จับตา: ผลการดำเนินงาน 'การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย' ปีงบประมาณ 2563

กองบรรณาธิการ TCIJ 21 เม.ย. 2564 | อ่านแล้ว 2910 ครั้ง


เมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2564 คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอผลการดำเนินงานของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในปีงบประมาณ 2563 นโยบายของคณะกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (คณะกรรมการฯ) และโครงการและแผนงานของ รฟม. ในอนาคต (เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2543 มาตรา 73 ที่บัญญัติให้ รฟม. ทำรายงานปีละครั้งเสนอคณะรัฐมนตรี รายงานนี้ให้กล่าวถึงผลของงานในปีที่ล่วงมาแล้วและคำชี้แจงเกี่ยวกับนโยบายของคณะกรรมการฯ โครงการและแผนงานที่จะทำในภายหน้า) สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

1. ผลการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2563 (ณ วันที่ 30 กันยายน 2563) 

1.1 ด้านการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน มีผลการดำเนินการ ดังนี้ 

โครงการ ผลการดำเนินการ/ความก้าวหน้า
โครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง (4 โครงการ)
1) รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ เปิดให้บริการแล้ว
2) รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) - งานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและงานศึกษาและวิเคราะห์โครงการตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 แล้วเสร็จ
- งานก่อสร้างงานโยธามีความก้าวหน้าร้อยละ 69.82 (เร็วกว่าแผนร้อยละ 2.77)
- คาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนตุลาคม 2567
3) รถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี - งานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและส่งมอบพื้นที่โครงการแล้วเสร็จ
- งานก่อสร้างงานโยธา ผลิตและติดตั้งงานระบบรถไฟฟ้าและงานเดินรถมีความก้าวหน้าร้อยละ 62.23 (เร็วกว่าแผนร้อยละ 3.08)
- คาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนกันยายน 2565
4) รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง - งานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินแล้วเสร็จ
- งานก่อสร้างงานโยธา ผลิตและติดตั้งงานระบบรถไฟฟ้าและงานเดินรถมีความก้าวหน้าร้อยละ 64.27 (เร็วกว่าแผนร้อยละ 5.14)
- คาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนมิถุนายน 2565
โครงการที่อยู่ระหว่างการประกวดราคา (1 โครงการ)
รถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) - งานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินมีความก้าวหน้าร้อยละ 19.20 (ตามแผน)
- งานศึกษาและวิเคราะห์โครงการตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนฯ มีความก้าวหน้าร้อยละ 48.80 (ตามแผน)
- รฟม. อยู่ระหว่างพิจารณารายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการฯ ก่อนนำเสนอต่อคณะกรรมการฯ
- คาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนมีนาคม 2570
โครงการที่อยู่ระหว่างการศึกษาและวิเคราะห์โครงการ (5 โครงการ) 
1) รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย - งานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินมีความก้าวหน้าร้อยละ 8.60 (ตามแผน)
- งานขออนุมัติโครงการและศึกษาวิเคราะห์โครงการตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนฯ แล้วเสร็จ
- งานก่อสร้างงานโยธา ผลิตและติดตั้งงานระบบรถไฟฟ้าและงานเดินรถมีความก้าวหน้าร้อยละ 9 (ตามแผน)
- คาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนเมษายน 2570
2) รถไฟฟ้าจังหวัดภูเก็ต - งานศึกษาวิเคราะห์โครงการตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนฯ แล้วเสร็จ
- งานเสนอขอความเห็นชอบรูปแบบการลงทุนมีความก้าวหน้าร้อยละ 15 (ตามแผน)
- งานคัดเลือกที่ปรึกษามีความก้าวหน้าร้อยละ 20 (ตามแผน)
- คาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนกรกฎาคม 2569
3) รถไฟฟ้าจังหวัดเชียงใหม่ - งานศึกษารายละเอียดความเหมาะสม ออกแบบและจัดเตรียมเอกสารประกวดราคาแล้วเสร็จ
- งานเสนอขอความเห็นชอบรูปแบบการลงทุนมีความก้าวหน้าร้อยละ 30 (ตามแผน)
-  คาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนกุมภาพันธ์ 2571
4) รถไฟฟ้าจังหวัดนครราชสีมา - งานศึกษารายละเอียดความเหมาะสม ออกแบบและจัดเตรียมเอกสารประกวดราคาแล้วเสร็จ
-  คาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนกุมภาพันธ์ 2571
5) รถไฟฟ้าจังหวัดพิษณุโลก - เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2563 ได้มีการประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดจังหวัดให้ รฟม. ดำเนินกิจการรถไฟฟ้า (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2563 ซึ่งให้อำนาจ รฟม. ในการดำเนินกิจการรถไฟฟ้าในจังหวัดพิษณุโลก1
-  คาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนกรกฎาคม 2571

นอกจากนี้ ยังมีผลการดำเนินการอื่น ๆ เช่น (1) โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย – ลำสาลี (บึงกุ่ม) อยู่ระหว่างตรวจพิจารณาแบบรายละเอียดฐานรากและเอกสารประกวดราคาให้สอดคล้องกับแบบก่อสร้างและเอกสารประกวดราคาของโครงการระบบทางด่วนของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (2) การศึกษาออกแบบสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อเชื่อมต่อการเดินทางบริเวณสถานีสะพานพระนั่งเกล้ากับท่าเรือพระนั่งเกล้า ดำเนินการแล้วเสร็จ ปัจจุบันอยู่ระหว่างประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดหาระบบเชื่อมต่อการเดินทาง และ (3) โครงการเตรียมความพร้อมสำหรับการใช้ตั๋วร่วม ได้ชะลอการนำเทคโนโลยี EMV Contactless(Europay, Mastercard, Visa) มาใช้กับระบบตั๋วร่วมเพื่อเร่งพัฒนาการเชื่อมต่อระบบจัดเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติของระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ให้สามารถใช้บัตรโดยสารข้ามระบบ (Interoperable Ticketing System) ทั้งนี้ ประชาชนร้อยละ 86.90 มีความพึงพอใจในระดับมาก – มากที่สุดต่อมาตรการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมและจราจรจากการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้า (เป้าหมายร้อยละ 90)   

1.2 ด้านการให้บริการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน เปิดให้บริการแล้ว 2 เส้นทาง มีผลการดำเนินงาน ดังนี้

เส้นทาง ผลการดำเนินงาน
ผู้โดยสารเฉลี่ย
(คน-เที่ยว/วัน)
เพิ่มขึ้น/ลดลง3
(ร้อยละ)
ความพึงพอใจของผู้ให้บริการ
รถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคล 283,933 +23.85
(เป้าหมาย +5.00)
ร้อยละ 80.85
(เป้าหมายร้อยละ 70.35)
รถไฟฟ้ามหานครสายฉลองรัชธรรม 46,114 +28.08
(เป้าหมาย +7.00)
ร้อยละ 76.40
(เป้าหมายร้อยละ 65)

1.3 ด้านการเงิน รฟม. มีผลประกอบการกำไรสุทธิ 1,819.25 ล้านบาท (กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน 150,000 บาท) โดยมีรายได้ 14,876.97 ล้านบาท (เงินอุดหนุน 10,190.02 ล้านบาท) และค่าใช้จ่ายรวม 13,057.72 ล้านบาท สามารถเบิกจ่ายงบลงทุนได้ร้อยละ 99.99 (คณะรัฐมนตรีกำหนดเป้าหมายร้อยละ 95) นอกจากนี้ ยังมีรายได้จากธุรกิจต่อเนื่องจากรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล 123.72 ล้านบาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ต่ำกว่าเป้าหมาย 2.69 ล้านบาท และสายฉลองรัชธรรม 27.51 ล้านบาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) สูงกว่าเป้าหมาย 2.33 ล้านบาท ผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (Return On Asset: ROA) ร้อยละ 0.90 (เป้าหมายร้อยละ 0.59) รวมทั้งได้จัดทำรายงานการศึกษาโครงสร้างงบกำไรขาดทุนของ รฟม. เสร็จเรียบร้อยแล้ว  

1.4 ด้านการพัฒนาองค์กรและทรัพยากรบุคคล รฟม. ได้ดำเนินการตามแผนพัฒนาทรัพยากรบุคคล โดยพนักงานร้อยละ 96.81 มีสมรรถนะตามมาตรฐานที่องค์กรกำหนด (เป้าหมายร้อยละ 95.90) และมีระดับความผูกพันเท่ากับ 4.20 (เป้าหมายเท่ากับ 3.67) นอกจากนี้ ได้มีการดำเนินงานตามแผนต่าง ๆ เช่น แผนพัฒนาปรับปรุงองค์กรและแผนพัฒนาองค์กร แผนพัฒนาองค์ความรู้ด้านการบริหารก่อสร้าง การบริหารโครงการและการจัดซื้อจัดจ้าง การจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน การรักษาความปลอดภัยและกู้ภัยในเขตระบบรถไฟฟ้าและระบบราง และแผนพัฒนาระบบบริหารทรัพยากรองค์กร ทั้งนี้ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 – 2562) รฟม. มีคะแนนผลการดำเนินงานสูงขึ้นต่อเนื่องติดต่อกัน โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 มีผลการประเมินสูงเป็นอันดับหนึ่งจากรัฐวิสาหกิจทั้งหมด 53 แห่ง ทั้งนี้ ในส่วนของปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 อยู่ระหว่างที่ปรึกษาของระบบการประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจของกระทรวงการคลังประเมินผลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจทุกแห่ง  

1.5 ด้านการกำกับดูแลที่ดี รฟม. ได้ดำเนินการตามแนวปฏิบัติในการแสดงความมุ่งมั่นต่อการปฏิบัติตามกฎหมายและมีจริยธรรมของผู้นำระดับสูง เช่น การจัดงานวันธรรมาภิบาล การแสดงรายการรับของขวัญ ของที่ระลึก หรือประโยชน์อื่นใด ตามกรอบเวลาที่กำหนด การหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกันเกี่ยวกับประเด็นความเสี่ยงที่อาจจะเกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์และแนวทางการป้องกันแก้ไข ทั้งนี้ ในปี 2563 รฟม. มีผลประเมินคุณธรมและความโปร่งใสการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment: ITA) อยู่ในลำดับที่ 3 ของรัฐวิสาหกิจสังกัด คค. เท่ากับ 88.01 คะแนน (ปี 2562 เท่ากับ 88.96 คะแนน) 

2. นโยบายของคณะกรรมการฯ เช่น ให้บริการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนด้วยความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ตรงเวลา ประหยัด โดยคำนึงถึงความพึงพอใจของผู้ใช้บริการแต่ละกลุ่ม เร่งรัดดำเนินโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายต่าง ๆ ให้แล้วเสร็จและเปิดบริการได้ตามแผนงาน ศึกษาระบบรถไฟฟ้าในเมืองหลักอื่น ดำเนินงานตามหลักธรรมาภิบาล มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดำเนินงาน และใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการพัฒนากระบวนการทำงานภายในองค์กร ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ได้มอบนโยบายเพื่อให้ รฟม. ใช้ประกอบการกำหนดทิศทางขององค์การที่ชัดเจนและดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2563  

3. โครงการและแผนงานของ รฟม. ในอนาคต  

3.1 ด้านการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน รฟม. มีโครงการอยู่ระหว่างการก่อสร้าง 3 โครงการ อยู่ระหว่างการประกวดราคา 1 โครงการ และอยู่ระหว่างศึกษาและวิเคราะห์โครงการตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนฯ ซึ่งคาดว่าจะได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีในปี 2564 – 2566 จำนวน 5 โครงการ โดยมีเป้าหมายว่าการดำเนินงานจะต้องมีความสำเร็จตามแผน และประชาชนร้อยละ 90 ต้องมีความพึงพอใจในระดับมาก – มากที่สุดต่อมาตรการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและจราจรจากการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าฯ ในปี 2564 และปี 2565 นอกจากนี้ มีแผนที่จะพัฒนาระบบเชื่อมต่อการเดินทางสายฉลองรัชธรรม บริเวณสถานีพระนั่งเกล้า – ท่าเรือพระนั่งเกล้า โดยคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จและสามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2564 รวมทั้งยังมีแผนเตรียมความพร้อมสำหรับการใช้ระบบตั๋วร่วมโดยจะพัฒนาระบบตั๋ว EMV ให้แล้วเสร็จภายในปี 2564 

3.2 ด้านการให้บริการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน รฟม. มีแผนที่จะพัฒนาการให้บริการเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการ โดยมีเป้าหมายความพึงพอใจของผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าและบริการเสริมอื่น ๆ ในระดับมาก – มากที่สุดและการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า ดังนี้

สายรถไฟฟ้า เป้าหมายความพึงพอใจฯ (ร้อยละ) เป้าหมายการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้โดยสาร
ปี 2564 ปี 2565
สายเฉลิมรัชมงคล 71.35 72.35 ร้อยละ 5 ต่อปี
สายฉลองรัชธรรม 66.50 68.00 ร้อยละ 7 ต่อปี

3.3 ด้านการเงิน รฟม. มีแผนที่จะหารายได้จากธุรกิจต่อเนื่องเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ในแต่ละปี โดยในปี 2564 จะมีรายได้ประมาณ 169 ล้านบาท (สายเฉลิมรัชมงคล 139 ล้านบาท และสายฉลองรัชธรรม 30.91 ล้านบาท) และในปี 2564 และ 2565 จะมีผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ร้อยละ 0.72 และ 0.90 ตามลำดับ นอกจากนี้ มีแผนที่จะบริหารจัดการทางการเงินเพื่อลดค่าใช้จ่าย โดยต้องควบคุมค่าใช้จ่ายไม่ให้สูงกว่าปีที่ผ่านมา   

3.4 ด้านการพัฒนาองค์กรและทรัพยากรบุคคล โดยในปี 2564 และ 2565 บุคลากรต้องผ่านเกณฑ์ประเมินสมรรถนะร้อยละ 96 และ 91.60 ตามลำดับ บุคลากรมีความผูกพันที่ระดับ 3.72 และ 3.77 ตามลำดับ นอกจากนี้ ในปี 2564 จะมีการพัฒนาและทดสอบการใช้งานระบบบริหารทรัพยากรองค์กร ซึ่งจะสามารถใช้งานได้ภายในปี 2565 รวมทั้งมีแผนการดำเนินการอื่น ๆ เช่น แผนพัฒนาองค์ความรู้ด้านการบริหารงานก่อสร้าง การบริหารโครงการ การจัดซื้อจัดจ้าง การจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน การรักษาความปลอดภัยและกู้ภัย แผนการจัดการความรู้ด้านการเดินรถไฟฟ้า และแผนการฝึกอบรมบุคลากรระบบราง  

3.5 ด้านการกำกับดูแลที่ดี รฟม. มีแผนที่จะพัฒนาและส่งเสริมธรรมาภิบาลองค์กรใน 4 มิติ และพัฒนาแนวทางการประเมินประสิทธิภาพการดำเนินงานในด้านนี้ โดยในปี 2564 และ 2565 จะต้องมีผลการประเมิน ITA อยู่ที่ร้อยละ 91 และ 92 ตามลำดับ 

4. ความเห็นของ คค.

4.1 สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้มีปริมาณผู้โดยสารต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ อย่างไรก็ตาม รฟม. ยังคงรักษามาตรฐานการดำเนินงานได้อย่างดีเยี่ยม โดยผลกำไรสุทธิในปี 2563 สูงกว่าปี 2562 ซึ่งยังไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ถึงร้อยละ 55.33 รวมทั้งสามารถเบิกจ่ายงบลงทุนได้ถึงร้อยละ 99.99    

4.2 เพื่อให้การดำเนินการของ รฟม. ในปี 2563 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล คค. ได้มอบหมายให้ รฟม. พิจารณาดำเนินการ ดังนี้

4.2.1 ให้ความสำคัญกับการหารายได้เชิงพาณิชย์และใช้แนวทางด้านการตลาด เช่น การออกตั๋วโดยสารประเภทพาส (Pass) เพิ่มเติมเพื่อสร้างรายได้ทดแทนในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 

4.2.2 เร่งดำเนินการประกวดราคา/คัดเลือกเอกชนเพื่อร่วมลงทุนสำหรับรถไฟฟ้าที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติแล้ว เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-วงแหวนกาญจนาภิเษก และโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์)  

4.2.3 เร่งก่อสร้างโครงการให้เป็นไปตามแผนงาน โดยให้ความสำคัญกับการบริหารผลกระทบต่อการจราจรในทุกมิติ รวมทั้งควบคุมการก่อสร้างไม่ให้เกิดฝุ่นละออง PM2.5 ตามมาตรการที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด   

 4.2.4 เร่งพัฒนาระบบและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่จะช่วยให้การเชื่อมต่อการเดินทางด้วยระบบรถไฟฟ้ากับระบบขนส่งมวลชนรูปแบบอื่นให้สามารถใช้งานได้ตามแผนงานที่กำหนดไว้ โดยเฉพาะการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมตามมาตรฐาน EMV และการพัฒนาการเชื่อมต่อการเดินทางกับระบบขนส่งทางน้ำบริเวณสถานีพระนั่งเกล้า  

4.2.5 เร่งรัดการเชื่อมต่ออุโมงค์สถานีบางซื่อ โครงการรถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคล กับสถานีกลางบางซื่อ ให้ทันกับการเปิดให้บริการโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ในเดือนกรกฎาคม 2564


-------------------------------------------------------------
ข้อมูลเพิ่มเติม (เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2564) ปัจจุบัน รฟม. อยู่ระหว่างจัดเตรียมร่างข้อกำหนดและขอบเขตงานเพื่อว่าจ้างที่ปรึกษารายละเอียดความเหมาะสมของโครงการฯ
EMV Contactless คือการชำระค่าโดยสารด้วยบัตรเครดิต/เดบิตที่ออกโดยธนาคาร
เพิ่มขึ้น/ลดลงจากค่าเฉลี่ยเดือนตุลาคม 2562 - พฤษภาคม 2563 [ข้อมูลเพิ่มเติม (เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2564) โดยปกติ รฟม. จะเปรียบเทียบข้อมูลจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ยของปีงบประมาณนั้น ๆ กับจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ยในครึ่งปีงบประมาณแรก (ตุลาคม 2562 - มีนาคม 2563) แต่เนื่องจากเกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ทำให้มีจำนวนผู้โดยสารต่ำกว่าปกติ คณะกรรมการฯ จึงเห็นชอบให้นำข้อมูลค่าเฉลี่ยของเดือนเมษายน - พฤษภาคม 2563 เข้ามาคิดร่วมด้วย เพื่อสะท้อนถึงข้อเท็จจริงและผลกระทบที่เกิดขึ้น]

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: