คณะกรรมาธิการ UN เรียกร้องให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเท่าเทียมผู้ชาย

กองบรรณาธิการ TCIJ 31 มี.ค. 2564 | อ่านแล้ว 2479 ครั้ง

คณะกรรมาธิการ UN เรียกร้องให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเท่าเทียมผู้ชาย

คณะกรรมาธิการว่าด้วยสถานภาพสตรีแห่งสหประชาชาติ หรือ Commission on the Status of Women ได้ลงนามรับรองพิมพ์เขียวเพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ ถือเป็นระยะเวลากว่า 25 ปีหลังจากที่มีการลงนามรับรองปฏิญญาปักกิ่งเพื่อความก้าวหน้าของสตรี | ที่มาภาพ: AP Photo/M. Lakshman (อ้างใน VOA)

VOA รายงานเมื่อช่วงปลายเดือน มี.ค. 2021 ว่าคณะกรรมาธิการว่าด้วยสถานภาพสตรีแห่งสหประชาชาติ หรือ Commission on the Status of Women ได้ถกเถียงกันอย่างหนักก่อนที่จะลงนามรับรองพิมพ์เขียว 23 หน้าอีกครั้ง เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ เมื่อช่วงปลายเดือน มี.ค. 2021 ที่ผ่านมา เป็นเวลา 25 ปีหลังจากที่มีการลงนามรับรองปฏิญญาปักกิ่งเพื่อความก้าวหน้าของสตรี

คณะกรรมาธิการว่าด้วยสถานภาพสตรียังชี้ให้เห็นถึงปัญหาสำคัญต่าง ๆ มากมายในปัจจุบัน รวมถึงความไม่เท่าเทียมกันระหว่างอำนาจของเพศชายและเพศหญิงในตำแหน่งบุคคลสาธารณะ และผลกระทบที่กว้างขึ้นเรื่อย ๆ ของการใช้ความรุนแรงต่อสตรีและเด็กหญิงในโลกดิจิตัล

คณะผู้แทนจากประเทศต่าง ๆ ถกเถียงเรื่องรายละเอียดและการเลือกใช้ภาษาใน มพ์เขียวดังกล่าวจนถึงเกือบนาทีสุดท้าย ครอบคลุมถึงประเด็นเกี่ยวกับ ผู้หญิงปกป้องสิทธิมนุษยชน (women human rights defenders) ความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ รวมไปถึงสิทธิทางการสืบพันธุ์และสุขภาพทางเพศ ซึ่งทำให้เห็นว่ายังมีการต่อต้านสิทธิสตรีและการปฏิเสธที่จะแก้ปัญหาเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศ

ชาติตะวันตกบางประเทศได้พยายามให้คณะกรรมมาธิการฯ ยอมรับผู้หญิงข้ามเพศ และผู้หญิงที่มีการแสดงออกไม่สอดคล้องกับเพศสถานะตามความคาดหวังของสังคมและวัฒนธรรม (transgender and gender non-conforming women) แต่กลับไม่ประสบความสำเร็จ

สหภาพยุโรป (European Union) หรือ อียู กล่าวว่า อียูต้องการจะเห็นการใช้ “ภาษาที่กล้าและมุ่งมั่นกว่านี้” โดยย้ำว่าความพยายามอย่างเป็นระบบของสมาชิกบางประเทศที่ต้องการจะล้มความพยายามสร้างความเสมอภาคทางเพศ แสดงให้เห็นว่ายังมีการต่อต้านสิทธิสตรีอยู่

ด้านแชนนอน โควัลสกี ผู้อำนวยการด้านการส่งเสริมสิทธิและนโยบายของ International Women’s Health Coalition กล่าวในการแถลงข่าวว่า รัสเซียเป็นประเทศแนวหน้าที่ “พยายามที่จะปฏิเสธไม่ให้สตรีและเด็กหญิงได้รับสิทธิของพวกเขา”

โควัลสกียังกล่าวด้วยว่า สันตะสำนัก (The Holy See) ซึ่งเป็นองค์กรบริหารส่วนกลางของคริสตจักรโรมันคาทอลิกทั้งหมด ที่ตั้งอยู่ในนครรัฐวาติกัน มักจะเห็นด้วยกับรัสเซีย ในขณะที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย บาห์เรน และคิวบา แสดงความไม่เห็นด้วยในหลายเรื่อง ซาอุดิอาระเบียย้ำว่า การอ้างอิงถึงเพศ “หมายถึงหญิงและชาย” และการแต่งงานหมายถึงการแต่งงาน “ระหว่างหญิงและชาย” ส่วนประเทศจีน ต่อต้านการใช้คำว่า “ผู้หญิงปกป้องสิทธิมนุษยชน”

ด้าน ฟุมซิเล มลาโบ-งูคา (Phumzile Mlambo-Ngcuka) ผู้อำนวยการขององค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาติ (U.N. Women) กล่าวว่าบางส่วนของข้อตกลงดังกล่าว ทำให้บางประเทศไม่พอใจ ในขณะที่ข้อสรุปและคำแนะนำของเอกสารของคณะกรรมาการธิการว่าด้วยสถานภาพสตรีควรจะ “กล้าและเด็ดเดี่ยวมากกว่านี้” แต่ถึงอย่างนั้น ข้อตกลงที่ได้ก็มีส่วนผลักดันให้เกิดพัฒนาการที่สำคัญต่อการส่งเสริมให้ผู้หญิงดำรงตำแหน่งที่มีผลต่อสังคม

คณะกรรมาธิการฯ ยังยอมรับด้วยว่าถึงแม้จะมีพัฒนาการในด้านต่าง ๆ แต่หนทางที่ผู้หญิงจะได้รับความเท่าเทียมกับผู้ชายยังอีกยาวไกล โดยเฉพาะในเรื่องการเลือกตั้งหรือการแต่งตั้งให้มีบทบาทเป็นผู้ตัดสินใจ หรือผู้บริหาร

คณะกรรมาธิการฯ ยังเห็นว่ามาตรการพิเศษชั่วคราว เช่น การกำหนดให้มีโควต้าผู้บริหารสตรี ยังช่วยทำให้ผู้หญิงมีบทบาทมากขึ้นในสภาระดับท้องถิ่นและระดับชาติ และได้เรียกร้องให้รัฐบาลประเทศต่าง ๆ กำหนดเป้าหมายและห้วงเวลาที่จะสร้างความเสมอภาคทางเพศในตำแหน่งของผู้ที่ได้รับเลือกตั้งให้เข้ามาทำงานเพื่อสังคมอีกด้วย

ส่วนเรื่องการใช้ความรุนแรงต่อสตรีในโลกดิจิตัล มลาโบ-งูคาแห่งองค์การเพื่อสตรี กล่าวว่าคณะกรรมาธิการฯ ได้เรียกร้องให้ประเทศสมาชิกมีมาตรการส่งเสริมให้ผู้หญิงเข้าร่วมกิจกรรมในโลกดิจิตัลมากขึ้น รวมทั้งคุ้มครองพวกเขาจากการถูกกลั่นแกล้ง (cyber bullying) หรือการสะกดรอยตามบนโลกออนไลน์ (cyber stalking)

ปฏิญญาปักกิ่งและแผนปฏิบัติการเพื่อความก้าวหน้าของสตรี ที่ได้รับการอนุมัติจากสมาชิก 189 ประเทศในปี 1995 ได้เรียกร้องให้มีการส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศใน 12 ด้าน ให้มีการต่อสู้กับความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ รวมถึงการส่งเสริมให้เด็กผู้หญิงทุกคนได้รับการศึกษา และให้สตรีได้มีโอกาสดำรงตำแหน่งระดับสูงในภาคธุรกิจและรัฐบาล ตลอดจนในการเจรจาสันติภาพต่าง ๆ อีกด้วย

คำประกาศดังกล่าวยังเป็นเอกสารแรกขององค์การสหประชาชาติ ที่ระบุว่าสิทธิมนุษยชนของผู้หญิงยังรวมไปถึงสิทธิในการที่จะควบคุมและตัดสินใจ​ “ในเรื่องเพศของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสุขภาพทางเพศและสุขอนามัยเจริญพันธุ์ โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติ การบังคับ และการใช้ความรุนแรง”

ในรายงานเมื่อช่วงปลายเดือน มี.ค. 2021 ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการว่าด้วยสถานภาพสตรียังได้เรียกร้องให้รัฐบาลในทุกระดับของประเทศต่าง ๆ รับรองให้ผู้หญิงสามารถเข้าถึงสิทธิด้านอนามัยเจริญพันธุ์และสิทธิทางเพศอื่น ๆ ได้

แชนนอน โควัลสกี แห่ง International Women’s Health Coalition กล่าวว่า ข่าวดีอย่างหนึ่งของการประชุม คือการที่ผู้นำจากหลายประเทศในกลุ่มประเทศละตินอเมริกาและกลุ่มประเทศหมู่เกาะมหาสมุทรแปซิฟิกได้แสดงออกถึงความเป็นผู้นำอย่างชัดเจนในการส่งเสริมสิทธิสตรี นอกจากนั้น สหรัฐอเมริกายังได้หวนกลับมารับบทบาทผู้นำและผู้ปกป้องสิทธิด้านอนามัยเจริญพันธุ์ ความเท่าเทียมทางเพศ และสิทธิสตรีในหลาย ๆ ด้าน

ช่วงสำคัญของการประชุมดังกล่าว คือการปรากฎตัวผ่านทางออนไลน์ของรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ คามาลา แฮร์ริส ซึ่งกล่าวว่า “สถานภาพของผู้หญิงคือสถานภาพของประชาธิปไตย” และย้ำว่ารัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของ ประธานาธิบดี โจ ไบเดน จะทำหน้าที่เพื่อพัฒนาทั้งสองอย่างควบคู่กันไป

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: