คลัสเตอร์เรือนจำ เมื่อกรมราชทัณฑ์คือปลายน้ำของระบบยุติธรรมในไทย

กองบรรณาธิการ TCIJ 30 มิ.ย. 2564 | อ่านแล้ว 5559 ครั้ง

ห้องเรียนสิทธิมนุษยชนออนไลน์ ตอน “โควิด-19: ถอดบทเรียน ร่วมหาทางแก้เพื่อหยุดการระบาดของคลัสเตอร์เรือนจำ” โดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ชี้ทั่วโลกประสบปัญหา COVID-19 ระบาดในเรือนจำ หลายประเทศก็พบว่าตัวผู้ต้องขังประสบปัญหาเดิมคือข้อจำกัดเชิงพื้นที่ทำให้รักษาระยะห่างไม่ได้ ไม่ว่าเรือนจำจะมีขนาดใหญ่แค่ไหนก็ตาม ทั้งปัญหาการขาดการดูแลทางโภชณาการทำให้ร่างกายอ่อนแอ เสี่ยงต่อการติดโรคโดยง่าย หรือการใช้ชีวิตในพื้นที่จำกัดก็ทำให้เสี่ยงติดโรคอื่น ๆ นอกเหนือจาก COVID-19 อีกด้วย 

วันที่ 22 มิ.ย. 2564 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จัดห้องเรียนสิทธิมนุษยชนออนไลน์ ตอน “โควิด-19: ถอดบทเรียน ร่วมหาทางแก้เพื่อหยุดการระบาดของคลัสเตอร์เรือนจำ” สืบเนื่องมาจากสถานการณ์ความรุนแรงของการระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่คลัสเตอร์ใหญ่ในระลอกนี้เกิดขึ้นในหลายพื้นที่รวมถึงเรือนจำด้วย เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่แออัด จึงไม่เอื้อให้เกิดการรักษาระยะห่าง ทั้งยังมีปัญหาเรื่องระบบสุขภาวะและสวัสดิการการดูแลสุขภาพ ข้อมูลจากกรมราชทัณฑ์ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.-22 มิ.ย. 64 มีผู้ติดเชื้อสะสมโควิด-19 สะสมในเรือนจำและทัณฑสถาน 35,449 รายและผู้ต้องขังเสียชีวิตรวมแล้ว 33 คน 

โดยในห้องเรียนสิทธิมนุษยชนออนไลน์ครั้งนี้ได้แขกรับเชิญมาร่วมพูดคุยหลากหลายคน ได้แก่ หรรษา บุญรัตน์ ที่ปรึกษาสำนักคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล นายกสมาคมนักวิจัยประชากรและสังคม ภาณุพงศ์ จาดนอก นักเคลื่อนไหวทางสังคม และ ปิยรัฐ จงเทพ แกนนำของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า มวลชนอาสา หรือ We Volunteer ซึ่งทั้งสองได้เข้าไปอยู่ในเรือนจำด้วยข้อหาทางการเมืองและออกมาเรียบร้อยแล้ว จึงได้เห็นสิ่งแวดล้อมและสภาพการณ์ในเรือนจำ พูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และ ภัทรานิษฐ์ เยาดำ เจ้าหน้าที่อาวุโสฝ่ายรณรงค์นโยบาย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ดำเนินรายการโดย ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ จากโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw)

ความแออัดในเรือนจำ ปัญหาใหญ่ที่ยังแก้ไม่ตก 

หรรษา บุญรัตน์ ปรึกษาสำนักคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวว่า ผู้ต้องขังคือกลุ่มเปราะบางกลุ่มหนึ่งในสถานการณ์โควิด-19 เนื่องจากต้องอาศัยอยู่ในพื้นที่แออัด มีปัญหาเรื่องการเข้าถึงอุปกรณ์และเครื่องมือด้านสุขภาพต่างๆ โดยในปี 2563 กรมราชฑัณฑ์ค่อนข้างควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดได้ค่อนข้างดี แต่เมื่อเกิดระลอกที่สามในปี 2564 นี้ก็กลายเป็นการแพร่ระบาดในเรือนจำอย่างกว้างขวาง ขณะที่วัคซีนก็เป็นของหายาก แม้แต่ประชาชนทั่วไปเองก็ยังไม่สามารถเข้าถึง ทาง กสม. ก็ได้ออกแถลงการณ์เรื่องความเท่าเทียมของผู้ต้องขังที่สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพรวมถึงวัคซีนต่างๆ อย่างเหมาะสม และขอติดต่อกรมราชทัณฑ์เพื่อปรึกษาปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และสภาพในเรือนจำ 

อย่างไรก็ตาม ในเวลานี้เรือนจำมีผู้ต้องขังเกินจำนวนอยู่แล้ว เมื่อคุยกับทางราชทัณฑ์ก็พบว่าทางราชทัณฑ์มีมาตรการต่างๆ เช่น ตรวจคัดกรองผู้เข้าต้องขังหน้าใหม่ และกักบริเวณ 21 วัน และมีการตรวจเชิงรุก 100 เปอร์เซ็นต์ ผู้ที่ติดเชื้อจะถูกส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลด้านนอกเพื่อให้การรักษา และมุ่งมั่นรักษาปอดเป็นสำคัญ รวมถึงให้สมุนไพรไทย เช่น ฟ้าทลายโจรในการรักษาผู้ป่วย ทั้งยังติดต่อขอวัคซีนให้ผู้ต้องขัง และเท่าที่พูดคุยนั้นทางสาธารณสุขก็จะมอบวัคซีนให้อย่างทั่วถึง โดยจะให้มาเป็นล็อตๆ เนื่องจากปริมาณวัคซีนไม่เพียงพออยู่แล้ว จากนั้นทางกรมราชทัณฑ์จะกระจายไปยังเรือนจำที่ต่างๆ ทั่วประเทศ และเร่งฉีดให้ผู้ต้องขังสูงอายุหรือกลุ่มเสี่ยง

"ในส่วนของอุปกรณ์ป้องกันเช่นหน้ากากผ้าและเจลแอลกอฮอล์ก็มีเพียงพอ แต่ในเรือนจำนั้นมีสภาพแออัดมากทำให้หลายคนไม่สะดวกในการเว้นระยะห่าง หรือพบความยากลำบากในการสวมใส่หน้ากากตลอดเวลา ขณะที่บุคลากรทางการแพทย์นั้นก็ขาดแคลนอย่างมาก ลำพังไม่มีโรคระบาดนั้นการจะเข้าถึงบริการสุขภาพก็ยากลำบากอยู่แล้ว โดยกรมราชทัณฑ์ขอความช่วยเหลือทางการแพทย์ไปยังสามเหล่าทัพเรียบร้อยแล้ว" 

"สำหรับผู้ต้องขังที่ได้รับการปล่อยตัวแล้วก็จะมีการตรวจซ้ำ หากพบว่ามีเชื้อก็จะติดต่อไปยังสาธารณสุขท้องที่ตามภูมิลำเนาของอดีตผู้ต้องขัง และมีมาตรการกักตัวตามมา ขณะที่การเยี่ยมญาติ ก็มีการพยายามให้เยี่ยมญาติผ่านแอพลิเคชั่นต่างๆ ซึ่งกรมราชทัณฑ์ก็ยอมรับว่ามีอุปสรรคด้านการเข้าถึงอุปกรณ์ ขณะที่ในระยะยาว เรือนจำพยายามลดความแออัดของผู้ต้องขังให้มากขึ้นซึ่งทำมาตั้งแต่ปี 2563 ที่มีการระบาดมาก่อนแล้ว เช่น มีการอภัยโทษ ซึ่งลดผู้ต้องขังไปได้หลายหมื่น แต่ในระยะยาวนั้นคือต้องแก้กฎหมายยาเสพติดเพราะผู้ต้องขังจำนวนมากต้องโทษจากคดียาเสพติด เช่น มีครอบครองจำนวนเล็กน้อย เพื่อลดจำนวนผู้ต้องขังที่จะเข้าไปอยู่ในเรือนจำนั้นเป็นผู้กระทำผิดอย่างร้ายแรงจริงๆ ทั้งนี้ เมื่อได้เข้าไปคุยกับกรมราชทัณฑ์ก็พบว่าทางกรมราชทัณฑ์ก็พยายามดูแลสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ให้ดีที่สุด" 

หรรษาเสริมว่า ทางกรมราชทัณฑ์ได้มีการจัดโรงพยาบาลสนามด้วย โดยเป็นการแยกพื้นที่ออกมาจากที่คุมขังปกติ ให้ผู้ต้องหาที่ไม่มีอาการมาอยู่ด้วยกันและมีบุคลากรทางการแพทย์ในเรือนจำมาดูแล แต่อาจไม่ได้มีทุกที่ ทั้งนี้ คิดว่าทางออกที่ดีที่สุดคือต้องลดจำนวนผู้ต้องขัง ผู้ที่ทำผิดความผิดไม่ร้ายแรงก็หาวิธีอย่างอื่นแทนการกักขังก็อาจจะดีกว่า 

ความกว้างเพียง 0.85 ตารางเมตรคือสภาพเรือนนอนในเรือนจำ

กฤตยา อาชวนิจกุลนายกสมาคมนักวิจัยประชากรและสังคม ระบุว่า ที่ผ่านมาเรือนจำมีปัญหามาอย่างยาวนาน แต่ไม่ได้โทษกรมราชทัณฑ์เพราะกรมราชทัณฑ์เป็นเพียงปลายน้ำ ประเทศไทยในช่วงที่มีผู้ต้องขังไม่ถึงหนึ่งแสนคนคือเมื่อปี 2535 จากนั้นก็เพิ่มขึ้นมาโดยตลอด ดังนั้น เรือนจำแออัดจึงเป็นปัญหาในระดับโลกเนื่องจากประเทศไทยมีสัดส่วนของนักโทษเทียบกับประชากรเป็นอันดับหกของโลก เนื่องจากประเด็นคดียาเสพติด ทั้งคดีเล็กน้อยก็เอาเข้าเรือนจำทั้งหมด คนเหล่านี้ส่วนมากเป็นคนจนที่ไม่มีกำลังทรัพย์ในการประกันตัวหรือจ้างทนาย เมื่อเอาผู้ต้องขังคดียาเสพติดเข้าเรือนจำเยอะๆ จำนวนคนจึงพุ่งทะลุ และความที่เป็นบุคคลที่ถูกลืมจึงไม่มีใครสนใจ โรงพยาบาลของกรมราชทัณฑ์รายงานว่าผู้ต้องขังหนึ่งคนมีพื้นที่นอนเพียง 2.25 ตารางเมตร ซึ่งพอจะยอมรับได้หากว่าห้องขังนั้นมีการระบายอากาศในเกณฑ์ดี แต่สถิติที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริงก็คือ ผู้ต้องขังมีพื้นที่นอนเพียง 0.85 ตารางเมตร จึงนอนให้สบายไม่ได้เลย และขณะนี้ก็มีคนมากกว่าสามแสนคน ฉะนั้นในเรือนจำส่วนใหญ่ ผู้ต้องขังจึงต้องตะแคงนอน 

"สภาพชีวิตของผู้ต้องขัง ต้องใช้ชีวิตในเรือนนอน 14 ชั่วโมง ซึ่งในเรือนนอนนั้นแบ่งเป็นห้องเล็กๆ ห้องหนึ่งมีความจุเกินกว่าที่ควรจะจุประมาณ 2-3 เท่า ส่วนใหญ่แล้วจะพบว่าเรือนนอนแออัดอย่างมาก การต้องไปอยู่ในห้องเล็กๆ 14 ชั่วโมง การระบายอากาศก็ไม่ดี เปิดไฟตลอดทั้งวัน หากลุกไปเข้าห้องน้ำกลับมาก็แทบหาที่นอนไม่ได้ ด้วยสภาพแวดล้อมเช่นนี้ สูดอากาศหายใจร่วมกัน 14 ชั่วโมงจึงไม่มีทางเลือกเลย” 

“บางเรือนจำส่งผู้ต้องขังเร็วกว่าที่ควรจนต้องใช้เวลาในเรือนนอนมากกว่า 14 ชั่วโมง ก่อนหน้าโควิด-19 ผู้ต้องขังจึงเป็นโรคทางผิวหนัง เช่น หิด เรื้อน และกลายเป็นโรคติดต่อในที่สุด ด้วยสภาพความเป็นอยู่เช่นนี้ ทำให้ได้ข้อสรุปว่าการจะป้องกันโควิดนั้นเป็นไปไม่ได้เลย เพราะสร้างระยะห่างทางสังคมใน 14 ชั่วโมงในเรือนนอนไม่ได้เลย สิ่งนี้เรายังไม่เห็นภาพชัดเจนว่ามาตรการที่ทางกรมราชทัณฑ์ทำนั้นจะช่วยแก้ไขตรงนี้มากน้อยแค่ไหน แม้พยายามจะบอกว่ามีการแบ่งกลุ่มผู้ต้องขังออกตามระดับความแข็งแรงแล้วก็ตาม

สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ รัฐบาลไทยมัวทำอะไรอยู่ ทำไมไม่ระดมตรวจ หากจะแก้ปัญหานี้นั้นทำได้ไม่ยากแต่ต้องจริงใจ เราต้องลดผู้ต้องขังอย่างรวดเร็วในวิกฤตินี้ ซึ่งทำได้ช้ามากเนื่องจากระบบราชการไม่เอื้อให้ทำได้อย่างรวดเร็ว ขณะที่อเมริกาและฟิลิปปินส์ลดผู้ต้องขังออกอย่างรวดเร็วหลังการระบาดของโควิด-19 ได้ เวลานี้เรายังไม่เห็นการระบายผู้ต้องขังออกโดยให้ประกันตนตามกฎหมาย ถ้าอยากลดการแพร่ก็ต้องทำให้เรือนนอนไม่แออัด ต้องเพิ่มพื้นที่นอน ทำให้ต้องไปต่อเป็นชั้นลอยในเรือนนอน ประเด็นหลักจึงเป็นเรื่องของความแออัดที่จะทำอย่างไรในการระบายผู้ต้องขังเหล่านี้ สิทธิของเขาก็ต้องเหมือนคนข้างนอก จำเป็นต้องฉีดวัคซีนให้ผู้ต้องขังทุกคนอย่างเร็วที่สุด" 

ประสบการณ์ตรงของคนที่เคยอยู่ในเรือนจำ

ภาณุพงศ์ จาดนอก นักเคลื่อนไหวทางสังคม เล่าประสบการณ์การเข้าไปอยู่ในเรือนจำหลังต้องคดีทางการเมืองเมื่อวันที่ 8 มีนาคมจนถึงวันที่ 1 มิถุนายนว่า สิ่งที่พบคือมีมาตรการในการตรวจคัดกรองโควิด-19 ขณะที่ผู้ต้องขังแออัดมากและเรือนจำเองก็ไม่พร้อมจะรับมือกับการแพร่ระบาดของโรค ตนเข้าไปในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มีการตรวจวัดไข้ ยิงอุณหภูมิ ล้างมือและใส่แมสก์ แต่เรื่องแปลกคือตนถูกตรวจโควิด-19 ตอนตีสอง นับเป็นเรื่องแปลกพิสดารที่ได้เจอ ทั้งนี้ มาตรการของเรือนจำในการคัดกรองโรคโควิด-19 คือ เรือนจำจะแบ่งผู้ต้องหาออกเป็นสองกลุ่มคือกลุ่มออกษศาลและกลุ่มที่ศาลฝากขัง เมื่อเข้าไปอยู่ในเรือนจำจะต้องเข้าไปอยู่ในแดนกักตัว 14 วัน ขณะที่ผู้ต้องขังออกศาลกักตัวเพียง 7 วันแล้วย้ายไปยังแดน 1 อีก 7 วัน การระบาดข้างในมันเกิดขึ้นเร็วมากเนื่องจากมีการติดเชื้อโควิดจากผู้คุมและนำเข้าไปสู่ผู้ต้องขังด้านในเรือนจำ จะเป็นผู้ที่ติดต่อประสานงานเช่นผู้ช่วยผู้คุมที่นำเข้าไปสู่แดน

"การกักตัว ผู้ต้องขังที่เข้าใหม่จะมีการตรวจคัดกรอง วัดอุณหภูมิ เข้าไปอยู่ในห้องขนาด 5 เมตรที่มีคนราวๆ 30-40 คนและค่อนข้างแออัด แต่ละคนจะได้รับผ้าห่มสามผืน สิ่งสำคัญคือแม้จะมีแดนกักโรค ซึ่งไม่ได้กักครบ 14 วัน ทำให้บางคนเช่น จัสติน (ชูเกียรติ แสงวงค์ หนึ่งในผู้ต้องขังคดีทางการเมือง) มีอาการออกหลังจาก 7 วันหลังย้ายแดน ทำให้เกิดกลุ่มเสี่ยงเป็นวงกว้างในแดนที่ย้ายมา เข้าใจว่าเป็นเรื่องของความประมาาทเลินเล่อเพราะไม่กักตัวให้ครบ 14 วัน ตนไม่มีอาการที่แสดงออกว่าเป็นผู้ป่วย ถ้าไม่ได้มีการตรวจก็ไม่มีทางรู้ ทำให้มีการปล่อยปละละเลยให้ผู้ต้องขังมาเจอกัน สนทนากันอย่างใกล้ชิดได้โดยที่เราไม่รู้เลยว่าติดโควิด" 

ภาณุพงศ์เสริมว่า ในเรือนจำมีการวัดไข้ทุกวัน ใครที่อุณหภูมิเกิน 37.5 องศาเซลเซียลจะให้นั่งตากพัดลมหรือล้างหน้า ถ้าตรวจแล้วยังมีอุณหภูมิเกินอยู่ก็จะบอกว่าเป็นเพราะอากาศร้อน แต่ไม่แยกผู้ต้องขังออกไป หรือเมื่อผู้ต้องขังเป็นไข้ เจ็บคอหรือไอ การจะได้พบแพทย์แต่ละครั้งต้องใช้เวลาอย่างต่ำ 2 ชั่วโมง ด้วยความที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ บอกว่าเป็นเรือนจำที่มีความปลอดภัยสูง ทำให้ขั้นตอนต่างๆ รัดกุมอย่างมาก นักโทษที่ป่วยจึงเข้าถึงสิทธิในการรักษาล่าช้ามาก กรณีนี้เกิดกับทนายอานนท์ นำภา (หนึ่งในผู้ต้องขังคดีทางการเมือง) ที่อยู่ร่วมกับตนในแดน 1 และมีอาการเจ็บคอ ไม่รู้รส เป็นไข้สูง โดยนอกจากเช็ดตัวแล้วก็ได้รับยาพาราเซตามอนและต้องไปเก็บใบฟ้าทะลายโจรมาต้มกินเอง กว่าจะได้ไปรักษาตัวก็ผ่านไปแล้ว 3-4 วัน ตนมองว่าเป็นการหย่อนในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ทำให้การแพร่กระจายเกิดขึ้นโดยเร็วมากๆ

"นอกจากนี้ ในเรือนจำก็แออัดมาก ต้องอยู่รวมกันในห้อง ไม่สามารถใส่แมสก์ได้ทั้งวันเพราะต้องกินข้าว ต้องอาบน้ำร่วมกันในเรือนจำ และเรือนจำเองเพิ่งมาแจกแมสก์คนละ 5 ชิ้นหลังมีข่าวว่าเกิดการแพร่ระบาดในเรือนจำ ใครอยากเปลี่ยนแมสก์หรือได้ของใหม่ก็ต้องซื้อที่ร้านค้าสวัสดิการ จะได้เป็นแมสก์ผ้า" 

“การรับประทานอาหารนั้นก็ต้องใช้ภาชนะร่วมกัน เช่น ช้อนไม่เพียงพอต่อนักโทษ ก็ต้องใช้ช้อนต่อกัน เกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้งจนตนและเพื่อนผู้ต้องขังซื้อช้อนแจกเพื่อนนักโทษให้เป็นของใครของมันเพื่อลดความเสี่ยง และเสื้อผ้าที่เปลี่ยนทุก 2-3 วัน หรือที่นอน ที่ตนได้ใช้ผ้าห่มผืนเดิมที่ได้รับจากวันแรกที่เข้าไปจนออก โดยไม่รู้เลยว่าผ้าห่มผืนนั้นซักเรียบร้อยแล้วหรือยัง ทำให้เกิดความหมักหมมและเป็นสาเหตุของโรคต่างๆ ได้” ภาณุพงศ์กล่าว

ขณะที่ ปิยรัฐ จงเทพ แกนนำของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า มวลชนอาสา หรือ We Volunteer ซึ่งเคยเป็นผู้ต้องขังด้วยคดีทางการเมืองเช่นเดียวกับภาณุพงศ์ กล่าวว่า ตนไม่ทราบว่าเรือนจำอื่นๆ ปฏิบัติกันอย่างไร ดังนั้นจึงขอให้รายละเอียดเฉพาะจุดที่ตนเห็นว่าเป็นปัญหา โดยเราไม่สามารถไปโทษกรมราชทัณฑ์ได้ทั้งหมด เนื่องจากเรือนจำได้งบจากกระทรวงยุติธรรมน้อยมาก และนอกจากนี้ ยังเป็นแดนสนธยาหรือแดนที่หน่วยงานภายนอกอื่นๆ ไม่สามารถเข้าไปช่วยเหลือ สอดส่องหรือดูแลได้ รวมทั้งเรือนจำยังเป็นปลายน้ำ ไม่ว่าผู้ต้องขังจะมาจากไหน ในสภาพใด ไม่ว่าจะป่วย พิการใดๆ มาก่อน เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้นำมาฝากขังหรือศาลเป็นผู้ตัดสินจำคุก กรมราชทัณฑ์ทำได้เพียงรับไว้เท่านั้น จึงอยากให้ทุกคนตั้งข้อสังเกตไปยังหน่วยงานต้นน้ำเหล่านั้นเสียก่อน เช่น ตำรวจจะไปจับผู้ต้องหามาก่อนแล้วนำมาฝากขังไว้ 48 ชั่วโมงกับคนอื่นๆ แล้วไปขออำนาจศาลฝากขัง จึงเป็นการรวมผู้ต้องคดีในทุกสถานีตำรวจไว้ที่ใต้ถุนศาล และถ้าได้ประกันตัวหรือศาลไม่รับฝากขัง หรือพิพากษายกฟ้อง กลุ่มคนที่จะไปรวมกันที่ใต้ถุนศาลทั้งวันก็จะได้รับการปล่อยตัวไปอยู่ในสังคมภายนอก ขณะที่กลุ่มที่ต้องฝากขังหรือไม่ได้รับการประกันตัว ก็จะถูกส่งไปยังเรือนจำ ไปห้องกักโรคเมื่อพ้น 14 วันจะได้รับอนุญาตให้พบทนายได้

"เรือนจำจังหวัดกาฬสินธุ์ที่ตนไปมาก็ค่อนข้างแออัด เป็นเรือนจำที่แออัดอันดับสามของประเทศ พื้นที่นอนแม้เรือนนอนจะสร้างชั้นลอยหรือมีเตียงสองชั้น ก็ยังต้องนอนตะแคง บางคนตื่นเช้ามาเส้นยึดเพราะต้องนอนท่าเดินทั้งคืน ต้องมากายภาพบำบัดทุกเช้า การเข้าถึงยารักษาโรคและการตรวจรักษาโรคถือเป็นเรื่องยากและเป็นไม่ได้สำหรับนักโทษที่ป่วยหนักมากๆ ทั้งยังเป็นเรือนจำที่ไม่มีคุณหมอ ต้องรอวันเสาร์หรืออาทิตย์ที่ทางการจะส่งคุณหมอมาประจำสัปดาห์ การแจกจ่ายยาก็มาจากผู้ต้องขังด้วยกันไม่ใช่พยาบาลหรือเภสัชกร ดังนั้น ผู้ต้องขังจึงถูกตรวจไปตามมีตามเกิด ตนเคยเป็นไข้ เจ็บคอและหายใจไม่สะดวก เพื่อนนักโทษด้วยกันเอาที่วัดไข้มาวัดและพบว่าอุณหภูมิสูงถึง 39 องศาเซลเซียส แต่พยาบาลบอกว่าเครื่องวัดมันเสีย ตนต้องหาวิธีกินยาเองเพราะเมื่อพยาบาลบอกว่าเครื่องวัดเสีย ทั้งยังบอกว่าผู้ต้องหาไปเดินตากแดด และพบว่ายาหนึ่งเม็ดหายากมาก ตนต้องไปขอซื้อยาโดยแลกกาแฟ ได้ยาฟ้าทะลายโจร 4 เม็ดกับยาพาราเซตามอล 8 เม็ด" ปิยรัฐกล่าว 

ปัญหาคลัสเตอร์ในเรือนจำจากสายตาของทนาย

พูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เล่าว่าในฐานะที่เป็นตัวแทนทางกฎหมายคดีความทางการเมือง เมื่อลูกความไปติดในเรือนจำก็ต้องไปเยี่ยมและพบมาตรการต่างๆ คิดว่ามีปัญหาอย่างน้อยเจ็ดเรื่อง ได้แก่ 

1. การเลื่อนการพิจารณาคดีเพราะเมื่อสถานการณ์โควิดระบาดขึ้นมา ศาลก็เลื่อนพิจารณาคดี ซึ่งเข้าใจได้ ปัญหาคือกรณีที่ผู้ต้องหาอยู่ในเรือนจำนั้นไม่มีการจัดการที่ดีพอ เมื่อเลื่อนคดีก็ส่งผลต่อคนในเรือนจำที่ต้องอยู่ในเรือนจำนานมากขึ้น 

2. การตรวจคัดกรองคนที่เข้าร่วมการหังการพิจารณาคดี ซึ่งต้องทำโดยเปิดเผย แต่เมื่อเกิดการระบาดของโรคก็ทำให้มีการจำกัดบุคคลในการเข้าร่วมพิจารณาคดีและถูกศาลหยิบยกมาใช้เป็นข้ออ้างต่างๆ บางคดีญาติเข้าไปไม่ได้ แต่คนที่เข้าไปได้กลับเป็นเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์หลายสิบคน 

3. กรณีที่ผู้ต้องหา จำเลยอยู่ในเรือนจำ มีการเลื่อนการไต่สวนและการประกันตัว ซึ่งทั้งภาณุพงศ์, อานนท์และคนอื่นๆ ล้วนต้องเผชิญด้วยกันทั้งสิ้น บางกรณี คดีล้อมรถเรือนจำ ศาลสามารถไต่สวนจากโรงพยาบาลสนามได้เลย แค่กรณีศาลกลับไม่ยอมทำเช่นนั้นจนเกิดการเลื่อนพิจารณาคดีไปเรื่อยๆ 

4. สุขภาพของผู้ต้องขังที่ย่ำแย่และได้รับผลกระทบโดยตรงจากความแออัดดังกล่าว 

5. สิทธิในการเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังทั้งของญาติและของทนาย แม้ราชทัณฑ์จะให้เยี่ยมออนไลน์แต่ก็ต้องลงทะเบียน เดือนละหนึ่งครั้ง ครั้งละ 20 นาที และแม้จะออนไลน์แต่คนที่โผล่หน้ามาทางออนไลน์ก็โผล่ได้ 2 คนเท่านั้น ทั้งยังไม่มีความเป็นส่วนตัวด้วย ขณะที่สิทธิในการเข้าเยี่ยมของทหนายก็ถูกกระทบเช่นกัน เช่น ตอนที่ไปเยี่ยมลูกความที่ติดโควิดและต้องย้ายไปยังโรงพยาบาลสนาม ก่อนจะย้ายกลับมายังเรือนจำ โดยระหว่างนี้ห้ามไม่ให้ทนายเยี่ยมผู้ต้องขังระหว่างกักตัวด้วย

6. กรณีผู้ต้องขังที่พ้นโทษระหว่างติดโควิดที่ไม่มีมาตรการในการดูแลที่แน่นอน ทำให้หลายรายใช้ชีวิตข้างนอกเรือนจำโดยไม่รู้ตัวว่าตนเองมีเชื้ออยู่แล้ว

7. ปัญหาเรื่องการประสานงานระหว่างเรือนจำกับโรงพยาบาลในกรณีที่ผู้ต้องหาได้ประกันตัวระหว่างที่ติดโควิด เนื่องจากโรงพยาบาลด้านนอกก็กังวลไม่กล้ารับผู้ป่วย ตนคิดว่าควรมีมาตรการที่เรือนจำติดต่อกับโรงพยาบาลไว้เพื่อรองรับ แต่กลับเป็นภาระของผู้ต้องขังที่ต้องมาวิ่งหาโรงพยาบาลเอง

การรับมือต่อโควิดในเรือนจำอื่นๆ ทั่วโลก

ภัทรานิษฐ์ เยาดำ เจ้าหน้าที่อาวุโสฝ่ายรณรงค์นโยบาย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เล่าว่าได้รวบรวมข้อมูลปัญหาโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในเรือนจำ และได้เก็บข้อมูลจากเรือนจำต่างๆ ทั่วโลกว่าการระบาดส่งผลต่อผู้ต้องขังมากเพียงใด พบว่าจริงๆ แล้วทั่วโลกก็ประสบปัญหาเรื่องการระบาดในเรือนจำเช่นกัน หลายประเทศก็พบว่าตัวผู้ต้องขังประสบปัญหาเดิมคือข้อจำกัดเชิงพื้นที่ทำให้รักษาระยะห่างไม่ได้ ไม่ว่าเรือนจำจะมีขนาดใหญ่แค่ไหนก็ตาม ทั้งปัญหาการขาดการดูแลทางโภชณาการทำให้ร่างกายอ่อนแอ เสี่ยงต่อการติดโรคโดยง่าย หรือการใช้ชีวิตในพื้นที่จำกัดก็ทำให้เสี่ยงติดโรคอื่นๆ นอกเหนือจากโควิด-19 อีกด้วย 

"จำนวนคนที่ติดโควิดในไทยนั้นจะเห็นวิวัฒนาการว่าไม่ลดลงเลย และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อีกด้วย เมื่อเราดูว่าการจัดการโควิดในเรือนจำ ในเชิงมนุษยชนจะพบว่ากติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองระบุไว้ว่า คนที่ถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพต้องได้รับการรับประกันว่าสภาพการคุมขังนั้นต้องไม่ร้ายแรงจนกลายเป็นการทรมานหรือโหดร้าย ทั้งยังต้องมีการรับรองสิทธิว่าจะไม่ถูกควบคุมตัวโดยพลการ การไม่ได้พบปะพูดคุยกับทนายจึงเป็นปัญหาในด้านนี้มากๆ” 

ภัทรานิษฐ์กล่าวเสริมว่า อีกส่วนหนึ่งคือสิทธิในสุขภาพซึ่งอยู่ในกติการะหว่างประเทศที่ไทยลงนามอีกฉบับ ระบุว่าห้ามไม่ให้ไปริดรอนสิทธิจนบุคคลรู้สึกว่าถูกลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทั้งนี้ เมื่อมีโรคแพร่ระบาดอย่างหนักทั่วโลก องค์กรสิทธิในหลายประเทศก็ออกหลักเกณฑ์มาตรการต่างๆ เพื่อลดทอนความเสี่ยง เช่น ลดคดีที่ต้องขังโดยวัดจากกับความเสี่ยงของผู้ต้องขังที่มีต่อสังคม เช่น หากผู้ต้องขังไม่ได้เป็นอาชญากรโดยแท้จริง ก็สามารถปล่อยตัวได้ และอีกส่วนคือ ตนได้ไปสำรวจหาข้อมูลของกรมราชทัณฑ์ พบว่าความเป็นไปได้ในการติดเชื้อก็ยังมาจากผู้ต้องขังเช่นเดียวกับมาจากผู้คุมเรือนจำได้เหมือนกัน โดยความเป็นไปได้ในการฉีดวัคซีนนั้น ตอนนี้ทางกรมราชทัณฑ์รายงานว่ามีการทยอยฉีดไปแล้ว 80 เปอร์เซ็นต์ เช่น เรือนจำธัญบุรี เป็นต้น นอกจากนี้ จำนวนแทพย์ยังไม่เพียงพอ แต่ข้อมูลที่กรมราชทัณฑ์ให้คือมีพยาบาลวิชาชีพ 1 คนต่อ 2,500 คน ขณะที่ผู้ต้องขังต่างชาติ โดยเฉพาะคนที่ไม่มีเงินจ่ายค่าปรับก็จะมีปัญหาในการดูแลอย่างมาก 

ข้อเสนอต่อการจัดการปัญหาในเรือนจำ

กฤตยา พูดถึงประเด็นงบประมาณที่กรมราชทัณฑ์ได้รับว่า ที่ผ่านมามีการเอาคนไปเข้าเรือนจำเป็นจำนวนมากตั้งแต่ปี 2535 โดยงบประมาณไม่เคยเพิ่มอย่างเหมาะสมกับจำนวนผู้ต้องขังเลย ตนเคยทราบมาว่า ผู้ต้องขังจำนวนเกือบสามแสนคนแต่มีงบเพียงพอแค่สำหรับสองแสนคนเท่านั้น เราต้องตั้งคำถามว่าที่ผ่านมา มีงบประมาณค่าผ้าอนามัยให้นักโทษหญิงในเรือนจำเท่าไหร่ นักโทษหญิงที่จนก็ต้องรับจ้างซักผ้าให้นักโทษคนอื่นเอาไปจ่ายค่าผ้าอนามัย ขณะที่ค่าอาหารแต่ละมื้อรวมทั้งค่าแก๊ส ค่าวัสดุต่างๆ นั้นทางเรือนจำจัดสรรให้ผู้ต้องขังแต่ละคนเฉลี่ยรายละ 54 บาทเท่านั้น ตนจึงคิดว่าเราแก้ปัญหาโควิดในเรือนจำได้ยากมากหากไม่สามารถแก้ปัญหาการส่งคนเข้าเรือนจำเป็นจำนวนมากอย่างไร้เหตุผลในหลายกรณี และไม่ให้สิทธิประกันตัว สิทธิในการเจอทนายอย่างเต็มที่ ฉะนั้น จะไปหวังอะไรกับสิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ได้ 

ปิยรัฐเสนอว่า ต้องป้องกันและคัดแยกก่อนส่งเข้าเรือนจำ คือที่สถานีตำรวจ คุกของสถานีตำรวจเป็นจุดแรกและจุดที่ตรวจสอบง่ายที่สุด ถ้าตำรวจคิดว่าจะไม่ให้ประกัน จะเอาไปฝากขัง ก็ตรวจผู้ต้องขังเสียตั้งแต่วันนั้นก็ได้ ปกติการตรวจอย่างละเอียดนั้นสามารถรู้ผลได้ในวันเดียว กรณีถ้าไม่ติดก็จับแยกห้องไป แต่ถ้าติดก็แยกไปกักโรคได้ เป็นการจัดการตั้งแต่ต้นน้ำอย่างได้ผล ขณะที่ศาลก็ควรมีดุลพินิจในภาวะวิกฤติเช่นนี้ว่า บางกรณีไม่ควรฝากขังเพราะนักโทษคดีเล็กๆ น้อยๆ เพราะบางคนไม่รู้ว่าตัวเองพูดคัดค้านการฝากขังได้ ศาลก็ควรอนุโลมผู้คนบ้างในเวลาเช่นนี้ 

พูนสุขกล่าวว่า ยังเห็นการเลือกปฏิบัติระหว่างคดีทั่วไปกับคดีทางการเมือง ทำให้รู้สึกว่าไม่เกิดความจริงจังในการพยายามแก้ปัญหา อยากให้ศาลทำงานเชิงบวกเพื่อพยายามแก้ไขปัญหาต่างๆ เรื่องสุขอนามัยในเรือนจำ ต่อให้ไม่มีโควิดก็เป็นปัญหา ไม่เข้าใจว่าทำไมจัดการไม่ได้ทั้งที่เป็นเรื่องสิทธิพื้นฐาน ทำไมอาบน้ำมากกว่า 8 ขันไม่ได้ เมื่อฟังมาตรการที่ไม่สมเหตุสมผลหลายๆ อย่าง ก็รู้สึกว่าเป็นการจำกัดสิทธิต่างๆ ของผู้ต้องขังและคิดว่าต้องยุติได้แล้ว ปัญหาใหญ่ของราชทัณฑ์คือไม่ยอมรับความจริงว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นปัญหา หากยอมรับปัญหาที่เกิดขึ้นในเรือนจำก็คงจะแก้ปัญหาได้ในท้ายที่สุด

ภัทรานิษฐ์ปิดท้ายว่า การแก้ปัญหาในระยะยาวนั้นสำคัญอย่างมาก องค์กรระหว่างประเทศที่รับผิดชอบการจัดสรรวัคซีนโดยตรงเช่น WHO เท่าที่ได้พูดคุยก็พบว่ามีการพยายามจัดทำชุดเครื่องมือที่เป็นเช็คลิสต์ว่าในการแพร่ระบาดของไวรัสนั้นควรมีการจัดการใดๆ บ้างเพื่อดูแลผู้ถูกคุมขัง โดยอยากให้มีการปฏิบัติตามเช็คลิสต์เหล่านี้ นอกจากนี้ยังรวมถึงการปฏิบัติต่อผู้ถูกคุมขังโดยไม่เลือกปฏิบัติไม่ว่าจะในเชิงการเมืองหรือในเชิงเชื้อชาติ เนื่องจากทัศนคติเจ้าหน้าที่อาจมองว่าผู้ต้องหาต่างชาติเป็นภาระ กลายเป็นการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเชื้อชาติอย่างชัดเจน 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: