วงเสวนาศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด ชี้สูบกัญชาเป็นประจำนานเป็นปีส่งผลไอคิวต่ำ สมองเสื่อม เนื้อสมองฝ่อ ซึมเศร้า จิตหลอน ทั้งยังสร้างสารก่อมะเร็งมากกว่าสูบบุหรี่ และกระตุ้นให้เสียชีวิตกะทันหันได้ เผย 3 ปี ตั้งแต่เริ่มก่อร่างกัญชาเสรี พบเด็กเยาวชนทั่วประเทศสูบกัญชาเพิ่มขึ้นมากถึง 2 เท่า ผู้ป่วยในโรคที่เกิดจากสารเสพติดเพิ่มขึ้น 40% | ที่มาภาพ: สำนักข่าวไทย
สำนักข่าวไทย รายงานเมื่อช่วงปลายเดือน ก.ค. 2565 ว่าศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสวนาวิชาการและการประชุมวิชาการศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด เพื่อพัฒนาศักยภาพการวิจัย และนักวิชาการการเสพติด มีนักวิชาการทั้งไทยและต่างประเทศ ร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการ ที่โรงแรมแชงกรี-ลา เขตบางรัก
ศ.นพ.สิริชัย ชยสิริโสภณ นักประสาทวิทยา และนักวิจัยการใช้กัญชาทางการแพทย์ จากรัฐ California USA กล่าวว่า ไม่ว่าจะสูบกัญชาหรือบุหรี่ สิ่งที่เหมือนกันคือมีการเผาไหม้ และมีควัน ควันที่เข้าสู่ปอด มีน้ำมันดิน หรือทาร์ ซึ่งน้ำมันดินจากการเผาไหม้ของการสูบกัญชาเข้าสู่ปอด พบมากกว่า 4 เท่าของการสูบบุหรี่เมื่อเปรียบเทียบจำนวนน้ำหนักที่เท่ากัน เหตุผลเพราะการสูบกัญชา ต้องสูบเข้าปอดลึกกว่าบุหรี่ และการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์จากการสูบกัญชา ส่งผลสร้างสารก่อมะเร็งมากกว่าสูบบุหรี่
อาการของผู้เสพกัญชาเป็นครั้งคราว ขึ้นกับจำนวน THC ในกัญชา อาการระยะแรก กระตุ้นประสาท กลายเป็นคนร่าเริง ช่างพูด หัวเราะง่าย หัวใจเต้นเร็ว ตื่นเต้นง่าย มึนเมาอ่อนๆ อาการต่อมา กดประสาท มีอาการง่วง ซึมลง อาจเห็นภาพลวงตา ภาพหลอนต่างๆ อาการมากขึ้น หูแว่ว ตกใจง่าย วิตกกังวล หวาดระแวง ความคิดสับสน ควบคุมตนเองไม่ได้
แต่ถ้าคนที่สูบกัญชาเป็นประจำเป็นปีๆ มีโอกาสเกิดผลกระทบกับสมองมากขึ้น จากงานวิจัยของต่างประเทศหลายชิ้นพบว่า ไอคิวต่ำลง ความจำเสื่อม การเรียนรู้เชื่องช้า ตัดสินใจผิดพลาด อาการเฉื่อยชา ไม่กระตือรือร้น เกิดอาการทางจิต เช่น มีความหวาดกลัว ซึมเศร้า จิตหลอน
ศ.นพ.สิริชัย กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ยังมีการวิจัย คนที่ไม่สูบกัญชา แต่อยู่ร่วมกับคนสูบกัญชาเป็นเวลา 3 ชั่วโมง พบว่ามีปริมาณ THC สูงในเลือด และมีบางคนอยู่ร่วมกับกลุ่มคนสูบกัญชาที่มีปริมาณ THC 11.3% เป็นเวลา 1 ชั่วโมง ตรวจพบมีสาร THC ในปัสสาวะ ส่วนการใช้น้ำมันกัญชา ที่มีสาร THC มากกว่า 0.3% ทั้งกินทั้งหยอด เป็นประจำจะมีผลกระทบแบบเดียวกับการสูบกัญชาเป็นประจำหรือไม่นั้น ยังไม่มีการวิจัยที่แน่นอน
ผศ.นพ.สมิทธิ์ ศรีสนธิ์ หัวหน้าห้องปฏิบัติการนิติเวชศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ม.มหิดล กล่าวว่า มีงานวิจัยสาเหตุการเสียชีวิตจากสาร THC ในกัญชา แบ่งเป็น 3 อย่าง คือ 1.พิษของกัญชา ถ้าเสพเกินขนาด ทั้งสูบหรือกิน โดยเฉพาะในเด็ก เป็นสาเหตุให้เสียชีวิต 2.การเสียชีวิตกะทันหัน จากการกระตุ้นของกัญชา ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไปพบแพทย์ด้วยอาการเจ็บหน้าอกแบบโรคหัวใจ หัวใจเต้นผิดจังหวะ ลิ่มเลือดอุดตันในเส้นเลือดในหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ซึ่งเกิดจากสาร THC ไปกระตุ้นให้เส้นเลือดหัวใจบีบตัว หรือทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ และไปกระทบเส้นเลือดสมองตีบได้ 3.เป็นเหตุสนับสนุนให้เกิดการเสียชีวิต สาร THC ทำให้เกิดอาการทางจิตเวช ซึมเศร้าได้ และเปลี่ยนเป็นโรคจิตเภทถึง 34% หมายถึงเป็นโรคจิตเวชที่มีอาการหูแว่ว ประสาทหลอนเรื้อรัง
รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด กล่าวว่าตั้งแต่ 9 มิ.ย. 2565 ที่ผ่านมา นับจากการปลดล็อคกัญชา มีรายงานผลกระทบจากการใช้กัญชาบ้างประปราย คงต้องเกาะติดประเด็นเหล่านี้ เพื่อให้การใช้กัญชาทางการแพทย์ปลอดภัย เน้นย้ำว่าสนับสนุนกัญชาทางการแพทย์ แต่ถ้าใช้ในเชิงสันทนาการ จำเป็นต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง
ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติดกล่าวด้วยว่า ในช่วงที่ผ่านมา ศูนย์ฯ สำรวจพบว่า เด็กและเยาวชนมีการสูบกัญชามากขึ้นถึง 2 เท่า มีผลการศึกษาเบื้องต้นแล้ว เจอเรื่องการวินิจฉัยโรคที่เกิดจากกัญชาเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา หลังมีการอนุญาตการใช้กัญชา พบว่าในผู้ป่วยนอกมีการวินิจฉัยโรคที่เกี่ยวข้องกับสารเสพติด โดยตัดบุหรี่และเหล้าออก พบว่าเพิ่มขึ้นในปี 2021 และปี 2021 ผู้ป่วยนอกเพิ่มขึ้น 29% และผู้ป่วยในเพิ่มสูงขึ้นกว่า 40% เพราะฉะนั้น นิ่งนอนใจไม่ได้
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ