Rocket Media Lab: ไรเดอร์ไทย เป็นอยู่ยังไง อยากได้อะไรบ้าง

กองบรรณาธิการ TCIJ 24 ก.ย. 2564 | อ่านแล้ว 9502 ครั้ง

'Rocket Media Lab' สำรวจความต้องการของไรเดอร์ส่งอาหารทั่วประเทศ 1,136 คน พบว่าสวัสดิการที่ไรเดอร์ต้องการมากที่สุด คือ 'เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อเกิดอุบัติเหตุ' | ที่มาภาพ: ILO/Alin Sirisaksopit via flickr (CC BY-NC-ND 2.0)

24 ก.ย. 2564 Rocket Media Lab รายงานว่าธุรกิจ Food Delivery ในไทยเติบโตอย่างรวดเร็ว อีกทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และนโยบาย ‘Work From Home’ ทำให้คนอยู่กับบ้านมากขึ้นเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด คนจำนวนหนึ่งจึงออกจากบ้านน้อยลง ดังนั้น Food Delivery จึงตอบโจทย์ผู้บริโภคในยุคโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่าธุรกิจ Food Delivery ทำมีมูลค่ารวมสูงถึง 5.31 – 5.58 หมื่นล้านบาท ซึ่งขยายตัวมากกว่าปีที่แล้ว สูงถึง 18.4 – 24.4% 

แต่เหมือนว่าการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของธุรกิจ Food Delivery ก็มาพร้อมปัญหามากมาย จากการที่ไรเดอร์ในไทยไม่เข้าข่ายที่จะได้รับการกำกับดูแลจากกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ในฐานะ ‘แรงงานแพลตฟอร์ม’ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอัตราค่าแรงของไรเดอร์ในธุรกิจหรือสวัสดิการต่างๆ 

ในช่วงปี 2563 – 2564 ที่ผ่านมา กลุ่มไรเดอร์ได้ออกมาประท้วงหลายครั้ง ตั้งแต่ประเด็นที่กรมอนามัยประกาศหลักเกณฑ์ มาตรการควบคุมการประกอบกิจการให้บริการจัดส่งอาหารที่ไรเดอร์จำนวนไม่น้อยมองว่าทำให้พวกเขาทำงานยากขึ้น หรือในกรณีที่ไรเดอร์ทั่วประเทศออกมาประท้วงแพลตฟอร์มในเดือนมิถุนายน เกี่ยวกับประเด็นที่ทางแพลตฟอร์มลดค่ารอบโดยที่ทางแพลตฟอร์มไม่ได้แจ้งล่วงหน้า อย่างในกรณีไรเดอร์ของไลน์แมนที่ออกมาประท้วงตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา หลังทางบริษัทลดค่ารอบของไรเดอร์ จาก 38 บาทเหลือเพียง 24 บาทโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า 

ไม่เพียงแต่ไรเดอร์ของไลน์แมนเท่านั้น เมื่อวันที่ 25 ส.ค. ที่ผ่านมา ไรเดอร์ของฟู้ดแพนด้าจากเชียงใหม่ก็ได้รวมตัวกันไปยื่นหนังสือที่ศูนย์ดำรงธรรม เนื่องจากต้องการเรียกร้องขอคืนค่ารอบ 21-27 บาท จากบริษัทแพลตฟอร์ม รวมไปถึงปัญหาอื่นๆ ที่ปรากฏในโซเชียลมีเดียอยู่เป็นระยะ อันเป็นผลจากการไม่ได้รับการปกป้อง คุ้มครอง หรือดูแลจากแพลตฟอร์ม หรือกฎหมายคุ้มครองแรงงาน 

Rocket Media Lab จึงได้ทำการสำรวจไรเดอร์ส่งอาหารในประเด็นต่างๆ ทั้งข้อมูลส่วนตัว การทำงาน สวัสดิการที่ต้องการ ฯลฯ เพื่อเป็นข้อมูลที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาชีวิตการทำงานของไรเดอร์ในอนาคต 

ไรเดอร์ คือใคร 

แบบสำรวจของ Rocket Media Lab ในครั้งนี้ จัดทำขึ้นระหว่างเดือนมีนาคม-กรกฎาคม 2564 ทั้งในกรุงเทพมหานครและเขตปริมณฑล รวมไปถึงในจังหวัดอื่นๆ ทั้ง ศรีสะเกษ เชียงใหม่ พิษณุโลก สงขลา และทางออนไลน์ รวม 1,136 คน จากผลสำรวจสามารถแยกไรเดอร์ส่งอาหารแต่ละแพลตฟอร์มได้ดังนี้ ฟู้ดแพนด้า 37.5% แกร็บฟู้ด 25.79% ไลน์แมน 25.62% โกเจ็ก 4.4% โรบินฮู้ด 2.38% อื่นๆ เช่น แอนท์เดลิเวอรี่ ลาลามูฟ หรือไรเดอร์ที่ทำงานมากกว่าหนึ่งแพลตฟอร์ม 1.42% และผู้ที่ไม่ระบุแพลตฟอร์มในแบบสอบถาม 2.89%

โดยแบ่งเป็นเพศชาย 80.41% เพศหญิง 14.3% และที่ไม่ได้ระบุเพศในแบบสอบถามอีก 5.3% สำหรับช่วงอายุของผู้ที่ประกอบอาชีพไรเดอร์ พบว่ามีช่วงอายุ 23-30 ปี มากที่สุด 44.28% รองลงมาคือ 31-40 ปี 31.69% 18-22 ปี 14.08% 41 ปีขึ้นไป 6.95% และไม่ระบุช่วงอายุในแบบสอบถาม 2.99%

ในส่วนของระดับการศึกษาของไรเดอร์ที่ตอบแบบสอบถามนั้น พบว่า ไรเดอร์ส่วนใหญ่จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษามากที่สุด 56.32% รองลงมาก็คือ ปริญญาตรี 23.78% ตามมาด้วยระดับประถมศึกษา 15.3% นอกจากนี้ยังพบว่ามีการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี 2.21% ระดับปวส. 1.32% ปวช. 0.27% และอนุปริญญา 0.18% อีก 0.62% ไม่ระบุระดับการศึกษา

ไรเดอร์ = พาร์ทเนอร์ : นิยามสวยหรูจากแพลตฟอร์ม 

นิยามไรเดอร์ในฐานะแรงงานตามกฎหมายของไทยยังคงคลุมเครือ ว่าจริงๆ แล้ว ‘ไรเดอร์’ เข้าข่ายเป็น ‘ลูกจ้าง’ หรือไม่ จากนิยามที่ทางบริษัทแพลตฟอร์ม Food Delivery ที่กล่าวว่าไรเดอร์คือ ‘Independent Worker Freelance หรือ Partner’ โดยในเว็บไซต์ของแพลตฟอร์มหนึ่ง ได้ตอบคำถามไว้ว่า “พาร์ทเนอร์ไม่ถือว่าเป็นพนักงานประจำ” จะเห็นว่าบริษัทแพลตฟอร์มมองว่าไรเดอร์เป็นพนักงานอิสระที่ทำงานเป็นรายชิ้นและไม่ได้ทำประจำ อีกทั้งในทางนิติสัมพันธ์ระหว่างไรเดอร์กับแพลตฟอร์ม ไรเดอร์ไม่ได้มีสถานะเป็นลูกจ้าง เพื่อที่ทางแพลตฟอร์มจะลดต้นทุนในการจัดจ้างแรงงานตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน จึงทำให้ไรเดอร์กลายเป็นแรงงานนอกระบบตามกฎหมาย

เมื่อกลุ่มไรเดอร์เดินทางไปพบนายณัฐวัฒน์ จีรทัศน์ธำรง คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน วันที่ 3 ธ.ค. 63 นายณัฐวัฒน์ก็ระบุว่าทราบปัญหาของแรงงานแพลตฟอร์มดี แต่ปัญหาเหล่านี้เกี่ยวข้องกับข้อกฎหมายรูปแบบงานของไรเดอร์ของบริษัทเป็นแรงงานอิสระ ทำงานกับแพลตฟอร์มไม่มีสัญญาจ้าง เป็นบริษัทต่างชาติ จึงเกิดเป็นข้อจำกัดที่รัฐจะเข้าไปดูแล

ถึงแม้สถานะจะคลุมเครือ แต่เมื่อตลาดของ Food Delivery เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ในสถานการณ์การแพร่ระบายของโควิด-19 และอัตราคนว่างงานในไทยที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ไรเดอร์กลายเป็นหนึ่งในอาชีพยอดนิยมในยุคนี้ที่มีคนหันมาทำมากขึ้น ทั้งในฐานะอาชีพหลักและอาชีพเสริม 

จากการสำรวจของ Rocket Media Lab พบว่ามีไรเดอร์ที่ทำงาน Food Delivery เป็นอาชีพหลักสูงถึง 59.44% และเป็นอาชีพเสริม 40.56% นอกจากนี้ยังพบว่าอาชีพเดิม (ในกรณีที่ทำงานไรเดอร์เป็นอาชีพหลัก) และอาชีพปัจจุบัน (ในกรณีทำเป็นอาชีพเสริม) ของไรเดอร์นั้น คือ อาชีพรับจ้างทั่วไป มีจำนวนมากที่สุด 27.27% รองลงมาก็คือพนักงานบริษัทเอกชน 23.12% ตามมาด้วยไม่มีงานทำ 20.21% อาชีพขับรถ 12.53% รับราชการ/รัฐวิสาหกิจ 2.91% อื่น เช่น ค้าขาย ช่างภาพ เชฟโรงแรม พนักงานร้านสะดวกซื้อ พนักงานสปา ฯลฯ 2.82% และไม่ได้ระบุอาชีพในแบบสอบถามอีก 11.12%

โดยไรเดอร์เหล่านี้มีรายได้ต่อเดือน 10,001 – 15,000 บาท มากที่สุด คิดเป็น 48.77% รองลงมาก็คือ 15,001–20,000 บาท 27.69% มากกว่า 20,001 บาท 10.76% น้อยกว่า 5,000 บาท 6.88% มากกว่า 30,000 บาท 4.5% และ 5,001 – 10,000 บาท 1.41% 

ในส่วนของภาระการรับผิดชอบต่อครอบครัวหรือตนเองนั้น พบว่าจำนวนคนที่ไรเดอร์ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่าย 1-2 คนนั้นมีมากที่สุด คิดเป็น 38.41% รองลงมาคือแค่ตัวไรเดอร์เอง 32.86% 3-4 คน 23% 5 คนขึ้นไป 5.29% และไม่ระบุคำตอบ 0.44% และเมื่อถามถึงความเพียงพอของรายได้ พบว่า ไรเดอร์มีรายได้พอใช้จ่ายเป็นจำนวนมากที่สุด คิดเป็น 46.33% รองลงมาก็คือ ไม่พอใช้จ่าย และมีหนี้สิน 19.63% ซึ่งใกล้เคียงกับที่ตอบว่า ไม่พอใช้จ่าย แต่ไม่มีหนี้สิน จำนวน 19.1% และไรเดอร์ที่บอกว่าเหลือใช้ และมีไว้เก็บมีเพียง 14.94%

ไรเดอร์ : การทำงานและสวัสดิการที่ไม่เคยมี

แม้ว่าในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะทำให้ธุรกิจ Food Delivery เติบโต แต่ถึงอย่างนั้นบริษัทแพลตฟอร์มก็ยังมีการปรับลดค่ารอบในการส่งอาหารของไรเดอร์ลง และเพิ่มนโยบายที่เข้มงวดมากขึ้น ซึ่งทำให้เกิดการประท้วงเรียกร้องสิทธิและสวัสดิการของไรเดอร์หลายครั้ง ตามที่ได้กล่าวไปแล้ว แต่สถานะของไรเดอร์เองก็ไม่เอื้อให้พวกเขาเรียกร้องสิทธิที่ควรจะได้นัก  

จากการสำรวจของ Rocket Media Lab พบว่า ประสบการณ์การทำงานของไรเดอร์ มีไรเดอร์ที่ทำงานอาชีพนี้เป็นเวลา 6 เดือน–1 ปี มากที่สุด คิดเป็น 40.92% ซึ่งอาจเป็นผลพวงมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในรอบเกือบสองปีที่ผ่านมาที่ทำให้ผู้คนตกงานและหันมาประกอบอาชีพไรเดอร์จำนวนมากขึ้น รองลงมาก็คือ 1–3 ปี 27.78% มากกว่า 3 ปี 16.76% น้อยกว่า 6 เดือน 14.2% และไม่ได้ระบุในแบบสอบถาม 0.34%

ในส่วนของชั่วโมงการทำงานในแต่ละวันพบว่าไรเดอร์ทำงาน 6–8 ชั่วโมงต่อวันมีสูงถึง 38.36% รองลงมาก็คือมากกว่า 8 ชั่วโมง 37.13% 3–5 ชั่วโมง 22.49% 2 ชั่วโมงหรือน้อยกว่า 1.41% และอื่นๆ 0.61%

จากข้อมูลดังกล่าวจะพบว่าทั้งประสบการณ์การทำงานและชั่วโมงทำงานต่อวันของไรเดอร์ แทบไม่ต่างจากแรงงานในระบบที่ได้รับความคุ้มครองและสวัสดิการทางกฎหมาย แต่เมื่อแพลตฟอร์มไม่ได้มองว่า ‘ไรเดอร์เป็นลูกจ้าง’ แต่แรก แพลตฟอร์มจึงไม่จำเป็นที่จะจัดสรรสวัสดิการ หรือเพิ่มต้นทุนในการจัดสรรสวัสดิการให้กับไรเดอร์ ซึ่งจะเห็นได้ตั้งแต่ ขั้นตอนของการสมัครเป็นไรเดอร์ ที่จะต้องซื้อเครื่องมือหรือยูนิฟอร์มของบริษัทเองทั้งหมด รวมถึงประกันอุบัติเหตุที่ไม่ได้ครอบคลุมการทำงานของไรเดอร์ทั้งหมด 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งไรเดอร์ที่ทำเป็นพาร์ทไทม์จะไม่มีประกันอุบัติเหตุให้ หรือหากแพลตฟอร์มมอบประกันอุบัติเหตุให้ ก็มีนโยบายที่เข้มงวด ซึ่งมีเพียงไม่กี่แพลตฟอร์มในไทยเท่านั้นที่ประกาศว่ามีประกันอุบัติเหตุให้กับไรเดอร์ในช่วงที่มีออเดอร์ 

เหตุนี้เมื่อไรเดอร์ประสบอุบัติเหตุจึงไม่ได้รับการคุ้มครองจากแพลตฟอร์มหรือกฎหมายตั้งแต่ต้น  แม้แพลตฟอร์มประกาศว่ามีประกันอุบัติเหตุให้กับไรเดอร์ แต่ต้องเป็นไปตามข้อกำหนดของแพลตฟอร์มที่จะรับพิจารณา และใช้เวลานานในการประสานงาน ทั้งยังอาจถูกปิดระบบชั่วคราวเป็นการลงโทษ ซึ่งทำให้ขาดรายได้อีกด้วย 

จากการสำรวจของ Rocket Media Lab พบว่าไรเดอร์ทำงานส่งอาหารจำนวน 11–16 รอบ มีมากที่สุด คิดเป็น 34.51% รองลงมาก็คือ มากกว่า 16 รอบ 31.33% 5-10 รอบ 30.71% 4 รอบหรือน้อยกว่า 2.74% อื่นๆ 0.71% 

แต่ในขณะเดียวกันเมื่อถามถึงประสบการณ์การประสบอุบัติเหตุของไรเดอร์ พบว่าเคยประสบอุบัติเหตุ 1-4 ครั้ง มากที่สุด คิดเป็น 65.96% รองลงมาก็คือ 5-10 ครั้ง 17.72% 11–16 ครั้ง 6.79% มากกว่า 16 ครั้ง 3.62% ไม่เคย 2.47% และไม่ระบุ 3.44%

ส่วนสวัสดิการและประกันสุขภาพที่ไรเดอร์มีอยู่แล้วนั้น พบว่าคือบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) เป็นจำนวนมากที่สุด 33.89% รองลงมาคือการใช้สิทธิประกันสังคมจากการเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 คิดเป็น 19.42% เป็นผู้มีสวัสดิการรัฐและซื้อประกันเอง 17.03% ใช้สิทธิประกันสังคมจากการเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 11.3% และอื่นๆ 18.36%

ไรเดอร์กับสวัสดิการในฝัน 

จากการสำรวจของ Rocket Media Lab ว่าด้วยเรื่องสวัสดิการที่ไรเดอร์ต้องการมากที่สุด พบว่า ‘เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อเกิดอุบัติเหตุ’ คือสวัสดิการที่ไรเดอร์เลือกเป็นอันดับ 1 มากที่สุด คิดเป็น 26.06%

กรณีนี้อาจสืบเนื่องมาจากข้อบังคับของแพลตฟอร์มในกรณีที่ไรเดอร์ประสบอุบัติเหตุ โดยแต่ละแพลตฟอร์มจะกำหนดเกณฑ์ที่จะทำให้ไรเดอร์ได้รับสิทธิประกันอุบัติเหตุต่างกันไป ผ่านการกำหนดอายุงานและจำนวนรอบในการทำงาน เช่น ต้องทำงานต่อเนื่อง 6 เดือนขึ้นไป  จึงจะได้รับสิทธิคุ้มครองในกรณีเกิดอุบัติเหตุ

การที่ไรเดอร์พยายามขับหลายๆ แพลตฟอร์มนั้น เพื่อต้องการกระจายความเสี่ยงในการทำงาน เพราะหากวันหนึ่งระบบของแพลตฟอร์มที่ทำอยู่ถูกระงับไม่ว่าด้วยเหตุใดก็ตาม ก็ยังสามารถรับงานจากแพลตฟอร์มอื่นได้ เพื่อให้ยังมีงานมีรายได้ แต่การกระจายความเสี่ยงนี้ก็ต้องแลกด้วยการไม่ได้รับสวัสดิการประกันอุบัติเหตุ หรือไม่สามารถทำเป้าได้ตามเกณฑ์ที่จะได้รับประกันอุบัติเหตุที่ดีนั่นเอง 

สวัสดิการที่ไรเดอร์เลือกเป็นอันดับ 1 รองลงมาก็คือ เป็นลูกจ้างแทนการเป็นพาร์ทเนอร์ คิดเป็น 16.19% ตามมาด้วย ประกันสุขภาพ 13.38% ประกันรายได้ขั้นต่ำรายวัน 12.06% ประกันอุบัติเหตุไม่ว่าจะอยู่ในเวลางานหรือไม่ 9.42% สิทธิลาโดยยังได้รับค่าจ้าง 6.16% ระบบให้กู้ยืมดอกเบี้ยต่ำ และกู้ง่าย 4.75% เงินชดเชยเมื่อถูกเลิกจ้าง 4.23% เสื้อ กระเป๋า หมวกกันน็อก ฯลฯ ฟรี 2.55% จุดพักรถ 0.53% และแบบสอบถามที่มีความผิดพลาดในการกรอกหมวดนี้ที่ไม่ได้นับรวมมาคำนวณด้วย 4.67%

สหภาพแรงงานและกฎหมายกำกับแพลตฟอร์ม : ความหวังเดียวของไรเดอร์

ในปัจจุบัน ไทยยังไม่มีกฎหมายรองรับสำหรับกำกับแพลตฟอร์ม Food Delivery ทำให้แพลตฟอร์มสามารถมีคำสั่ง การเปลี่ยนแปลง ที่มีผลต่อพาร์ทเนอร์ได้โดยตรง ทั้งการปรับลดค่ารอบ หรือตั้งกฎกติกาการให้บริการหรือออกนโยบายโดยไม่ต้องฟังเสียงจากกลุ่มไรเดอร์ 

จากผลสำรวจของ Rocket Media Lab ในหัวข้อไรเดอร์จะเข้าร่วมสหภาพแรงงานหรือไม่ (ถ้ามี) พบว่า ไรเดอร์ 64.94% ตอบว่าต้องการเข้าร่วม ในขณะที่ 26.74% ตอบว่าขอคิดดูก่อน และ 8.32% ตอบว่าไม่เข้าร่วม ส่วนประเด็นความต้องการให้มีกฎหมายกำกับแพลตฟอร์ม พบว่า 66.22% อยากให้มีกฎหมายกำกับแพลตฟอร์ม 23.27% ตอบว่าขอคิดดูก่อน และอีก 10.42% ตอบว่าไม่อยาก 

  ปัจจุบันแม้จะมีการรวมตัวของไรเดอร์เกิดเป็นกลุ่มสหภาพไรเดอร์ขึ้นก็ตาม แต่ยังไม่สามารถจัดตั้งได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพราะไม่มีสถานะเป็นลูกจ้าง เนื่องจากตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ระบุว่า ‘สหภาพแรงงาน หมายถึงองค์กรของลูกจ้างที่จัดตั้งตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ และผู้มีสิทธิจัดตั้งสหภาพแรงงานจะต้องเป็นลูกจ้างของนายจ้างคนเดียวกันหรือเป็นลูกจ้างซึ่งทำงานในกิจการประเภทเดียวกันโดยไม่คำนึงว่าจะมีนายจ้างกี่คน’

ในหลายประเทศ รัฐบาล และแพลตฟอร์มพยายามหาทางออกร่วมกัน ในการแก้ปัญหาให้ไรเดอร์มีสถานะในฐานะลูกจ้าง ในขณะที่รัฐบาลไทยยังไม่มีการยืนยันเรื่องนี้โดยเฉพาะในข้อกฎหมายแรงงาน รวมถึงทางแพลตฟอร์มเองยังคงยืนยันว่าไรเดอร์ยังคงสถานะเป็นเพียงพาร์ทเนอร์ ซึ่งดูเหมือนว่าจะยังไม่เห็นหนทางในการนำไปสู่สิ่งนั้นได้อย่างง่าย

ซึ่งมานำสู่ผลสำรวจสุดท้ายของ Rocket Media Lab ซึ่งถามว่า ถ้ามีโอกาส ไรเดอร์คิดอยากจะเปลี่ยนอาชีพหรือไม่ โดย 47.31% ตอบว่าอยากเปลี่ยน 34.95% ตอบว่าขอคิดดูก่อน และ 17.65% ตอบว่ายังไม่คิดจะเปลี่ยนอาชีพ 

ดูผลสำรวจทั้งหมดได้ที่ https://rocketmedialab.co/database-rider 

 

อ้างอิง:

สำนักต่างประเทศ. “กฎหมายว่าด้วยไรเดอร์.” Thai Parliament, รัฐสภาไทย, 11 พฤษภาคม 2564, https://www.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/parliament_parcy/ewt_dl_link.php?nid=78193&filename=index.

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย. “โควิด-19 และมาตรการควบคุมการระบาด…คาดทั้งปี 2564 มูลค่าตลาดจัดส่งอาหารขยายตัวร้อยละ 18.4 – 24.4.” กระแสทรรศน์, vol. 3256, 2564, https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-econ/business/Pages/food-delivery-z3256.aspx.

กัลยาวีร์ แววคล้ายหงษ์. “ไรเดอร์รวมตัว (อีกครั้ง) ขอกฎหมายดูแลชีวิตและสวัสดิภาพ “แรงงานแพลตฟอร์ม.”” DeCode, 4 ธันวาคม 2563, https://decode.plus/20201114/.

จุฬารัตน์ ยะปะนัน. “สหภาพแรงงาน ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย.” จุลนิติ, vol. จุลนิติ, 2553, pp. 153 – 161, https://www.senate.go.th/assets/portals/93/fileups/272/files/S%E0%B9%88ub_Jun/12know/K90_jul_7_1.pdf.

อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ และเกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร. แพลตฟอร์มอีโคโนมีและผลกระทบต่อแรงงานในภาคบริการ: กรณีศึกษาในประเทศไทย. 1 ed., มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (Friedrich-Ebert-Stiftung) สถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม, 2561.

เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร และวรดุลย์ ตุลารักษ์. รูปแบบงานใหม่ของคนขี่มอเตอร์ไซต์ส่งอาหาร ที่กำกับโดยแพลตฟอร์ม. 1 ed., มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (FES) สถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม, 20 มิถุนายน 2563.

Foodpanda. “ประกันสำหรับไรเดอร์.” Panda Eiders, https://www.https://www.pandariders.info/rider-insurance.info/rider-insurance.

GRAB. “ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลจากแกร็บ.” Grab Driver TH, https://help.grab.com/driver/th-th/360035972951.

GRAB. “GrabBenefits (สิทธิประโยชน์คนขับ).” Grab Driver TH, https://grabdriverth.com/grabbike-express-club.

Lee, Suh-yoon. “Food delivery workers’ union granted legal status in Seoul, recognising workers as formal employees.” Business Human Rights, Business & Human Rights Resource Centre, 4 ธันวาคม 2562, https://www.business-humanrights.org/en/latest-news/south-korea-food-delivery-workers-union-granted-legal-status-in-seoul-recognising-workers-as-formal-employees/.

 

 

ภาคผนวก

เมื่อให้ไรเดอร์รีวิวระบบการทำงานในด้านต่างๆ ของแพลตฟอร์มตนเอง พบว่า 

ระบบจีพีเอส มีความพอใจ 46.71% เฉยๆ 31.49% พอใจมาก 16.55% ไม่พอใจ 4.72% ไม่พอใจมาก 0.53%

การแบ่งโซนรับบงาน พอใจ 48.71% เฉยๆ 34.28% พอใจมาก 12.02% ไม่พอใจ 4.36% ไม่พอใจมาก 0.62%

การให้ค่ารอบมากน้อยตามพื้นที่ พอใจ 43.49% เฉยๆ 34.31% พอใจมาก 11.05% ไม่พอใจ 8.65% ไม่พอใจมาก 2.5%

ระบบลงโทษ พอใจ 40.52% เฉยๆ 37.58% ไม่พอใจ 11.49% พอใจมาก 7.84% ไม่พอใจมาก 2.4% อื่นๆ 0.18% ความสมเหตุสมผลในการให้ซ่อมงาน/พักงาน พอใจ 39.98% เฉยๆ 38.47% ไม่พอใจ 10.24% พอใจมาก 8.73% ไม่พอใจมาก 2.58%

ระบบเลื่อนขั้น เฉยๆ 41.9% พอใจ 39.15% ไม่พอใจ 9.52% พอใจมาก 7.74% ไม่พอใจมาก 1.51% อื่นๆ 0.18% 

ระบบป้อนงาน เฉยๆ 40.64% พอใจ 37.61% ไม่พอใจ 11.41% พอใจมาก 8.65% ไม่พอใจมาก 1.69% 

ความง่ายในการติดต่อคอลเซ็นเตอร์ พอใจ 36.42% เฉยๆ 34.02% ไม่พอใจ 14.87% พอใจมาก 7.84% ไม่พอใจมาก 6.86%

ความคุ้มค่าของค่าจ้าง พอใจ 39.27% เฉยๆ 38.11% ไม่พอใจ 12.02% พอใจมาก 8.9% ไม่พอใจมาก 1.69%

ระบบการจ่ายค่าจ้าง พอใจ 43.1% เฉยๆ 37.31% พอใจมาก 9.97%

 ไม่พอใจ 8.64% ไม่พอใจมาก 0.89% อื่นๆ 0.09% 

การจ่ายโบนัส พอใจ 40.61% เฉยๆ 40.43% พอใจมาก 9.53% ไม่พอใจ 8.01% ไม่พอใจมาก 1.42%

การจ่ายเงินผ่านระบบวอลเล็ต พอใจ 43.94% เฉยๆ 38.59% พอใจมาก 10.43% ไม่พอใจ 6.6% ไม่พอใจมาก 0.45%

การช่วยเหลือแก้ไขเมื่อเกิดเหตุสุดวิสัย เฉยๆ 38.5% พอใจ 37.61% ไม่พอใจ 14.26% พอใจมาก 6.42% ไม่พอใจมาก 3.12% อื่นๆ 0.09%

การช่วยเหลือเยียวยาเมื่อเกิดอุบัติเหตุ เฉยๆ 39.43% พอใจ 36.49% ไม่พอใจ 14.45% พอใจมาก 6.07% ไม่พอใจมาก 3.48% อื่นๆ 0.09% 

เงื่อนไขในการเคลมอาหารคืน เฉยๆ 39.55% พอใจ 38.39% ไม่พอใจ 12.59% พอใจมาก 7.23% ไม่พอใจมาก 2.23%

การจ่ายค่าเสียเวลารอลูกค้า เฉยๆ 38.77% พอใจ 35.47% ไม่พอใจ 14.88% พอใจมาก 5.79% ไม่พอใจมาก 4.99% อื่นๆ 0.09%

การจ่ายค่าเสียเวลารอร้านอาหาร เฉยๆ 38.84% พอใจ 34.64% ไม่พอใจ 15.09% พอใจมาก 5.8% ไม่พอใจมาก 5.54% อื่นๆ 0.09% 

 ระบบสำรองจ่ายค่าอาหารเมื่อลูกค้าจ่ายเงินสด เฉยๆ 47.36% พอใจ 38.16% ไม่พอใจ 7.06% พอใจมาก 5.27% ไม่พอใจมาก 2.06% อื่นๆ 0.09%

จากผลสำรวจจะเห็นได้ว่า ประเด็นที่ไรเดอร์ให้ ‘พอใจมาก’ มากที่สุด คือระบบจีพีเอส 16.55% ให้ ‘พอใจ’ มากที่สุดคือ การแบ่งโซนรับงาน 48.71% ให้ ‘เฉยๆ’ มากที่สุดคือ ระบบสำรองจ่ายค่าอาหารเมื่อลูกค้าจ่ายเงินสด 47.36% ให้ ‘ไม่พอใจ’ มากที่สุดคือ การจ่ายค่าเสียเวลารอร้านอาหาร 15.09% และให้ ‘ไม่พอใจมาก’ มากที่สุด คือความง่ายในการติดต่อคอลเซ็นเตอร์ 6.86%

 

เกี่ยวกับ Rocket Media Lab

Rocket Media Lab คือแหล่งข้อมูลติดตามประเด็นสังคม ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ เพื่อต่อยอดในงานข่าว

เอกลักษณ์ของ Rocket Media Lab คือการคัดเลือกโจทย์วิจัยจากประเด็นที่มีคุณค่าข่าว (newsworthy) นำเสนอเป็นสองส่วน คือ 1) ฐานข้อมูลดิบ เป็นฐานข้อมูลสาธารณะให้สื่อมวลชนและผู้ที่สนใจสามารถอ้างอิงได้ และ 2) บทวิเคราะห์ เป็นบทความความคิดเห็นที่ตั้งอยู่บนฐานข้อมูล

Rocket Media Lab ออกแบบการวิจัยด้วยระเบียบวิธีหลากหลาย อาทิ การค้นคว้าสอบทานจากฐานข้อมูลสาธารณะ ทั้งที่มีอยู่แล้วและที่รวบรวมขึ้นใหม่ การสำรวจทัศนคติและพฤติกรรมของคน ผ่านแบบสอบถามหรือเครื่องมือติดตามบทสนทนาในสื่อสังคม การทบทวนวรรณกรรม และการสัมภาษณ์

Rocket Media Lab ได้รับทุนสนับสนุนการดำเนินงานจาก National Endowment for Democracy (NED) เป็นเวลา 1 ปีนับตั้งแต่ 1 ต.ค. 2563 จนถึง 30 ก.ย. 2564

https://rocketmedialab.co
https://www.facebook.com/rocketmedialab.co
https://twitter.com/rocketmedialab
contact.rocketmedialab@gmail.com

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: