จับตา: คำแถลงประกอบงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566

กองบรรณาธิการ TCIJ 1 มิ.ย. 2565 | อ่านแล้ว 2178 ครั้ง


คำแถลงประกอบงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงต่อสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 31 พ.ค. 2565

คณะรัฐมนตรีขอเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566  โดยมีหลักการและเหตุผล ดังนี้
หลักการ
              ตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เป็นจำนวนไม่เกิน 3,185,000,000,000 บาท สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายของหน่วยรับงบประมาณ เป็นจำนวน 3,185,000,000,000 บาท
เหตุผล
              เพื่อให้หน่วยรับงบประมาณได้มีกรอบวงเงินงบประมาณสำหรับใช้จ่ายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566
              ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ที่รัฐบาลนำเสนอต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นการดำเนินงานต่อเนื่องจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2565  โดยใช้งบประมาณเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศตามแนวทางการพัฒนาของยุทธศาสตร์ชาติ  แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติและแผนย่อย  (ร่าง) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13  (ร่าง) นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ  แผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) และนโยบายรัฐบาล ให้บรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้อย่างเป็นรูปธรรม  เกิดผลสัมฤทธิ์และประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน  โดยรัฐบาลได้ดำเนินการให้สอดคล้องกับสภาวะทางเศรษฐกิจภายในประเทศและภายนอกประเทศ รวมทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
ภาวะเศรษฐกิจทั่วไป
ตามแถลงภาวะเศรษฐกิจของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ณ วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 เศรษฐกิจไทยในปี 2565 คาดว่าจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 3.5 – 4.5  โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศจากการผ่อนคลายลงของผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 การปรับตัวดีขึ้นของภาคการท่องเที่ยวภายใต้มาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ และการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดีตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ได้แก่ ผลกระทบของสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ เงื่อนไขด้านฐานะการเงินของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ การกลายพันธุ์และการระบาดของเชื้อไวรัส และความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในช่วงร้อยละ 1.5 – 2.5 ทั้งนี้ ข้อมูลล่าสุด สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แถลงภาวะเศรษฐกิจไทย ไตรมาสแรกของปี 2565 และแนวโน้มปี 2565 เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2565 โดยอัตราการขยายตัวของ GDP ปี 2565 อยู่ในช่วงร้อยละ 2.5 - 3.5 และอัตราเงินเฟ้ออยู่ในช่วงร้อยละ 4.2 - 5.2  
เศรษฐกิจไทยในปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 3.2 – 4.2 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของอุปสงค์ภายในประเทศ การขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะมีแนวโน้มกลับมาฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้น การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดี  ในขณะที่ยังมีข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงจากความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก การกลายพันธุ์และการระบาดของไวรัส รวมทั้งการลดลงของแรงขับเคลื่อนทางการคลัง โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในช่วงร้อยละ 0.5 – 1.5
นโยบายการคลังและความสัมพันธ์ระหว่างรายรับและงบประมาณรายจ่ายที่ขอตั้ง
ภายใต้สภาวการณ์ทางเศรษฐกิจดังกล่าว รัฐบาลจึงมีความจำเป็นต้องดำเนินนโยบายการคลังแบบขยายตัวผ่านการจัดทำงบประมาณขาดดุล เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง
โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 คาดว่ารายได้จะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เริ่มคลี่คลาย และการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค โดยประมาณการว่าจะจัดเก็บรายได้จากภาษีอากร การขายสิ่งของและบริการ รัฐพาณิชย์ และรายได้อื่น รวมสุทธิจำนวน  2,614,100 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1 จากปีก่อน และหักการจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 124,100 ล้านบาท คงเหลือเป็นรายได้สุทธิที่สามารถนำมาจัดสรรเป็นรายจ่ายของรัฐบาล จำนวน 2,490,000 ล้านบาท 
              สำหรับงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เพื่อให้หน่วยรับงบประมาณมีวงเงินงบประมาณสำหรับใช้จ่ายในการดำเนินภารกิจตามยุทธศาสตร์ชาติ  แผนในระดับต่าง ๆ  นโยบายรัฐบาลและหน้าที่
ความรับผิดชอบ อย่างเหมาะสม เพียงพอ จึงกำหนดวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 3,185,000 ล้านบาท
              การดำเนินนโยบายการคลังในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จึงเป็นการดำเนินนโยบายงบประมาณแบบขาดดุล โดยกำหนดรายได้สุทธิ จำนวน 2,490,000 ล้านบาท และเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 695,000  ล้านบาท รวมเป็นรายรับ จำนวน 3,185,000 ล้านบาท เท่ากับวงเงินงบประมาณรายจ่าย
 
ฐานะการคลัง
หนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565 มีจำนวน 9,951,962.7 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 60.6 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบการบริหารหนี้สาธารณะ ตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ ที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 70  โดยหนี้สาธารณะที่เป็นข้อผูกพันของรัฐบาล ซึ่งเกิดจากการกู้ยืมเงินโดยตรงและการค้ำประกันเงินกู้โดยรัฐบาล  มีจำนวน 9,478,592.1 ล้านบาท
ฐานะเงินคงคลัง ณ วันที่ 30 เมษายน 2565 มีจำนวน 398,830.7 ล้านบาท โดยรัฐบาลจะบริหารเงินคงคลังให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และบริหารรายรับและรายจ่ายของรัฐบาลให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด
ฐานะและนโยบายการเงิน
การดำเนินนโยบายการเงินในช่วงที่ผ่านมายังคงผ่อนคลายเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยให้มีความต่อเนื่อง  อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2565  มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเกินกรอบเป้าหมายจากราคาพลังงานและราคาอาหารที่ปรับสูงขึ้นมาก และจะปรับลดลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปและกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงต้นปี 2566 จากราคาพลังงานและอาหารที่คาดว่าจะไม่ปรับเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องเช่นในปี 2565 รวมทั้งปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบและสินค้าโภคภัณฑ์โลกที่จะบรรเทาลง ในขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ยังอยู่ในระดับต่ำ ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อในระยะยาวยังคงอยู่ในกรอบเป้าหมาย สำหรับด้านระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ แต่ภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนมีความเปราะบางขึ้นในบางกลุ่มจากปัญหาค่าครองชีพและต้นทุนที่มีการปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่รายได้ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่และมีภาระหนี้ที่อยู่ในระดับสูง คณะกรรมการนโยบายการเงินจึงมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องที่ร้อยละ 0.50 ในการประชุมเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม 2565 เพื่อให้ภาวะการเงินโดยรวมยังคงผ่อนคลาย และสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง
สำหรับฐานะการเงินด้านต่างประเทศของไทยในปัจจุบันอยู่ในเกณฑ์ดี มูลค่าเงินสำรองระหว่างประเทศ ณ วันที่ 22 เมษายน 2565 มีจำนวน 233,926.75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นประมาณ 3.15 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง
นโยบายการจัดทำงบประมาณ
ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จัดทำขึ้นโดยมีเป้าหมายให้ประเทศได้รับการพัฒนาและฟื้นฟูจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรมนุษย์ ความมั่นคง และสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งเน้นให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี  มีการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพตลอดช่วงชีวิต มีหลักประกันและความคุ้มครองทางเศรษฐกิจและสังคม กลุ่มเปราะบางและผู้ด้อยโอกาส อาทิ ผู้สูงวัย ผู้พิการ และเด็ก ได้รับการดูแลและช่วยเหลือจากสวัสดิการภาครัฐอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม เศรษฐกิจมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และกระจายประโยชน์สู่ประชาชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มฐานรากให้มีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ สามารถยกระดับความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น หลุดพ้นจากปัญหาความยากจน และสามารถพึ่งพาตนเองได้ เพื่อลดภาระทางการคลังและสนับสนุนให้เศรษฐกิจในภาพรวม
มีความเข้มแข็งและเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ โดยการจัดทำร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว รัฐบาลได้ดำเนินการให้เป็นไปตามกรอบของพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 และสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ
ในปัจจุบัน โดยได้กำหนดแนวทางการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ที่สำคัญ ดังนี้ 
1.   ดำเนินการให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติและแผนย่อย (ร่าง) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13  (ร่าง) นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) นโยบายของรัฐบาล เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน แผนปฏิบัติราชการของกระทรวง การน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการจัดสรรงบประมาณ โดยมุ่งให้ความสำคัญกับประเด็นการพัฒนาที่ต้องเร่งดำเนินการ  เพื่อให้บรรลุ 13 หมุดหมายตาม (ร่าง) แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 และโครงการสำคัญประจำปี 2566 ที่ส่งผลต่อการบรรลุเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ จำนวน 406 โครงการ  ที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2564
2. ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบพุ่งเป้า โดยใช้งบประมาณของหน่วยรับงบประมาณทั้งในส่วนของแผนงานยุทธศาสตร์ แผนงานพื้นฐาน และแผนงานบูรณาการ โดยมีเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนให้เกิดผลสำเร็จได้อย่างเป็นรูปธรรม และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตามข้อตกลงการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP 26)  รวมทั้งให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมและความต้องการของประชาชนในพื้นที่  การจัดสวัสดิการที่จำเป็นสำหรับประชาชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางทางสังคมและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  ตลอดจนมีการกระจายงบประมาณอย่างเป็นธรรม ไม่ซ้ำซ้อน และเกิดผลสัมฤทธิ์สูงสุดต่อประชาชน
3.   ส่งเสริมการกระจายอำนาจให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพิ่มศักยภาพการถ่ายโอนภารกิจการจัดบริการสาธารณะ ลดความเหลื่อมล้ำ รวมทั้งการพัฒนาประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้และประสิทธิผล การใช้จ่ายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
4.   จัดทำงบประมาณให้ครอบคลุมทุกแหล่งเงิน โดยให้หน่วยรับงบประมาณพิจารณานำเงินนอกงบประมาณหรือเงินสะสมคงเหลือมาใช้ดำเนินภารกิจของหน่วยรับงบประมาณเป็นลำดับแรก  รวมทั้งต้องพิจารณาแหล่งเงินอื่นในการดำเนินโครงการลงทุน เช่น การร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (Public Private Partnership : PPP) กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future Fund : TFF) เพื่อเป็นการลดภาระงบประมาณ และทำให้การใช้ทรัพยากรของประเทศเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
5.   ดำเนินการให้เป็นไปตามบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561  พระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561  รวมทั้งกฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง
สาระสำคัญของงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.. 2566
ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 มีวงเงินงบประมาณ จำนวน 3,185,000 ล้านบาท  จำแนกเป็นรายจ่ายประจำ จำนวน 2,396,942.2 ล้านบาท  คิดเป็นร้อยละ 75.26  รายจ่ายลงทุน จำนวน 695,077.4 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 21.82  และรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 100,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3.14 ทั้งนี้รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้เป็นรายจ่ายลงทุนกรณีการกู้เพื่อการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ จำนวน 7,019.6 ล้านบาท ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวอยู่ภายในกรอบวินัยการเงินการคลัง โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

  1. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.. 2566 จำแนกตามกลุ่มงบประมาณรายจ่าย
              1.1 งบประมาณรายจ่ายงบกลาง จำนวน 590,470.0 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 18.6 ของวงเงินงบประมาณ
              1.2 งบประมาณรายจ่ายของหน่วยรับงบประมาณ จำนวน 1,090,329.6 ล้านบาท  คิดเป็นร้อยละ 34.2 ของวงเงินงบประมาณ
              1.3 งบประมาณรายจ่ายบูรณาการ จำนวน 218,477.7 ล้านบาท  คิดเป็นร้อยละ 6.9 ของวงเงินงบประมาณ จำนวน 11 เรื่อง ได้แก่
                     1.   ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้  
                     2.   พัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก     
                     3.   ต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ
                    4.   เตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสังคมสูงวัย
                    5.   บริหารจัดการทรัพยากรน้ำ
                    6.   ป้องกัน ปราบปราม และบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด
                    7.   พัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์
                    8.   พัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก
                    9.   พัฒนาอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต
                   10.  รัฐบาลดิจิทัล
                   11.  สร้างรายได้จากการท่องเที่ยว
 
            1.4 งบประมาณรายจ่ายบุคลากร  จำนวน 772,119.1 ล้านบาท  คิดเป็นร้อยละ 24.2 ของวงเงินงบประมาณ
            1.5 งบประมาณรายจ่ายสำหรับทุนหมุนเวียน จำนวน 206,985.6 ล้านบาท  คิดเป็นร้อยละ 6.5 ของวงเงินงบประมาณ
            1.6 งบประมาณรายจ่ายเพื่อการชำระหนี้ภาครัฐ จำนวน 306,618.0 ล้านบาท  คิดเป็นร้อยละ 9.6 ของวงเงินงบประมาณ
  1. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำแนกตามยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณ                                                                                 ยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ได้กำหนดไว้ จำนวน 6 ยุทธศาสตร์ 1 รายการ โดยได้นำยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติมากำหนดเป็นกรอบโครงสร้างยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 สรุปสาระสำคัญ ดังนี้ 
ยุทธศาสตร์ที่ 1 : ด้านความมั่นคง
รัฐบาลจัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน  296,003.6 ล้านบาท  คิดเป็นร้อยละ 9.3 ของวงเงินงบประมาณ  เพื่อให้บ้านเมืองมีความมั่นคง ประชาชนมีความสุข ทุกภาคส่วนมีความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความมั่นคงของประเทศ  และได้รับการยอมรับจากประชาคมระหว่างประเทศ  จำแนกตามแผนงาน ดังนี้ 
               1)   การเสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติ   งบประมาณ 12,259.9 ล้านบาท เพื่อให้คนในชาติมีจิตสำนึกรักและหวงแหน ปลูกฝังและสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของสถาบันหลักของชาติ เสริมสร้างความมั่นคงในการเทิดทูนสถาบันหลักและเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ ถวายความปลอดภัยพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ และขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ตามแนวพระราชดำริและหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
               2)   การรักษาความสงบภายในประเทศ งบประมาณ 22,117.4 ล้านบาท เพื่อให้ประชาชนมีความมั่นคง ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินโดยการรักษาความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ ปลูกฝังจิตสำนึกรักสามัคคีและส่งเสริมความปรองดองของคนในชาติ สนับสนุนภารกิจของกองอาสารักษาดินแดน ขับเคลื่อนนโยบายของรัฐผ่านกลไกหมู่บ้าน เพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม และการบังคับใช้กฎหมาย การอำนวยความยุติธรรมและบริการประชาชน รวมทั้งสร้างการมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วน
               3)   การพัฒนาและเสริมสร้างการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข งบประมาณ 531.2 ล้านบาท  เพื่อส่งเสริมการประชาสัมพันธ์เพื่อพัฒนาระบอบประชาธิปไตย  และการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน สร้างองค์ความรู้ความเข้าใจ และตระหนักถึงการทำหน้าที่พลเมืองที่ดีตามวิถีระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
               4)   การขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้  งบประมาณ 6,251.2 ล้านบาท เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ชายแดนภาคใต้มีความปลอดภัยทั้งในชีวิตและทรัพย์สินอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข  มีเป้าหมายในการลดจำนวนเหตุรุนแรงในพื้นที่ลงร้อยละ 60 เมื่อเทียบกับปี 2560  โดยเพิ่มประสิทธิภาพการขับเคลื่อนงานภาครัฐในลักษณะบูรณาการที่มีเอกภาพร่วมกับทุกภาคส่วน อาทิ การเพิ่มประสิทธิภาพงานข่าวกรอง การรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน การแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งโดยสันติวิธี การอำนวยความยุติธรรมและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ การพัฒนาศักยภาพตามพื้นที่ การพัฒนาสังคมพหุวัฒนธรรมที่เข้มแข็งและเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน การเสริมสร้างความเข้าใจและประสานความร่วมมือ และการพัฒนาและปรับปรุงประสิทธิภาพด้วยหลักธรรมาภิบาล เพื่อมุ่งให้เกิดผลในการแก้ไขปัญหาในมิติความมั่นคง มิติการพัฒนา และมิติการบริหารจัดการภาครัฐ ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้
               5) การป้องกัน ปราบปราม และบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด  งบประมาณ 4,188.2 ล้านบาท เพื่อให้เด็ก เยาวชน ผู้ใช้แรงงาน และประชาชนกลุ่มเสี่ยงมีภูมิคุ้มกันภัยจากยาเสพติด  ไม่ไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด และไม่กระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอย่างน้อยร้อยละ 97 ของประชากรทุกช่วงวัย ปราบปรามทำลายโครงสร้างเครือข่ายการค้ายาเสพติดระดับสำคัญ เพื่อนำไปสู่การจับกุม ยึด อายัดทรัพย์สิน อย่างน้อยร้อยละ 50 ของเครือข่ายยาเสพติด  มุ่งเน้นการนำผู้เสพเข้ารับการบำบัดรักษาโดยสมัครใจแทนการลงโทษ กำหนดกลไกและมาตรการทางสาธารณสุขแทนการใช้กระบวนการยุติธรรมทางอาญา ตลอดจนติดตามช่วยเหลือและฟื้นฟูสภาพทางสังคมอย่างมีคุณภาพตามมาตรฐาน ให้สามารถกลับไปใช้ชีวิตในสังคมได้ตามปกติ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 
               6) การป้องกันและแก้ไขปัญหาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคง งบประมาณ 19,919.6 ล้านบาท  เพื่อรักษาความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ ความมั่นคงชายแดน ชายฝั่งทะเล และรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ป้องกันและแก้ไขปัญหาความมั่นคงทางไซเบอร์ การก่อการร้าย ป้องกันภัยคุกคามข้ามชาติและความมั่นคงทางทะเลและพัฒนาศักยภาพในการรับมือภัยคุกคามและเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี ตลอดจน ติดตามและเฝ้าระวังการทำประมงให้เป็นไปตามกฎหมาย และการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งเพื่อป้องกันการสูญเสียดินแดนของประเทศ
               7)     การจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ งบประมาณ 299.7 ล้านบาท  เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนงานด้านการป้องกันการบังคับใช้แรงงานและการค้ามนุษย์  คุ้มครองและช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์กลับคืนสู่สังคม โดยการเพิ่มประสิทธิภาพการปราบปรามและดำเนินคดีการกระทำความผิดค้ามนุษย์  ป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์  รวมทั้ง สร้างความรู้ความเข้าใจแก่กลุ่มเป้าหมายให้สามารถป้องกันและปฏิบัติตัวได้ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ไม่น้อยกว่า 137,000 คน    
               8) การพัฒนาระบบการเตรียมพร้อมแห่งชาติและระบบบริหารจัดการภัยพิบัติ งบประมาณ 16,971.8 ล้านบาท  เพื่อพัฒนาขีดความสามารถการปฏิบัติงานด้านภัยพิบัติฉุกเฉิน การกู้ภัยและช่วยเหลือผู้ประสบภัย  เพื่อลดความสูญเสียและสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน  เพิ่มประสิทธิภาพการเตือนภัยพิบัติ  สร้างความรู้และความตระหนักแก่ประชาชน  รวมถึงป้องกันการกัดเซาะการพังทลายของตลิ่งริมแม่น้ำภายในประเทศ  ไม่น้อยกว่า 176,414 เมตร
               9)   การพัฒนาศักยภาพการป้องกันประเทศ และความพร้อมเผชิญภัยคุกคามทุกมิติ งบประมาณ 58,194.4 ล้านบาท  เพื่อให้หน่วยงานด้านความมั่นคง มีความพร้อมที่จะเผชิญภัยคุกคามทุกรูปแบบ มีระบบและแผนเตรียมพร้อมแห่งชาติที่ทันสมัยและปฏิบัติได้จริง โดยการเพิ่มขีดความสามารถงานข่าวกรองและต่อต้านข่าวกรอง สร้างเครือข่ายภาคประชาชนและภาคเอกชนให้มีความรู้ความเข้าใจด้านการข่าวและการรักษาความปลอดภัยฝ่ายพลเรือน รวมถึงการพัฒนาขีดความสามารถของกองทัพด้านการพัฒนาประเทศและการช่วยเหลือประชาชน ส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและพลังงานทหาร ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเพื่อการป้องกันประเทศ
               10) การส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ  งบประมาณ 4,052.4 ล้านบาท  เพื่อให้ประเทศไทยมีความมั่นคงสามารถรับมือกับความท้าทายจากภายนอกได้ทุกรูปแบบ  และเป็นหนึ่งในศูนย์กลางการค้า การลงทุน และการบริการในภูมิภาคเอเชีย  โดยการพัฒนาความเป็นมาตรฐานสากลและส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือทางเศรษฐกิจและทางทหารกับมิตรประเทศและองค์การระหว่างประเทศ  เสริมสร้างภาพลักษณ์ และบทบาทของประเทศไทยในประชาคมโลก  ส่งเสริมการดำเนินงานการต่างประเทศอย่างมีเอกภาพและบูรณาการ รวมทั้งพัฒนาความร่วมมือความเป็นหุ้นส่วนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมภายใต้กรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ
               11) การพัฒนากลไกการบริหารจัดการความมั่นคงแบบองค์รวม  งบประมาณ 423.1 ล้านบาท  เพื่อให้กลไกการบริหารจัดการความมั่นคงมีประสิทธิภาพสูงขึ้น โดยการพัฒนากลไกการบริหารจัดการความมั่นคงแบบองค์รวม ขับเคลื่อนนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ
               12) การสนับสนุนด้านความมั่นคง งบประมาณ 536.8 ล้านบาท  เพื่อสนับสนุนเป้าหมายยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง โดยการเพิ่มขีดความสามารถระบบบริหารจัดการด้านความมั่นคง สนับสนุนงานขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหาตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ชายแดนภาคใต้
               13) การดำเนินงานภารกิจพื้นฐาน งบประมาณ 33,838.4 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐ งบประมาณ 116,419.5 ล้านบาท เพื่อให้การดำเนินภารกิจด้านความมั่นคงมีประสิทธิภาพและเกิดความคุ้มค่า มีความพร้อมด้านการป้องกันประเทศ  การดำรงไว้ซึ่งความสัมพันธ์อันดีและความร่วมมือในการดำเนินงานด้านความมั่นคงระหว่างประเทศไทยกับมิตรประเทศ

ยุทธศาสตร์ที่ 2 : ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน
               รัฐบาลจัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 396,125.5 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 12.4 ของวงเงินงบประมาณ  เพื่อส่งเสริมให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโต และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันมีเสถียรภาพและยั่งยืน โดยมีเป้าหมายกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคมในทุกภูมิภาคของประเทศ จำแนกตามแผนงาน ดังนี้
               1)   การพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ งบประมาณ 131,372.8 ล้านบาท  เพื่อให้ประเทศไทยมีระบบคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมโดยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมในทุกระบบ เช่น ทางถนน ก่อสร้างโครงข่ายทางหลวงและทางหลวงชนบท ระยะทาง 4,017 กิโลเมตร  และทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ระยะทาง 48 กิโลเมตร  ทางราง พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อส่งเสริมการขนส่งทางรางสายเด่นชัย - เชียงราย – เชียงของ  สายบ้านไผ่ - มหาสารคาม - ร้อยเอ็ด – มุกดาหาร - นครพนม และพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงสู่ภูมิภาคระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา   ทางน้ำ เพิ่มประสิทธิภาพทางเดินเรือในแม่น้ำต่าง ๆ ก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง ขุดลอกและบำรุงรักษาร่องน้ำชายฝั่งทะเล เพื่อรองรับปริมาณการขนส่งสินค้า 114 ล้านตัน ทางอากาศ  เพิ่มขีดความสามารถของท่าอากาศยานตามมาตรฐานการบินระหว่างประเทศ  รวมทั้ง ส่งเสริมการเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะของประชาชนอย่างทั่วถึง รวมทั้ง การพัฒนารูปแบบการกำกับดูแลและการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม การพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ โดยมีเป้าหมายจำนวน 2,750 คน และการกำกับดูแลและพัฒนามาตรฐานด้านการขนส่งทุกรูปแบบให้มีคุณภาพระดับสากล รองรับและอำนวยความสะดวกทางการค้าด้วยระบบการเชื่อมโยงข้อมูลหน่วยงานภาครัฐและภาคธุรกิจ
               2)   การเกษตรสร้างมูลค่า งบประมาณ 78,903.7 ล้านบาท  เพื่อเพิ่มการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมและผลิตภาพด้านการผลิตของสาขาเกษตร  โดยส่งเสริมระบบเกษตรแปลงใหญ่ จำนวน 3,023 แปลง และ 201,000 ไร่  เพื่อลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลผลิตต่อหน่วย  บริหารจัดการการผลิตสินค้าเกษตรตามแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri-Map) จำนวน  71,540 ไร่  ส่งเสริมการวิจัยพัฒนาองค์ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น พัฒนาศักยภาพกระบวนการผลิตและปรับเปลี่ยนการผลิตให้เหมาะสมกับศักยภาพพื้นที่  ผลิตสินค้าเกษตรและอาหารเข้าสู่ระบบมาตรฐานความปลอดภัยด้วยการตรวจประเมินแหล่งผลิต ไม่น้อยกว่า 240,500 แห่ง ส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรตามศักยภาพและความโดดเด่นเฉพาะ สร้างเกษตรกรรุ่นใหม่และส่งเสริมการรวมกลุ่มเกษตรกร  รวมทั้งส่งเสริมความเข้มแข็งเกษตรกรผ่านโครงการประกันรายได้สินค้าเกษตร โดยมีเกษตรกรได้รับประโยชน์ 7.92 ล้านครัวเรือน  และส่งเสริมการใช้แพลตฟอร์มการตลาดดิจิทัลเพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ให้กลุ่มเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชน เพื่อเป็นภาคการผลิตที่สร้างรายได้และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้เกษตรกรพึ่งพาตนเอง
               3)   การพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก งบประมาณ 11,086.9 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พัฒนากิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทันสมัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม  โดยมีโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคที่มีประสิทธิภาพ เข้าถึงได้สะดวก และเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ เช่น ปรับปรุงทางรถไฟเข้าพื้นที่ท่าเรือจุกเสม็ด ก่อสร้างทางหลวงรองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกระยะทาง 95 กิโลเมตร โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน  รวมทั้งพัฒนาเมืองให้น่าอยู่ มีความทันสมัยระดับนานาชาติ เหมาะกับการอยู่อาศัยอย่างสะดวก ปลอดภัย สามารถประกอบกิจการได้อย่างมีคุณภาพ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ เช่น พัฒนาผังเมืองและปรับปรุงภูมิทัศน์  ไม่น้อยกว่า 14 ผัง  ก่อสร้างศูนย์การแพทย์ครบวงจร 2 แห่ง  และก่อสร้างโรงพยาบาลศูนย์เฉพาะทาง 3 แห่ง  ผลิตและพัฒนาบุคลากรให้มีสมรรถนะตรงตามความต้องการของผู้ประกอบการ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ไม่น้อยกว่า 4,850 คน และการถ่ายทอดเทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่และเกษตรอัจฉริยะใน 40 ชุมชน
               4) การพัฒนาพื้นที่และเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ งบประมาณ 7,435.2 ล้านบาท เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยกระจายศูนย์กลางความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคมในทุกภูมิภาคของประเทศ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งอำนวยความสะดวกและความปลอดภัย  เพื่อยกระดับความน่าอยู่ของเมือง โดยใช้แผนผังภูมินิเวศเป็นกรอบในการพัฒนาเมืองน่าอยู่ ชนบทมั่นคง เกษตรยั่งยืน และอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ รวมถึง ผังพื้นที่อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ แหล่งโบราณคดี วัฒนธรรม ประเพณี และอัตลักษณ์ท้องถิ่น  โดยสนับสนุนการวางผังเมือง 120 ผัง และจัดรูปที่ดิน 1,476 ไร่ 
               5)   การสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว งบประมาณ 5,125.1 ล้านบาท เพื่อให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ  มีเป้าหมายเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยว ไม่น้อยกว่า 2.4 ล้านล้านบาท โดยสนับสนุนการสร้างความหลากหลายด้านการท่องเที่ยว ให้สอดคล้องกับความต้องการของนักท่องเที่ยวกลุ่มคุณภาพ  รักษาจุดเด่นด้านขนบธรรมเนียม ประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงาม เช่น การพัฒนาเส้นทางชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี 50 ชุมชน เพิ่มศักยภาพการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ 10 แห่ง พัฒนาแหล่งธรณีวิทยาเพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยว 9 แห่ง  พัฒนาเมืองท่องเที่ยวเพื่อรองรับการจัดงานท่องเที่ยวเชิงธุรกิจ 10 เมือง ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชื่อมโยงกลุ่มอาเซียนและงานสัมมนาระดับนานาชาติ รวมทั้งพัฒนาและยกระดับชุมชนเข้าสู่มาตรฐานการท่องเที่ยวไทย  50 ชุมชน และผลักดันให้ชุมชนเข้าสู่ตลาดอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 20 ชุมชน เพื่อประโยชน์ในการสร้างงาน สร้างอาชีพ และรายได้ให้กับคนในชุมชน  พัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกและโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมเชื่อมโยงไปยังภูมิภาค โดยก่อสร้างทางหลวงชนบทเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว ระยะทาง 231 กิโลเมตร  รวมทั้งส่งเสริมการตลาดทั้งในและต่างประเทศ เช่น จัดกิจกรรมเจาะตลาดนักท่องเที่ยวกลุ่มคุณภาพ กลุ่มกีฬาและสุขภาพ
6)   การพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ งบประมาณ 699.4 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม สังคม สิ่งแวดล้อม และการศึกษา เพิ่มประสิทธิภาพของด่านศุลกากร 2 แห่ง ปรับปรุงและจัดทำข้อเสนอกฎหมายและกฎระเบียบใหม่ ประชาสัมพันธ์ให้นักลงทุนและผู้ประกอบการไทยและนานาชาติมาลงทุนในพื้นที่เป้าหมาย ได้แก่ ตาก มุกดาหาร สระแก้ว ตราด สงขลา หนองคาย เชียงราย นครพนม กาญจนบุรี และนราธิวาส เพิ่มประสิทธิภาพการบริการคนเข้าเมือง พัฒนาสาธารณสุขชายแดน ป้องกัน เฝ้าระวังและควบคุมโรคติดต่อ พัฒนาฝีมือแรงงาน การจัดระบบแรงงานต่างด้าวตลอดจนพัฒนาพื้นที่บริเวณชายแดนให้มีความพร้อมสำหรับรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมที่เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยนำเ ทคโนโลยี นวัตกรรม และดิจิทัลมาใช้อำนวยความสะดวกในการพัฒนาพื้นที่
               7)   การส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่เข้มแข็ง แข่งขันได้ งบประมาณ 2,721.4 ล้านบาท เพื่อส่งเสริม สนับสนุนให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และผู้ประกอบการชุมชนมีความรู้และทักษะของการเป็นผู้ประกอบการที่มีอัตลักษณ์ชัดเจน มีนวัตกรรมในการผลิตสินค้าและบริการ สามารถปรับตัวสู่ธุรกิจใหม่  โดยเสริมสร้างศักยภาพวิสาหกิจในการใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและดิจิทัล 22,000 คน 2,400 กิจการ ส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งทุน ตลอดจนการเข้าถึงแหล่งข้อมูลและองค์ความรู้ในการพัฒนาธุรกิจ สามารถขยายการค้าและการลงทุนไปต่างประเทศ ด้วยการส่งเสริมผู้ประกอบการให้มีช่องทางการค้าผ่าน e-commerce 25,800 คน รวมทั้งส่งเสริมการลงทุนที่เน้นการวิจัย พัฒนา และสร้างนวัตกรรม สร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน และสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ โดยมีเป้าหมายให้ SME ไทยไม่น้อยกว่า 800,000 ราย สามารถเติบโตและแข่งขันได้ในระดับสากล
               8)   การพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต งบประมาณ 1,554.6 ล้านบาท เพื่อเพิ่มอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศสาขาอุตสาหกรรมและบริการ ร้อยละ 3.1  ซึ่งครอบคลุมอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมชีวภาพ อุตสาหกรรมและบริการทางการแพทย์ อุตสาหกรรมและบริการดิจิทัล ข้อมูลปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ระบบอัตโนมัติ และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและยานยนต์สมัยใหม่ และอุตสาหกรรมด้านความมั่นคง โดยสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต เช่น การจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีต้นแบบที่มีความเป็นเลิศด้านการวิจัยและพัฒนายาตัวใหม่ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการเป็นฐานการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก และรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมดิจิทัล รวมทั้งพัฒนาผู้ประกอบการอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคตในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน จำนวน 292 กิจการ  และพัฒนาศักยภาพแรงงานและบุคลากร เพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพเชิงเศรษฐกิจ ตลอดจนพัฒนาต่อยอดความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมและยกระดับไปสู่อุตสาหกรรมที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง
               9)   การพัฒนาความมั่นคงทางพลังงาน งบประมาณ 1,226.1 ล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานทั้งระบบให้มีความมั่นคง  สนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในทุกภาคส่วน  รักษาอัตราการผลิตน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติเหลวในประเทศไม่น้อยกว่า 140,000 บาร์เรลต่อวัน สนับสนุนการใช้เทคโนโลยีเพื่อบริหารจัดการและผลิตพลังงาน การใช้พลังงานทดแทน พลังงานทางเลือก  กำกับดูแลกลไกตลาดพลังงานให้มีการแข่งขันที่เป็นธรรม 
               10) การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล งบประมาณ 988.1 ล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลในส่วนของโครงข่ายสื่อสารหลักและบรอดแบรนด์ความเร็วสูงให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลและบริการที่มีประสิทธิภาพอย่างเท่าเทียม ส่งเสริมการลงทุนและใช้ทรัพยากรโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลร่วมกัน ทั้งในและต่างประเทศ ในส่วนของภาคพื้นดิน เคเบิ้ลใต้น้ำ และระบบดาวเทียมสำหรับการเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านให้มีเพียงพอและมีระบบโครงข่ายสำรอง (Redundancy) ให้สามารถสื่อสารระหว่างประเทศได้อย่างต่อเนื่อง พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ตลอดจนจัดให้มีมาตรการเฝ้าระวังและรับมือภัยคุกคามไซเบอร์ที่ได้มาตรฐานสากล ปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการกำหนดมาตรการและแนวปฏิบัติสำหรับผู้ให้บริการในการคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคลและการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของผู้รับบริการ ส่งเสริมการให้ความรู้ เพิ่มทักษะและใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีแก่ประชาชนและทุกสาขาอาชีพ  สร้างความรู้การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล สื่อออนไลน์ โครงข่ายสังคมออนไลน์อย่างถูกต้องไม่น้อยกว่า 70,000 คน
               11) การวิจัยและพัฒนานวัตกรรม งบประมาณ 17,089.0 ล้านบาท เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้เจริญเติบโตอย่างยั่งยืน พร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วยการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม โดยมุ่งเน้นการเร่งรัดและผลักดันให้ภาครัฐและเอกชนนำผลการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมไปใช้ได้จริงอย่างเป็นรูปธรรม ส่งเสริมให้คนไทยมีสมรรถนะและทักษะสูงเพียงพอในการพลิกโฉมประเทศ เสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้วยเศรษฐกิจสร้างคุณค่าและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพิ่มความมั่นคงของเศรษฐกิจฐานรากเพื่อให้พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ตอบโจทย์ปัญหาท้าทายสังคม สร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำ รวมทั้งการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ปรับตัวได้ทันต่อพลวัตการเปลี่ยนแปลงของโลก
               12) การพัฒนาศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม งบประมาณ 286.6 ล้านบาท เพื่อพัฒนากำลังคนและเสริมศักยภาพของสถาบันวิจัยและสถาบันอุดมศึกษา ให้เป็นฐานในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศแบบก้าวกระโดดและอย่างยั่งยืน โดยใช้วิทยาศาสตร์ วิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรม 
               13)  การสนับสนุนด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน งบประมาณ 23,775.5 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนเป้าหมายยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน โดยการยกระดับศักยภาพของประเทศในหลากหลายมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ อัตลักษณ์ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการและลดต้นทุนการผลิต สนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุน พัฒนาช่องทางการตลาดและขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าระหว่างประเทศ รวมทั้งขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนในเวทีโลก ควบคู่ไปกับการยกระดับรายได้และการกินดีอยู่ดี
                14) การดำเนินงานภารกิจพื้นฐาน งบประมาณ 71,873.9 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐ งบประมาณ 41,987.2 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันสอดรับกับบริบทของเศรษฐกิจและสังคมโลกสมัยใหม่ และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศในมิติต่าง ๆ

ยุทธศาสตร์ที่ 3 : ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์
              รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 549,514.0 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 17.2 ของวงเงินงบประมาณ  เพื่อให้ประชาชนทุกช่วงวัยมีความรู้ คุณธรรม จิตสาธารณะ และมีคุณภาพชีวิตที่ดี  ได้รับการศึกษาและการเรียนรู้ที่ตอบสนองต่อนวัตกรรมและการเปลี่ยนแปลง  สามารถเข้าถึงระบบสาธารณสุขที่ได้มาตรฐานและทั่วถึง  รวมทั้งเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์วัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น  พัฒนาศักยภาพทางการกีฬา และพัฒนาทักษะแรงงานรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายและวางรากฐานเศรษฐกิจในอนาคต จำแนกตามแผนงาน ดังนี้   
               1) การเสริมสร้างให้คนมีสุขภาวะที่ดี งบประมาณ 51,883.9 ล้านบาท  เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาวะที่ดี สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่ได้มาตรฐานและทั่วถึง พร้อมรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่และอุบัติซ้ำ ส่งเสริมระบบบริหารจัดการด้านสุขภาพ การแพทย์แผนไทย การแพทย์ผสมผสาน การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค  สนับสนุนกลไกการปฏิบัติหน้าที่ของ อสม. หมอประจำบ้าน ไม่น้อยกว่า 1.039 ล้านคน เพื่อให้ประชาชนและชุมชนสามารถดูแลสุขภาพตนเองได้อย่างถูกต้องและยั่งยืน ส่งเสริมและพัฒนาสมุนไพรไทย กัญชา กัญชง เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ และให้ประชาชนเข้าถึงการใช้ประโยชน์อย่างปลอดภัย เร่งรัดการผลิตแพทย์ พยาบาล และบุคลากรด้านสาธารณสุข ไม่น้อยกว่า 38,400 คน  และกระจายแพทย์ไปสู่ชนบทไม่น้อยกว่า 7,490 คน พัฒนาระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินครบวงจรและระบบการส่งต่อ พร้อมทั้งสนับสนุนการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง
               2)   การพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต งบประมาณ 31,699.5 ล้านบาท  เพื่อให้คนไทยทุกช่วงวัยได้รับการพัฒนาอย่างสมดุล ทั้งด้านร่างกาย สติปัญญา คุณธรรม และจริยธรรม โดยมุ่งเน้นให้เด็กและเยาวชนมีพัฒนาการและทักษะที่เหมาะสมตามช่วงวัย ด้วยการสนับสนุนอาหารเสริม (นม) ไม่น้อยกว่า 1.47 ล้านคน อาหารกลางวัน ไม่น้อยกว่า 487,800 คน ส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต พัฒนาทักษะและสมรรถนะแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยแรงงานได้รับการฝึกฝีมือ ไม่น้อยกว่า 75,300 คน รวมทั้ง ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุเข้าร่วมกิจกรรม พัฒนาทักษะอาชีพให้เป็นผู้สูงอายุ
ที่มีศักยภาพ สามารถประกอบอาชีพและพึ่งพาตนเองได้ 
               3)   การพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการเรียนรู้ งบประมาณ 19,871.4 ล้านบาท เพื่อให้คนไทยมีการศึกษาที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล โดยพัฒนารูปแบบการศึกษาและการเรียนรู้ให้ตอบสนอง
ต่อนวัตกรรมและการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 พัฒนาศักยภาพครูให้มีสมรรถนะของครูยุคใหม่ 64,300 คน ขยายโอกาสการศึกษาวิชาชีพและยกระดับการผลิตและพัฒนากำลังคนให้ตอบสนองความต้องการของประเทศ 36,000 คน เชื่อมโยงการศึกษากับภาคธุรกิจโดยพัฒนาครูผู้สอนระบบทวิภาคี 12,000 คน ส่งเสริมการเรียนภาษาคอมพิวเตอร์ (Coding) สำหรับครูและบุคลากรทางการศึกษา ไม่น้อยกว่า 678,500 คน  พัฒนาโรงเรียนคุณภาพทุกตำบล ไม่น้อยกว่า 8,200 โรงเรียน สนับสนุนการคืนครูให้นักเรียนทุกกลุ่มเป้าหมาย ไม่น้อยกว่า 63,000 คน ตลอดจนพัฒนากำลังคนด้านวิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยสนับสนุนทุนการศึกษาให้กับนักเรียน นักศึกษาและครูเพื่อพัฒนาให้เป็นผู้มีความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี ไม่น้อยกว่า 1,800 คน
              4)  การเสริมสร้างศักยภาพการกีฬา งบประมาณ 1,934.3 ล้านบาท  เพื่อให้คนไทยมีสุขภาพแข็งแรง มีวินัย มีน้ำใจนักกีฬา และตระหนักถึงประโยชน์ของการออกกำลังกายและการเล่นกีฬา โดยส่งเสริมการออกกำลังกาย การเล่นกีฬาและกิจกรรมนันทนาการของประชาชนทุกกลุ่มทุกวัย ไม่น้อยกว่า 23 ล้านคน  พัฒนาบุคลากรด้านพลศึกษา กีฬา นันทนาการ วิทยาศาสตร์การกีฬา ให้มีความสามารถและทักษะความเป็นเลิศด้านกีฬา สนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน อุปกรณ์ สถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการออกกำลังกาย การกีฬาและนันทนาการ รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนานักกีฬาของชาติตั้งแต่ระดับเยาวชนเพื่อพัฒนาสู่ความเป็นเลิศด้านกีฬาอาชีพ ไม่น้อยกว่า 30,000 คน 
               5)   การปรับเปลี่ยนค่านิยมและวัฒนธรรม งบประมาณ 2,472.3 ล้านบาท  เพื่อให้คนไทยมีคุณธรรม จริยธรรม  มีความภูมิใจและรักในความเป็นไทย  รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกิจกรรมอนุรักษ์ฟื้นฟูขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น ไม่น้อยกว่า 19 ล้านคน  และอนุรักษ์มรดกศิลปวัฒนธรรม ไม่น้อยกว่า 590,000 รายการ พัฒนาสืบสานมรดกทางศิลปะ วัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมทั้งน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำรงชีวิตเพื่อให้สังคมไทยมีความสุข และนำไปสู่การเสริมสร้างภาพลักษณ์ความเป็นไทยสู่สากลให้เป็นที่ยกย่องและยอมรับของนานาชาติ 
               6)   การสนับสนุนด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ งบประมาณ 2,650.2 ล้านบาท เพื่อพัฒนาคนไทยทุกช่วงวัย และส่งเสริมผู้เรียนทุกกลุ่มให้ได้รับการพัฒนาความรู้ ทักษะ มีความเป็นเลิศทางวิชาการ พัฒนาเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศและระบบฐานข้อมูลทางการศึกษา รวมพัฒนาทักษะแรงงานให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลก อย่างน้อย 23,000 คน และให้ประชาชน
ทุกกลุ่มมีโอกาสได้เรียนรู้และฝึกอาชีพจากโครงการศูนย์ฝึกอาชีพชุมชน ไม่น้อยกว่า 400,000 คน เพื่อให้เกิดการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง
               7)     การดำเนินงานภารกิจพื้นฐาน งบประมาณ 35,057.3 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐ  งบประมาณ 403,945.1  ล้านบาท เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ยกระดับการศึกษาและการเรียนรู้ที่มีคุณภาพและทั่วถึง รวมทั้ง วัยแรงงานได้รับการพัฒนาศักยภาพให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน 

ยุทธศาสตร์ที่ 4 : ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม 
               รัฐบาลจัดสรรงบประมาณ จำนวน 759,861.3  ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 23.9 ของวงเงินงบประมาณ  เพื่อให้คนไทยได้รับสวัสดิการพื้นฐานอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม  สร้างโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำของสังคม  สร้างหลักประกันทางสังคมให้คนไทยสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพและการศึกษาที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน  รวมทั้งสร้างหลักประกันสวัสดิการสำหรับแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบ และสนับสนุนการเตรียมความพร้อมสังคมไทยในการรองรับสังคมสูงวัย จำแนกตามแผนงาน ดังนี้
               1) การสร้างหลักประกันทางสังคม งบประมาณ 269,465.2 ล้านบาท เพื่อให้ประชาชนทุกคนโดยเฉพาะกลุ่มด้อยโอกาสและกลุ่มเปราะบางได้รับการคุ้มครอง มีหลักประกันทางสังคมและสวัสดิการที่เหมาะสมและเป็นธรรม ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขภายใต้ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ไม่น้อยกว่า 47.7 ล้านคน  เพิ่มค่าใช้จ่ายรายหัวและสิทธิประโยชน์ อาทิ การตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง  โรคหัวใจ วัณโรค การผ่าตัดรากฟันเทียมในผู้สูงอายุ การให้ยาป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีหลังการสัมผัสและการเสริมสร้างสุขภาพและป้องกันโรค  รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพด้านการคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อดูแลประชาชน
ให้ได้รับความเป็นธรรมในราคาสินค้าและบริการอย่างเหมาะสม ส่งเสริมการสร้างหลักประกันสังคมและสวัสดิการสำหรับแรงงานในระบบและนอกระบบ ให้สามารถเข้าถึงระบบประกันสังคมอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ครอบคลุมผู้ประกันตนสำหรับแรงงานในระบบและนอกระบบ เป้าหมาย 24.3 ล้านคน รวมถึงสร้างความปลอดภัยและอนามัยสุขภาพในการทำงานให้เหมาะสม ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพคนไร้ที่พึ่งและคนขอทานได้รับการคุ้มครองช่วยเหลือที่ครอบคลุมและทั่วถึง จำนวน 98,930 คน
                2)  การสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา งบประมาณ 81,269.0 ล้านบาท  เพื่อสร้างโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีคุณภาพและมีมาตรฐานทั้งในระบบและนอกระบบ  โดยสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่า 9.68 ล้านคน  เพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาในสังคมไทย  ประชาชนทุกคนมีโอกาสได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมและทั่วถึงและมีคุณภาพตามมาตรฐานโดยใช้เทคโนโลยีทางไกลผ่านดาวเทียม ไม่น้อยกว่า 7,900 แห่ง  ตลอดจนสร้างโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในพื้นที่ 2,000 โรงเรียน รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาเพื่อช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส ไม่น้อยกว่า 2.68 ล้านคน ให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาหรือการเรียนรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพให้เหมาะสมสอดคล้องกับความจำเป็นรายบุคคล ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของหน่วยจัดการเรียนรู้ทั้งในระบบและนอกระบบหรือกลไกความร่วมมือในพื้นที่ รวมทั้งเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพครู อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาให้มีคุณภาพ และสนับสนุนทุนเพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาระดับอุดมศึกษา และสายอาชีพ จำนวน 10,700 คน
               3)   การส่งเสริมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น งบประมาณ 304,356.1 ล้านบาท เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณะจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ สนับสนุนการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานให้แก่นักเรียนโรงเรียนในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่น้อยกว่า 1.019 ล้านคน สนับสนุนอาหารเสริม (นม) และอาหารกลางวันให้เด็กวัยเรียน ไม่น้อยกว่า 5.04 ล้านคน สนับสนุนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุไม่น้อยกว่า 11.03 ล้านคน เบี้ยยังชีพคนพิการไม่น้อยกว่า 2.09 ล้านคน เตรียมความพร้อมในการถ่ายโอนภารกิจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด รวมทั้งส่งเสริมให้คนในท้องถิ่นสามารถพัฒนาบทบาทในการจัดการท้องถิ่นของตนเอง และเสริมสร้างความมั่นคงและเข้มแข็งให้แก่ชุมชนและประเทศ
               4)   การส่งเสริมการพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ งบประมาณ 21,727.7 ล้านบาท  เพื่อสนับสนุนการดำเนินการแบบบูรณาการครอบคลุมทุกมิติการพัฒนาของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด ที่มีความสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาของประเทศ โดยให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการและแก้ไขปัญหาในพื้นที่ผ่านโครงการภายใต้แผนพัฒนาจังหวัดและแผนพัฒนากลุ่มจังหวัด แผนปฏิบัติราชการประจำปีของจังหวัด แผนปฏิบัติราชการประจำปีของกลุ่มจังหวัด ที่มีความสอดคล้องกับศักยภาพ โอกาส สภาพปัญหาและความต้องการของประชาชนในพื้นที่  โดยบูรณาการร่วมกันทุกภาคส่วน ได้แก่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานของรัฐ ภาคเอกชน และประชาชน เชื่อมโยงยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไปสู่การขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
               5)   การพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก งบประมาณ 1,474.3 ล้านบาท  เพื่อเพิ่มศักยภาพและเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากให้สามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้น และกระจายรายได้สู่ชุมชน  ลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำของรายได้ประชาชน  พัฒนาและสร้างโอกาสให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมายมีอาชีพไม่น้อยกว่า 110,000 ราย สนับสนุนเกษตรกรรุ่นใหม่ไปสู่เกษตรกรปราดเปรื่อง และให้เกษตรกรได้รับสิทธิ
ในที่ดินทำกินไม่น้อยกว่า 20,000 ราย  สนับสนุนศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ส่งเสริมและสร้างทักษะในการประกอบอาชีพทั้งในและนอกภาคเกษตร สนับสนุนการปลูกไม้มีค่าเป็นพืชเศรษฐกิจ พัฒนาผลิตภัณฑ์และการให้บริการชุมชน โดยพัฒนาความเข้มแข็งของสถาบันเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน รวมทั้งพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการชุมชน ไม่น้อยกว่า 3,500 ราย ส่งเสริมการแปรรูปสินค้าเกษตรในชุมชน พัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชน สนับสนุนการพัฒนากลไกการตลาดและระบบการบริหารจัดการเพื่อเพิ่มรายได้จากการจำหน่ายสินค้าชุมชนโดยพัฒนาศักยภาพการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน ส่งเสริมช่องทางการตลาดสินค้าชุมชนให้ครอบคลุมทุกช่องทาง รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนากลไกและโครงสร้างดูดซับมูลค่าทางเศรษฐกิจและการกระจายรายได้กลับสู่ท้องถิ่น   
               6)   มาตรการแบบเจาะจงกลุ่มเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะกลุ่ม งบประมาณ  24,026.1 ล้านบาท  เพื่อให้มีระบบและกลไกช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ โดยสนับสนุนและจัดหาโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมให้ประชากรกลุ่มต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการพิสูจน์สิทธิของบุคคลในเขตที่ดินของรัฐที่มีข้อพิพาทให้ยุติ 1,300 แปลง การช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษโดยเฉพาะกลุ่มเด็ก เยาวชน สตรี คนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาสทางสังคม เพื่อให้สามารถเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานของรัฐและโอกาสทางสังคมได้อย่างเท่าเทียม สร้างความเชื่อมั่นและเพิ่มคุณภาพการให้บริการสาธารณะให้มีความปลอดภัย ยกระดับการคุ้มครองทางสังคม โดยสนับสนุนเบี้ยเด็กแรกเกิดถึง 6 ปี ไม่น้อยกว่า 2.5 ล้านคน สนับสนุนการจัดการศพผู้สูงอายุตามประเพณี 106,355 ราย สนับสนุนการสร้างที่อยู่อาศัยบ้านมั่นคง 3,750 ครัวเรือน บ้านพอเพียง 25,000 ครัวเรือน พัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองเปรมประชากร 100 ครัวเรือน รวมทั้งผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงแหล่งสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ส่งเสริมการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกและบริการสาธารณะสำหรับคนพิการ 20,000 คน ช่วยเหลือคุ้มครองผู้ประสบปัญหาทางสังคม พัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนกลุ่มเป้าหมายพิเศษในพื้นที่ 24,960 คน จัดหาอาคารเช่าสำหรับผู้มีรายได้น้อย ไม่น้อยกว่า 1,087 หน่วย
               7)   การเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสังคมสูงวัย งบประมาณ 448.7 ล้านบาท  เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับประชาชนก่อนเข้าสู่สังคมสูงวัย โดยประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสาร เผยแพร่ความรู้ความเข้าใจให้ประชากรอายุ 25-59 ปี ไม่น้อยกว่า 8.5 ล้านคน เพื่อสร้างความรู้ด้านสุขภาวะและเสริมสร้างทักษะให้กลุ่มเป้าหมายพร้อมเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างมีคุณภาพ  รวมทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุให้ดีขึ้นในด้านต่าง ๆ ประกอบไปด้วย ด้านเศรษฐกิจ ผู้สูงอายุได้รับการเสริมสร้างทักษะอาชีพเพื่อให้ผู้สูงอายุมีงานทำ และมีรายได้ จำนวน 12,000 คน ด้านสังคม ยกระดับความคุ้มครองทางสังคม เพื่อให้ผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพังและที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง ให้เกิดความยั่งยืนและส่งเสริมท้องถิ่นให้คุ้มครอง พิทักษ์สิทธิผู้สูงอายุ โดยอบรมและพัฒนาทักษะผู้สูงอายุให้รู้เท่าทันภัยไซเบอร์ ไม่น้อยกว่า 1,430 คน  ด้านสภาพแวดล้อม ปรับปรุงที่อยู่อาศัยและสถานที่สาธารณะให้เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุ 10,006 แห่ง ด้านสุขภาพ พัฒนาการดูแลสุขภาพ การเข้าถึงบริการสุขภาพ อย่างเหมาะสม จำนวน 3.35 ล้านคน  โดยให้ความสำคัญกับการดูแลรักษากลุ่มอาการหรือโรคที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ การดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะเปราะบาง  และการให้บริการด้านทันตกรรมสำหรับผู้สูงอายุ
               8) การเสริมสร้างพลังทางสังคม งบประมาณ 7,949.7 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการสร้างพลังในชุมชนให้เกิดเป็นพลังทางสังคม สนับสนุนบทบาทและพัฒนาศักยภาพองค์การสวัสดิการสังคม อาสาสมัคร เครือข่าย และภาคประชาชน พัฒนากลไกและระบบสนับสนุนการบริหารจัดการเครือข่ายในระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล และชุมชน ส่งเสริมและพัฒนาให้เกิดวิสาหกิจเพื่อสังคม พัฒนาขีดความสามารถในการบริหารจัดการชุมชนให้มีการสร้างงาน สร้างรายได้และพึ่งตนเองได้ ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพเกษตรกรในพื้นที่โครงการหลวง และโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ  ส่งเสริมศักยภาพบทบาทสตรีและสิทธิมนุษยชน ให้ทุกเพศสภาพเป็นพลังในการขับเคลื่อนการพัฒนาสังคม  สนับสนุนการอนุรักษ์และฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมของแต่ละชุมชนโดยพัฒนาแหล่งเรียนรู้ทางการศึกษาด้านศิลปวัฒนธรรม นำองค์ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรม และน้อมนำแนวทางพระราชดำริสู่การปฏิบัติ เพื่อส่งเสริมทุนทางสังคมและวัฒนธรรมของท้องถิ่นให้สามารถนำไปต่อยอดพัฒนาสู่การเพิ่มคุณค่า และมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคม  
               9) การสนับสนุนด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม งบประมาณ 38,942.8 ล้านบาท  เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้มีรายได้น้อยและเกษตรกร โดยพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 13.4 ล้านคน  ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถเข้าถึงปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ รวมทั้งส่งเสริมการออมเพื่อเป็นหลักประกันการจ่ายบำนาญและประโยชน์ตอบแทนแก่สมาชิกเมื่อสิ้นสภาพ 2.92 ล้านคน ผ่านกองทุนการออมแห่งชาติ สมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรได้รับการช่วยเหลือด้านการลดดอกเบี้ยเพื่อการเกษตร ไม่น้อยกว่า 353,400 ราย ส่งเสริมความร่วมมือทางการค้าเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนและสนับสนุนการเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากในแต่ละภูมิภาค ส่งเสริมกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ รวมทั้งสนับสนุนผู้มีรายได้น้อยให้เข้าถึงสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย     
               10) การดำเนินภารกิจพื้นฐาน งบประมาณ 1,906.4 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐ งบประมาณ 8,295.3 ล้านบาทเพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ให้ประชาชนได้รับโอกาสในการเข้าถึงการบริการสาธารณะอย่างเท่าเทียม เป็นธรรม และทั่วถึง  รวมทั้งพัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงานในและนอกระบบ
 
ยุทธศาสตร์ที่ 5 : ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 
              รัฐบาลจัดสรรงบประมาณ จำนวน 122,964.9 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3.9 ของวงเงินงบประมาณ เพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟู และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน สร้างการเติบโตบนสังคมเศรษฐกิจสีเขียว และบูรณาการความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำแนกตามแผนงาน ดังนี้
               1)   การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ งบประมาณ 54,121.9 ล้านบาท  เพื่อให้ประเทศมีความมั่นคงด้านน้ำเพิ่มขึ้น มีการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบและยั่งยืน รวมทั้งช่วยเหลือและแก้ปัญหาภัยแล้ง โดยการจัดการน้ำอุปโภคบริโภคผ่านการจัดหาแหล่งน้ำสำรองเพื่อระบบประปา 49,381 ครัวเรือน สร้างความมั่นคงด้านน้ำทั้งภาคการผลิต ภาคเกษตร และอุตสาหกรรมให้มีต้นทุนน้ำใช้อย่างสมดุล และเพิ่มผลิตภาพการใช้น้ำ 158.27 ล้านลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่รับประโยชน์จากแหล่งน้ำเพิ่มขึ้น 389,037 ไร่ การจัดการน้ำท่วมและบรรเทาสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ชุมชนและพื้นที่เศรษฐกิจ 336,882 ไร่ พัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการน้ำเสีย 333 แห่ง อนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำ ป้องกันการชะล้างพังทลายของดินและฟื้นฟูป่าต้นน้ำ 108,223 ไร่ และปลูกป่าฟื้นฟู 14,970 ไร่
               2)   การสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน อนุรักษ์ ฟื้นฟู และป้องกันการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ   งบประมาณ 4,732.0 ล้านบาท  เพื่อให้ความหลากหลายทางชีวภาพได้รับการอนุรักษ์และฟื้นฟู โดยพัฒนากลไกและมาตรการในการอนุรักษ์ ปกป้องคุ้มครอง ฟื้นฟูและใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน รักษาพื้นที่ป่าในความดูแล 98.36 ล้านไร่ ส่งเสริมการปลูกไม้เศรษฐกิจแบบครบวงจร 26,910 ไร่ จัดระเบียบการใช้ที่ดินด้วยการจัดทำแผนการจัดการทรัพยากรที่ดินและป่าไม้ระดับพื้นที่ 3,000 หมู่บ้าน เพื่อลดปัญหาความขัดแย้งการใช้ประโยชน์ทรัพยากรที่ดินและป่าไม้ในพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติ
               3)   การจัดการผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ งบประมาณ 1,574.8 ล้านบาท เพื่อให้ประเทศสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและลดผลกระทบจากภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไม่น้อยกว่า 56 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ด้วยการสร้างความร่วมมือของภาคีต่าง ๆ   เสริมสร้างขีดความสามารถในการลดมลพิษและลดก๊าซเรือนกระจกจากภาคอุตสาหกรรม ส่งเสริมการลงทุนที่ใช้เทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ รวมทั้งเพิ่มการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่ป่าเพื่อพัฒนาประเทศมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพระบบตรวจวัดและการแจ้งเตือนภัยสภาพอากาศ
               4)     การจัดการมลพิษและสิ่งแวดล้อม งบประมาณ 567.6 ล้านบาท  เพื่อให้ประเทศมีการบริหารจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่มีประสิทธิภาพและเอื้อต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน  โดยแก้ไขปัญหาขยะ
ทุกประเภทอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ป้องกัน แก้ไขและจัดการมลพิษจากแหล่งกำเนิด จัดการคุณภาพอากาศของแต่ละพื้นที่ให้อยู่ในเกณฑ์มาตฐานที่กำหนด  และปริมาณน้ำเสียได้รับการบำบัดได้
ตามมาตรฐานน้ำทิ้งจากระบบบำบัดน้ำเสียชุมชน รวมถึงการส่งเสริมให้โรงพยาบาลมีการพัฒนาอนามัยสิ่งแวดล้อมได้ตามเกณฑ์ 
               5)   การสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนบนสังคมเศรษฐกิจภาคทะเล งบประมาณ 189.7 ล้านบาท เพื่อให้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้รับการปรับปรุง ฟื้นฟู และสร้างใหม่ โดยจัดการคุณภาพน้ำทะเล รักษาระบบนิเวศและสัตว์ทะเลหายากใกล้สูญพันธุ์ ตลอดจนคุ้มครอง อนุรักษ์ และฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง 3,148 กิโลเมตร
               6)   การยกระดับกระบวนทัศน์เพื่อกำหนดอนาคตประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม งบประมาณ 193.3 ล้านบาท เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรดิน  ส่งเสริมการผลิตและบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สร้างวินัยและการมีส่วนร่วมในการจัดการขยะ สร้างความตระหนักรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพิ่มประสิทธิภาพการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม
               7)   การสนับสนุนด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม งบประมาณ 33,033.7 ล้านบาท เพื่ออนุรักษ์ รักษาและใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน สนับสนุนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ สนับสนุนการปฏิบัติการฝนหลวง บริหารจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากร รวมทั้งเพิ่มศักยภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำบาดาล
               8)     การดำเนินงานภารกิจพื้นฐาน งบประมาณ 10,111.9 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐ งบประมาณ 18,440.0 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยการบริหารจัดการน้ำ ทรัพยากรธรรมชาติ มลพิษและสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาแหล่งเรียนรู้และแหล่งอนุรักษ์พันธุ์พืช
 
ยุทธศาสตร์ที่ 6 : ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ
              รัฐบาลจัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 658,012.7 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 20.7 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อให้ระบบการบริหารราชการมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล มุ่งผลสัมฤทธิ์และผลประโยชน์
ต่อประชาชนส่วนรวม จำแนกตามแผนงาน ดังนี้
  1. การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ งบประมาณ 498.0 ล้านบาท  เพื่อลดปัญหาการทุจริตในสังคมไทย  โดยมีเป้าหมายค่าดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index : CPI) อยู่ในอันดับ 1 ใน 53 และ/หรือได้คะแนนไม่ต่ำกว่า 51 คะแนน  ผ่านการปลูกจิตสำนึกและสร้างค่านิยมให้ทุกภาคส่วนตระหนักรู้ในเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต คุณธรรม จริยธรรม และใช้หลักธรรมาภิบาลในการบริหารองค์กร ปรับปรุงกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดและเป็นธรรม รวมทั้งให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการป้องกัน ปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ เพื่อให้สังคมไทยมีภาพลักษณ์ความซื่อสัตย์สุจริตดีขึ้น ภาครัฐมีความโปร่งใสและตรวจสอบได้
  2. ดิจิทัล งบประมาณ 2,356.0 ล้านบาท  เพื่อพัฒนารูปแบบการให้บริการภาครัฐผ่านการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้อย่างคุ้มค่า โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง  ด้วยการสนับสนุนการพัฒนาบริการภาครัฐที่มีคุณค่ารัฐบาลและปฏิบัติงานเทียบได้กับมาตรฐานสากล มีความสะดวก รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ โปร่งใสตรวจสอบได้ ลดภาระค่าใช้จ่าย ลดขั้นตอนการทำงาน ทันสมัยและทันต่อสถานการณ์ เชื่อมโยงหน่วยงานและระบบบริการภาครัฐทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้เป็นไปตามความต้องการของประชาชน ภาคธุรกิจ และผู้ใช้บริการ โดยพัฒนาระบบการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลภาครัฐ จำนวน 10 ระบบ จัดทำแพลตฟอร์มกลางเพื่อเป็นข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจเชิงนโยบาย จำนวน 4 แพลตฟอร์ม รวมถึงพัฒนาแพลตฟอร์มการเรียนรู้สาธารณะออนไลน์  ตลอดจนปรับปรุงระบบการอนุมัติและอนุญาตของภาครัฐ พัฒนาระบบจัดเก็บและเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ ลดข้อจำกัดด้านกฎหมายและแก้ไขกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม ล้าสมัย หรือเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา เพื่อยกระดับการพัฒนาภาครัฐสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล
  3. การพัฒนาบริการประชาชนและการพัฒนาประสิทธิภาพภาครัฐ งบประมาณ 28,064.9 ล้านบาท  เพื่อพัฒนาระบบอำนวยความสะดวกในการบริการภาครัฐให้สามารถติดต่อราชการได้โดยสะดวก รวดเร็ว โปร่งใส ลดค่าใช้จ่าย และตรวจสอบได้  รวมทั้งการบริหารจัดการการเงิน การคลัง โดยเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ ขยายฐานภาษีและการปรับปรุงระบบภาษีที่เหมาะสมกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศ พัฒนาระบบการคลังล่วงหน้าระยะปานกลางและระยะยาว ปรับปรุงระบบงบประมาณให้เป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติและแผนในระดับต่าง ๆ ให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการหนี้สาธารณะให้เกิดความยั่งยืนทางการคลังในระยะยาว พร้อมทั้งพัฒนาระบบการติดตามประเมินผลที่สะท้อนการบรรลุเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติในทุกระดับ และปรับสมดุลภาครัฐโดยการปรับขนาดของภาครัฐให้เหมาะสมควบคู่ไปกับการเสริมสร้างประสิทธิภาพและคุณภาพภายใต้หลักระบบคุณธรรม       
  4. การพัฒนากฎหมายและกระบวนการยุติธรรม งบประมาณ 10,225.5 ล้านบาท  เพื่อพัฒนากฎหมายให้เหมาะสมกับบริบทต่าง ๆ สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนา ตลอดจนการบังคับใช้

    กฎหมายให้เป็นไปด้วยความโปร่งใสและมีประสิทธิภาพ โดยมีการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมด้วยความสะดวก รวดเร็ว เสมอภาค ทั่วถึงและเป็นธรรม
  5. การสนับสนุนด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ งบประมาณ 1,579.8 ล้านบาท  เพื่อสนับสนุนเป้าหมายยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และโปร่งใส ร่วมกันปลูกฝังค่านิยมความซื่อสัตย์สุจริต ความมัธยัสถ์ การสร้างจิตสำนึกในการปฏิเสธไม่ยอมรับการทุจริตประพฤติมิชอบ และกฎหมายต้องมีเท่าที่จำเป็น มีความทันสมัยและเป็นสากล มีประสิทธิภาพและนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำ และเอื้อต่อการพัฒนากระบวนการยุติธรรมให้มีการบริหารที่มีประสิทธิภาพ เป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติและอำนวยความยุติธรรมตามหลักนิติธรรม
  6. การดำเนินงานภารกิจพื้นฐาน งบประมาณ 432,256.5 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐ งบประมาณ 183,032.0 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐให้มีประสิทธิภาพ ประชาชนได้รับความสะดวก รวดเร็ว และเป็นธรรม
              รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายไว้ จำนวน 402,518.0  ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 12.6 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายรองรับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นโดยมิได้คาดหมายสำหรับกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น การบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ ดังนี้
              รายจ่ายงบกลางเพื่อรองรับกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 95,900 ล้านบาท  เพื่อสำรองไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการป้องกันหรือแก้ไขสถานการณ์อันกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ความมั่นคงของรัฐ การเยียวยาหรือบรรเทาความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณะร้ายแรง ภารกิจที่เป็นความจำเป็นเร่งด่วนของรัฐ และการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รวมทั้งชดเชยค่างานสิ่งก่อสร้างเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ
              การบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ จำนวน 306,618.0 ล้านบาท เพื่อชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 100,000 ล้านบาท ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม จำนวน 206,618.0 ล้านบาท เป็นการสนับสนุนการบริหารจัดการหนี้ภาครัฐให้เกิดเสถียรภาพทางการคลังและการเงินรวมทั้งการรักษาวินัยทางการคลัง
                  สำหรับเอกสารประกอบได้มีการจัดทำให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.2561 มาตรา 10 และมาตรา 11 ดังนี้
              1.   คำแถลงประกอบงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566
              2.   รายรับรายจ่ายเปรียบเทียบระหว่างปีที่ล่วงมาแล้ว ปีปัจจุบันและปีที่ขอตั้งงบประมาณรายจ่าย แสดงไว้ในเอกสารงบประมาณ ฉบับที่ 1 (เล่มคาดส้ม)
              3.   คำอธิบายเกี่ยวกับประมาณการรายรับและวิธีหาเงินส่วนที่ขาดดุล แสดงไว้ในเอกสารงบประมาณ ฉบับที่ 2 (เล่มคาดเขียว)
              4.   คำชี้แจงเกี่ยวกับงบประมาณรายจ่ายที่ขอตั้ง ซึ่งรวมถึงการแสดงผลสัมฤทธิ์และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการใช้จ่ายงบประมาณและความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แสดงไว้ในเอกสารงบประมาณ ฉบับที่ 3 (เล่มคาดแดง) และฉบับที่ 4 (เล่มคาดเหลือง)
              5.   รายงานเกี่ยวกับสถานะทางการเงินโดยรวมของรัฐวิสาหกิจ แสดงไว้ในเอกสารงบประมาณ ฉบับที่ 5 (เล่มคาดม่วง)
              6.   รายงานเกี่ยวกับสถานะเงินนอกงบประมาณและแผนการใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณ โดยรวมของหน่วยรับงบประมาณ แสดงไว้ในเอกสารงบประมาณ ฉบับที่ 7 (เล่มคาดชมพู)
              7.   คำอธิบายเกี่ยวกับหนี้ของรัฐบาลทั้งที่มีอยู่แล้วในปัจจุบันและหนี้ที่เสนอเพิ่มเติม แสดงไว้ในเอกสารงบประมาณ ฉบับที่ 5 (เล่มคาดม่วง)
              8.   ผลการดำเนินงานและการใช้จ่ายงบประมาณของปีงบประมาณที่ล่วงมาแล้ว แสดงไว้ในเอกสารงบประมาณ ฉบับที่ 6 (เล่มคาดน้ำเงิน)
              9.  ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566       
 
------------------
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: