แรงงานข้ามชาติชาวเมียนมาส่งหนังสือถึงกรณีเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติงานโรงพยาบาลวชิระ จังหวัดภูเก็ต ปฎิเสธการขายประกันสุขภาพให้กับเด็กผู้ติดตามของแรงงานข้ามชาติ
ช่วงปลายเดือน พ.ค. 2564 มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) แจ้งข่าวต่อสื่อมวลชนว่า เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2564 มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) ได้มีหนังสือถึงนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่เกี่ยวข้องดำเนินการออกแนวปฏิบัติให้เด็กทุกคนที่เป็นผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติสามารถซื้อประกันสุขภาพได้ โดยจะใช้สิทธิเชื่อมโยงทางใดทางหนึ่งกับบิดาหรือมารดาซึ่งเป็นผู้มีประกันสุขภาพหรือเป็นผู้ประกันตนก็ได้ ในลักษณะเดียวกันกับสิทธิของเด็กในการเข้าถึงสิทธิประโยชน์จากประกันสังคม ที่สามารถเลือกโดยเชื่อมโยงกับบิดาหรือมารดาที่เป็นผู้ประกันตนได้ และให้สถานพยาบาลต่าง ๆ ปฏิบัติไปในแนวทางเดียวกันด้วย
ทั้งนี้ สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ตได้ส่งหนังสือตอบกลับ โดยให้เหตุผลของแนวการปฏิบัติในการปฏิเสธสิทธิของเด็กผู้ติดตามในการซื้อประกันสุขภาพ 2 ประการ ดังนี้
ประการที่ 1 สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ตจะยึดถือสิทธิของมารดามาอันดับแรกเป็นแนวปฏิบัติ ด้วยเหตุกรณีผู้เป็นบิดานั้นต้องใช้เอกสารที่สามารถพิสูจน์ให้ทราบให้เป็นที่ชัดเจนว่าเป็นสามีภรรยา ที่ถูกต้องกันตามกฎหมาย การยึดถือเช่นนั้นเพื่อประโยชน์ของมารดาและบุตร ในการติดตามเฝ้าระวังเกี่ยวกับสภาวะทางสุขภาพ
ประการที่ 2 การแจ้งเกิดเด็กที่มาคลอดโดยแรงงานข้ามชาติ ทางโรงพยาบาลฯได้เจอปัญหาการอ้างชื่อเป็นบิดาของเด็กที่คลอด อาจจะเป็นด้วยเหตุผลต้องการได้รับสัญชาติ หรือหลีกเลี่ยงผลที่อาจจะได้รับโดยกฎหมายของแรงงานกลุ่มนี้ ซึ่งกรณีตรวจพบก็ได้ดำเนินการตามกฎหมายถึงที่สุด
อย่างไรก็ตาม การที่แรงงานข้ามชาติถูกปฏิเสธการเข้าถึงบริการการขายประกันสุขภาพของโรงพยาลวชิระ จังหวัดภูเก็ต ทางผู้ร้องไม่เห็นด้วยต่อหนังสือตอบกลับของจังหวัดภูเก็ตตอบกลับมา เนื่องจาก การออกเอกสารใบสูติบัตรเป็นเอกสารที่ได้มีการระบุอย่างชัดเจนแน่นอนถึงความสัมพันธ์ของบิดา มารดา และบุตร ที่ดำเนินการออกโดยหน่วยงานรัฐ เป็นเอกสารทางราชการ ทางสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ตไม่ควรที่จะออกมาปฏิเสธหนังสือทางราชการที่ออกจากหน่วยงานอื่น ซึ่งการแจ้งเกิดมีการแนบเอกสารและมีการแจ้งต่อพนักงานราชการ หมายความถึงในภาคส่วนของมหาดไทยก็มีการเชื่อและยอมรับว่าชายผู้นี้เป็นบิดาแล้ว นอกจากนั้น การที่ทางโรงพยาบาลฯ อ้างถึงปัญหาที่ได้เจอ เรื่อง การอ้างชื่อเป็นบิดาของเด็กที่คลอดอาจจะเป็นเหตุต้องการได้รับสัญชาติ หรือหลีกเลี่ยงผลที่อาจจะได้รับโดยกฎหมายของแรงงานกลุ่มนี้ จากเหตุผลดังกล่าวในประเด็นเรื่องสัญชาตินั้น ทั้งบิดาและมารดามีสัญชาติเมียนมาทั้งคู่ ถึงอย่างไรเด็กที่เกิดในประเทศไทยก็ไม่ได้รับสัญชาติไทยหรือสัญชาติอื่นแม้จะเกิดที่ประเทศไทยก็ตาม ตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2508
ดังนั้น การยกข้ออ้างดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับปัญหาที่ทางผู้ร้องได้ร้องไป โดยที่ทนายความของมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาเป็นผู้รับมอบอำนาจมีหนังสือสอบถาม ไม่อาจเป็นเหตุที่เจ้าหน้าที่ภาครัฐปฏิเสธไม่ขายบัตรประกันสุขภาพให้กับเด็กที่เกิดจากแรงงานข้ามชาติโดยใช้เงื่อนไขจากบิดาได้ และแรงงานข้ามชาติผู้ได้รับผลกระทบจึงได้มีหนังสือถึงสาธารสุขจังหวัดอีกฉบับเพื่อเรียกร้องให้มีการทบทวนการตอบข้อหารือดังกล่าว และขอให้ทางหน่วยงานชี้แจงถึงเหตุผลโดยยึดตามหลักของกฎหมายและอำนาจที่หน่วยงานมี โดยคำนึงถึงประโยชน์ของเด็กเป็นสำคัญ ให้เด็กสามารถเข้าถึงสิทธิในการเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานด้านสุขภาพและสาธารณสุขต่อไป
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ