เผย 20 บริษัทยื่นขอส่งเสริมปลูกป่าชายเลนหวังคาร์บอนเครดิต

กองบรรณาธิการ TCIJ 3 ก.พ. 2565 | อ่านแล้ว 6361 ครั้ง

เผย 20 บริษัทยื่นขอส่งเสริมปลูกป่าชายเลนหวังคาร์บอนเครดิต

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เผยเอกชน 20 บริษัทยื่นขอส่งเสริมปลูกป่าชายเลนหวังคาร์บอนเครดิต เชื่อทำให้พื้นที่สีเขียวยั่งยืนระยะยาว ล่าสุด ร่วมมือ Dow และองค์กรอนุรักษ์ ร่วมฟื้นฟูป่าชายเลนทุกมิติ | ที่มาภาพ: สำนักข่าวไทย

สำนักข่าวไทย รายงานเมื่อช่วงปลายเดือน ม.ค. 2565 ว่านายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวว่าการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน เป็นหน้าที่ของทุกภาคส่วนที่ต้องสร้างเครือข่ายร่วมกันฟื้นฟูและแก้ปัญหา เพื่อให้การอนุรักษ์ป่าชายเลนประสบความสำเร็จและยั่งยืน ซึ่งที่ผ่านสามารถเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลนได้ถึง 200,000 ไร่ จากพื้นที่ป่าชายเลนที่มีทั้งหมด 2.8 ล้านไร่ เป็นความก้าวหน้าที่สำคัญ สามารถเป็นแหล่งกักเก็บ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ได้เพิ่มสูงขึ้นและยังเป็นแหล่งฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ทำให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพ

ป่าชายเลน ถือเป็นปราการที่สำคัญที่เชื่อมโยงระหว่างกัน ของ 24 จังหวัดชายฝั่งทะเล ทำให้เกิดประโยชน์ ในด้านสังคม ชุมชน และเศรษฐกิจของแต่ละพื้นที่ เป็นการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ที่ช่วยขับเคลื่อนเป้าหมายให้ไทยบรรลุการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ.2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net-zero GHG emission) ภายในปี พ.ศ. 2608 และด้วยพันธสัญญาเรื่องลดภาะโลกร้อน ก็ทำให้เอกชนกว่า 20 รายติดต่อมา เพื่อร่วมส่งเสริมปลูกป่าชายเลนถึง 4 แสนไร่ ซึ่งนับว่าเป็นองค์กรที่มีวงเงินสนับสนุนระยะยาว20-30 ปี นับเป็นการส่งเสริมการปลูกป่าอย่างยั่งยืน แต่เรื่องพื้นที่ยอมรับว่าคงไม่สามารถจัดสรรได้หมด โดยปัจจุบันนี้มีพื้นที่ป่าชายเลนสมบูรณ์ 1.7 ล้านไร่ และพื้นที่ป่าใช้ประโยชน์ 1.1 ล้านไร่ โดยในปี 2565 ทช.ได้ทำแผนจัดสรรพื้นที่ ปลูกป่าชายเลนโครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอน (CCS) แบ่งเป็นพื้นที่ปลูกโดยเอกชน 3.4 หมื่นไร่ และพื้นที่ปลูกโดย ราชการและรัฐวิสาหกิจ 4 พันไร่

ล่าสุด ทช. ร่วมลงนาม กับกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow) องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ,เทศบาลตำบลปากน้ำประแส ,มูลนิธิสิ่งแวดล้อมศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (ประเทศไทย) หรือ FEED ,มูลนิธิโลกสีเขียว ,ศูนย์ฝึกอบรมวนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า (RECOFTC) และบริษัท SecondLife ยกระดับการ โครงการ Dow & Thailand Mangrove Alliance สู่โมเดลต้นแบบการอนุรักษ์ป่าชายเลนแบบมีส่วนร่วมทุกมิติ

นายฉัตรชัย เลื่อนผลเจริญชัย ประธานบริหาร กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย กล่าวว่า โครงการนี้เป็นการยกระดับการโครงการ Dow & Thailand Mangrove Alliance สู่โมเดลต้นแบบการอนุรักษ์ป่าชายเลนแบบมีส่วนร่วมทุกมิติ สามารถช่วยลดโลกร้อนและแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกในทะเลได้อย่างยั่งยืน และเพื่อขยายผลให้เกิดความรู้และความเข้าใจประโยชน์ของป่าชายเลนได้นำเทคโนโลยี และนวัตกรรมการอนุรักษ์ ผ่านแอปพลิเคชั่น iNaturalist ที่พัฒนาขึ้นโดย เนชั่นแนล จีโอกราฟิก (National Geographic) เพื่อให้ความรู้และจัดเก็บฐานข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพ ที่เปิดให้เยาวชนและนักท่องเที่ยวมีส่วนร่วมสำรวจห้องเรียนธรรมชาติ สร้างความตื่นตัวในการ่วมมือฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าเพิ่มขึ้น มีเป้าหมายร่วมกันลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) และขยะทะเลตามแผน (Roadmap) ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2563 – 2567) เพื่อยกระดับการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลนอ่าวไทย-ทะเลอันดามันไปสู่ระดับสากล

ผู้ที่สนใจสามารถเยี่ยมชมพื้นที่นำร่องของโครงการได้ทุกวัน ณ ห้องเรียนธรรมชาติ ป่าชายเลน ปากน้ำประแส อำเภอแกลง จังหวัดระยอง โดยนอกจากพื้นที่นำร่องแล้ว โครงการฯ ยังมีแผนในการขยายความร่วมมือไปยังพื้นที่อื่นๆ ในจังหวัดระยอง จันทบุรี ตราด และ อีกหลายจังหวัดในระยะเวลาโครงการ 5 ปี

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: