัย Shizuoka ในญี่ปุ่นก็ตั้งข้อสังเกตว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้พยายามขยายนโยบายการดูดซับทางวัฒนธรรมดังกล่าวอย่างเงียบๆ มาก่อนแล้ว แต่เรื่องนี้ได้ถูกเร่งมือขึ้นในสมัยของประธานาธิบดีสี จิ้น ผิง

ขณะนี้มีชนกลุ่มน้อยต่างๆ รวม 56 กลุ่มอยู่ในประเทศจีน แต่กลุ่มที่มีวัฒนธรรมโดดเด่นและต่อต้านนโยบายเรื่องการห้ามสอนภาษาของตนในโรงเรียนมากที่สุดได้แก่กลุ่มชาวทิเบต ชาวมองโกเลีย และชาวมุสลิมอุยกูร์ ซึ่งคุณเคลซาง กยัลเซน บาวา ตัวแทนรัฐบาลพลัดถิ่นของทิเบตในไต้หวันบอกกับวีโอเอภาคภาษาจีนว่าตนรู้สึกกังวลเกี่ยวกับอนาคตของภาษาทิเบตเพราะขณะนี้ 90% ของเยาวชนคนหนุ่มสาวในทิเบตไม่มีโอกาสได้เรียนรู้ภาษาแม่ของตนและไม่สามารถเขียนภาษาทิเบตได้ด้วย โดยสถานการณ์ที่คล้ายกันนี้ก็เกิดขึ้นกับชาวมุสลิมอุยกูร์ในมณฑลซินเจียงของจีนด้วยเช่นกัน

และถึงแม้องค์การสหประชาชาติจะได้ให้คำจำกัดความของ ”การจงใจดำเนินการในเรื่องใดที่มีเจตนาเพื่อทำลายภาษา” ว่าเป็นการทำลายล้างเผ่าพันธุ์ด้านภาษาและวัฒนธรรม รวมทั้งอาจถือได้ว่าเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติก็ตาม แต่อาจารย์ยาง ไฮยิง ของมหาวิทยาลัย Shizuoka ในญี่ปุ่นก็คาดว่าก้าวต่อไปของพรรคคอมมิวนิสต์จีนคือการแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งเดิมนั้นเคยให้หลักประกันเรื่องสิทธิและเสรีภาพของชนกลุ่มน้อยเรื่องการใช้ภาษาพูดและภาษาเขียนของตนเอง ทั้งนี้เพื่อให้เป้าหมายการทำภาษาจีนกลางให้เป็นภาษากลางที่ใช้ร่วมกันโดยคนทุกกลุ่มในชาตินั้นเป็นความจริงขึ้นได้

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: