Rocket Media Lab: 'วัคซีนทางเลือก' ทางเลือกแห่งความเหลื่อมล้ำ?

Rocket Media Lab 30 ก.ค. 2564 | อ่านแล้ว 6304 ครั้ง

Rocket Media Lab เผยแพร่ข้อมูลเมื่อช่วงปลายเดือน ก.ค. 2564 ระบุว่าหลังจากที่มีการปลดล็อกให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สามารถใช้งบประมาณซื้อวัคซีนทางเลือกได้ ก็ปรากฏว่ามี อปท. ทั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล หรือเทศบาลในหลายจังหวัดแสดงความสนใจนำเงินสะสมของหน่วยงานยื่นแสดงแสดงความจำนงขอซื้อวัคซีนทางเลือก ทั้งวัคซีนซิโนฟาร์มจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ หรือวัคซีนโมเดอร์นาจากสภากาชาดไทย โดยให้เหตุผลว่าเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของรัฐบาลในการกระจายวัคซีนไปจนถึงการกระจายวัคซีนของรัฐบาลเป็นไปอย่างล่าช้าและไม่ทั่วถึงจึงมีความจำเป็นจะต้องจัดหาเองให้ได้โดยเร็ว 

แต่ในขณะเดียวกันก็มีอีกหลายหน่วยงานใน อปท. ซึ่งไม่มีศักยภาพหรือเงินสะสมมากพอที่จะซื้อวัคซีนทางเลือกได้ จนทำให้ประชานชนออกมาแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ เช่น จังหวัดสระแก้ว ว่าเหตุใดถึงไม่ยอมซื้อวัคซีนทางเลือก จึงนำมาสู่การตั้งคำถามถึงความเหลื่อมล้ำไปจนถึงความจำเป็นที่ อปท. จะต้องใช้เงินสะสมจัดซื้อวัคซีนทางเลือกเอง เหตุใดจึงไม่เป็นนโยบายของรัฐบาลในการจัดหาและกระจายวัคซีนให้กับทุกหน่วยงานอย่างทั่วถึงและรวดเร็ว

อปท. เอาเงินมาจากไหน

การซื้อ/จอง วัคซีนทางเลือกของ อปท. ในครั้งนี้เป็นการใช้เงินจ่ายขาดเงินสะสม โดยปกติแล้วแต่ละปี อปท. จะมีรายรับทั้งเงินอุดหนุนทั่วไปจากส่วนกลาง และรายได้ที่จัดเก็บเอง อาทิ การจัดเก็บภาษี ค่าธรรมเนียม ค่าปรับ ใบอนุญาต จากทรัพย์สินการลงทุน ฯลฯ โดยทุกสิ้นปีงบประมาณ เมื่อ อปท.ได้ปิดบัญชีรายรับ รายจ่ายแล้ว จะต้องกันยอดเงินสะสมประจำปีไว้ร้อยละ 25 ของทุกปี เพื่อเป็นทุนสำรองเงินสะสม ซึ่งจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 25 ของทุกปี ในขณะที่เงินที่เหลือก็จะเป็นเงินสะสมของ อปท. กล่าวโดยง่าย อปท. จะมีเงิน 2 ก้อนไว้ใช้ในกิจการและกรณีฉุกเฉิน คือ หนึ่ง เงินสะสม และสอง เงินทุนสำรองเงินสะสม 

สำหรับการใช้เงินสะสมนั้น มีเงื่อนไขสองแบบก็คือ กรณีสภาท้องถิ่นอนุมัติ และกรณีผู้บริหารท้องถิ่นอนุมัติ โดยในกรณีแรกจะต้องเป็นกิจการดังต่อไปนี้ (1) เป็นกิจการตามอำนาจหน้าที่ ซึ่งเกี่ยวกับด้านบริการชุมชนและสังคม (2) กิจการที่เป็นการเพิ่มพูนรายได้ (3) หรือกิจการที่จัดทำเพื่อบำบัดความเดือดร้อนของประชาชน (4) ต้องเป็นไปตามแผนพัฒนาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือตามที่กฎหมายกำหนด (5) ได้ส่งเงินสมทบกองทุนส่งเสริมกิจการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ละประเภทตามระเบียบแล้ว (6) เมื่อได้รับการอนุมัติให้จ่ายขาดเงินสะสมแล้ว องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องดำเนินการก่อหนี้ผูกพันและเบิกจ่าย ให้เสร็จภายในระยะเวลาไม่เกินหนึ่งปีถัดไป หากไม่ดำเนินการให้การจ่ายขาดเงินสะสมนั้นเป็นอันพับไป

ส่วนกรณีที่สองจะต้องเป็นการ (1) รับโอน เลื่อนระดับ เลื่อนขั้นเงินเดือนพนักงานส่วนท้องถิ่น (2) สิทธิประโยชน์ของพนักงาน ลูกจ้างและผู้บริหาร ฯลฯ (3) กรณีฉุกเฉินที่มีสาธารณภัยเกิดขึ้น ให้ผู้บริหารท้องถิ่นอนุมัติให้จ่ายขาดเงินสะสมได้ตามความจําเป็นในขณะนั้น โดยให้คํานึงถึงฐานะการเงิน การคลังขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

การนำเงินไปซื้อวัคซีนทางเลือกของ อปท.ในครั้งนี้ จึงอยู่ภายในกรณีสภาท้องถิ่นอนุมัติภายใต้กิจการที่จัดทำเพื่อบำบัดความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งจะต้องเบิกจ่ายให้เสร็จภายในระยะเวลาไม่เกินหนึ่งปีถัดไป

 

ใครซื้ออะไร เท่าไหร่

จากการทำข้อมูลของ Rocket Media Lab พบว่า อบจ.ที่ตั้งงบประมาณสั่งซื้อวัคซีนทางเลือกมีทั้งหมด 57 จังหวัด ซึ่งงบประมาณที่มีการตั้งไว้ปรากฏในข่าวมากกว่า 4,300 ล้านบาท โดยแยกเป็น

อบจ.ที่มีการตั้งงบฯ หรือสั่งจองซื้อซิโนฟาร์ม จากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ 17 จังหวัดทั้งตามประกาศการได้รับจัดสรรจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 และตามที่ปรากฏในข่าวทั้งที่ได้รับการจัดสรรและยังไม่ได้รับการจัดสรร

นอกจากนั้น จากประกาศหน่วยงาน อปท. ที่ได้รับการจัดสรรวัคซีนซิโนฟาร์ม จากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ครั้งที่ 1 ประกาศ ณ วันที่ 15 กรกฎาคม ยังมีหน่วยงานอื่นๆ ที่ไม่ใช่ อบจ. อีกจำนวน 37 องค์กร (จาก 54 องค์กร) เป็นเทศบาล 14 แห่งและองค์การบริหารส่วนตำบล 23 แห่ง และครั้งที่ 2 ประกาศ ณ วันที่ 22 กรกฎาคม ยังมีหน่วยงานอื่นๆ ที่ไม่ใช่ อบจ. อีกจำนวน 47 องค์กร (จาก 53 องค์กร) เป็นเทศบาล 29 แห่งและองค์การบริหารส่วนตำบล 18 แห่ง

ในขณะที่พบว่า อบจ.ที่มีการตั้งงบฯ หรือสั่งจองโมเดอร์นา จากสภากาชาดไทย มีจำนวน 24 จังหวัด ทั้งตามประกาศของสภากาชาดไทย และตามที่ปรากฏในข่าวที่ไม่มีรายชื่อตามประกาศ

และมี อบจ.ที่มีการตั้งงบฯ หรือสั่งจองทั้งซิโนฟาร์มและโมเดอร์นา มี 16 จังหวัดทั้งตามประกาศการได้รับจัดสรรจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 และสภากาชาดไทย และตามที่ปรากฏในข่าวทั้งที่ได้รับการจัดสรรและยังไม่ได้รับการจัดสรร

นอกจากนี้ยังมี อบจ. อื่นๆ ที่ยังไม่ปรากฏการตั้งงบฯ จัดซื้อวัคซีนทางเลือก (นับถึงวันที่ 23 กรกฎาคม 2564 ตามที่ปรากฏในข่าว) จำนวน 19 จังหวัดด้วยกัน

อบจ. ไหนมีเงินมากที่สุด ซื้อหรือไม่ซื้อวัคซีนทางเลือก

การที่ อปท. จะจัดซื้อวัคซีนทางเลือกในครั้งนี้ ต้องคำนึงถึงเงินสะสมและเงินทุนสำรองเงินสะสมของ อปท. เป็นหลัก จากการทำงานของ Rocket Media Lab ซึ่งได้จัดทำข้อมูลเงินสะสมและเงินทุนสำรองเงินสะสมปีงบประมาณ 2564 ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดทั้ง 76 แห่ง พบว่า อบจ. ที่มีเงินจะสมมากที่สุด 5 อันดับคือ 

1. อบจ.สมุทรปราการ มีเงินสะสม 3,960,744,340 บาท 

2. อบจ.ชลบุรี มีเงินสะสม 3,274,194,970 บาท 

3. อบจ.ปทุมธานี มีเงินสะสม 2,410,849,521 บาท 

4. อบจ.นครราชสีมา มีเงินสะสม 1,940,990,165 บาท 

5. อบจ.อุบลราชธานี มีเงินสะสม 1,886,503,579 บาท 

โดยหากเราพิจารณาจากจำนวนงบประมาณหรือจำนวนโดสที่ทาง อบจ.ประกาศจองไว้ในการจัดซื้อวัคซีนทางเลือกในครั้งนี้ ก็จะพบว่า 5 อันดับ อบจ.ที่ตั้งงบประมาณเพื่อซื้อวัคซีนทางเลือกสูงสุดก็คือ 

1. อบจ.ปทุมธานี สั่งจองซิโนฟาร์ม 500,000 โดส (ได้รับ 110,000 โดส) และสั่งซื้อโมเดอร์นา

2. อบจ.สมุทรปราการ ตั้งงบฯ ไว้ 400,000,000 บาท ซื้อทั้งซิโนฟาร์มและโมเดอร์นา

3. อบจ.พระนครศรีอยุธยา ตั้งงบฯ 400,000,000 ซื้อทั้งซิโนฟาร์มและโมเดอร์นา

4. อบจ.ชลบุรี สั่งจองซิโนฟาร์ม 200,000 โดส (ยังไม่ได้รับการจัดสรร) และสั่งจองโมเดอร์นา 100,000 โดส (ได้รับการจัดสรร 50,000 โดส)

5. อบจ.เชียงใหม่ ตั้งงบฯ ไว้ 260,000,000 บาท ในการสั่งจองโมเดอร์นา 200,000 โดส (ได้รับการจัดสรร 100,000 โดส)

จะเห็นได้ว่า 5 อันดับ อบจ.ที่ตั้งงบประมาณเพื่อซื้อวัคซีนทางเลือกสูงสุด ก็จะเป็น อบจ. ที่มีเงินสะสมจำนวนมากในลำดับต้นๆ ของประเทศ โดยมี 3 อบจ. ที่อยู่ใน 5 อันดับแรก อบจ. ที่มีเงินสะสมมากที่สุด คือ อบจ.สมุทรปราการ (1)  อบจ. ปทุมธานี (3) และ อบจ.ชลบุรี (2) ส่วน อบจ.พระนครศรีอยุธยา อยู่ในอันดับที่ 18  อบจ. เชียงใหม่ อยู่ในอันดับที่ 13 

และหากเปรียบเทียบกับข้อมูลหน่วยงาน อปท. ที่ได้รับการจัดสรรวัคซีนซิโนฟาร์ม จากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ครั้งที่ 1 ประกาศ ณ วันที่ 15 กรกฎาคม ที่ผ่าน ซึ่ง 5 อันดับแรกของหน่วยงานที่ได้รับการจัดสรรวัคซีนรอบแรกสูงสุด คือ อบจ.สมุทรปราการ อบจ. ปทุมธานี อบจ.พระนครศรีอยุธยา อบจ.สมุทรสาคร และ อบจ.นครราชสีมา 

ดังนั้น จะพบว่า อบจ. ที่สามารถจัดซื้อวัคซีนทางเลือกได้ เกือบทั้งหมดเป็น อบจ. ที่มีเงินสะสมจำนวนมาก อยู่ในลำดับต้นๆ ของประเทศ อันทำให้เกิดคำถามถึงความเหลื่อมล้ำตามมาว่าการจัดการบริหารวัคซีนด้วยวิธีการนี้เป็นสิ่งที่เหมาะสมหรือไม่

นอกจากนี้ยังพบข้อสังเกตที่น่าสนใจอีกว่า ในส่วนของ อบจ. ที่มีการตั้งงบประมาณจัดซื้อทั้งสองวัคซีนนั้น และได้การจัดสรรเป็นจำนวนมากลำดับต้นๆ ของทั้งสองวัคซีน ก็ล้วนแล้วแต่เป็น อบจ. ที่มีเงินสะสมจำนวนมากทั้งสิ้นอีกด้วย และไม่เพียงแค่ อบจ. เท่านั้น หากจังหวัดนั้นเป็นจังหวัดที่มีรายได้จำนวนมาก ก็จะพบว่ามี อปท.อื่นๆ จัดซื้อเสริมอีกด้วย เช่น ชลบุรี ที่นอกจาก อบจ.ชลบุรีจะได้สั่งจองวัคซีนซิโนฟาร์มจากทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ไว้จำนวน 200,000 โดส (ยังไม่ได้รับการจัดสรร) และโมเดอร์นาจากสภากาชาดไทยอีก 100,000 โดส (โดยได้รับการจัดสรร 50,000 โดส) ยังปรากฏว่าเทศบาลนครเจ้าพระยาสุรศักดิ์ เทศบาลนครแหลมฉบัง เทศบาลเมืองศรีราชา รวมทั้งเมืองพัทยา ซึ่งเป็น อปท. ที่มีงบประมาณจำนวนมากก็จะจัดซื้อด้วยตัวเองเพื่อช่วยเหลือประชาชนในเขตของตัวเองอีกด้วย

ข้อน่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งก็คือ หากดูสัดส่วนของการตั้งงบประมาณเพื่อจัดหาวัคซีนทางเลือกของ อบจ. ในแต่ละจังหวัดในครั้งนี้จะพบว่า 5 อันดับ อบจ.ที่มีสัดส่วนการตั้งงบฯ วัคซีนทางเลือกต่อเงินสะสมสูงสุด คือ

1. อบจ.แม่ฮ่องสอน คิดเป็น 206.65% ของเงินสะสม

2. อบจ.พระนครศรีอยุธยา คิดเป็น 46.60% ของเงินสะสม

3. อบจ.ฉะเชิงเทรา คิดเป็น 35.37% ของเงินสะสม

4. อบจ.ร้อยเอ็ด 35.34% ของเงินสะสม

5. อบจ.อ่างทอง คิดเป็น 31.38% ของเงินสะสม 

จากข้อมูล อบจ. แม่ฮ่องสอนนั้นใช้ไปถึง 206.65% ของเงินสะสม

ซึ่งอาจจะต้องนำทั้งเงินสะสมและเงินทุนสำรองเงินสะสมมาใช้เกือบทั้งหมด นอกจากนี้ในหลายจังหวัดเป็นสัดส่วนที่สูงกว่า 30% ไม่เพียงแค่นั้นยังพบว่า อบจ. ที่มีการตั้งงบฯ จัดซื้อวัคซีนทางเลือกเป็นสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับเงินสะสมที่มี ก็ไม่ใช่ อบจ.ที่อยู่ในกลุ่มที่มีเงินสะสมจำนวนมากเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ แต่กลับเป็น อบจ.ที่มีเงินสะสมน้อย ทั้ง อบจ. แม่ฮ่องสอน อุดรธานี ฉะเชิงเทรา ร้อยเอ็ด มีเพียงพระนครศรีอยุธยาเท่านั้นที่ถือว่าอยู่ในกลุ่มที่มีเงินสะสมมาก ในขณะที่ อบจ.ที่จัดตั้งงบประมาณจำนวนมากเป็นลำดับต้นๆ ของประเทศ เพื่อจัดซื้อวัคซีนทางเลือก เป็น อบจ.ที่มีเงินสะสมจำนวนมากอยู่แล้ว และถึงแม้จะใช้เงินจำนวนมากในการจัดซื้อวัคซีนทางเลือกครั้งนี้ แต่ก็ยังถือเป็นสัดส่วนที่น้อยเมื่อเปรียบเทียบกับเงินสะสมที่มี 

ทั้งหมดนี้ จึงทำให้น่าตั้งคำถามและขบคิดต่อว่าไปว่าการที่หน่วยงาน อปท. ต้องใช้เงินสะสมในสัดส่วนสูงขนาดนี้เพื่อจัดหาวัคซีนทางเลือกเป็นสิ่งที่เหมาะสมหรือไม่ ทั้งในแง่สัดส่วนของการใช้เงินสะสม และกระบวนการการกระจายวัคซีนที่ล่าช้า จำนวนน้อย และไม่สม่ำเสมอ ที่ผลักดันให้ อปท.ต้องจัดซื้อวัคซีนด้วยตัวเอง 

 

 

อบจ. ที่มีเงินน้อย ซื้อวัคซีนทางเลือกหรือเปล่า

จากการทำงานของ Rocket Media Lab ซึ่งได้จัดทำข้อมูลเงินสะสมและเงินทุนสำรองเงินสะสมปีงบประมาณ 2564 ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดทั้ง 76 แห่ง พบว่า อบจ. ที่มีเงินสะสมน้อยที่สุด 5 อันดับคือ 

1. อบจ.นครสวรรค์ มีเงินสะสม 10,257,152 บาท

2. อบจ.แม่ฮ่องสอน มีเงินสะสม 19,356,514 บาท 

3. อบจ.หนองคาย มีเงินสะสม 45,194,884 บาท

4. อบจ.ร้อยเอ็ด มีเงินสะสม 56,588,011 บาท

5. อบจ.พัทลุง มีเงินสะสม 69,659,509 บาท

จากข้อมูลนี้จะพบว่ามีเพียง อบจ. แม่ฮ่องสอน ที่ปรากฏข่าวสั่งซื้อวัคซีนซิโนฟาร์มจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ 11,000 โดส (ได้รับเพียง 1,000 โดส)  และโมเดอร์นา จากสภากาชาด (โดยไม่ได้ระบุจำนวนโดส) ด้วยงบประมาณ 40 ล้านบาท และ อบจ.ร้อยเอ็ด ที่ตั้งงบฯ ซื้อโมเดอร์นา 20,000,000 บาท (จองไป 15,300 โดส) เท่านั้นที่ตั้งงบฯ จัดหาวัคซีนทางเลือก ในขณะที่อีก 3 อบจ. ทั้งนครสวรรค์ หนองคาย และพัทลุง ไม่ปรากฏข่าวว่ามีการจัดตั้งงบฯ เพื่อจัดซื้อวัคซีนทางเลือกเลย

นอกจากนี้จากข้อมูลยังพบว่า อบจ. ที่มีเงินสะสมน้อยส่วนมาก จะอยู่ในกลุ่มจังหวัดที่ยังไม่ปรากฏแผนการจัดซื้อวัคซีนทางเลือก เช่น อำนาจเจริญ หนองบัวลำภู สตูล นครพนม ตราด ฯลฯ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการปลดล็อกให้ อปท. จัดซื้อวัคซีนทางเลือกในครั้งนี้ เป็นการตอกย้ำถึงความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงวัคซีน ของ อปท. ที่มีเงินน้อย ที่ไม่สามารถจัดซื้อวัคซีนทางเลือกมาแก้ปัญหาการขาดแคลนวัคซีนหรือความล่าช้าของการกระจายวัคซีนของภาครัฐได้ดังเช่น อปท.ที่มีเงินสะสมจำนวนมาก

ความสมดุลของการได้รับการจัดสรรวัคซีน

หากเราเปรียบเทียบข้อมูลการตั้งงบประมาณเพื่อจัดซื้อวัคซีนทางเลือกของ อบจ.แต่ละจังหวัด และการได้วัคซีนหลักที่จัดสรรโดยรัฐบาล รวมไปถึงอัตราการติดเชื้อ ก็จะพบว่า จังหวัดที่ อบจ. มีเงินสะสมจำนวนมาก หรือจังหวัดที่ อบจ. จัดตั้งงบประมาณจัดซื้อวัคซีนทางเลือกเป็นอันดับต้นๆ นั้น ก็มักเป็นจังหวัดที่อยู่ในลำดับต้นๆ ที่ได้รับวัคซีน (ฟรี) จากทางภาครัฐเช่นเดียวกัน เช่น สมุทรสาคร ที่ได้รับจำนวนวัคซีน (ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค ณ วันที่ 20 ก.ค. 64) จำนวน 387,960โดส คิดเป็นร้อยละ 40.70 ของจำนวนประชากร สูงสุดเป็นอันดับ 4 ของประเทศ

หรือสมุทรปราการ ที่ได้รับจำนวนวัคซีน จำนวน 716,554 โดส คิดเป็นร้อยละ 37.09 ของจำนวนประชากร สูงสุดเป็นอันดับ 6 ของ หรือปทุมธานี ที่ได้รับวัคซีนไปแล้ว 408,884 โดส คิดเป็นร้อยละ 22.66 ของจำนวนประชากร เป็นอันดับที่ 12 ของประเทศ

แต่ก็มีบางจังหวัดที่เห็นถึงความเชื่อมโยงว่าทำไมจึงต้องจัดหาวัคซีนทางเลือกด้วยการใช้งบฯ ซื้อเอง ด้วยเพราะได้รับการจัดสรรวัคซีนจากรัฐบาลน้อย เช่น พระนครศรีอยุธยา อยู่ในลำดับที่ 46 ได้วัคซีนรวมทั้งหมดคิดเป็นร้อยละ 10.52 ต่อจำนวนประชากร หรือเชียงใหม่ อยู่ในลำดับที่ 63 ได้วัคซีนรวมทั้งหมดคิดเป็นร้อยละ 9.39 ต่อจำนวนประชากร

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีแนวโน้มว่า อบจ. จังหวัดที่มีเงินสะสมจำนวนมาก สามารถสั่งจองวัคซีนทางเลือกได้เพิ่มขึ้น และยังเป็นจังหวัดที่ได้รับการจัดสรรวัคซีน (ฟรี) จากทางรัฐบาลในจำนวนที่เป็นลำดับต้นๆ ของประเทศ แต่อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องพิจารณาก็คือการเป็นจังหวัดพื้นที่เฝ้าระวัง และอัตราการติดเชื้อในจังหวัดนั้นๆ โดยในขณะนี้มีจังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม 13 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ฉะเชิงเทรา ชลบุรี นครปฐม นนทบุรี นราธิวาส ปทุมธานี ปัตตานี พระนครศรีอยุธยา ยะลา สงขลา สมุทรปราการ และ สมุทรสาคร 

ซึ่งในจังหวัดพื้นที่สีแดงเหล่านี้ก็มีทั้งจังหวัดที่ได้รับการจัดสรรวัคซีนเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ และในอันดับกลางๆ ของประเทศ เช่น นราธิวาส อยู่ในอันดับที่ 23 ได้รับวัคซีนร้อยละ 17.44 ของจำนวนประชากร และยะลา อันดับที่ 25 ได้รับวัคซีนร้อยละ 16.73 ของจำนวนประชากร สงขลา ในอันดับที่ 26 ได้รับวัคซีนร้อยละ 16.65 ของจำนวนประชากร แต่เมื่อดูจากจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมจะพบว่า ยะลาอยู่ในอันดับที่ 8 สงขลาอยู่ในอันดับที่ 14 และนราธิวาส อยู่ในอันดับที่ 19 ซึ่งสูงกว่าอันดับการได้รับจัดสรรวัคซีน 

ในขณะที่พระนครศรีอยุธยาได้รับการจัดสรรวัคซีนอยู่ในอันดับที่ 46 คิดเป็นร้อยละ 10.52 ของจำนวนประชากร แต่มีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ในอันดับที่ 18 ของประเทศ

จะเห็นได้ว่าหากดูความสัมพันธ์ระหว่างการตั้งงบประมาณเพื่อจัดซื้อวัคซีนทางเลือกของ อบจ.แต่ละจังหวัด และการได้วัคซีนหลักที่จัดสรรโดยรัฐบาล รวมไปถึงอัตราการติดเชื้อ ก็จะพบทั้งความสัมพันธ์ที่เป็นไปในทางเดียวกันคือ ผู้ติดเชื้อมาก ได้รับวัคซีนมาก และยังมีเงินสะสมจำนวนมากที่จะสั่งซื้อวัคซีนทางเลือกได้เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย และในขณะเดียวกันก็มีบางจังหวัดที่แม้จะมีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมสูง แต่การได้รับการจัดสรรวัคซีนนั้นยังน้อย ซึ่งทำให้เกิดการใช้งบประมาณ อบจ. สั่งซื้อวัคซีนทางเลือกเพิ่มมากขึ้น

อบจ.ที่มีเงินสะสมน้อย สถานการณ์เป็นอย่างไร 

หากเรามาดูกันที่ อบจ. ที่มีเงินสะสมน้อยของประเทศและการเปรียบเทียบกับจำนวนการได้รับการจัดสรรวัคซีน และจำนวนผู้ติดเชื้อสะสม จะพบว่ามีทั้งที่มีความสัมพันธ์เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เช่น แม่ฮ่องสอน ที่มีผู้ติดเชื้อสะสมต่ำ อันดับที่ 77 ของประเทศ รั้งท้ายสุด ได้รับการจัดสรรวัคซีนเป็นอันดับที่ 31 ของประเทศ จำนวน 37,160 หรือคิดเป็นร้อยละ 15.12 ของจำนวนประชากร แต่ถึงอย่างนั้น อบจ. แม่ฮ่องสอนก็ตั้งงบประมาณเพื่อซื้อวัคซีนทางเลือกมาเสริม เนื่องด้วยเป็นจังหวัดในแถบชายแดนที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อจากประเทศเพื่อนบ้าน 

ในขณะที่มีความสัมพันธ์ไม่สอดคล้องกัน เช่น นครสวรรค์ ซึ่งมีเงินสะสมน้อยเป็นอันดับที่ 1 ของประเทศ ได้รับวัคซีนเพียง 97,240 โดส หรือร้อยละ 9.18 ของจำนวนประชากร เป็นอันดับที่ 65 ของประเทศ ในขณะที่อัตราผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ในอันดับที่ 36 ของประเทศ และยังพบว่า อบจ.นครสวรรค์เองก็ไม่ได้มีแผนจัดซื้อวัคซีนทางเลือก 

หรืออย่าง ร้อยเอ็ด ซึ่งมีเงินสะสมน้อยเป็นอันดับที่ 4 ของประเทศ ได้รับวัคซีนเพียง 11,8020 โดส หรือร้อยละ 9.03 ของจำนวนประชากร เป็นอันดับที่ 67 ของประเทศ ในขณะที่อัตราผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ในอันดับที่ 46 ของประเทศ ทำให้ อบจ.ร้อยเอ็ดได้ตั้งงบประมาณจัดซื้อวัคซีนโมเดอร์นา 20 ล้านบาท ซึ่งเป็นสัดส่วนเกือบ 50% ของเงินสะสมของ อบจ.ร้อยเอ็ดเลยทีเดียว

ทำให้เห็นว่าภายใต้การจัดสรรวัคซีน (ฟรี) ของรัฐบาลที่มีทั้งความสอดคล้องและไม่สอดคล้องกันเมื่อเปรียบเทียบความสัมพันธ์ระหว่างจำนวนผู้ติดเชื้อสะสม จำนวนวัคซีนที่ได้รับการจัดสรร รวมไปถึงการเปิดให้องค์การปกครองท้องถิ่น สามารถจัดงบประมาณซื้อวัคซีนทางเลือกได้เอง ยิ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้น 

เนื่องจาก อปท. แต่ละแห่งนั้นมีศักยภาพและเงินสะสมไม่เท่ากัน จึงทำให้ อปท.ที่มีเงินสะสมจำนวนมาก สามารถจัดซื้อวัคซีนทางเลือกมาเสริมได้ ในขณะที่ อปท.ที่มีขนาดเล็กและมีเงินสะสมไม่มากก็ได้แต่รอการจัดสรรวัคซีนจากทางภาครัฐ ซึ่งมีทั้งความสอดคล้องและไม่สอดคล้องอย่างที่กล่าวไป รวมไปถึงการบริหารจัดการที่ล่าช้าที่ยิ่งซ้ำเติมประชาชนมากยิ่งขึ้นไปอีก 

 

ข้อมูลจาก

  • ข้อมูลสถิติจำนวนประชากรจากการทะเบียน จากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย
  • สถานการณ์ผู้ติดเชื้ออัปเดตรายวันตามพื้นที่ ตั้งแต่เริ่มระบาดถึง 22 กรกฎาคม 2564 กรมควบคุมโรค
  • จำนวนการจัดสรรวัคซีนรายจังหวัด ตั้งแต่เริ่มระบาดถึง 22 กรกฎาคม 2564 กรมควบคุมโรค
  • ประกาศหน่วยงาน อปท. ที่ได้รับการจัดสรรวัคซีนซิโนฟาร์ม จากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ครั้งที่ 1 ประกาศ ณ วันที่ 15 กรกฎาคม และครั้งที่ 2 ประกาศ ณ วันที่ 22 กรกฎาคม 2564
  • ข่าวการจัดตั้งงบประมาณเพื่อจัดซื้อวัคซีนทางเลือกของ อบจ.รายจังหวัดจากสื่อมวลชนต่างๆ จนถึงวันที่ 23 ก.ค. 64 

ดูข้อมูลการจอง-ได้รับการจัดสรรวัคซีนและงบประมาณ ที่ https://rocketmedialab.co/database-covid-19-vaccine-pao

 

 

เกี่ยวกับ Rocket Media Lab

Rocket Media Lab คือแหล่งข้อมูลติดตามประเด็นสังคม ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ เพื่อต่อยอดในงานข่าว

เอกลักษณ์ของ Rocket Media Lab คือการคัดเลือกโจทย์วิจัยจากประเด็นที่มีคุณค่าข่าว (newsworthy) นำเสนอเป็นสองส่วน คือ 1) ฐานข้อมูลดิบ เป็นฐานข้อมูลสาธารณะให้สื่อมวลชนและผู้ที่สนใจสามารถอ้างอิงได้ และ 2) บทวิเคราะห์ เป็นบทความความคิดเห็นที่ตั้งอยู่บนฐานข้อมูล

Rocket Media Lab ออกแบบการวิจัยด้วยระเบียบวิธีหลากหลาย อาทิ การค้นคว้าสอบทานจากฐานข้อมูลสาธารณะ ทั้งที่มีอยู่แล้วและที่รวบรวมขึ้นใหม่ การสำรวจทัศนคติและพฤติกรรมของคน ผ่านแบบสอบถามหรือเครื่องมือติดตามบทสนทนาในสื่อสังคม การทบทวนวรรณกรรม และการสัมภาษณ์

Rocket Media Lab ได้รับทุนสนับสนุนการดำเนินงานจาก National Endowment for Democracy (NED) เป็นเวลา 1 ปีนับตั้งแต่ 1 ต.ค. 2563 จนถึง 30 ก.ย. 2564

https://rocketmedialab.co
https://www.facebook.com/rocketmedialab.co
https://twitter.com/rocketmedialab
contact.rocketmedialab@gmail.com

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: