สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UNGA) ลงคะแนนท่วมท้นให้กับมติประณามการบุกรุกยูเครนของรัสเซีย และเรียกร้องให้รัสเซียถอนกองกำลังออกจากยูเครนทั้งหมดโดยทันที ขณะที่กองทัพรัสเซียยังคงเดินหน้าโจมตียูเครนทางอากาศและทางบก
3 มี.ค. 2565 VOA รายงานว่าสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ หรือ UNGA ลงคะแนนท่วมท้นให้กับมติประณามการบุกรุกยูเครนของรัสเซีย และเรียกร้องให้รัสเซียถอนกองกำลังออกจากยูเครนทั้งหมดโดยทันที ขณะที่กองทัพรัสเซียยังคงเดินหน้าโจมตียูเครนทางอากาศและทางบก
ประเทศสมาชิกยูเอ็น 141 ประเทศ รวมทั้งไทย จากทั้งหมด 181 ประเทศที่เข้าร่วมลงคะแนนครั้งนี้ สนับสนุนมติประณามรัสเซีย โดยมีเพียงรัสเซียและอีกห้าประเทศพันธมิตรรัสเซีย ประกอบด้วยเบลารุส ซีเรีย เกาหลีเหนือและเอริเทรีย ที่ไม่เห็นด้วยกับมติดังกล่าว และมีอีก 35 ประเทศที่งดออกเสียง แต่ก็ไม่ส่งผลต่อคะแนนเสียงอย่างน้อยสองในสามที่ต้องการเพื่อผ่านมติ
มติดังกล่าวได้รับการร่วมอุปถัมภ์จากประเทศสมาชิกเกือบ 100 ประเทศ ซึ่งคล้ายกับมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติหรือ UNSC ที่รัสเซียยับยั้งเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว ทำให้ร่างมติมาอยู่ในที่ประชุม UNGA
แอนโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการยูเอ็น กล่าวว่า สารจาก UNGA ครั้งนี้ชัดเจนว่า จะต้องยุติความใช้ความรุนแรงในยูเครนและเปิดทางให้มีการเจรจาและการทูตตอนนี้
สหภาพยุโรปทำงาน หรือ อียู อย่างหนักเพื่อรวมเสียงประเทศสมาชิกทั้ง 27 ประเทศ รวมทั้งโน้มน้าวประเทศอื่นๆ เพื่อลงคะแนนต่อต้านรัสเซีย โดยโอลาฟ สคูก ทูตอียูประจำสหประชาชาติ ระบุว่า รัฐบาลรัสเซียถูกโดดเดี่ยวมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ทั่วโลกต้องการให้รัสเซียยุติการคุกคาม ถอนกองกำลัง และปฏิบัติตามกฎบัตรสหประชาชาติ
ประธานาธิบดีโวโลดีเมียร์ เซเลนสกี ของยูเครน ทวีตข้อความยินดีต่อมติดังกล่าว โดยเขาขอบคุณประเทศที่ลงคะแนนสนับสนุนยูเครน และกล่าวว่า ประเทศเหล่านี้ “เลือกข้างที่ถูกต้องในประวัติศาสตร์”
ทางด้านลินดา โธมัส-กรีนฟิลด์ ทูตสหรัฐฯ ประจำยูเอ็น กล่าวก่อนการลงคะแนนว่า สหประชาชาติมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกัน ประณาม และยุติสงคราม และสิ่งที่เกิดขึ้นขณะนี้เป็นการท้าทายสหประชาชาติมากที่สุดในประวัติศาสตร์ยุคใหม่
มติดังกล่าวประณามการประกาศทำ “ปฏิบัติการทางทหารพิเศษ” ในยูเครนของรัสเซียเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ และคัดค้านการที่รัสเซียละเมิดมาตรา 2(4) ของกฎบัตรสหประชาชาติ ที่ระบุว่า ประเทศสมาชิกต้องงด “การคุกคามหรือใช้กำลังต่อบูรณภาพเหนือดินแดนหรือเอกราชทางการเมืองของรัฐใดๆ”
เซอร์กีย์ คีสลีตสยา ทูตยูเครนประจำยูเอ็น กล่าวในที่ประชุมว่า ยูเครนกำลังต่อสู้สุดชีวิตต่อกองทัพรัสเซีย และรัสเซียไม่ได้บุกรุกเพื่อเปลี่ยนแปลงยูเครนเท่านั้น แต่บุกรุกเพื่อพรากความเป็นรัฐออกจากยูเครนด้วย
รัสเซียยังเร่งเครื่องบุกรุกยูเครน
อย่างไรก็ตาม การประณามจากนานาชาติอาจไม่ส่งผลต่อการกระทำของรัสเซียมากนัก โดยในวันพุธ รัสเซียยังคงเดินหน้าโจมตีขณะที่ชาวยูเครนยังคงหนีออกมาทางชายแดน โดยสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติประมาณการว่า มีผู้ลี้ภัยกว่า 874,000 คนหนีออกจากยูเครนในสัปดาห์นี้ และได้เตรียมแผนรองรับผู้ลี้ภัยสูงสุด 4 ล้านคน
วาสซิลี เนเบนเซีย ทูตรัสเซียประจำยูเอ็น อ้างเหตุผลว่า ปฏิบัติการพิเศษของรัสเซียอยู่บนพื้นฐานของมาตราที่ 51 ของกฎบัตรสหประชาชาติ และย้ำว่ารัสเซียไม่ได้โจมตีอาคารของพลเรือนหรือตัวพลเรือน และขอให้ประเทศต่างๆ อย่าเชื่อข่าวเท็จในอินเตอร์เน็ต
นานาชาติแสดงจุดยืน
ประเทศส่วนใหญ่ที่เข้าประชุม UNGA ในสัปดาห์นี้ สนับสนุนอธิปไตย บูรณภาพเหนือดินแดน และเอกราชของยูเครน หลายประเทศเรียกร้องให้มีการยกเลิกการรับรองเอกราชของเขตปกครองสองแห่งในยูเครนของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน รวมถึงแสดงความไม่พอใจที่ผู้นำรัสเซียสั่งการให้กองกำลังนิวเคลียร์ของตนเตรียมพร้อม
ประเทศขนาดเล็กต่างออกมาสนับสนุนมติในครั้งนี้เช่นกัน เช่น แอนติกาและบาร์บูดา ที่เรียกร้องให้ประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศเกาะขนาดเล็กเช่นตน รับรองมติดังกล่าวเพื่อปกป้องหลักการของกฎบัตรสหประชาชาติ หรือไมโครนีเซียที่ประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับรัสเซีย
ทางด้านเมียนมา ที่มีทูตประจำยูเอ็นมาจากรัฐบาลพลเรือนก่อนเกิดรัฐประหาร ก็แสดงจุดยืนสนับสนุนยูเครน โดยจอ โม ตุน ทูตเมียนมาประจำยูเอ็น ระบุว่า ชาวเมียนมาต้องทนทุกข์กับ “การกระทำที่ไร้มนุษยธรรม ความโหดร้าย อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ โดยกองทัพเมียนมา” คล้ายกับที่ชาวยูเครนกำลังเผชิญ ทั้งนี้ รัสเซียเป็นประเทศที่ส่งอาวุธให้กองทัพเมียนมา
รัสเซียแทบไม่มีประเทศสนับสนุน
รัสเซียแทบไม่สามารถหาเสียงสนับสนุนแม้แต่จากประเทศพันธมิตรที่ใกล้ชิดที่สุด เช่น เซอร์เบีย ซึ่งลงคะแนนรับมติประณามรัสเซียครั้งนี้ด้วยเช่นกัน
ประเทศอื่นๆ ที่มีความสัมพันธ์อันดีกับรัสเซีย เช่น จีน อิหร่าน นิการากัว คิวบา และปากีสถาน เลือกงดออกเสียง
อย่างไรก็ตาม รัสเซียยังมีประเทศที่สนับสนุน เช่น เบลารุส ที่อนุญาตให้กองทัพรัสเซียตั้งฐานทัพในดินแดนของตนได้ และยิงขีปนาวุธ รวมถึงเดินหน้ากองกำลังจากดินแดนของตนไปยังทางตอนเหนือของยูเครนได้
วาเลนทีน รีบาคอฟ ทูตเบลารุสประจำยูเอ็น กล่าวว่า เบลารุสปฏิเสธข้อกล่าวหาว่า เบลารุสมีส่วนร่วมกับ “การใช้กำลังอย่างผิดกฎหมาย” ต่อยูเครน โดยผู้นำเบลารุสพยายามอย่างยิ่งเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายหารือกันได้ ทั้งนี้ การเจรจาระหว่างยูเครนและรัสเซียรอบที่สองจะมีขึ้นที่เมืองชายแดนของเบลารุส
ทางด้านทูตซีเรียประจำยูเอ็นกล่าวว่า ร่างมติฉบับนี้เป็น “การเสแสร้งอันฉาวโฉ่ทางการเมือง” ทั้งนี้ รัสเซียให้การสนับสนุนทางทหารแก่รัฐบาลซีเรียและการทำสงครามกลางเมืองมาตั้งแต่ปีค.ศ. 2015
ทางด้านเกาหลีเหนือกล่าวว่า สหรัฐฯ เป็นสาเหตุของความขัดแย้งในยูเครน โดยรัสเซียได้พยายามผ่อนคลายและยกเลิกมาตรการลงโทษจากนานาชาติต่อโครงการนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ
มติ “ปรองดองเพื่อสันติภาพ”
การประชุม UNGA ในสัปดาห์นี้ เป็นการประชุมเพื่อมติ “ปรองดองเพื่อสันติภาพ” (Uniting for Peace) โดยการประชุมลักษณะนี้เป็นการประชุมพิเศษระหว่างประเทศสมาชิกทั้งหมดหาก UNSC ไม่สามารถหาข้อสรุปและเดินหน้าเพื่อรักษาหรือฟื้นฟูสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศได้
โดยในกรณีนี้ รัสเซียได้ยับยั้งร่างมติในลักษณะเดียวกันระหว่างการประชุมของ UNSC เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว
รายงานของ UNSC ระบุว่า การประชุมในลักษณะนี้ถูกใช้มาไม่ถึง 12 ครั้งนับตั้งแต่ถูกกำหนดครั้งแรกเมื่อปีค.ศ. 1950 โดยครั้งสุดท้ายที่มีการประชุมเพื่อออกมติ “ปรองดองเพื่อสันติภาพ” คือเมื่อ 40 ปีที่แล้ว ในปีค.ศ. 1982 โดยเป็นมติที่เกี่ยวกับอิสราเอล
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ