กระทรวงวัฒนธรรมห่วงขายสินค้าออนไลน์ใช้ภาษาหยาบคาย เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ

กองบรรณาธิการ TCIJ 2 ม.ค. 2565 | อ่านแล้ว 2152 ครั้ง

กระทรวงวัฒนธรรมห่วงขายสินค้าออนไลน์ใช้ภาษาหยาบคาย เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ

กระทรวงวัฒนธรรมห่วงขายสินค้าออนไลน์ ใช้ภาษาหยาบคาย แต่งกายไม่เหมาะสม เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ วอนผู้ขาย ผู้ซื้อร่วมรับผิดชอบต่อสังคม

ช่วงปลายเดือน ธ.ค. 2564 สำนักข่าวไทย รายงานว่านายประสพ เรียงเงิน รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรมในฐานะโฆษกกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า จากกรณีมีการนำเสนอข่าวสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ได้ตั้งกระทู้ถามกระทรวงวัฒนธรรม(วธ.)เกี่ยวกับพฤติกรรมของผู้ค้าออนไลน์บางราย มีการใช้ถ้อยคำพูดหยาบคายและแต่งกายไลฟ์สดขายสินค้าไม่เหมาะสมและมองว่ากระทรวงวัฒนธรรมละเลยไม่ดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวนั้น วธ.ขอขอบคุณสมาชิกวุฒิสภาและสื่อมวลชนที่ให้ความสนใจในประเด็นดังกล่าว ซึ่งถือว่าเป็นการร่วมกันธำรงรักษาไว้ซึ่งศีลธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรมอันดีงามของไทย

ขอยืนยันว่ากระทรวงวัฒนธรรมให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวและเห็นว่าการผลิตการจำหน่ายสินค้า การโฆษณาและการทำกิจกรรมส่งเสริมการตลาด เพื่อให้ได้รับความสนใจจากลูกค้าหรือผู้บริโภค สามารถใช้ความคิดสร้างสรรค์และมีรูปแบบการนำเสนอที่น่าสนใจได้ แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานความรับผิดชอบและคำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมและวัฒนธรรมอันดีงาม โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่ยังไม่มีวุฒิภาวะในการรู้เท่าทันสื่อ หรือเด็กเล็กที่ยังไม่สามารถแยกแยะหรือยังไม่มีวิจารณญาณเพียงพอในการเลือกรับสื่อ และหากมีการกระทำที่ส่งผลกระทบต่อศีลธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรมอันดีงาม อาจก่อให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบที่ไม่เหมาะสม รวมทั้งกรณีที่มีการแต่งกายไม่เหมาะสม หรือใช้ภาษาหยาบคาย ไม่สุภาพ แต่มีผู้สนใจเข้าชม หรือซื้อสินค้าจำนวนมาก อาจทำให้เกิดพฤติกรรมการเลียนแบบได้เช่นกัน

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา วธ.ได้ดำเนินการเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งมาตรการทางกฎหมายและมาตรการทางสังคม เช่น 1.กรณีการใช้ภาษาที่ไม่เหมาะสม ใช้คำไม่สุภาพ ในการไลฟ์สดขายสินค้า มอบให้หน่วยงานสังกัดที่ดูแลเรื่องดังกล่าว ติดตามและเฝ้าระวังความเบี่ยงเบนทางวัฒนธรรมที่อาจเกิดขึ้น โดยมีการตรวจสอบพบกรณีมีผู้ขายสินค้าออนไลน์ที่ไลฟ์สดขายสินค้าทางเพจเฟซบุ๊กบางเพจ ซึ่ง วธ.ได้วิเคราะห์แล้วว่าเป็นการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์(ฉบับที่2) พ.ศ.2560 จึงมีหนังสือประสานไปยังกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เมื่อเดือนกรกฎาคม 2562 เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง

2.กรณีการแต่งกายไม่เหมาะสมในการขายสินค้าช่วงที่ผ่านมา อาทิ แม่ค้าขายขนมโตเกียว ที่ จ.เชียงใหม่ และแม่ค้าขายเฉาก๊วยนมสด ที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ วธ.ได้มอบหมายสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด (สวจ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัด ลงพื้นที่บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานทุกภาคส่วนในพื้นที่ เช่น ฝ่ายปกครอง ตำรวจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พูดคุยและชี้แจงทำความเข้าใจในประเด็นการแต่งกาย ที่ไม่เหมาะสมซึ่งอาจเข้าข่ายลามกอนาจาร อันจะเป็นการขัดต่อวัฒนธรรมอันดีงามของชาติ โดยขอความร่วมมือ ให้ปรับปรุงการแต่งกายให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น และได้ทำบันทึกข้อตกลงที่จะไม่แต่งกายล่อแหลมลักษณะดังกล่าวอีก และหากพบเห็นมีการเผยแพร่หรือส่งต่อภาพการแต่งกายล่อแหลมในสื่อสังคมออนไลน์อีก จะพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: