- แอมเนสตี้เรียกร้องให้รัฐและบริษัทต่างๆ ระงับการส่งออกเชื้อเพลิงอากาศยานไปเมียนมา
- ในระบบห่วงโซ่อุปทาน พูม่าเอ็นเนอร์ยี่ (Puma Energy) มีส่วนเชื่อมโยงกับอาชญากรรมสงครามที่เกิดขึ้นจากการกระทำของกองทัพเมียนมา
- บริษัทน้ำมันเเละเเก๊ซธรรมชาติที่เกี่ยวข้องในประเด็นนี้ ประกอบด้วย เอ็กซอนโมบิล (ExxonMobil) ไทยออยล์ (Thai oil) ปิโตรไชนา (PetroChina) และรอสเนฟต์ (Rosneft)
- การสอบสวนอ้างอิงข้อมูลจากเอกสารของบริษัทที่รั่วไหลออกมา แหล่งข่าวในอุตสาหกรรม การสัมภาษณ์กับทหารที่แปรพักตร์จากกองทัพอากาศเมียนมาที่ให้ภาพที่สมบูรณ์จนถึงปัจจุบันของห่วงโซ่อุปทานดังกล่าว
- การสัมภาษณ์เผยให้เห็นผลกระทบร้ายแรงจากการโจมตีทางอากาศ
ประชาคมระหว่างประเทศต้องป้องกันอย่างเร่งด่วนเพื่อไม่ให้มีการจัดส่งเชื้อเพลิงอากาศยานไปถึงมือกองทัพเมียนมา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวในวันนี้ เนื่องในวาระการเผยแพร่ผลการสอบสวนบริษัทที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่อุปทาน รวมทั้งข้อมูลใหม่ที่น่าตกใจจากการสัมภาษณ์เกี่ยวกับการโจมตีทางอากาศที่ร้ายแรงถึงชีวิตต่อพลเรือน
รายงานเรื่อง “คลังอันตราย: เปิดโปงห่วงโซ่อุปทาน เชื้อเพลิงโหมอาชญากรรมสงครามในเมียนมา” (Deadly Cargo: Exposing the Supply Chain that Fuels War Crimes in Myanmar) ให้รายละเอียดของผลการสืบสวนเกี่ยวกับเชื้อเพลิงอากาศยานมากสุด นับตั้งแต่กองทัพยึดอำนาจจากการทำรัฐประหารในปี 2564 รวมทั้งข้อมูลเกี่ยวกับท่าเรือระยะไกล ซึ่งมีการจัดส่งเชื้อเพลิงเพื่อสนับสนุนการโจมตีทางอากาศที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไว้สำหรับการสังหารพลเรือน เเละทุกกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าว
แอกเนส คาลามาร์ด เลขาธิการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยว่า การโจมตีทางอากาศเหล่านี้สร้างความเสียหายร้ายแรงต่อครอบครัว สร้างความหวาดกลัวต่อพลเรือน สังหารและทำให้พลเรือนบาดเจ็บ หากไม่มีน้ำมันสำหรับเติมเครื่องบินเหล่านี้ เครื่องบินย่อมบินขึ้นไม่ได้และไม่สามารถสร้างความเสียหายได้ ในวันนี้ เราขอเรียกร้องผู้จำหน่าย บริษัทขนส่งทางเรือ เจ้าของเรือ และบริษัทประกันภัยทางทะเลให้ถอนตัวออกจากห่วงโซ่อุปทานที่ให้ประโยชน์กับกองทัพอากาศเมียนมา
“ไม่มีความชอบธรรมใดๆ ในการเข้าไปมีส่วนร่วมการจัดส่งเชื้อเพลิงอากาศยานให้กับกองทัพ ซึ่งถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างชัดเจน และการกระทำนั้นยังถูกมองว่าเป็นการก่ออาชญากรรมสงคราม อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงอื่นๆ มาอย่างต่อเนื่อง”
งานวิจัยของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล จัดทำขึ้นโดยความร่วมมือกับองค์กรความยุติธรรมเพื่อเมียนมา (Justice for Myanmar) และด้วยความสนับสนุนจากหน่วยงานภาคประชาสังคม อย่างเช่น เบอร์มา แคมเปญ สหราชอาณาจักร (Burma Campaign UK)
รายงานนี้จัดทำขึ้นจากเเหล่งข้อมูลที่หลากหลาย ทั้งจากเอกสารของบริษัทที่รั่วไหลออกมา การยื่นเอกสารของบริษัทกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บริการติดตามเรือ ภาพถ่ายดาวเทียม ข้อมูลสาธารณะ รวมถึงการสัมภาษณ์เป็นการเฉพาะกับผู้แปรพักตร์จากกองทัพอากาศเมียนมา และแหล่งข่าวที่ใกล้ชิดกับบริษัทพูม่าเอ็นเนอร์ยี่
นอกจากนั้นยังมีบทสัมภาษณ์ผู้รอดชีวิตจากการโจมตีทางอากาศ ซึ่งได้บอกเล่าประสบการณ์อัน น่ากลัว เผยให้เห็นผลกระทบต่อชีวิตมนุษย์จากการโจมตีที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเหล่านี้ ผู้เสียหายจากการโจมตีทางอากาศเป็นส่วนหนึ่งของพลเรือนกว่า 2,300 คนที่ถูกกองทัพสังหารนับแต่เกิดการทำรัฐประหาร
กาหน่อ ชายวัย 73 ปี ผู้เห็นเหตุการณ์การโจมตีทางอากาศในหมู่บ้านที่มีประชากรจำนวนมากที่รัฐกะยา (คะเรนนี) ภาคตะวันออกของเมียนมา ซึ่งส่งผลให้พลเรือนเสียชีวิตสองคนในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ได้อธิบายถึงสิ่งที่เกิดขึ้นว่า
“มีเสียงดังมาก ผมเห็นเครื่องบินรบลดระดับลงมา ทิ้งระเบิด จากนั้นก็บินขึ้นไปอีกครั้ง” เขากล่าว “เครื่องบินบินต่ำมาก....ช่วงที่ [วน] มารอบแรก พวกเขาทิ้งระเบิด จากนั้นก็มีการกลับลำ และยิงพวกเราด้วยปืนกล”
เปิดโปงห่วงโซ่อุปทาน
หน่วยงานธุรกิจมีความรับผิดชอบต้องเคารพสิทธิมนุษยชนทั้งปวง ไม่ว่าดำเนินงานในที่ใด แต่หลักฐานของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลที่เผยแพร่ในวันนี้ชี้ให้เห็นว่า การปฏิบัติของบริษัทบางแห่งมีความเกี่ยวข้องกับการจัดส่งเชื้อเพลิงอากาศยานไปเมียนมา ซึ่งเชื่อมโยงบริษัทเหล่านี้กับการก่ออาชญากรรมสงครามของกองทัพเมียนมา
นับตั้งแต่ปี 2558 ภาคธุรกิจต่างชาติสำคัญๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการ การจัดเก็บ และการกระจายเชื้อเพลิงอากาศยานในเมียนมา ได้แก่ บริษัทพูม่าเอ็นเนอร์ยี่ ซึ่งมีทราฟิกูระ (Trafigura) บริษัทโภคภัณฑ์ระดับโลกถือหุ้นใหญ่ โดยได้ดำเนินงานในเมียนมาผ่านพูม่าเอ็นเนอร์ยี่ เอเชียซัน (PEAS) ที่เป็นบริษัทลูก และมีการร่วมทุนกับบริษัทเนชั่นแนล เอ็นเนอร์ยี่ พูม่า เอวีเอชั่น เซอร์วิส (NEPAS)
ตามข้อมูลของพูม่าเอ็นเนอร์ยี่ ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ 2564 จนถึง 5 ตุลาคม 2565 ทางบริษัทดำเนินงานจัดส่งเชื้อเพลิงอากาศยานเพื่อประโยชน์ด้านพลเรือนเท่านั้น
อย่างไรก็ดี ข้อมูลในรายงานให้ภาพที่แตกต่างออกไป
การค้นพบของเราชี้ว่า เชื้อเพลิงอากาศยาน (น้ำมัน Jet A-1) เข้าสู่เมียนมา โดยส่วนใหญ่ผ่านคลังเก็บน้ำมันที่ท่าเรือติละวาภายใต้การบริหารงานของบริษัทพูม่าเอ็นเนอร์ยี่ เอเชียซัน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลระบุได้ว่า มีการจัดส่งเชื้อเพลิงอากาศยานแปดเที่ยว โดยมีการจัดเก็บไว้ที่คลังน้ำมันนี้ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ถึงกลางเดือนกันยายน 2565
จากนั้นจึงมีการนำเชื้อเพลิงเก็บไว้ที่คลังน้ำมันของบริษัทพูม่าเอ็นเนอร์ยี่ เอเชียซัน และมีการขนส่งด้วยรถบรรทุกไปยังคลังจัดเก็บเชื้อเพลิงของบริษัทเนชั่นแนล เอ็นเนอร์ยี่ พูม่า เอวีเอชั่น เซอร์วิส และฐานทัพอากาศทั่วประเทศ จากข้อมูลที่ได้รับระหว่างเดือนธันวาคม 2564 ถึงสิงหาคม 2565 คลังจัดเก็บเชื้อเพลิงบางส่วนของ บริษัทเนชั่นแนล เอ็นเนอร์ยี่ พูม่า เอวีเอชั่น เซอร์วิส มีความเชื่อมโยงกับฐานทัพอากาศ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าไม่สามารถแบ่งแยกการใช้ประโยชน์จากเชื้อเพลิงอากาศยานระหว่างพลเรือนและกองทัพได้เลย การที่พูม่าเอ็นเนอร์ยี่ช่วยเหลือให้กองทัพเมียนมาเข้าถึงเชื้อเพลิงอากาศยาน เท่ากับบริษัทมีส่วนสนับสนุนในการสร้างความเป็นภัยในด้านสิทธิมนุษยชนโดยกองทัพเมียนมา
พูม่าเอ็นเนอร์ยี่เองยอมรับกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลว่า บริษัท “ได้รับทราบรายงานว่ากองทัพอากาศใช้กำลังเพื่อข่มขู่นำเชื้อเพลิงไปจากคลังเชื้อเพลิงในสนามบินบางแห่งของบริษัทเนชั่นแนล เอ็นเนอร์ยี่ พูม่า เอวีเอชั่น เซอร์วิส เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามรายงานนี้ ได้ทำลายความมั่นใจของเราที่มีต่อความสามารถของบริษัทเนชั่นแนล เอ็นเนอร์ยี่ พูม่า เอวีเอชั่น เซอร์วิส ในการควบคุมสถานที่” ของพูม่าเอ็นเนอร์ยี่
ในวันที่ 26 กันยายน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลนำหลักฐานจากรายงานนี้ไปเสนอต่อพูม่าเอ็นเนอร์ยี่ อีกสิบวันต่อมา ทางบริษัทจึงประกาศที่จะถอนตัวออกจากประเทศและขายกิจการในเมียนมา
มอนต์เซ เฟอร์เรอร์ นักวิจัยด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยว่า เรารับทราบถึงการตัดสินใจของพูม่าเอ็นเนอร์ยี่ที่จะถอนตัวจากเมียนมา แต่การประกาศขายกิจการให้กับ ‘บริษัทเอกชนในท้องถิ่น’ ที่ไม่เปิดเผยชื่อ ทำให้เกิดข้อกังวลใหม่ถึงความจำเป็นของการถอนตัวอย่างมีความรับผิดชอบ โปร่งใส และหลีกเลี่ยงการปล่อยให้โครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับเชื้อเพลิงอากาศยานอยู่ในมือของกองทัพเมียนมา
“พูม่าเอ็นเนอร์ยี่ต้องถอนตัวอย่างรับผิดชอบ และเยียวยาต่ออันตรายใดๆ ที่เกิดขึ้น โดยควรเริ่มจากการปรึกษาหารือกับตัวแทนของชุมชนในเมียนมาที่ได้รับผลกระทบจากการโจมตีทางอากาศที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพื่อแสวงหามาตรการเยียวยาที่เหมาะสม”
เปิดโปงการจัดส่งน้ำมัน
ทั้งนี้ ไม่ได้มีพูม่าเอ็นเนอร์ยี่เพียงบริษัทเดียวแต่ยังมีบริษัทอื่นที่มีบทบาทสำคัญในห่วงโซ่อุปทานของเชื้อเพลิงอากาศยานในเมียนมาที่เชื่อมโยงกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนเช่นกัน
ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ 2564 และ 17 กันยายน 2565 เรือขนส่งน้ำมันอย่างน้อยเจ็ดลำ ได้ถ่ายเชื้อเพลิงอากาศยานแปดเที่ยว โดยเก็บไว้ที่คลังจัดเก็บเชื้อเพลิงที่ท่าเรือที่บริหารโดย บริษัทพูม่าเอ็นเนอร์ยี่ เอเชียซัน ที่เป็นบริษัทลูกของพูม่าเอ็นเนอร์ยี่ บริเวณท่าเรือติละวา เมืองย่างกุ้งซึ่งเป็นเมืองหลวงด้านพาณิชย์
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลสามารถยืนยันได้ว่า บริษัทที่ขนส่งน้ำมันทั้งสี่เที่ยวมาจากบริษัทสิงคโปร์ ปิโตรเลียมที่เป็นธุรกิจของปิโตรไชนา (ธันวาคม 2564) รอสเนฟต์ (ธันวาคม 2564) เชฟรอน สิงคโปร์ (กุมภาพันธ์ 2565) และไทยออยล์ (มิถุนายน 2565) โดยเอ็กซอนโมบิลเกี่ยวข้องกับการจัดส่งในเดือนมิถุนายน 2565
จากเอกสารที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้รับมาชี้ให้เห็นว่า น้ำมันที่ขนส่งมาจากไทยออยล์และเอสพีซีที่เป็นธุรกิจของปิโตรไชนา มีจุดประสงค์เพื่อการใช้งานของกองทัพอากาศเมียนมา
ผู้แทนบริษัทรอสเนฟต์ เชฟรอน และไทยออยล์ บอกกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลว่า พวกเขาได้รับคำยืนยันว่า การจัดส่งน้ำมันเหล่านี้เป็นไปเพื่อเป้าประสงค์ด้านพลเรือนเท่านั้น
บริษัทสิงคโปร์ ปิโตรเลียมที่เป็นธุรกิจของปิโตรไชนาไม่ได้ให้ความเห็นต่อคำถามที่เราส่งไปให้ ส่วนไทยออยล์ได้ตอบจดหมายของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล โดยระบุว่าได้ระงับการขายน้ำมัน Jet A-1 ให้กับเมียนมาแล้ว “จนกว่าปัญหาดังกล่าวจะยุติลง”
“บริษัทใดๆ ที่ทำการการตรวจสอบวิเคราะห์สถานะด้านสิทธิมนุษยชนควรตระหนักว่า การขายเชื้อเพลิงอากาศยานให้กับลูกค้าที่อยู่ในประเทศภายใต้การปกครองของกองทัพ ซึ่งมีสถิติที่เลวร้ายด้านสิทธิมนุษยชนย่อมถือว่ามีความเสี่ยงที่สูงมาก” มอนต์เซกล่าว
แพนโอเชียน บริษัทเจ้าของเรือจากประเทศเกาหลีใต้ และวิลเฮมเซ่น บริษัทขนส่งจากประเทศนอร์เวย์ ก็มีส่วนร่วมในการจัดส่งเชื้อเพลิงอากาศยานหลายเที่ยวด้วยกัน แพนโอเชียนไม่ได้ตอบจดหมายของแอมเนสตี้ ส่วนวิลเฮมเซ่นบอกว่า พวกเขาเชื่อว่าน้ำมันเหล่านี้จะใช้งานเพื่อประโยชน์ด้านพลเรือน แต่ก็ระบุเช่นกันว่า พวกเขาจะ “ยุติการให้บริการเป็นตัวแทนใดๆ ให้กับเจ้าของเรือหรือสินค้าที่มีการจัดส่งเชื้อเพลิงอากาศยานแบบ Jet A-1 ไปยังท่าเรือต่างๆ ในเมียนมา”
การบันทึกข้อมูลการโจมตีทางอากาศ
ในระหว่างทำวิจัยครั้งนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลบันทึกข้อมูลการโจมตีทางอากาศที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย 16 ครั้ง ระหว่างเดือนมีนาคม 2564 และสิงหาคม 2565 ในรัฐกะยา รัฐกะเหรี่ยง และรัฐชิน รวมทั้งในภาคซะไกง์ พัฒนาการใหม่ที่นับว่าเป็นเรื่องน่ากังวล เนื่องจากในการโจมตีสองครั้ง แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้บันทึกข้อมูลว่า กองทัพเมียนมาใช้ระบิดลูกปรายหรือระเบิดพวง ซึ่งเป็นอาวุธต้องห้ามในระดับสากล เนื่องจากส่งผลกระทบโดยไม่เลือกเป้าหมาย
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลสามารถเชื่อมโยงฐานทัพอากาศสี่แห่งที่มอบี, มะกเว, ทาดาอู และตองอู ว่าเกี่ยวข้องโดยตรงกับการโจมตีที่รุนแรงถึงขั้นเป็นอาชญากรรมสงคราม
การโจมตีทางอากาศเหล่านี้ส่งผลให้พลเรือนเสียชีวิต 15 คน และได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 36 คน อีกทั้งยังทำลายบ้านเรือน ศาสนสถาน โรงเรียน สถานพยาบาล และค่ายที่พักพิง
ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากการโจมตีทางอากาศ มาจากข้อมูลที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลสามารถตรวจสอบได้ด้วยหลักฐานทางตรง รวมทั้งปากคำของพยานที่สอดคล้องกันและชื่อของผู้เสียหาย และมีการพิสูจน์ผ่านหลักฐานการโจมตีที่เป็นภาพถ่ายและวิดีโอ ตามรายงานข่าวของสื่อและการบันทึกข้อมูลด้านสิทธิมนุษยชนที่แยกออกมาต่างหาก พบว่ามีแบบแผนการโจมตีทางอากาศที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นอย่างมาก ซึ่งส่งผลให้พลเรือนเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บทั่วประเทศเมียนมา หมายความว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตที่แท้จริงนั้นมีจำนวนที่สูงกว่านี้มาก
ในบรรดาเหตุการณ์ส่วนใหญ่ที่มีการเก็บข้อมูลเหล่านี้พบว่า ผู้ที่อยู่ในพื้นที้ในขณะที่มีการโจมตีมีเพียงพลเรือนเท่านั้น
มาเรียและแคโรไลน์ พี่น้องวัยรุ่นซึ่งมีอายุราว 15 และ 12 ปี ถูกสังหารจากการโจมตีทางอากาศช่วงกลางดึกของวันที่ 17 มกราคม 2565 ที่ค่ายพักพิงรีคีบูในรัฐกะยา ที่มีชายเเดนติดกับฝั่งไทย ในขณะที่ นูนู ชาย วัย 50 ปีเศษก็ถูกสังหารเช่นกัน กอเรห์ วัย 50 ปีซึ่งเป็นพ่อของเด็กผู้หญิงทั้งสองคนนั้น และอยู่ในอีกหมู่บ้านหนึ่งในคืนดังกล่าวเดินทางมาถึงที่หมู่บ้านตนเองเช้าวันรุ่งขึ้นและได้พบศพของลูกที่มีการเอาผ้ามาปิดไว้
“พวกเขานำศพลูกสาวของผมและชายคนดังกล่าวไปไว้ที่โบสถ์ ผมเพียงต้องการดูศพและนั่งอยู่ที่นั่น” เขากล่าว และเสริมว่าทรัพย์สินของครอบครัวบริเวณที่ถูกถล่มด้วยระเบิด ยังถูกทำลายด้วยสะเก็ดระเบิดหรือการจุดไฟเผาโดยเพื่อนบ้านคนอื่น เพราะในบริเวณนั้น “เต็มไปด้วยอวัยวะและเลือด”
ลูกสาวของเขาที่มีชีวิตรอดเพียงคนเดียว เคยเป็นคนที่เข้ากับคนอื่นได้ง่ายและกระตือรือร้น แต่ตอนนี้เธอไม่สามารถเล่นกับเด็กคนอื่นได้อีกแล้ว
ในเดือนกรกฎาคม 2565 นักวิจัยสองคนจากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้ไปยังที่เกิดเหตุโจมตี และสำรวจหลุมขนาดใหญ่ที่เกิดจากระเบิด รวมทั้งความเสียหายที่เหลืออยู่ เเต่เนื่องจากในพื้นที่ดังกล่าวไม่มีทหารหรือไม่มีวัตถุประสงค์ด้านการทหารใดๆ ขณะที่เกิดการโจมตี จึงดูเหมือนว่าเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นการโจมตีโดยตรงต่อพลเรือน และอาจถือได้ว่าเป็นอาชญากรรมสงคราม
“เชื้อเพลิงอากาศยานที่จัดส่ง นำเข้า จัดเก็บ และกระจายโดยหลายบริษัท เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้กองทัพเมียนมาทำการโจมตีทางอากาศที่โหดร้ายเช่นนี้ได้ ถึงเวลาที่เราจะต้องตัดห่วงโซ่อุปทานของเชื้อเพลิงอากาศยานที่ส่งไปให้กับกองทัพอากาศเมียนมาโดยสิ้นเชิง” มอนต์เซกล่าว
อ่านรายงานฉบับเต็ม (ภาษาอังกฤษ) ได้ที่นี่ https://www.amnesty.org/en/documents/asa16/6147/2022/en/
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ