ม.แม่ฟ้าหลวง โชว์นวัตกรรม 'เครื่องฟอกอากาศด้วยน้ำเชื่อมต่อ IoT'

กองบรรณาธิการ TCIJ 30 พ.ย. 2564 | อ่านแล้ว 2638 ครั้ง

ม.แม่ฟ้าหลวง โชว์นวัตกรรม 'เครื่องฟอกอากาศด้วยน้ำเชื่อมต่อ IoT'

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง โชว์นวัตกรรม 'เครื่องฟอกอากาศด้วยน้ำเชื่อมต่อกับเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตของสรรพสิ่ง' ซึ่งได้รับรางวัลระดับนานาชาติ ช่วยสิ่งแวดล้อมปลอดภัย | ที่มาภาพ: ผู้จัดการออนไลน์

สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ รายงานเมื่อช่วงปลายเดือน พ.ย. 2564 ว่าสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดเวทีเสวนา Research Expo Talk ในงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2564 (Thailand Research Expo 2021) ครั้งที่ 16 พร้อมเปิดตัว “เครื่องฟอกอากาศด้วยน้ำ เชื่อมต่อกับเทคโนโลยีอินเทอร์เนตของสรรพสิ่ง” ซึ่งผลงานวิจัย นายแพทย์อานนท์ จำลองกุล นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ในการเสวนา Research Expo Talk ณ เวที Mini Stage โดย น.ส.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า นวัตกรรมเครื่องฟอกอากาศด้วยน้ำเชื่อมต่อกับเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง ที่นำมาจัดแสดงภายในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ ครั้งนี้ เป็นนวัตกรรมที่มีประโยชน์ต่อส่วนรวม ช่วยลดอัตราการเกิดโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจ รวมทั้งเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่ง วช.ได้ให้การสนับสนุนส่งเข้าประกวดเวทีระดับนานาชาติ และได้รับรางวัลประกาศเกียรติคุณระดับเหรียญทอง จากเวที ” Innovation Week in Africa” (IWA 2021) ซึ่งจัดขึ้นโดยสมาคม OFEED แห่งประเทศโมร็อกโก

ด้าน นายแพทย์อานนท์ จำลองกุล เปิดเผยว่า ที่มาของนวัตกรรมชิ้นใหม่นี้เกิดจากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยประสบปัญหาฝุ่นควันค่อนข้างมาก จำเป็นต้องใช้การนำเข้าแผ่นกรอง Hepa filter จากต่างประเทศ ซึ่งมีราคาค่อนข้างสูงและต้องมีการบำรุงรักษา จึงมีแนวคิดจะทำเครื่องกรองอากาศสำหรับพื้นที่รอยต่อระหว่างพื้นที่ปิดและพื้นที่เปิด โดยมีต้นทุนการบำรุงรักษาต่ำและไม่ต้องใช้แผ่นกรองที่มีความซับซ้อนยุ่งยาก กลายเป็นต้นแบบเครื่องกรองอากาศ “บุ๋งบุ๋ง” ซึ่งที่เป็นผลงานพัฒนาเครื่องรุ่นที่ 3 มีหลักการทำงานโดยดึงอากาศลงไปในน้ำ จากนั้นอากาศจะลอยพ้นน้ำมาอีกด้าน ซึ่งจะมีตัวดักฝุ่น ดักฟองน้ำที่จะลอยคืนกลับให้ฟองน้ำแตกตัว โดยใช้แผ่นฟองน้ำ ไม่ให้ฟองอากาศลอยกลับไปอีกด้าน และดูดอากาศกลับคืนสู่บรรยากาศ มีการแสดงผลมลภาวะทางอากาศผ่านจอ LCD ที่ตัวเครื่องและผ่าน LINE application สามารถสั่งการเปิด-ปิดเครื่องผ่าน LINE application ได้ นอกจากเครื่องฟอกอากาศ จะช่วยทำให้อากาศในพื้นที่สะอาดแล้วเชื่อว่า ยังจะสามารถฆ่าเชื้อไวรัสในอากาศได้ จากการวัดค่าฝุ่นที่เครื่องสามารถกรองได้ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ PM0.3-0.10 ขณะที่ไวรัสโควิด-19 มีเส้นผ่าศูนย์กลางขนาดPM 0.125 ซึ่งใกล้เคียงกับค่าฝุ่น PM 0.1 เครื่องวัดในห้องปฏิบัติการยังไม่สามารถวัดได้ แต่จากผู้คนที่เดินไปมา เชื้อไวรัสมีการปะปนออกมากับละอองน้ำลายที่มีขนาดเกินกว่า PM 0.3 จึงคาดการณ์ว่า จะสามารถกรองหรือฆ่าเชื้อได้ สำหรับต้นทุนการพัฒนาเครื่องต้นแบบรุ่นที่ 3 อยู่ที่ประมาณ 50,000 บาท แต่หากมีการผลิตในระดับอุตสาหกรรมจะอยู่ระหว่าง 20,000 -30,000 บาทหรือต่ำกว่านี้ได้ สามารถปรับทำให้มีขนาดเล็กหรือใหญ่ตามที่ต้องการได้ ขณะนี้มีการจดอนุสิทธิบัตรกระบวนการทำงานไว้แล้ว และจะทดสอบประสิทธิภาพการกรองฝุ่นและการทดสอบทางไฟฟ้าจากห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐาน เพื่อนำผลงานเข้าสู่บัญชีนวัตกรรมไทย และเตรียมพร้อมสำหรับการจดแจ้งทรัพย์สินทางปัญญาระดับนานาชาติต่อไป

ส่วนการถ่ายทอดองค์ความรู้ มีการตีพิมพ์งานวิจัยในวารสารเผยแพร่ให้ประชาชนและนักวิชาการสามารถอ่านได้ และหากต้องการทราบรายละเอียดหรือเจรจาซื้อขายทรัพย์สินทางปัญญาสามารถติดต่อกับทางมหาวิทยาลัยได้

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: