เตรียมประกาศให้ 'เหี้ย' เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองที่อนุญาตให้เพาะพันธุ์เชิงเศรษฐกิจได้

กองบรรณาธิการ TCIJ 31 พ.ค. 2564 | อ่านแล้ว 5273 ครั้ง

เตรียมประกาศให้ 'เหี้ย' เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองที่อนุญาตให้เพาะพันธุ์เชิงเศรษฐกิจได้

รมว. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ตอบกระทู้ ส.ส.กระบี่ เรื่องสนับสนุนเลี้ยงตัวเงินตัวทอง 'เหี้ย' โดยถูกต้องตามกฎหมาย เตรียมกำหนดให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองที่อนุญาตให้เพาะพันธุ์เชิงเศรษฐกิจ ขอใบอนุญาต เพาะเลี้ยง จำหน่ายเป็นสินค้า ส่งออกต่างประเทศได้

สำนักข่าวอิศรา รายงานเมื่อช่วงปลายเดือน พ.ค. 2564 ว่าวันที่ 21 พ.ค.2564 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ กระทู้ถามที่ 217 ร. ของ นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดกระบี่ เรื่อง ขอให้สนับสนุนการเลี้ยงตัวเงินตัวทองเป็นสัตว์เศรษฐกิจโดยถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อวันที่ 3 พ.ค.2564

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คำตอบคำถามในข้อ 2 แนวทางพัฒนาและส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ป่าในเชิงพาณิชย์โดยเฉพาะตัวเงินตัวทองอย่างบูรณาการและยั่งยืน

1. ประกาศกำหนดให้เหี้ยเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองที่อนุญาตให้เพาะพันธุ์เชิงเศรษฐกิจ

2. ศึกษาวิจัยการเลี้ยงและการใช้ประโยชน์ของเหี้ยทางด้านเศรษฐกิจร่วมกับสถาบันการศึกษา หรือหน่วยงาน องค์กรที่มีความสนใจ เพื่อหาแนวทางในการพัฒนาการเลี้ยงเหี้ยในระบบฟาร์ม ซึ่งในอนาคตหากสามารถดำเนินการได้สำเร็จแล้ว สามารถส่งเสริมให้เกิดการเพาะเลี้ยงได้ต่อไป

3. ส่งเสริมการขออนุญาต (License) ในการเลี้ยงระบบฟาร์มของไซเตส (CITES) และส่งเสริมให้มีกระบวนการจัดการที่ชัดเจนในการออกเอกสารรับรองสินค้าที่เกิดจากการเพาะพันธุ์ สามารถส่งจำหน่ายเป็นสินค้าออกต่างประเทศได้ ทำให้เกิดกระบวนการใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

รายละเอียดดังนี้

คำถำมข้อที่ 1

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะสามารถทบทวนกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องและถอนชื่อตัวเงินตัวทองออกจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง เพื่อส่งเสริมการเลี้ยงตัวเงินตัวทองในประเทศอย่างถูกกฎหมาย ได้หรือไม่ อย่างไร ขอทราบรายละเอียด

คำตอบข้อที่ 1

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขอเรียนว่า เหี้ย (Varanus salvator) หรือเรียกโดยสุภาพว่าตัวเงินตัวทอง เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ประเภทสัตว์ป่าจำพวกสัตว์เลื้อยคลาน ลำดับ ที่ 91 ตามกฎกระทรวงกำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง พ.ศ. 2546 ออกตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ซึ่งในปัจจุบันพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 มีผลใช้บังคับแล้ว และตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562ในมาตรา 112 กำหนดให้สัตว์ป่าคุ้มครองตามกฎกระทรวงที่ออกตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ด้วย จนกว่าจะมีกฎกระทรวงกำหนดให้สัตว์ป่าชนิดใดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามมาตรา 7ใช้บังคับ ดังนั้น เหี้ยจึงเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ด้วย และมาตรา 8 บัญญัติไว้ว่า “การกำหนดให้สัตว์ป่าคุ้มครองชนิดใดที่มีศักยภาพในการใช้ประโยชน์ในทางเศรษฐกิจเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองที่เพาะพันธุ์ได้ ให้กำหนดโดยประกาศของรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ” ซึ่งจะเห็นได้ว่าตามบทบัญญัติของมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 สามารถพิจารณาประกาศกำหนดให้เหี้ยเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองที่เพาะพันธุ์ได้ เพื่อการใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ โดยไม่จำเป็นต้องถอนชื่อเหี้ยออกจากการเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง หรือต้องพิจารณาทบทวนกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องแต่อย่างใด

แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีความจำเป็นต้องพิจารณาถึงความสำคัญของเหี้ยต่อระบบนิเวศ แนวโน้มของประชากร รวมทั้งเหี้ยยังถูกกำหนดให้เป็นสัตว์ป่าในบัญชีไซเตส (Appendix II) ซึ่งจะต้องมีการจัดทำบัญชีและตรวจสอบจำนวนในธรรมชาติด้วย จึงจำเป็นจะต้องมีข้อมูลทางวิชาการจากการสำรวจวิจัยเพิ่มเติม ตลอดจนข้อมูลวิจัยสนับสนุนในเรื่องของการพัฒนาการเลี้ยงไปสู่การผสมพันธุ์ให้ได้ลูกจากการเพาะเลี้ยงในระบบฟาร์มและให้ได้ผลกำไรคุ้มทุน รวมถึงให้ได้คุณภาพหนังที่ดีมาประกอบการพิจารณาด้วย

คำถำมข้อที่ 2

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะมีการพิจารณาแนวทางพัฒนาและส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ป่าในเชิงพาณิชย์โดยเฉพาะตัวเงินตัวทองอย่างบูรณาการและยั่งยืนต่อไปอย่างไร ขอทราบรายละเอียด

คำตอบข้อที่ 2

แนวทางพัฒนาและส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ป่าในเชิงพาณิชย์โดยเฉพาะตัวเงินตัวทองอย่างบูรณาการและยั่งยืน มีดังนี้

1. ประกาศกำหนดให้เหี้ยเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองที่อนุญาตให้เพาะพันธุ์เชิงเศรษฐกิจ

2. ศึกษาวิจัยการเลี้ยงและการใช้ประโยชน์ของเหี้ยทางด้านเศรษฐกิจร่วมกับสถาบันการศึกษา หรือหน่วยงาน องค์กรที่มีความสนใจ เพื่อหาแนวทางในการพัฒนาการเลี้ยงเหี้ยในระบบฟาร์ม ซึ่งในอนาคตหากสามารถดำเนินการได้สำเร็จแล้ว สามารถส่งเสริมให้เกิดการเพาะเลี้ยงได้ต่อไป

3. ส่งเสริมการขออนุญาต (License) ในการเลี้ยงระบบฟาร์มของไซเตส (CITES) และส่งเสริมให้มีกระบวนการจัดการที่ชัดเจนในการออกเอกสารรับรองสินค้าที่เกิดจากการเพาะพันธุ์ สามารถส่งจำหน่ายเป็นสินค้าออกต่างประเทศได้ ทำให้เกิดกระบวนการใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: